ไทยพบพม่า : เมื่อวีรสตรีของชาติกลายเป็นจำเลยของโลก

ในสัปดาห์นี้ ความสนใจของชาวพม่าทั้งประเทศกลับมาอยู่ที่ออง ซาน ซูจีอีกครั้ง นับตั้งแต่เธอและพรรคเอ็นแอลดีเข้ามาเป็นผู้นำรัฐบาล ชาวพม่าจำนวนหนึ่งเริ่มไม่มั่นใจในการบริหารงานของรัฐบาลเอ็นแอลดีนัก อาจจะเป็นเพราะพิษเศรษฐกิจและการทำให้เป็นประชาธิปไตยในพม่าที่เป็นไปอย่างเนิบช้าไม่ทันใจ แต่หากจะกล่าวกันแบบตรงๆ คนพม่าเบื่อออง ซาน ซูจี หรือ อะเม ซูŽ (แม่ซู) ของพวกเขาได้ไม่นาน สำหรับคนพม่าหัวก้าวหน้าขึ้นมาหน่อย ความรู้สึกต่อออง ซาน ซูจีคงมีลักษณะแบบ ทั้งรักทั้งชังŽ ที่ชังเพราะเธอมีทีท่าเป็นมิตรกับทุกฝ่าย แม้แต่กับศัตรูทางการเมืองของเธอ คือกองทัพและบรรดาโครนี่หรือนักธุรกิจที่เติบโตขึ้นมาเพราะเครือข่ายกับกองทัพและอีลีท และอาจเป็นเพราะรัฐบาลซูจีไม่สามารถแก้ไขปัญหาปากท้อง และความขัดแย้งทางเชื้อชาติที่รุมเร้าพม่ามานานหลายสิบปีได้

แม้ประชาชนพม่าจะวิพากษ์วิจารณ์ อะเม ซูŽ ของพวกเขาอยู่บ้าง แต่เมื่อเกิดวิกฤตใดๆ โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลพม่าต้องตกเป็นเหยื่อ หรือเป็นขี้ปากของคนทั่วโลก สังคมพม่าจะพร้อมใจกันออกมาปกป้องผู้นำรัฐบาล ราวกับว่าเธอเป็นสถาบันทางการเมืองหนึ่ง จะเรียกเธอว่าเป็นภาพแทนของ ชาติŽ หรือ รัฐŽ ในความคิดของชาวพุทธพม่าที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศเลยก็น่าจะไม่ผิดนัก ตั้งแต่ออง ซาน ซูจี เข้ามาผู้นำในทางพฤตินัย (de facto leader) ไม่มีเหตุการณ์ใดที่ท้าทายสถานะทางอำนาจของวีรสตรีเพื่อประชาธิปไตยแห่งชาติผู้นี้เท่ากับวิกฤตการณ์โรฮีนจา แน่นนอน เหยื่อที่แท้จริงของ

ความรุนแรงในครั้งนี้คือผู้อพยพชาวโรฮีนจานับล้าน แต่สังคมพม่ามักมองว่าออง ซาน ซูจีและสังคมพม่าคือเหยื่อตัวจริงของวิกฤตการณ์ในครั้งนี้

ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา แกมเบีย ประเทศมุสลิมเล็กๆ ในแอฟริกา ยื่นเรื่องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ กล่าวหาว่าพม่าละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและลงโทษความผิดอาญาฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ที่สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ลงนามมาตั้งแต่ปี 1948 นับเป็นการฟ้องร้องคดีว่าด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คดีที่ 3 ที่มีผู้ฟ้องร้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศนับตั้งแต่สงครามโลกที่ 2 เป็นต้นมา โดยปกติ เมื่อมีผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ประเทศที่ถูกกล่าวหาก็ต้องสู้คดีในศาลโลก บุคคลที่จะโดดเด่นขึ้นมาในกระบวนการยุติธรรมนี้คือหัวหน้าคณะทนายที่รัฐบาลประเทศนั้นๆ แต่งตั้งขึ้นเพื่อสู้คดี แต่ในกรณีของพม่า ออง ซาน ซูจีรับหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมต่อสู้คดีและชี้แจงต่อศาลโลกด้วยตัวเอง

Advertisement

ป้ายสนับสนุนออง ซาน ซูจีป้ายหนึ่งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ พื้นหลังเป็นรูปศาลยุติธรรมระหว่างประเทศที่กรุงเฮก และนายทหารระดับสูงในกองทัพพม่าอีก 3 คน (จากซ้าย นายพลเย อ่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการชายแดน, นายพลเส่ง วิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนายพลจ่อ ส่วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย) ต่อมาป้ายนี้ถูกปลดลง

 

Advertisement

การปรากฏตัวของออง ซาน ซูจีที่ศาลโลกสร้างกระแสฮือฮาในพม่าอย่างมาก เพราะสังคมพม่าโดยรวมไม่พอใจประชาคมโลกที่วิพากษ์วิจารณ์กรณีโรฮีนจาอยู่แล้ว และยิ่งไม่พอใจมากขึ้นเมื่อบุคคลอันเป็นที่เคารพรักสูงสุดอย่างออง ซาน ซูจี ต้องลงมาชี้แจงกับศาลโลกด้วยข้อกล่าวหาที่ คลาดเคลื่อนŽ ด้วยตนเอง ที่ผ่านมา พม่าปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และการใช้กำลังทหารเพื่อปราบปรามชนกลุ่มน้อย (ไม่ใช่เฉพาะชาวโรฮีนจา) มาโดยตลอด โดยอ้างว่าการใช้กำลังกับชาวโรฮีนจาเพื่อกำราบขบวนการก่อการร้ายโรฮีนจา และยังให้คำมั่นกับประชาคมโลกด้วยว่าจะนำตัวคนที่สั่งให้สังหารชาวโรฮีนจามาลงโทษ

อย่างไรก็ดี ประชาคมโลกไม่เชื่อข้ออ้างของพม่า และยืนยันว่ากองทัพพม่าจงใจถอนรากถอนโคนชาวโรฮีนจา ฆ่าและข่มขืนชาวโรฮีนจาอย่างเป็นระบบ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ถาโถมใส่พม่า ออง ซาน ซูจี ในฐานะของสัญลักษณ์แห่งความยุติธรรม สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตยในพม่า แทบไม่เคยออกมาตอบคำถามของสื่อต่างชาติ (ที่เธอมองว่าไม่เป็นกลาง ไม่มีความเข้าใจสภาพสังคมของพม่า และกล่าวหาพม่าแบบเลื่อนลอย) ท่าทีเงียบเฉยของเธอถูกตีความว่าเธอเองก็สมยอมต่อความรุนแรงนี้ บ้างมองข้ามช็อตว่าเธอถูกกลืนเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดของกองทัพพม่าไปเสียแล้ว คณะกรรมการค้นหาความจริงที่ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติสนับสนุนท่าทีของแกมเบียกับการนำเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮีนจาขึ้นสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เพราะเกรงว่าพม่าจะกวาดล้างโรฮีนจาอีกรอบ และความรุนแรงจะไม่จบลงตราบใดก็ตามที่ยังมีชาวโรฮีนจาหลงเหลืออยู่ในรัฐยะไข่

การปรากฏตัวของออง ซาน ซูจีที่กรุงเฮกนั้นไม่เป็นผลดีกับพม่า เพราะยิ่งตอกย้ำภาพของเธอในฐานะ แม่Ž ที่กุมอำนาจทุกอย่างของฝ่ายรัฐบาลไว้ ในขณะเดียวกันก็ยอมประนีประนอมกับกองทัพเพื่อรักษาสถานะทางอำนาจและพื้นที่ของเธอและเอ็นแอลดีไว้อย่างมั่นคง พูดได้ว่าหากเธอเกิดล้มพับเป็นอะไรขึ้นมา รัฐบาลพม่าถึงขั้นพิกลพิการได้ง่ายๆ ผู้เขียนเคยเขียนถึงออง ซาน ซู จีมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน และพยายามส่งสัญญาณสม่ำเสมอว่ารัฐบาลที่พึ่งพาบารมีของผู้นำเพียงคนเดียวนั้นอันตรายต่อการพัฒนาสู่ระบอบประชาธิปไตย เพราะนักการเมืองที่จะพัฒนามาเป็นผู้นำประเทศรุ่นต่อไปยังมีความสัมพันธ์แบบ แม่-ลูกŽ กับออง ซาน ซูจี ไม่ใช่แต่เพียงนักการเมืองฝั่งเอ็นแอลดีเท่านั้น แต่ประชาชนในชาติ ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวพม่าพุทธ ก็มองว่าเธอเป็นผู้นำที่ชอบธรรม ไม่เคยทำอะไรผิดพลาด และมีแต่ความปรารถนาดีอย่างเต็มเปี่ยมให้กับประเทศและประชาชนในพม่า นอกจากจะเป็น แม่ของชาติŽ เธอยังเป็นเสมือนซุปเปอร์สตาร์ที่มีกลุ่มผู้ติดตามจำนวนมาก ในการไปเยือนเนเธอร์แลนด์คราวนี้ ก็มีชาวพม่ากลุ่มใหญ่ที่จัดทัวร์ติดตามบุคคลอันเป็นที่รักไปกรุงเฮกด้วย

นอกจากคดีที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศที่กรุงเฮกแล้ว พม่ายังมีคดีในลักษณะเดียวกันอยู่ในศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ (International Criminal Court หรือ ICC) และการฟ้องร้องอีกคดีหนึ่งที่กลุ่มสิทธิของโรฮีนจาและกลุ่มสิทธิมนุษยชนในละตินอเมริกายื่นฟ้องออง ซาน ซูจี พร้อมกับคนในรัฐบาลและกองทัพพม่าอีกหลายคนที่ศาลในอาร์เจนตินา ความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นก่อนที่การเลือกตั้งทั่วไปในพม่าที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2020 สิ่งที่ออง ซาน ซูจีและรัฐบาลเอ็นแอลดีสนใจมากที่สุดในเวลานี้คือการกุมเสียงของชาวพุทธพม่าไว้ให้แน่น พูดเรื่องโรฮีนจาในที่สาธารณะให้น้อยที่สุด และปล่อยให้การฟ้องร้องในศาลทั้ง 3 แห่งเป็นเรื่องของกฎหมายระหว่างประเทศไปเสีย

ท่ามกลางการฟ้องร้องที่ไม่มีทีท่าจะสิ้นสุดนี้ คะแนนเสียงของ ออง ซาน ซูจีเพิ่มมากขึ้นในรอบหลายปี มีผู้ออกมาเดินขบวนเพื่อสนับสนุนเธอ พร้อมกับกระหน่ำโพสต์สนับสนุนเธอในสื่อโซเชียล มีเดีย เพื่อบอกให้โลกรู้ว่าพม่าถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม และประกาศให้โลกรู้ว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ชาวพม่าจะอยู่เคียงข้าง อะเม ซูŽ ไม่เปลี่ยนแปลง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image