เดินหน้าชน : แก้บูลลี่ในร.ร. โดย สุพัด ทีปะลา

เหตการณ์นักเรียนชายชั้น ม.1 อายุ 12 ปี ขโมยปืนพ่อยิงเพื่อนร่วมชั้นนักเรียน ม.1 โรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.นนทบุรี เสียชีวิตคาหน้าห้องเรียน เป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดว่าจะมีเหตุสะเทือนใจแบบนี้เกิดขึ้นในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา

เพราะที่ผ่านมาปัญหาการทะเลาะวิวาท การพกพาอาวุธเข้าไปในโรงเรียนมักเกิดขึ้นกับสถานศึกษาในสายอาชีวศึกษาเท่านั้น

เท่ากับว่าปัญหาความรุนแรงลุกลามมายังโรงเรียนในระดับมัธยมศึกษามากขึ้น

ข่าวการยิงกันในโรงเรียนที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในต่างประเทศจึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป

Advertisement

ฟังคำรับสารภาพของนักเรียนชั้น ม.1 ที่ยิงเพื่อนสาเหตุหลักคือ การถูกกลั่นแกล้ง หรือ “บูลลี่” อยู่เป็นประจำ ชอบล้อว่าตนเป็นตุ๊ด เป็นเกย์ และเพื่อนคนอื่นๆ ก็ล้อตาม

การล้อเลียน กลั่นแกล้งกัน ผู้ใหญ่หรือผู้ปกครองอาจมองว่าเป็นเรื่องเล็กๆ ตามประสาของเด็กๆ ไม่น่าจะเป็นเรื่องใหญ่โต

แต่กรณีที่เกิดขึ้นนี้เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ดีว่า ไม่ใช่แค่เรื่องที่เด็กล้อเล่นกันอีกแล้ว

Advertisement

จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข แบ่งการกลั่นแกล้ง รังแกกัน ออกเป็น 1.การทำร้ายร่างกาย ชกต่อย ตบตี 2.ทางสังคมหรืออารมณ์ แบ่งแยก กดดัน

3.ทางวาจา ดูถูก เสียดสี และ 4.การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ โพสต์โจมตี คุกคามทางเพศ

ผลกระทบผู้ที่กลั่นแกล้งผู้อื่นอาจจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ติดแอลกอฮอล์หรือสารเสพติด มีพฤติกรรมลักขโมย เรียนไม่จบ

มีพฤติกรรมทางเพศก่อนวัยอันควร อาจจะเป็นอาชญากรในอนาคต มีพฤติกรรมใช้ความรุนแรงกับคนใกล้ตัว

ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มีการเปิดเผยสถิติผลการสำรวจในโครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด พบว่ามีเด็กถูกรังแกในโรงเรียน ปีละประมาณ 600,000 คน ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 2 ของโลกรองจากญี่ปุ่น

หากมีการสำรวจสถิติกันใหม่ตัวเลขนี้อาจเพิ่มขึ้นก็เป็นได้ เพราะที่ผ่านมายังไม่เห็นแนวทางที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาการ “บูลลี่” ในโรงเรียน

แม้แต่กรณีล่าสุดก็ยังไม่เห็นแนวทางนโยบายที่ชัดเจนจาก นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการ ถึงมาตรการป้องกันการดูแลเหตุความรุนแรงในโรงเรียน

“จะมีเพียงเพิ่มความเข้มข้นชั่วโมงโฮมรูมด้วยการนำเด็กมาพูดคุยปัญหากับครูเป็นรายบุคคล เพื่อที่ครูประจำชั้นจะได้รู้ข้อมูลพฤติกรรมนักเรียนแต่ละคนมากขึ้น รวมทั้งการตรวจอาวุธก่อนเข้าโรงเรียนในช่วงเช้า”

น่าสนใจว่าจากนี้กระทรวงศึกษาธิการจะตื่นตัว หาทางออกเรื่องนี้อย่างไร โดยเฉพาะข้อเรียกร้องในการปรับหลักสูตรการเรียนลดความรุนแรง ลดการบูลลี่

ลำพังนโยบายการตรวจอาวุธก่อนเข้าเรียนคงไม่เพียงพอ

สุพัด ทีปะลา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image