บทนำ : เริ่มทวงสัญญา

นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน ประธานการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ได้ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง โดยมีที่ปรึกษา ฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง ฝ่ายรัฐบาลจากตัวแทนจากกระทรวงพาณิชย์ รวมไปถึงตัวแทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย และมีมติออกมาว่าให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำขึ้น 6 บาท 9 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ภูเก็ต กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และปราจีนบุรี ส่วนจังหวัดที่เหลือปรับขึ้นในอัตรา 5 บาททั่วประเทศ แบ่งเป็น 10 กลุ่มอัตราสูงสุดคือ ชลบุรี กับ ภูเก็ต ที่ 336 บาท ส่วนอัตราต่ำสุดอยู่ที่ 313 บาท ใน จ.นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ซึ่งต่อไปจะเสนอ ครม.และให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2563

การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำกลายเป็นประเด็นความเห็นต่างระหว่างกลุ่มหนึ่งที่เป็นห่วงธุรกิจ อาทิ ธุรกิจเอสเอ็มอี โดยเกรงว่าค่าแรงที่เพิ่มขึ้นจะกระทบต้นทุนของธุรกิจเอสเอ็มอี กับอีกกลุ่มหนึ่งที่สนับสนุนให้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าคณะกรรมการค่าจ้างส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในครั้งนี้

การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมิได้จะเกิดข้อถกเถียงเฉพาะในแวดวงเศรษฐกิจเท่านั้น หากแต่ยังมีคำถามในแวดวงการเมืองด้วย เพราะก่อนหน้านี้พรรคการเมืองได้รณรงค์หาเสียงเป็นคำสัญญาว่าจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจำนวนเท่านั้นเท่านี้บาท แต่เมื่อเข้ามาบริหารประเทศกลับไม่สามารถขึ้นค่าแรงขั้นต่ำได้ตามที่ได้ประกาศไว้ จึงเกิดข้อครหาว่ารัฐบาลไม่ทำตามสัญญา แม้ว่าจะมีคำชี้แจงว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป กว่ารัฐบาลจะอยู่ครบวาระน่าจะทำได้ตามคำสัญญา แต่ตอนนี้ก็เกิดความหวาดระแวงว่าคำชี้แจงดังกล่าวนั้นจะไม่เป็นความจริงเสียแล้ว

เรื่องนโยบายของพรรคการเมืองที่หาเสียงกับประชาชน แล้วประชาชนติดตามทวงถามผลงานตามที่หาเสียงนี้ น่าจะมีคำตอบสุดท้ายเพื่อเป็นบรรทัดฐานว่า เมื่อถึงที่สุดแล้ว รัฐบาลไม่สามารถทำตามนโยบายหาเสียงได้ รัฐบาลจะต้องแสดงความรับผิดชอบหรือไม่ อย่างไร เพื่อให้การหาเสียงเลือกตั้งครั้งต่อๆ ไปไม่กลายเป็นการแข่งกันโกหกประชาชน พร้อมกับเตรียมข้อแก้ตัวหลังจากได้ชัยชนะเข้าสู่สภา อ้างนั่นอ้างนี่เพื่อจะบอกว่าสัญญาที่เคยให้ไว้นั้น ทำไม่ได้เสียแล้ว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image