การถูก‘ล้อปมด้อย’ความปวดร้าวในหัวใจมนุษย์ โดย ผศ.ดร.ประภาศ ปานเจี้ยง คณะศึกษาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่

ได้รับรู้ข่าวเรื่องการล้อปมด้อยของเด็กนักเรียนสองข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ รู้สึกสะเทือนใจมาก ข่าวแรก เด็กนักเรียนชาย ม.1 ใช้ปืนยิงเพื่อนระยะเผาขนในขณะนั่งก้มสวมรองเท้า เนื่องจากเพื่อนล้อว่าตัวเองเป็นตุ๊ด เป็นเกย์ ข่าวที่สอง เด็กนักเรียนหญิง ป.5 ฆ่าตัวตาย เนื่องจากถูกเพื่อนล้อว่าตัวดำ เตี้ย ไม่สวย และมีพ่อจน

สะเทือนใจกันทั้งประเทศจริงๆ พฤติกรรมการยิงที่นักเรียนที่ถูกล้อยิงเพื่อน และพฤติกรรมการฆ่าตัวตายด้วยการแขวนคอของเด็ก ป.5 ที่ถูกเพื่อนล้อ ผู้เขียนมั่นใจว่าเป็นเรื่องการเลียนแบบจากสื่อ หรือจากการรับรู้รับทราบพฤติกรรมจริงในสังคมแน่ๆ ขอตัดประเด็นการเลียนแบบออกไปก่อน ขอกล่าวเฉพาะประเด็น “การล้อปมด้อย”

ไม่มีใครต้องการให้ใครล้อปมด้อย แต่มนุษย์ก็ไม่สามารถห้ามใครๆ ไม่ให้ล้อปมด้อยของตัวเองได้ทุกคน ตราบที่มนุษย์ยังมองเห็นความต่ำต้อยของคนอื่นเป็นความขบขัน และเท่าที่ทราบมนุษย์โดยส่วนใหญ่ยังเป็นปุถุชน

ในเรื่องปมด้อยนั้น นักจิตวิทยาผู้มีชื่อเสียงด้านจิตวิทยาบุคลิกภาพแนวจิตวิเคราะห์ที่ชื่อว่าอัลเฟรด แอดเลอร์ (Alfred Adler) ซึ่งเป็นจิตแพทย์ที่ได้ค้นคว้าและพัฒนาบุคลิกภาพ เรียกว่า จิตวิทยาปัจเจกชน (Individual Psychology) เชื่อในอิทธิพลของสังคม แอดเลอร์ชี้ให้เห็นว่า พฤติกรรมของบุคคลจะเป็นอย่างไรนั้นถูกกำหนดโดยสังคมรอบตัว เช่น เศรษฐกิจ การเมือง ประเพณีวัฒนธรรม วิธีการเลี้ยงดูบุตร เป็นต้น

Advertisement

แอดเลอร์เชื่อว่าโดยพื้นฐานแล้วบุคคลถูกจูงใจด้วยปมด้อย บุคคลบางคนมีความรู้สึกเป็นปมด้อยเมื่อมีร่างกายพิการ และมีความต้องการที่จะทำการชดเชยปมด้อยเหล่านั้น ความรู้สึกที่ตนเองมีปมด้อยทำให้เกิดแรงขับที่เรียกว่า “ปมเด่น” ตัวอย่างเช่น นักกวีชาวอังกฤษ ลอร์ด ไบรอน (Lord Byron) ขาพิการเป็นแชมป์ว่ายน้ำ บีโธเฟน (Beethoven) หูพิการ แต่ได้สร้างตนเองจนได้รับความสำเร็จเป็นนักดนตรีเอกของโลก

แอดเลอร์มีความเชื่ออีกว่า ความรู้สึกของตนเองจะแสดงบทบาทที่สำคัญในการสร้างรูปแบบของบุคลิกภาพ การรู้จักสร้างตนเองและบุคลิกภาพแบบที่รู้จักตนเอง ก่อให้เกิดความพยายามที่จะเอาชนะอุปสรรคทั้งหลาย และสามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองได้ เพราะว่าศักยภาพนี้เป็นลักษณะพิเศษที่มีอยู่ในแต่ละบุคคล ทรรศนะจิตวิทยาของแอดเลอร์จึงเรียกว่า จิตวิทยาปัจเจกชน (Individual Psychology)

ความรู้สึกเป็นปมด้อย (Feeling of Inferiority) แอดเลอร์กล่าวว่า บุคคลที่มีความบกพร่องทางร่างกายจะมีความพยายามที่จะหาทางชดเชยความบกพร่องของตนเอง เขายกตัวอย่างว่า เด็กที่พูดติดอ่าง จะพยายามเอาชนะอุปสรรคการพูดติดอ่าง โดยการพยายามฝึกหัดพูดตามหลักที่นักบำบัดการพูดสั่ง จนกระทั่งสักวันหนึ่งเขาก็จะสามารถพูดได้เก่ง บางทีก็อาจจะได้เป็นผู้ประกาศข่าวทางวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ เด็กที่มีขาไม่แข็งแรง จะมีความพยายามอุตสาหะฝึกฝนตนเองให้กลายเป็นนักวิ่งระยะไกลที่มีชื่อเสียง จากตัวอย่างเด็กที่กล่าวมาแล้วนี้ แอดเลอร์
มีความเชื่อว่า ปมด้อยได้เกิดจากความบกพร่องในตัวของมัน ที่ทำให้เกิดแรงมานะพยายามที่จะเอาชนะ และเกิดจากเจตคติของบุคคลที่มีปมด้อยเอง

Advertisement

ปมด้อยมีทั้งประเภทปมด้อยทางร่างกาย และปมด้อยทางสังคม ปมด้อยทางร่างกาย เช่น ความไม่สวย ไม่หล่อ อ้วน เตี้ย ผิวดำ ร่างกายไม่สมส่วน ร่วมทั้งพิการ เป็นต้น ส่วนปมด้อยทางสังคม ได้แก่ ความยากจน การมีอาชีพที่คนในสังคมมองว่าเป็นอาชีพชั้นต่ำ ไม่มีเกียรติ การได้รับการศึกษาในระบบไม่สูง เป็นต้น

นักจิตวิทยากล่าวไว้ชัดเจนว่า ทุกคนที่มีปมด้อย ทั้งปมด้อยทางร่างกายและปมด้อยทางสังคม ทั้งปมด้อยที่เจ้าตัวรู้สึกไปเอง และปมด้อยที่สังคมสถาปนาให้ ล้วนแล้วเป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่ต้องการและหาทางหลีกหนี การหลีกหนีปมด้อยผลักดันให้มนุษย์มีพฤติกรรมแสวงหาปมเด่น เพื่อชดเชยปมด้อย เช่น พยายามเก่งด้านกีฬา เก่งด้านดนตรี เก่งการเป็นผู้นำ เก่งด้านการเรียน เรียนหนังสือให้สูงได้ปริญญาตรี โท เอก มีอาชีพที่ดีมีเกียรติ มีรายได้มาก มีความสามารถด้านการสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ในสังคม เป็นต้น

เราต้องยอมรับว่าในสังคมไทยมี “วาทกรรมล้อปมด้อย” อยู่คู่สังคมเสมอมา ในสังคมผู้ใหญ่มีไม่น้อยกว่าในสังคมเยาวชน คำว่า “ส.ส.งูเห่า” “ส.ส.สมัยแรก” “ส.ส.เสาไฟฟ้า” ก็เป็นคำเรียกที่เข้าข่ายล้อปมด้อย

กรณีในสถานศึกษา การล้อปมด้อยของนักเรียนนั้นเป็นเรื่องใหญ่ที่เป็นปัญหาของครูและผู้บริหารสถานศึกษาแน่นอน เนื่องจากผู้เรียนเป็นเด็ก อยู่ในวัยสนุกสนานคึกคะนอง บางคนไม่สามารถคิดในเชิงลึกซึ้งถึงขั้นที่พูดกันโดยทั่วไปว่า “เอาใจเขามาสู่ใจเรา” ได้ ไม่สามารถเข้าใจหลักการเรื่องปมด้อย และการหลีกหนีปมด้อยของมนุษย์ตามทฤษฎีทางจิตวิทยาที่กล่าวข้างต้นได้

แต่การล้อปมด้อยในหมู่นักเรียกก็เป็นเรื่องที่ครูและผู้บริหารสถานศึกษาต้องตระหนักและแก้ปัญหาต่อไป จะปล่อยปละละเลยไม่ได้ มิเช่นนั้นข่าวสะเทือนใจตามที่เรารับรู้อาจจะเกิดขึ้นอีก

ผู้เขียนเข้าใจว่าเรื่องนี้แก้ปัญหายาก แต่เราก็ต้องเอาจริงเอาจังในการแก้ปัญหา ต้องตระหนักและพยายาม เชื่อแน่ว่าผลสัมฤทธิ์คงต้องเกิด จะแก้ปัญหาได้มากได้น้อยก็แล้วแต่กรณี และแน่นอนว่าสถาบันที่จะแก้ปัญหาการล้อปมด้อยในเด็กนักเรียนได้ดีที่สุดคือสถาบันครอบครัว ตามหลักการขัดเกลาทางสังคม (Socialization) แต่เราจะยกทุกเรื่องให้สถาบันครอบครัวเป็นหลักนั้น สถาบันครอบครัวคงไม่ไหวแน่ๆ

ภาวนาว่าเหตุการณ์เสียชีวิตให้สะเทือนใจอันเกิดจากการล้อปมด้อยในหมู่เด็กนักเรียนอย่าได้เกิดขึ้นอีกเลย การถูก “ล้อปมด้อย” ไม่ลำพังความปวดร้าวในหัวใจมนุษย์ผู้ถูกล้อ แต่ยังเจ็บปวดรวดร้าวในหัวใจของมนุษย์ที่ได้ยินได้ฟัง

ผศ.ดร.ประภาศ ปานเจี้ยง
คณะศึกษาศาสตร์และศิลปศาสตร์
มหาวิทยาลัยหาดใหญ่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image