‘อุตตม’นำ3แบงก์รัฐ ชู3สร้างดันศก.ฐานราก

หมายเหตุ – นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “เศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐสร้างไทย กลไกภาวะเศรษฐกิจชาติมั่นคงยั่งยืน” โดยมีนายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และนายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ร่วมเสวนาถึงมาตรการช่วยเหลือเศรษฐกิจฐานราก ที่ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม

อุตตม สาวนายน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

เศรษฐกิจระดับฐานราก มีความสำคัญในการพัฒนาประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาได้ร่วมกับทุกภาคส่วนในการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ประเทศต้องประสบกับภาวะการเปลี่ยนแปลง ทั้งทางด้านเทคโนโลยี หรือที่เรียกว่าดิสรัปชั่น ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ รวดเร็ว และเกิดผลกระทบในวงกว้าง ฉะนั้น หากจะขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างทันโลก จะต้องหันกลับมาดูตัวเองว่า เรามีข้อดีอะไร และทำอย่างไรจึงจะสามารถรวมพลังความคิด ทำให้คนไทย และประเทศไทย ก้าวทันโลกได้

แม้ปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัว แต่เราต้องขับเคลื่อนประเทศให้มีความเข้มแข็ง ซึ่งไม่ใช่เฉพาะการพึ่งพาการส่งออก แต่ต้องทำให้ระบบเศรษฐกิจภายในประเทศมีความเข้มแข็ง สร้างภูมิคุ้มกัน โดยเริ่มจากประชาชนในระดับฐานราก การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ทั้งทางด้านการเกษตร การท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์ในชุมชน อีกทั้ง การทำงานร่วมกันของกลุ่มภาคีเครือข่าย ภาครัฐ เอกชน ชุมชน และประชาชน กำหนดเป้าหมาย แผนการดำเนินงานที่ชัดเจน เพื่อให้ประเทศไทย และประชาชนก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างเข้มแข็งได้

Advertisement

การทำเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็ง คือ การสร้างโอกาสให้ประชาชนในชุมชน ปรับเปลี่ยนและพัฒนา สร้างโอกาสให้คนไทยทุกรุ่นทุกระดับ เพื่อทำให้ต่างชาติเห็นว่า ประเทศไทยมีความพร้อมในการเป็นประตูสู่อาเซียนอย่างแท้จริง ไม่ใช่เฉพาะการมีความพร้อมด้านที่ตั้งอย่างเดียว ทั้งนี้ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง ลดความเหลื่อมล้ำ ทำลายกำแพงความยากจน จะต้องร่วมกันสร้างโอกาส ทำให้ระดับฐานรากพึ่งพาตัวเองและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ การยกระดับคุณภาพชีวิตเศรษฐกิจฐานราก ประกอบด้วย 3 กลไก ได้แก่ 1.สร้างความรู้ สร้างอาชีพ 2.สร้างตลาด สร้างรายได้ และ 3.สร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน โดยเน้นการส่งเสริมให้ประชาชนรายย่อยในระดับฐานราก โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ได้เข้าถึงความรู้ในการพัฒนาอาชีพ ได้ฝึกฝนและสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ เพื่อนำไปเป็นทุนประกอบอาชีพ

เศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ จะต้องช่วยกันด้วยทรัพยากร ด้วยใจ และด้วยกำลังสมอง ทำให้เกิดเศรษฐกิจฐานรากที่เข้มแข็ง ที่บอกว่าระบบเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว เพราะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกฝืด แต่อยากให้มองว่าเป็นวัฏจักร เดี๋ยวก็ดีขึ้น และหากเราช่วยกันทำให้เศรษฐกิจในประเทศมีความเข้มแข็ง การค้าขาย การผลิตสินค้าที่เป็นที่ต้องการ ไม่ว่าจะเกิดผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากภายนอกอย่างไร ก็จะสามารถผ่านพ้นไปได้

Advertisement

อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าวที่มีความพยายามขับเคลื่อน ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทยประเทศเดียว อย่างประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจ และเทคโนโลยีของโลก ก็อยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อทำให้ระบบเศรษฐกิจฐานราก วิสาหกิจชุมชน มีความเข้มแข็งเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน แม้ประเทศไทยจะเป็นประเทศขนาดเล็ก แต่เต็มไปด้วยศักยภาพ ซึ่งทุกคน ทุกชุมชน ภาครัฐ เอกชน ต้องช่วยกันคิด ช่วยกันทำ และประเทศไทยจะก้าวต่อไปได้อย่างยั่งยืน

ชาติชาย พยุหนาวีชัย
ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน

ปัจจุบันธนาคารออมสินมีลูกค้า 22 ล้านครัวเรือน โดย 60% หรือประมาณ 13 ล้านคนเป็นกลุ่มเศรษฐกิจฐานราก นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากที่เป็นผู้มีรายได้น้อย อยู่ในการดูแลของธนาคารประมาณ 81% หรือประมาณ10 ล้านครัวเรือน โดยในส่วนนี้ธนาคารมีนโยบายที่จะปรับปรุงเพื่อเป็นธนาคารเพื่อสังคม จึงมีการปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อเป็นโซเชียลแบงกิ้ง โดยเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับฐานรากให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ซึ่งการพึ่งพาตัวเองได้นั้น จะต้องมีการสนับสนุนการสร้างความรู้ สร้างอาชีพ สร้างตลาด และการสร้างการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้ได้มากขึ้น

การสร้างความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยด้วยการให้เศรษฐกิจฐานรากเป็นกลไกกระตุ้นนั้นจะต้องได้รับความร่วมมือตามแนวทางประชารัฐคือภาครัฐเอกชนและประชาชนร่วมกันผลักดันโดยกลไก 3 สร้างอย่างต่อเนื่องคือ

1.สร้างความรู้ สร้างอาชีพ2.สร้างตลาด สร้างรายได้ และ 3.สร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน
ทั้งนี้ จะต้องมีการสร้างนวัตกรรมให้ชุมชนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างชุมชนซึ่งอาจมีปราชญ์ชาวบ้านจุดประเด็นองค์ความรู้ของชุมชนเพื่อให้เกิดการระดมความเห็นเมื่อปฏิบัติแล้วสำเร็จจึงสนับสนุนไปสู่ชุมชนต้นแบบ หลังจากนั้นมีการติดตามประเมินผลและพัฒนาอย่างต่อเนื่องต่อไป

สำหรับการเข้าถึงแหล่งทุนในระบบ ธนาคารได้เตรียมสินเชื่อประชารัฐสร้างไทยธนาคารประชาชน 5.5.5 วงเงินโครงการ 2,500 ล้านบาท ให้กู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท เพื่อให้พ่อค้า แม่ค้าหาบเร่ แผงลอย ผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อย และผู้มีรายได้น้อย ได้นำเงินไปเป็นทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพโดยผู้กู้สามารถใช้บุคคล หรือบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันมีวงเงินกู้สูงสุดรายละไม่เกิน 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ 0.50% ต่อเดือน ระยะผ่อนชำระไม่เกิน 5 ปี (60 งวด) ซึ่งเป็นแคมเปญที่สนองนโยบายรัฐเพื่อให้ลูกค้าฐานรากสามารถกู้เงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำ

นอกจากนี้ ยังมีสินเชื่อพัฒนาองค์กรชุมชน (รายบุคคล) สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการโฮมสเตย์ เพื่อเป็นเงินลงทุนในการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการโฮมสเตย์ไทย ปรับปรุง หรือขยายกิจกรรมที่ทำอยู่เดิมลงทุนในกิจกรรมเพื่อการผลิต การค้า หรือการบริการ วงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาท สามารถใช้บุคคล หลักทรัพย์ หรือ บสย. ค้ำประกันก็ได้ ระยะเวลาผ่อนชำระ 3-7 ปี อัตราดอกเบี้ยมี 2 แบบ หากใช้บุคคล หรือ บสย.ค้ำประกันอัตราดอกเบี้ยคงที่ 0.75% ต่อเดือน และใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันอัตราดอกเบี้ย MRR + 1.50%ต่อปี (อัตราดอกเบี้ย MRR ของธนาคารปัจจุบัน = 6.745% ต่อปี)

เชื่อว่าด้วยการผลักดันนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงการคลัง ร่วมกับการประสานพลังประชารัฐของทุกภาคส่วนและภาคีเครือข่ายสนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก จะทำให้การขับเคลื่อนการพัฒนานี้ประสบความสำเร็จสามารถสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำและยกระดับรายได้ให้ประชาชนในพื้นที่มีความกินดีอยู่ดี มีความสุข เพื่อสร้างพื้นฐานและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนซึ่งจะขยายผลประชารัฐสร้างไทยไปทุกภูมิภาคทั่วประเทศต่อไป

อภิรมย์ สุขประเสริฐ
ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

ในช่วงที่ผ่านมา ธ.ก.ส.พยายามเป็นมากกว่าธนาคาร โดยได้มีการคิดค้นโครงการใหม่ๆ ที่จะสามารถพัฒนาเกษตรกรได้ ล่าสุด ธ.ก.ส.ได้ทำโครงการธุรกิจชุมชนสร้างไทย โดยสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจฐานรากที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในชุมชน ประกอบด้วย กิจกรรมการผลิต กิจกรรมขายผลผลิต กิจกรรมการซื้อและบริโภคของคนในชุมชนอย่างมีส่วนร่วม โดยมีแนวทางในการขับเคลื่อนที่เริ่มจากการค้นหาและศึกษาความต้องการของชุมชน จากนั้นจึงเริ่มพัฒนา สร้างความเข้มแข็ง โดยยึดหลักตลาดนำการผลิตและมีการกำหนดแผนธุรกิจที่ชัดเจน

ทั้งนี้ ในส่วนของการดำเนินงานดังกล่าว มีความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในด้านความรู้ เทคโนโลยีนวัตกรรม งานวิจัย และงบประมาณ อีกทั้ง ธ.ก.ส. ยังช่วยสนับสนุนสินเชื่อให้กับสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เกษตร วิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์การเกษตร เพื่อทำให้เกิดผลลัพธ์ คือ ความมั่นคงของเศรษฐกิจฐานรากมีภูมิคุ้มกัน มีรายได้ สวัสดิการสังคม และโอกาสทางการตลาดที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ธ.ก.ส.เตรียมแผนในการขับเคลื่อนพัฒนาชนบทสู่ความยั่งยืน โดยจะมีการปล่อยสินเชื่อชุมชนสร้างไทย จำนวน 5 หมื่นล้านบาท ดอกเบี้ย 0.01% ระยะเวลา 3 ปี หรือระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2562 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 เพื่อให้นำเงินดังกล่าวไปพัฒนาสินค้าของชุมชนให้มีมูลค่ามากขึ้น โดยกลุ่มเป้าหมาย อาทิ กลุ่มเกษตรกร รัฐวิสาหกิจ สหกรณ์การเกษตร และผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร
สำหรับเป้าหมายในการดำเนินโครงการ ปีบัญชี 2562 มีจำนวนชุมชนที่มายื่นกู้ 928 ชุมชน จำนวนเงิน 7 พันล้านบาท และในปีบัญชี 2563 มีจำนวนชุมชนที่มายื่นกู้ 1,273 ชุมชน จำนวนเงิน 1.3 หมื่นล้านบาท
สำหรับการทำงานในปี 2563 จะเน้นการปฏิรูปภาคการเกษตร แต่จะไม่ไปเพิ่มหนี้ให้กับเกษตรกรรายย่อย แนวทางขับเคลื่อนชุมชนการปรับเปลี่ยนจะให้มีการทำ
ธุรกิจชุมชน หรือธุรกิจชุมชนสร้างไทย กว่า 1,700 สาขา ที่ผ่านมา ธ.ก.ส.สร้างเกษตรกร
คนรุ่นใหม่ หรือยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ กว่า 3 แสนราย โดยจะพัฒนาให้กลุ่มคนเหล่านี้เข้มแข็ง เพื่อไปพัฒนาและช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยต่อไป

ฉัตรชัย ศิริไล
กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)
ในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา ธอส. มีการปล่อยสินเชื่อไปแล้วกว่า 1.8 แสนราย ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาทาง ธอส.ได้ออกโครงการบ้านล้านหลัง โดยได้รับผลตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้มีการลดดอกเบี้ยในการผ่อนบ้าน เพื่อเป็นการลดภาระให้ประชาชน

ทั้งนี้ หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบโครงการบ้านดีมีดาวน์ โดยให้การสนับสนุนเงินดาวน์ 50,000 บาท แก่ผู้ซื้อที่อยู่อาศัย โดยสามารถเข้าร่วมโครงการ ได้ตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2562 จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2563 และจะต้องได้รับการอนุมัติสินเชื่อที่อยู่อาศัยจากสถาบันการเงินและจดจำนองตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2563 คนละ 1 สิทธิ (1 บัตรประชาชนต่อ 1 สิทธิ) มีผู้ได้สิทธิจำนวน 1 แสนราย

สำหรับคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการต้องมีตัวตนในฐานข้อมูลของกรมการปกครอง อยู่ในฐานภาษีของกรมสรรพากร มีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อเดือน หรือ 1.2 ล้านบาทต่อปี และต้องมีบัญชีเงินฝากธนาคารพร้อมเพย์ที่ผูกติดกับบัตรประชาชน เมื่อลงทะเบียนแล้วจะได้รับการยืนยันภายใน 3 วันว่ามีคุณสมบัติที่จะได้รับเงินดาวน์ จากข้อมูลของกรมสรรพากรมีผู้อยู่ในระบบภาษี 11 ล้านคน มีคนที่รายได้ไม่ถึง 1.2 ล้านบาทต่อปี 10 ล้านคน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image