พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ตอน จำพรรษาอยู่ภาคอีสาน ณ เสนาสนะป่าบ้านค้อ รอบสอง (16) โดย ดร.นพ.วิชัย เทียนถาวร

ตอนที่ 29.5 ตอน ณ เสนาสนะป่าบ้านค้อ รอบสอง เพื่อเจริญเมตตาฌานแก่ผีตีนเดียว พ.ศ.2467 : ท่านอาจารย์มั่นฯ ได้พักจำพรรษาที่บ้านค้อ อำเภอผือ จ.อุดรธานี เป็นรอบที่สอง แต่ย้ายสถานที่ใหม่ซึ่งปัจจุบันเป็นวัดแล้ว การจำพรรษานี้นั้นก็เช่นเดียวกับพรรษาก่อนๆ เนื่องด้วยมีพระภิกษุสามเณรสนใจในตัวของท่าน จึงได้หลั่งไหลมาศึกษาธรรมปฏิบัติกับท่านมากขึ้นเป็นลำดับ และท่านได้แนะนำข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ ให้ตามที่ได้แสดงไว้แล้วโดยไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะว่าเป็นข้อปฏิบัติที่พิสูจน์ได้แน่ชัดแล้วว่า เป็นทางพ้นทุกข์ได้จริง และได้ผลแก่บุคคลผู้ตั้งใจจริง เป็นแต่ว่าท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านคอยประคับประคองและเป็นผู้นำ เพื่อให้เกิดผลอย่างจริงจังแก่ผู้หวังความดี ดังนั้นเมื่อผู้ได้เข้าไปศึกษาปฏิบัติธรรมกับท่านแล้ว จึงไม่มีการผิดหวังได้ผลแทบร้อยเปอร์เซ็นต์ทีเดียว

พอออกพรรษาท่านก็จะพาออกธุดงค์ แสวงหาที่สงัดวิเวกแยกกันออกเป็นหมู่เล็กๆ เพื่อมิให้เป็นปลิโพธ คือ การยึดติดในหมู่มาก ปีนี้ท่านได้เดินธุดงค์ไปทางบ้านนาหมี บ้านนายูงและบ้านผาแดงแก้งไก่ ท่านได้พาคณะเข้าไปพักอยู่ที่ป่าในหุบเขาแห่งหนึ่ง และมีหมู่บ้านอยู่ในที่ใกล้ๆ นั้น เป็นที่อยู่กลางดงลึกมาก เดินเป็นวันๆ เต็มๆ จึงจะถึง ไกลจากคมนาคมมากทีเดียว

ณ ที่หมู่ภูเขานั้นมีภูเขาลูกหนึ่งมีลักษณะเหมือนตึกหลายๆ ชั้น ซึ่งไม่ไกลจากหมู่บ้านนั้นเท่าไรนัก ในภูเขาลูกนั้นมีผีตีนเดียวอยู่ตัวหนึ่ง ผีตัวนั้นมันได้เข้าไปอาละวาดพวกชาวบ้านอยู่บ่อยๆ คือ มันทำให้คนเจ็บไข้ได้ป่วยบ้าง ถึงให้ตายบ้าง บางครั้งเอาไฟไปเผาบ้านของเขาบ้าง ขว้างค้อน ปาไม้ใส่คนใส่สัตว์เลี้ยงบ้าง เวลามันจะเข้าประทุษร้ายคนในบ้านนั้น ได้แสดงกิริยาอาการไม่ผิดอะไรกับคนธรรมดาต่างแต่ไม่เห็นตัวมันเท่านั้น เสียงมันเดินได้ยิน รอยเท้าก็เห็น แต่ใหญ่และยาวกว่ารอยเท้าของคนธรรมดา เศษบุหรี่ของมันก็ได้เห็น ท่อนไม้ที่มันเอาขว้างไม่หมดก็เห็นทิ้งไว้เป็นกองๆ เมื่อชาวบ้านพร้อมกันเข้าไล่ มันก็วิ่งหนีไป พอสงบคนหน่อยมันก็เข้ามาทำการอาละวาดต่อไปอีก บางคืนพวกชาวบ้านไม่ได้นอน เพราะมันอาละวาดไม่หนี แม้การไปนอนค้างคืนในป่า บางคนเพื่อเฝ้าไร่เฝ้านาหรือด้วยกิจอย่างอื่นก็ดี ย่อมไม่ได้รับความผาสุกเสียเลย ถูกแต่เจ้าผีตัวนี้มันรบกวนอยู่เสมอ ครั้งท่านอาจารย์มั่นฯ ไปพักอยู่ที่นั้น พวกชาวบ้านได้เข้าไปร้องทุกข์ต่อท่าน ขอให้ท่านได้เมตตาแก่เขามากๆ เมื่อพระคุณท่านจะมีวิธีใดพอจะเปลื้องทุกข์นี้ออกได้ เขามีความยินดีที่จะปฏิบัติตามทุกอย่าง เมื่อท่านอาจารย์มั่นฯ ได้ทราบถึงความทุกข์เดือดร้อนของชาวบ้านอย่างนั้นแล้ว ท่านก็ได้พยายามเจริญเมตตาฌานอย่างมากพร้อมทั้งแนะนำให้พระที่ติดตามมา ช่วยกันเจริญเมตตาฌาน และได้แนะนำชาวบ้านโดยธรรมเบื้องต้น คือ ให้ชาวบ้านมาปฏิญาณตนถึงพระไตรสรณคมน์เป็นอุบาสกอุบาสิกาและให้รักษาศีล 5 กรรมบถ 10

ทั้งสอนให้ไหว้พระ สวดมนต์บำเพ็ญกัมมัฏฐานภาวนา เจริญเมตตาภาวนาเป็นประจำทุกวัน นับแต่นั้นมา เมื่อท่านได้พักอยู่นั้น ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นแก่ชาวบ้านนั้นก็ได้สงบระงับไป เมื่อท่านได้ออกไปจากสถานที่นั้นแล้ว ภัยพิบัติเหล่านั้นก็สงบอยู่เย็นเป็นสุขกันตลอด 10 ปีต่อมาคนเก่าที่สำคัญก็ตายไปบ้าง ทั้งไม่เคยมีผีตัวนั้นมาอาละวาดบ้าง ทั้งไม่เชื่อว่าจะเป็นจริงบ้าง เลยพากันละเลยข้อวัตรปฏิบัติ ไหว้พระสวดมนต์เจริญภาวนาที่ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านได้แนะนำสั่งสอนไว้ ภายหลักปรากฏว่า ผีตัวนั้นได้กลับเข้าไปทำการอาละวาดพวกชาวบ้านนั้นอีก ในครั้งนี้ ถึงกับได้พากันอพยพครอบครัวหนีไปหมด เพราะฝืนอยู่ต่อไปไม่ได้เสียแล้ว จึงต้องได้ทอดทิ้งให้มันเป็นป่าตามสภาพเดิมของมันต่อไป

Advertisement

ตอนที่ 29.6 ตอน ตามแนะวิธีการรักษาโรคแก่พระอาจารย์สุวรรณฯ : ท่านอาจารย์สุวรรณ สุจิณโณ ท่านองค์นี้ถือว่าเป็นศิษย์รุ่นแรกพร้อมกับท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ปีนี้ท่านได้พยายามติดตามท่านอาจารย์มั่นฯ อย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะได้ทราบความตื้นลึกหนาบางของข้อวัตรปฏิบัติอันเป็นภายนอก และการดำเนินจิตอันเป็นภายใน การดำเนินจิตนอกจากจะหาอุบาย เพื่อทำลายกิเลสเพื่อความพ้นทุกข์แล้ว ยังมีการทำให้เป็นอย่างอื่นๆ อีกมากมาย แม้แต่ท่านอาจารย์มั่นฯ เอง ก็ได้เคยทำมาให้เป็นตัวอย่างแก่สานุศิษย์แล้ว เช่น เมื่อท่านอาพาธ ท่านใช้ระงับอาพาธของท่านเองด้วยกำลังจิต และระงับอาพาธให้แก่บุคคลอื่นด้วยเช่นกัน ในกาลครั้งนั้นท่านอาจารย์สุวรรณฯ ท่านเป็นไข้มาเลเรียเรื้อรัง จนป้างหย่อน (ม้ามย้อน คือ ม้ามโต) อันเป็นผลมาจากไข้มาเลเรียนั้นเอง โรคนี้เองที่ทำความรำคาญให้แก่ท่านตลอดเวลา ซึ่งทำให้จับไข้วันเว้นวัน และทำให้กำลังทรุดลงๆ ท่านจึงได้เข้าปรึกษาการรักษาโรคนี้กับท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านอาจารย์จึงได้แนะนำอุบายให้ คือ เมื่อบำเพ็ญจิตให้เกิดกระแส แต่ก่อนที่เราบำเพ็ญมาในเบื้องต้นนั้น เราทำจิตให้เกิดกำลัง แล้วจิตก็จะเกิดกระแส กระแสจิตนี้มีกำลังมากขึ้นจากการอบรม เราได้ใช้กระแสจิตนี้ พิจารณากายทุกส่วนจนเกิดปัญญา เมื่อเกิดปัญญาแล้วอบรมให้มากก็เป็นผล คือ จิตดำเนินเข้าสู่อริยสัจ เมื่อเราจะนำมาเป็นประโยชน์แก่การรักษาโรคของตัวของเรา เราก็พึงใช้กระแสจิตนี้เพ่งเข้าที่เกิดโรค เราเป็นโรคอะไรที่ไหน ต้องพิจารณาให้เห็นสมุฏฐานของมันเสียก่อนว่า ตำแหน่งที่เกิดโรคอยู่ตรงไหน เมื่อทราบชัดแล้ว ก็ใช้กระแสจิตเพ่งเข้าไป การเพ่งเข้าไปในที่นี้ก็เหมือนกับเราพิจารณากายเหมือนกัน ต่างแต่การกำหนดแก้โรคนี้ ต้องกำหนด “ลงจุดเดียว” ณ ที่สมุฏฐานของโรคนั้น ท่านอาจารย์สุวรรณฯ ได้อุบายนี้แล้ว ก็ได้ไปดำเนินจิตอยู่อย่างนั้นองค์เดียวในที่เปลี่ยวแห่งหนึ่ง กำหนดลงครั้งแรก ได้เห็นสมุฏฐานการเกิดของโรคคือ “ม้าม” ท่านได้กำหนด “ลงจุดเดียว” ด้วยอำนาจแห่งกระแสจิตอันเป็นแสงคมกล้า เพียงสามวันเท่านั้นก็ปรากฏขึ้นในจิต ครั้นแล้วก็หายจากม้ามหย่อนนั้นฉับพลัน ท่านคลำดูอยู่ทุกวัน แต่กาลก่อนม้ามนี้ได้ยานลงมาประมาณฝ่ามือหนึ่ง บัดนี้ได้หดเข้าอยู่เท่าเดิม ตั้งแต่นั้นมา ไข้ป่ามาลาเรียก็หยุดจับ ร่างกายแข็งแรงเป็นปกติอย่างน่าอัศจรรย์ ท่านได้เอาไปเล่าถวายท่านอาจารย์มั่นฯ ท่าน
อาจารย์มั่นฯ ก็รับรอง

ครั้นท่านอาจารย์มั่นฯ ได้พักวิเวกอยู่ที่ผาแดง-แก้งไก่ พอสมควรแล้วก็ได้ออกเดินทางไปทางอำเภอท่าบ่อ ได้เข้าไปพักอยู่ราวป่าใกล้กับป่าช้าของอำเภอท่าบ่อนั้น (ปัจจุบันเป็นวัดอรัญญวาสี) ณ ที่นี้เอง นับเป็นครั้งสำคัญยิ่งครั้งหนึ่ง ที่บรรดาท่านผู้ที่มีบุญมีวาสนามาศึกษาฝากตัวเป็นศิษย์ของท่านหลายองค์ คือ ท่านอาจารย์อุ่น ธมฺมธโร ท่านอาจารย์อ่อน ญาณสิริ ท่าน
อาจารย์ฝั้น อาจาโร ท่านอาจารย์กว่า สุมโม ท่านเหล่านี้ได้ตั้งใจปฏิบัติตามโอวาทของท่านอาจารย์มั่นฯ อย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน แม้ท่านอาจารย์มั่นฯ จะแนะนำเช่นใด ท่านทุกองค์ต้องทำตามให้จนได้ จนปรากฏว่าทุกองค์ได้ผลทางใจอย่างยิ่งยวด เลื่อมใสท่านอาจารย์มั่นฯ อย่างถึงขีดสุด แล้วก็ได้ขอให้ท่านจัดการที่จะทำการบวชใหม่ เพราะทุกองค์ได้เป็นพระมหานิกายมาก่อน ท่านอาจารย์มั่นฯ ก็ได้อาราธนาท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) มาเป็นอุปัชฌาย์ ทัฬหิกรรมให้จนเป็นที่เรียบร้อยทุกประการ

ท่านอาจารย์ทุกองค์นี้ ภายหลังได้ทำประโยชน์แก่หมู่ชนอย่างใหญ่หลวงทุกๆ องค์ โดยที่ท่านได้แนะนำผู้เป็นพระภิกษุสามเณร และญาติโยม ให้ได้รับธรรมอันลึกซึ้งมากมายทีเดียว และท่านเหล่านี้ทุกองค์ได้สร้างสำนักปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐานองค์ละหลายๆ สำนัก ซึ่งก็ปรากฏเป็นสำนักปฏิบัติอยู่จนบัดนี้ มีมากมายหลายแห่งทั่วทุกภาคในประเทศไทย

Advertisement

ตอนที่ 29.7 ตอน เสนาสนะป่า อำเภอท่าบ่อ จ.หนองคาย พ.ศ.2468 : ในปีนี้ ท่านอาจารย์มั่นฯ พักอยู่ที่เสนาสนะป่า (วัดอรัญวาสี ปัจจุบัน) อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย พระอาจารย์เสาร์ฯ พักจำพรรษาที่วัดราช ใกล้บ้านน้ำโขง (ปัจจุบันชื่อวัดพระงาม) ท่านอาจารย์สิงห์ฯ พระมหาปิ่นฯ จำพรรษาบ้านหนองปลาโหล สถานที่ท่านอาจารย์เสาร์ฯ พักอยู่นั้นมีพระพุทธรูปเก่าสมัยเวียงจันทน์ ชำรุดไปบ้าง ท่านพร้อมกับท่านอาจารย์มั่นฯ ได้เป็นผู้บูรณะให้ปกติดังเดิมเมื่อทำเรียบร้อยแล้ว ประชาชนได้ไปเห็นก็พากันกล่าวชมว่างาม ภายหลังจึงเรียกชื่อวัดนั้นว่า “วัดพระงาม” ต่อมาจนถึงทุกวันนี้

อนึ่ง เมื่อท่านพักอยู่ในท้องถิ่นนั้น ก็ได้แนะนำธรรมปฏิบัติจนเกิดความเลื่อมใสยิ่งในพระพุทธศาสนา และก็ปรากฏว่าประชาชนแถบนั้นได้เป็นผู้เคร่งครัดในการปฏิบัติธรรมจนถึงทุกวันนี้

ครั้นออกพรรษาแล้ว ได้พาคณะธุดงค์วิเวกไปทางบ้านหนองปลาไหลและไปถึงบ้านอากาศ (ปัจจุบันเป็นอำเภออากาศอำนวย) ท่านอาจารย์
สิงห์ ขนฺตยาคโม ก็มารอพบท่านอยู่ที่นี้ เพื่อศึกษาธรรมบางประการ ท่านอาจารย์เทสก์ เทสรํสี กับพระอีก 4 รูป ก็ได้ธุดงค์ตามท่านต่อไปจนถึงบ้านสามผงดพเนาว์ พักอยู่ที่ป่าช้าแห่งหนึ่ง

ณ สถานที่วิเวกแห่งนี้ได้กลับกลายเป็นสถานที่สำคัญ คือ ได้เกิดมีพระอาจารย์ผู้มีบุญวาสนาบารมีได้เข้ามาศึกษาธรรมปฏิบัติ เช่น พระอาจารย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก และคณะของท่าน เพราะท่านอาจารย์เกิ่งฯ เป็นพระอุปัชฌาย์ด้วย ผู้คนในละแวกนั้นนับถือมาก เป็นอาจารย์ใหญ่ เมื่อได้ยินข่าวท่านอาจารย์มั่นฯ มาพักอยู่ที่ป่าและทราบกิตติศัพท์มานานแล้ว จึงใคร่ที่จะทดลองไต่ถามอรรถปัญหาต่างๆ ท่านอาจารย์เกิ่งฯ พร้อมคณะ จึงได้ไปพบท่านที่ป่าแห่งนั้น

เมื่อได้ไต่ถามอรรถปัญหาธรรมต่างๆ ท่านอาจารย์เกิ่งฯ และคณะก็เกิดความอัศจรรย์ ในการโต้ตอบอรรถปัญหาของท่านอาจารย์มั่นฯ เพราะแต่ละคำที่ได้รับคำตอบ ตรงใจจริงๆ ตอนหนึ่งท่านอาจารย์เกิ่งฯ ได้ถามว่า “ท่านปฏิบัติจิตกัมมัฏฐานเพื่ออะไร” ได้รับคำตอบว่า “เพื่อความบริสุทธิ์” ท่านอาจารย์เกิ่งฯ ถามว่า “ความบริสุทธิ์เกิดจากอะไร” ได้รับคำตอบว่า “เกิดจากอริยสัจจธรรม” ท่านอาจารย์เกิ่งฯ ถามว่า “สัจธรรมอยู่ที่ไหน” ได้รับคำตอบว่า “อยู่ที่ตัวของคนทุกคน” ถามว่า ทำไมทุกคนจึงไม่บริสุทธิ์ ตอบว่า “เพราะเขาไม่รู้วิธีการ” ถามว่า “ทำไมจึงจะต้องมีวิธีการ” ตอบว่า “เหมือนกับทรัพยากรพวกแร่ธาตุต่างๆ อยู่ใต้ดิน คนไม่มีวิธีการ ก็เอาแร่ธาตุทรัพยากรเหล่านั้นมาใช้ไม่ได้ แร่ธาตุจะมีประโยชน์ต่อมนุษย์ ก็ต่อเมื่อมนุษย์มีวิธีการนำขุดนำเอามาใช้ให้ถูกต้องตามวิธีการ แม้อริยสัจธรรมก็เช่นเดียวกัน แม้ว่าจะอยู่ในตัวเราเอง ก็จะต้องมีวิธีการที่ถูกต้อง จึงจะบังเกิดเป็นอริยสัจได้” เท่านั้นเองท่านอุปัชฌาย์เกิ่ง อธิมุตฺตโก ก็เลื่อมใส และเข้ามาขอปฏิบัติอยู่กับท่านอาจารย์มั่นฯ จนเกิดความเย็นใจเป็นอย่างยิ่ง ได้ขอมอบตัวเป็นศิษย์พระอาจารย์มั่นฯ พร้อมใจกันกับศิษย์ เพราะได้ปฏิบัติจิตกันทั้งศิษย์อาจารย์ ยอมสละบวชทำทัฬหิกรรมใหม่ เป็นพระธรรมยุตทั้งวัด

ในครั้งนั้น จึงทำให้ชาวบ้านชาวเมืองได้เลื่องลือกันว่า พระอาจารย์มั่นฯ เป็นผู้วิเศษสำคัญ เพราะได้ทรมานพระอาจารย์เกิ่งฯ ได้ เนื่องจากชาวบ้านชาวเมืองเลื่อมใสพระอาจารย์
เกิ่งฯ มาก ในปีนี้จึงเป็นปีสำคัญมากปีหนึ่ง เพราะหลังจากท่านอาจารย์เกิ่งฯ ได้มาเป็นศิษย์แล้ว ยังมีท่านยาคูสีลา ที่เป็นอาจารย์ใหญ่อยู่แถบนี้เหมือนกัน เป็นเพื่อนกันกับอาจารย์เกิ่งฯ เมื่อทราบว่าเพื่อนสละวัดเช่นนั้น ก็เฉลียวใจจึงได้ไปพบ หลักจากพบแล้ว ท่านอาจารย์เกิ่งฯ ก็นำท่านยาคูสีลาไปมอบตัวกับพระอาจารย์มั่นฯ ได้ฟังและได้ปฏิบัติตามก็เกิดความเย็นใจเหลือเกิน ท่านยาคูสีลาก็ได้สละวัดและพาศิษย์จำนวนมากมาบวชเป็นพระธรรมยุตทั้งสิ้น

ระยะนี้เอง ทำให้ชื่อเสียงของท่านอาจารย์มั่นฯ ได้กระฉ่อนไปว่า หากใครอยากพ้นทุกข์ ต้องการความบริสุทธิ์ ต้องการของจริงในพระพุทธศาสนาแล้ว จงได้พยายามติดตามและปฏิบัติกับท่าน จะได้รับผลอย่างแท้จริง (ติดตามตอนที่ 29.8 ตอน จำพรรษาอยู่ภาคอีสาน ณ เสนาสนะป่าบ้านสามผง จ.นครพนม…ฉบับหน้า)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image