สถานีคิดเลขที่ 12 : ส่วนตัวVSความมั่นคง โดย ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

ปีนี้เป็นอีกปีที่ควันหลงคำถามบนเวทีมิสยูนิเวิร์สเป็นเรื่องที่ถกเถียงอย่างกว้างขวาง หลังจากตัวแทนไทยผ่านเข้ารอบ 5 คนสุดท้าย เพราะการตอบคำถาม

ฟ้าใส ปวีณสุดา ดรูอิ้น มีบุคลิกความเป็นตะวันตกผสมตะวันออก คล้าย แคทรีโอนา เกรย์ เจ้าของมงกุฎมิสยูนิเวิร์สคนก่อนจากฟิลิปปินส์ แต่อดทะลุเข้ารอบ 3 คนสุดท้ายเพื่อชิงชัยหลังจากการตอบคำถามเรื่องที่รัฐบาลสอดแนมประชาชน และให้เลือกระหว่างความมั่นคงกับความเป็นส่วนตัว ว่าอะไรสำคัญกว่ากัน

ตัวแทนจากไทยแลนด์ตอบว่าทั้งสองเรื่องต่างก็สำคัญ และสรุปว่ารัฐบาลควรจะพิจารณาเรื่องของขอบเขตของความเป็นส่วนตัวและความมั่นคงให้พอเหมาะพอดี

คำตอบที่ออกมากลางๆ สวยๆ แบบนี้ ผู้ชมส่วนหนึ่งมองว่าถ้าเป็นเวทีไทยน่าจะถูกใจกรรมการด้วยซ้ำ แต่พอเป็นเวทีอินเตอร์แบบอเมริกันแล้วไม่ใช่

Advertisement

ยิ่งเมื่อไปเทียบกับ มิสแอฟริกาใต้ที่พิชิตมงกุฎเพราะตอบชัดๆ สวยๆ ทั้งคำถามโลกร้อน และเรื่องการสอนความเป็นผู้นำให้เด็กสาวรุ่นใหม่ในรอบ 3 คนสุดท้าย

มีหลายคนแสดงความเห็นว่า ถ้าฟ้าใสตอบไปชัดๆ ว่ารัฐบาลไม่มีสิทธิอ้างเรื่องความมั่นคงมารุกล้ำความเป็นส่วนตัวของประชาชน น่าจะย้ำสารให้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า “ความพอเหมาะพอดี” ที่ว่านั้นให้ความสำคัญอะไรมากกว่ากัน

ประเด็นความเป็นส่วนตัวเป็นเรื่องที่หลายๆ ประเทศเผชิญอยู่ รวมถึงอเมริกาเอง ซึ่งเจอการเปิดโปงอย่างอึกทึกครึกโครมของ เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีตนักเทคนิคของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ และอดีตลูกจ้างซีไอเอ เมื่อปี 2556

Advertisement

สโนว์เดนแฉในสิ่งที่ชาวอเมริกันตกตะลึงว่าข้อมูลส่วนตัวของประชาชนนั้นอยู่ในโครงการสอดส่องอินเตอร์เน็ตของรัฐบาล

จากนั้น สังคมอเมริกันก็อื้ออึงเรื่องนี้ขึ้นมาอีก เมื่อมีการเปิดโปงว่าบริษัทเคมบริดจ์ อนาไลติกา ได้ข้อมูลส่วนบุคคลของสมาชิกผู้ใช้เฟซบุ๊กกว่า 50 ล้านคน
ไปใช้โน้มน้าวให้คนลงคะแนนเลือกโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะศึกการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ 2016 เมื่อปี 2559

กรณีของไทย เคยมีหนังสือจากเจ้าหน้าที่รัฐอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงและความปลอดภัย ส่งไปยังมหาวิทยาลัยหลายแห่งในสามจังหวัดชายแดนใต้ ขอความร่วมมือให้ส่งรายชื่อนักศึกษาที่นับถือศาสนาอิสลามทั้งหมดไปให้กับฝ่ายความมั่นคง และให้ระบุประวัติของนักศึกษา นิกาย ชมรมที่นักศึกษา
มุสลิมเข้าร่วม และประวัติประธานชมรม รวมถึงแนวทางการเคลื่อนไหวของชมรม

เรื่องนี้ถูกประท้วงอย่างกว้างขวาง นอกจากกระทบต่อประเด็นการเลือกปฏิบัติ ก็ถือว่ารุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลด้วย

เจ้าหน้าที่รัฐแจงว่าเป็นการเก็บข้อมูลธรรมดา ไม่ได้จงใจละเมิดสิทธิมนุษยชน และไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษ แต่ก็มีคำถามตามมาว่า ถ้าไม่พิเศษแล้วจะทำไปทำไม

สำหรับผู้ที่เคยถูกหรือกำลังถูกรุกล้ำความเป็นส่วนตัว จะตอบคำถามเรื่องนี้ตรง เปรี้ยง และชัดเจน

ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image