สะพานแห่งกาลเวลา : เรื่องของการโทรศัพท์ จากเครื่องบินโดยสาร โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

(ภาพ-Unsplash)

เมื่อเร็วๆ นี้ ผมมีโอกาสเดินทางด้วยเครื่องบินรวดเดียว 12 ชั่วโมง ก่อนเครื่องจะบินขึ้นก็ได้รับคำเตือนให้ปิดโทรศัพท์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลาย “เพื่อความปลอดภัย” ตามปกติ แล้วก็ปฏิบัติตามด้วยความเคยชินเหมือนที่ผ่านมา

แต่แล้วก็อดถามตัวเองไม่ได้ว่า การโทรศัพท์ด้วยโทรศัพท์มือถือจากบนเคบินโดยสารของเครื่องบินขณะกำลังบินอยู่นั้น เป็นอันตรายจริงหรือ?

แต่ที่แน่ๆ ก็คือ การกระทำดังกล่าวยัง “ผิดกฎหมาย” อยู่ในบางประเทศ ตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา เป็นต้น

แม้ว่าข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่งก็จริงแท้แน่นอนเช่นเดียวกันว่า ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายที่เรามีอยู่ในเวลานี้นั้น การโทรศัพท์ด้วยโทรศัพท์เคลื่อนที่จากเครื่องบินที่กำลังบินอยู่นั้น ง่ายพอๆ กับการปอกกล้วยเข้าปากยังไงยังงั้น

Advertisement

หลักฐานที่ยืนยันเรื่องนี้ ก็คือ แม้ว่าในตอนนี้สายการบินพาณิชย์ส่วนใหญ่ของโลกยังห้ามการโทรศัพท์จากเคบินอยู่ต่อไป แต่ก็มีสายการบิน “บางสาย” ที่ให้บริการ “ไวไฟ” บนเครื่องบินตลอดเส้นทางอยู่แล้วเช่นเดียวกัน

แบนด์วิธของไวไฟบนเครื่องบินที่ว่านี้ เหลือเฟือเกินพอสำหรับการโทรศัพท์ด้วยเทคโนโลยี วอยซ์ โอเวอร์ อินเตอร์เน็ต ของผู้โดยสารบนเครื่องครับ

ที่สำคัญก็คือ ย้อนกลับไปเมื่อราวทศวรรษที่ 80-90 ที่ผ่านมา เมื่อครั้งที่มือถือเริ่มกลายเป็นกระแสหลักของการสื่อสารทางโทรศัพท์นั้น การใช้โทรศัพท์จากเครื่องบินไม่ได้มีการห้ามเอาไว้แต่อย่างใด แค่เทคโนโลยีทำให้มันยังทำไม่ได้ (ทุกคน) เท่านั้นเอง

Advertisement

ถ้าใครทันเดินทางด้วยเครื่องบินในยุคนั้น คงจำได้ว่าหลังพนักเก้าอี้โดยสาร จะมีโทรศัพท์พร้อมช่องรูดบัตร ให้ใช้จากบนเครื่องขณะบินได้ สนนราคาตกอยู่ราวๆ 4-5 ดอลลาร์ต่อนาที หรืออะไรเทือกนั้น

แม้แต่ตอนต้นทศวรรษ 2000 ก็ยังไม่มีข้อห้ามเรื่องความปลอดภัยที่ว่านี้นะครับ คงจำกันได้ว่า ในเหตุการณ์ 9/11 ก็มีรายงานว่าผู้โดยสารบนเครื่องโทรศัพท์ด้วยมือถือหาญาติมิตร ร่ำลากันเป็นงานเป็นการอยู่เลย

ข้อห้ามที่ว่านี้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อมือถือทุกเครื่องถูกพลิกโฉมหน้าเป็น “สมาร์ทโฟน” แล้วเท่านั้นเอง

เมื่อโทรศัพท์มือถือพัฒนาขีดความสามารถสูงขึ้น ก็เกิดความวิตกต่อ “ความเป็นไปได้” ที่ว่า สัญญาณวิทยุซึ่งส่งผ่านเข้า-ออกสมาร์ทโฟนนั้น อาจเข้าไปรบกวนการทำงานของ “อุปกรณ์ในห้องนักบิน” จำนวนหนึ่งได้

ผลลัพธ์ที่เป็นอาจเป็นไปได้ก็คือการทำงานของอุปกรณ์นั้นๆ “อาจเชื่อถือไม่ได้” แล้วส่งผลต่อการทำหน้าที่ของนักบินและเครื่องบินในที่สุด

เมื่อตอนที่เริ่มมีการกำหนดกฎเกณฑ์ในเรื่องนี้ขึ้นมานั้นมีรายงานผลการศึกษาวิจัยออกมารองรับอยู่หลายชิ้น ความโดยสรุปก็ทำนองเดียวกันนั่นคือ อุปกรณ์บางอย่างในห้องนักบินไม่ได้ออกแบบเกราะป้องกันสัญญาณวิทยุทำให้ถูกแทรกแซงการทำงานได้ง่าย ซึ่งอาจก่อปัญหาในการบินในกรณีที่ “เลวร้ายที่สุด” ขึ้นได้

แต่นั่นเป็นเรื่องของเมื่อประมาณ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญสายการบินหลายคนยืนยันตรงกันว่า เป็นเรื่องของ “อุปกรณ์ยุคเก่า” กับ “เครื่องบิน (ที่ติดตั้งอุปกรณ์) รุ่นเก่า” เท่านั้นเอง

เซธ มิลเลอร์ นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมการบิน เจ้าของเว็บบล็อก PaxEx.areo ยืนยันว่า อุปกรณ์การบินในเครื่องบินรุ่นใหม่ๆ ทำงานในย่านความถี่ที่สูงกว่าที่ใช้กันอยู่ในสมาร์ทโฟนมากแล้ว ทั้งยังมีการออกแบบให้ไม่ได้รับผลกระทบจาก “อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใดๆ” ที่ผู้โดยสารนำติดตัวขึ้นเครื่องแล้ว

ที่ชัดเจนมากก็คือ ตอนนี้มีสายการบินบางสาย อย่าง บริติช แอร์เวย์ส, เอมิเรตส์ แอร์ไลน์ และเอติฮัด ที่ให้บริการโทรศัพท์จากมือถือบนเครื่องบินผ่านไวไฟ ด้วยอินเตอร์เน็ตผ่านดาวเทียมกันแล้ว

การห้ามคุยโทรศัพท์จากเครื่องบินขณะทำการบิน จึงเป็นข้อห้ามเก่าที่ยังคงถูกใช้เป็นข้ออ้างเพราะเหตุผลอย่างอื่นมากกว่า

เช่น สมาคมพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ที่หากเกิดฉุกเฉินขึ้นมาจำเป็นต้องอพยพผู้โดยสารทั้งหมดให้ได้ภายใน 90 วินาที

ที่สำคัญที่สุดก็คือ ในการสำรวจหลังสุดของ แอทโมสเฟียร์ รีเสิร์ช กรุ๊ป บริษัทให้บริการวิเคราะห์ในอุตสาหกรรมเดินทางท่องเที่ยวของสหรัฐอเมริกา ที่พบข้อเท็จจริงที่น่าทึ่งว่า

เอาเข้าจริงแล้วมีผู้โดยสารเครื่องบินเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่อยากใช้โทรศัพท์มือถือจากเครื่องขณะบินอยู่ในอากาศครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image