รัฐสวัสดิการเพื่อทักษะแห่งอนาคต : โดย วุฒิชัย กปิลกาญจน์

นอกเหนือไปจากการได้รับหลักประกันด้านสุขภาพที่ดีแล้ว คนไทยควรจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นไปอีกจากการที่มีทักษะเพียงพอเพื่อรับมือกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยรัฐควรจัดสวัสดิการเพิ่มเติมทางด้านการศึกษาสำหรับประชากรทุกกลุ่มทั้งวัยเรียน วัยทำงาน ตลอดจนผู้สูงอายุ

การแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจที่รัฐกำลังดำเนินการอยู่นั้น รวมไปถึงความพร้อมทางด้านแรงงานสำหรับธุรกิจประเภทต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการลงทุนของนักธุรกิจต่างประเทศที่ได้รับการชักชวนให้มาดำเนินการในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่จัดเตรียมไว้แล้ว โดยปัญหาที่ดำรงอยู่และจะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นคือปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีคุณภาพ

ดังนั้นจึงขอเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานสายวิชาชีพ ซึ่งต้องเร่งดำเนินการ ทั้งทางด้านปริมาณและคุณภาพ โดยการเพิ่มจำนวนผู้เข้าศึกษาสายวิชาชีพ อาจจะทำได้ ดังนี้

1.สร้างแรงจูงใจให้เยาวชนเรียนอาชีวศึกษา โดยรัฐสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการศึกษาทั้งหมดให้กับผู้ที่เลือกศึกษาสายวิชาชีพทุกคนจนจบการศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)

Advertisement

1.1) ผู้ที่จบการศึกษาในระดับ ปวช. ที่มีผลการศึกษาและความประพฤติดี จะได้รับการคัดเลือกให้เข้าศึกษาต่อในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) โดยรัฐรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดจนจบการศึกษา

1.2) มีการคัดเลือกผู้ที่จบการศึกษาระดับ ปวส.เข้าศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นไปอีก เพื่อเข้าทำงานเป็นอาจารย์ในสถาบันการศึกษาสายวิชาชีพเมื่อจบการศึกษาแล้ว โดยรัฐเป็นผู้ให้ทุนการศึกษา ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนผู้สอนในสายวิชาชีพได้ด้วย

2.จัดทำโครงการระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงการอุดมศึกษาฯ เพื่อร่วมกันผลิตบุคลากรสายวิชาชีพในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จากการเปิดสอน ปวส. ในสถาบันอุดมศึกษา ทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ (ในสังกัดของทั้งสองกระทรวง) ทั้งนี้โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ (บุคลากร ครุภัณฑ์ และสถานที่) และรัฐสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติม

Advertisement

สำหรับการผลิตบุคลากรให้มีคุณภาพซึ่งต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนควบคู่กันไปนั้น มีข้อเสนอจากคณะทำงานระดับประเทศ คือ ข้อเสนอการปฏิรูปการอาชีวศึกษาโดยคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจด้านอาชีวศึกษา คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ดังเป้าหมายและข้อเสนอต่อไปนี้

เป้าหมายหลัก

1) พัฒนากำลังคนที่มีความรู้และทักษะในทางปฏิบัติ เพื่อรองรับความก้าวหน้าในการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย

2) ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในประเทศ โดยยกระดับแรงงานไร้ฝีมือ
เข้าสู่อาชีวศึกษา
เป้าหมายรอง

1) เพิ่มจำนวนผู้เรียนอาชีวศึกษาในสาขาที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคเอกชนและประเทศ และผู้จบอาชีวศึกษามีงานทำ

2) ผู้เรียนมีความรู้ ทักษะ เก่งปฏิบัติ มีสมรรถนะเป็นที่ยอมรับ หรือผ่านการศึกษาอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีและฝึกงานในสถานประกอบการ

3) ผู้เรียนมีความสามารถที่จะเป็นผู้ประกอบการได้เอง

โดยมีข้อเสนอ

1) เพิ่มค่าตอบแทนให้ผู้จบการศึกษาสายอาชีพ

2) ให้เรียนฟรีโดยให้ทุนการศึกษาสำหรับผู้เรียนอาชีวศึกษา

3) จูงใจผู้เรียนโดยใช้กลไกกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

4) เพิ่มการจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีหรือการฝึกงานที่เน้นการฝึกปฏิบัติ

5) จัดตั้ง TRAINING CENTER/MOBILITY TRAINING CENTER เพื่อเป็นศูนย์ฝึกปฏิบัติ

6) สนับสนุนให้สถานศึกษาหารายได้ด้วยตนเองและปลูกฝังทักษะพื้นฐานในการเป็นผู้ประกอบการ

7) ส่งเสริมความก้าวหน้าและสิทธิประโยชน์ของครูอาชีวศึกษา

8) ปรับหลักสูตรและรูปแบบการเรียนการสอนอาชีวศึกษา

9) ส่งเสริมการจัดอาชีวศึกษานอกระบบสำหรับกลุ่มแรงงานและกลุ่มคนพิการ
คณะทำงานอีกชุดหนึ่งที่ได้นำเสนอรายงานในภาพรวมของการอาชีวศึกษา คือ คณะอนุกรรมาธิการการอาชีวศึกษา คณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งได้

แบ่งประเด็นการพิจารณาตามจุดเน้นออกเป็น 3 ส่วน 12 รายงาน ดังนี้

1) การแก้ปัญหาวิกฤตเรื่องแนวทางการส่งเสริมและสนับสนุนอาชีวศึกษาเกษตร

2) การแก้ปัญหาด้านคุณภาพ ประกอบด้วย

2.1) เรื่องแนวทางในการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี

2.2) เรื่องครูอาชีวศึกษา : การผลิต การพัฒนา และมาตรฐานครูวิชาชีพ

2.3) เรื่องเงื่อนไขหลักของความสำเร็จในการจัดการศึกษาระบบทวิภาคี

2.4) เรื่องการพัฒนาหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน การวัดและประเมินผล เน้นฐานสมรรถนะที่ทำให้อาชีวศึกษาไทยมีคุณภาพ

2.5) เรื่องข้อเสนอเชิงนโยบายในการแก้ไขปัญหาการอาชีวศึกษา

2.6) เรื่องแนวทางประยุกต์รูปแบบการเรียนการสอนตามแนวคิด MONOZUKURI ในระบบ KOSEN ของญี่ปุ่นให้สอดคล้องกับระบบอาชีวศึกษาของไทย

2.7) เรื่องแนวทางในการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการสถาบันการอาชีวศึกษา

2.8) เรื่องข้อเสนอแนะในการปฏิรูปการศึกษา

3) การแก้ไขปัญหาด้านปริมาณ ประกอบด้วย

3.1) เรื่องการสร้างแรงจูงใจให้เยาวชนเรียนอาชีวศึกษา

3.2) เรื่องแนวทางการจัดการศึกษาเรียนร่วมหลักสูตรอาชีวศึกษาและมัธยมศึกษาตอนปลาย (ทวิศึกษา)

3.3) เรื่องข้อเสนอเชิงนโยบายในการบริหารจัดการศูนย์ข้อมูลกำลังคนอาชีวศึกษา

ส่วนในสายสามัญซึ่งมีปัญหาน้อยกว่าสายวิชาชีพก็น่าจะมีการดำเนินการในบางเรื่องเพื่อแก้ไขปัญหาการว่างงานของบัณฑิตใหม่ในหลายสาขาวิชา ได้แก่

1) ให้สถานศึกษาในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ และกระทรวงศึกษาธิการจัดการฝึกอบรม เพิ่มทักษะให้กับผู้จบการศึกษาสายสามัญที่ว่างงานโดยรัฐรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด

2) ใช้กลไกของ กยศ. และ กสศ. สำหรับผู้ประสงค์ศึกษาสายสามัญเป็นส่วนใหญ่เพราะสายวิชาชีพได้รับทุนการศึกษาแล้ว

3) ยกเลิกการรับตรงของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐโดยปรับให้เป็นระบบการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐทั้งหมดอย่างแท้จริง เพื่อลดความได้เปรียบของผู้สมัครที่ผู้ปกครองมีฐานะดี

4) รัฐควรจัดทำข้อมูลความต้องการกำลังคนของประเทศในสาขาวิชาต่างๆ เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการกำหนดนโยบายการศึกษาที่ถูกต้องเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจสังคมของโลกที่ปรับเปลี่ยนตลอดเวลา

การนำเสนอข้อเสนอทั้งหมดนี้เพื่อช่วยเติมเต็มในนโยบายด้านการศึกษาของประเทศ สิ่งที่รัฐได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว ตลอดจนการปฏิรูปการศึกษา ทั้งนี้เพื่อความมั่งคั่ง มั่นคงและความเจริญอย่างยั่งยืนของประเทศ

วุฒิชัย กปิลกาญจน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image