จาก Cluster สู่ Regional การจัดการขยะ

กลางเดือนพฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา มีการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการจัดการขยะของประเทศในกลุ่มประชาคมอาเซียนและประเทศอินเดีย ประเทศญี่ปุ่นภายใต้หัวข้อที่เข้าใจยาก “Regional Waste management in Asian Countries”

ตอนแรกเข้าใจว่า คำว่า “Regional” ผู้จัดการประชุมคงหมายถึงภูมิภาคซึ่งครอบคลุมประเทศต่างๆ ในกลุ่มประชาคมอาเซียน เพราะในการประชุมครั้งนั้นมีประเทศในกลุ่มอาเซียนเข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการจัดการขยะหลายประเทศ แต่หลังจากฟังการนำเสนอของผู้จัดคือ สถาบันวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์แห่งประชาคมอาเซียนและเอเซียตะวันออก (ERIA) จึงเข้าใจ คำว่า “Regional” ที่เราแปลว่า “ส่วนภูมิภาค” นั่นเขาหมายถึงความร่วมมือของท้องถิ่นในการจัดการขยะที่มีขนาดพื้นที่กว้างขวางขึ้นซึ่งอาจข้ามเขตจังหวัดไปรวมกับท้องถิ่นในจังหวัดข้างเคียงได้

คำว่า “Regional” ก็คือ “Cluster” ที่มีขนาดพื้นที่ของความร่วมมือระหว่างท้องถิ่นที่กว้างกว่านั่นเอง

สําหรับ “Cluster” หรือการรวมกลุ่มขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการขยะเป็นแนวคิดที่ริเริ่มโดยกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต่อมา เมื่อกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทยเข้ามารับภารกิจการจัดการขยะแทน ได้ปรับปรุงการรวมกลุ่มของท้องถิ่นในแต่ละจังหวัดเพื่อให้สามารถพัฒนาระบบการจัดการขยะได้จริงโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ขนาดของโครงการมีความเหมาะสมในการลงทุนที่เรียกว่า “Economy of Scale” โดยเฉพาะโครงการที่ต้องใช้งบประมาณในการลงทุนมากๆ เช่นระบบกำจัดขยะแบบเตาเผา หรือโรงไฟฟ้าขยะ หรือโครงการที่ต้องการให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุนและดำเนินการ แต่มิติของ “Cluster” ยังคงอยู่ภายในกรอบของจังหวัดโดยกำหนดหลักการให้ระยะทางของการขนส่งขยะจากพื้นที่จัดเก็บไปยังสถานที่กำจัดไม่ควรเกิน 30 กิโลเมตร ด้วยเงื่อนไขของรถเก็บขนขยะที่ใช้ในปัจจุบันซึ่งเป็นรถที่มีน้ำหนักมากไม่เหมาะกับการวิ่งระยะทางไกล

Advertisement

ด้วยหลักการและเงื่อนไขเช่นนี้จึงทำให้แต่ละจังหวัดมี “Cluster” ขนาดต่างๆ (เล็ก กลาง ใหญ่) จำนวนมาก แต่กลับมี “Cluster” ที่มีขนาดเหมาะสมกับการลงทุนจริงๆ ไม่กี่แห่งและส่วนใหญ่ก็ประสบอุปสรรคไม่สามารถพัฒนาโครงการได้ เนื่องจากไม่เป็นที่ยอมรับจากชุมชนหรือไม่สามารถเชื่อมต่อเข้ากับระบบสายส่งเพื่อจำหน่ายไฟฟ้าซึ่งเป็นที่มาของรายได้สำคัญของโครงการเมื่อต้องพัฒนาระบบกำจัดโดยใช้เตาเผาผลิตพลังงานไฟฟ้าหรือโรงไฟฟ้าขยะ

กล่าวได้ว่า “Regional” เป็นการรวมกลุ่มของท้องถิ่นให้มีขนาดใหญ่ขึ้นหรือเป็นการรวม Cluster หลายๆ กลุ่มเข้าด้วยกันโดยไม่ต้องคำนึงถึงขอบเขตจังหวัดเพื่อให้ปริมาณขยะที่จะนำเข้าสู่ระบบกำจัดมีมากขึ้นและเพียงพอที่จะพัฒนาโครงการขนาดใหญ่โดยไม่จำกัดว่าจะเป็นการฝังกลบที่ถูกหลักวิชาการหรือเตาเผาหรือโรงไฟฟ้าขยะ เมื่อขนาดใหญ่ขึ้นส่งผลให้ต้นทุนในการลงทุนและการเดินระบบกำจัดต่อหน่วยน้ำหนักลดลง

คำถามที่ตามมาคือ เมื่อขนาดพื้นที่กว้างใหญ่ขึ้น โครงการมีความเหมาะสมในการลงทุน แต่ระยะทางการขนส่งขยะของท้องถิ่นที่อยู่ไกลออกไป โดยเฉพาะท้องถิ่นขนาดเล็กจะเป็นภาระค่าขนส่งที่เพิ่มมากขึ้นอาจเป็นอุปสรรคในการเข้าร่วมระบบ “Regional”

Advertisement

การขนส่งจึงเป็นตัวแปรสำคัญที่จะบอกถึงความเป็นไปได้ของการขยาย “Cluster” ไปสู่ “Regional” ในที่ประชุมในวันนั้นวิทยากรหลายท่านได้เสนอตัวอย่างการขยายความร่วมมือของท้องถิ่นให้มีขนาดพื้นที่บริการกว้างใหญ่ขึ้นเพื่อทำให้โครงการเตาเผาขยะเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าหรือโรงไฟฟ้าขยะมีความเป็นไปได้ในประเทศจีน อินเดีย ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย โดยจุดอ่อนเรื่องต้นทุนการขนส่งได้รับการแก้ปัญหาด้วยการใช้ “สถานีขนถ่าย” และ “การขนส่งขยะด้วยรถบรรทุกขนาดใหญ่” แทนการใช้รถเก็บขยะที่วิ่งภายในระยะทางเพียง 30-40 กิโลเมตร

กรมควบคุมมลพิษอธิบายเรื่องสถานีขนถ่ายไว้ในเอกสาร “เกณฑ์มาตรฐานและแนวทางการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน” ว่าเป็นสถานที่สำหรับถ่ายเทขยะจากรถเก็บขนขยะลงสู่พาหนะขนาดใหญ่เพื่อขนส่งไปยังสถานที่แปรสภาพหรือกำจัดขยะ ก่อนนี้การถ่ายเทขยะทำกันแบบง่ายๆ บ้างก็ใช้วิธีเทลงพื้นแล้วใช้รถตักใส่รถขนขนาดใหญ่อีกที หรือไม่ก็ก่อสร้างทางลาดเพื่อให้รถเก็บขนขยะถอยขึ้นไปเทลงในรถขนาดใหญ่ สถานีขนถ่ายแบบนี้มีปัญหาเรื่องกลิ่นและน้ำเสีย มีผลกระทบต่อชุมชนรอบข้าง แต่ปัจจุบันสถานีขนถ่ายได้รับการพัฒนาให้มีระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย ไม่มีการเทลงพื้นแต่จะมีทางลาดที่ให้รถเก็บขยะเทลงรถขนขนาดใหญ่ หรือ “Container” ที่ออกแบบสำหรับการขนถ่ายโดยเฉพาะ สถานีขนถ่ายบางแห่งมีโรงคัดแยกวัสดุรีไซเคิลร่วมอยู่ด้วย บางแห่งมีระบบอัดขยะเพื่อรีดเอาน้ำขยะแล้วนำเอาน้ำขยะไปบำบัดด้วยระบบย่อยสลายแบบไม่ใช้อากาศจนได้ก๊าซชีวภาพมาใช้ประโยชน์ สถานีขนถ่ายจะมีระบบอะไรร่วมด้วยก็ขึ้นกับขนาดหรือปริมาณขยะที่เข้าสู่สถานีขนถ่าย สำหรับรถขนขนาดใหญ่ที่ใช้ในปัจจุบันจะมีขนาดบรรทุกได้เที่ยวละประมาณ 30 ตัน

แล้วสถานีขนถ่ายและการขนส่งขยะด้วยรถขนขนาดใหญ่จะช่วยลดต้นทุนการจัดการขยะของท้องถิ่นได้อย่างไร

หากสถานีขนถ่ายมีระบบอัดขยะซึ่งเป็นเพียงเครื่องอัดไฮดรอลิกส์ธรรมดา ปริมาณน้ำที่ปะปนในขยะจะถูกรีดออก น้ำหนักขยะที่ต้องขนไปกำจัดลดลงอย่างน้อย 10% ซึ่งหมายถึงการประหยัดค่ากำจัดที่ท้องถิ่นต้องจ่าย ส่วนน้ำขยะอาจบำบัดด้วยระบบบำบัดน้ำเสียของท้องถิ่นหรือระบบที่ติดตั้งในสถานีขนถ่ายเอง ต่อมา ประเด็นเรื่องค่าขนส่ง เมื่อเปรียบเทียบการขนส่งโดยรถเก็บขนขยะที่มีขนาดบรรทุกเพียง 5 ตัน ตามเงื่อนไขของ Cluster คือไม่เกิน 30 กิโลเมตร กับการขนด้วยรถขนขนาดใหญ่ 30 ตัน ด้วยระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร พบว่าค่าขนส่งต่อน้ำหนักเมื่อใช้สถานีขนถ่ายและรถขนขนาดใหญ่จะต่ำกว่าถึงเท่าตัว นอกจากนั้น สถานีขนถ่ายยังช่วยลดเวลาการทำงานต่อเที่ยวของรถเก็บขน โดยรถเก็บขนสามารถกลับไปทำหน้าที่จัดเก็บขยะในพื้นที่ได้โดยไม่ต้องเสียเวลากับการวิ่งไปสถานที่กำจัด

แนวคิดการขยายขนาดของ Cluster หรือการรวม Cluster ไปสู่ขนาดที่เป็น “Regional” เพื่อให้ท้องถิ่นที่มีศักยภาพสามารถพัฒนาระบบกำจัดได้ไม่ว่าจะด้วยงบของรัฐ ของท้องถิ่นหรือให้เอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุน โดยมีสถานีขนถ่ายและระบบขนส่งด้วยรถขนขนาดใหญ่เป็นองค์ประกอบที่ช่วยลดภาระด้านงบประมาณโดยเฉพาะท้องถิ่นขนาดเล็กที่อยู่ไกลออกไป

นี่น่าจะเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งสำหรับท้องถิ่น นอกเหนือจากการจัด Cluster ความร่วมมือของท้องถิ่นในการจัดการขยะเป็นขนาดใหญ่ กลางและเล็ก แล้วพยายามแสวงหาระบบกำจัดขยะที่เหมาะสมสำหรับ Cluster ของตนเอง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image