วิพากษ์‘บิ๊กแดง’ ปม‘พร็อกซี่ ไครซีส’

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการและพรรคการเมืองกรณี พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ระบุว่า สถานการณ์เมืองไทยกำลังประสบภาวะพร็อกซี่ ไครซีส (Proxy crisis) คือ วิกฤตการณ์ ที่มีคนบางคนอยู่เบื้องหลังไม่ออกมาสู้ โดยไม่สามารถต่อสู้กับภาครัฐได้โดยตรงก็ต้องมีการสร้างตัวแทนขึ้นมา

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

การใช้วาทกรรม proxy crisis เป็นกลวิธีใหม่ในการสื่อสารทางการเมืองให้ประชาชนรู้สึกว่าการเคลื่อนไหวมีเบื้องหลัง แต่แทนที่จะพูดง่ายๆ ก็มีการใช้ศัพท์ที่เป็นวิชาการ ซึ่งการพูดแบบนี้ไม่มีประโยชน์ในการปรองดองหรือการสมานฉันท์ของคนในชาติ แต่การพูดเหมือนมีทฤษฎีหรือมีแนวคิดรองรับไม่ได้ออกมายืนยันว่ามีหลักฐาน เบื้องต้นก็อาจจะมองได้ว่าเป็นการกล่าวหาทางการเมือง แค่เป็นการจุดประเด็นใหม่ๆ ขึ้นมา แทนที่จะบอกตรงๆ ว่ามีคนอยู่เบื้องหลัง ก็จะใช้วิธีนี้แทน และหลังจาก ผบ.ทบ.มีวาทกรรม ส่วนตัวเห็นว่าไม่มีผลสะท้อนกลับ เพราะทุกคนทราบดีว่า ผบ.ทบ.ก็เป็นคู่ขัดแย้งกับคนที่ ผบ.ทบ.ตั้งใจจะโจมตีอยู่แล้ว และต้องดูย้อนไปตั้งรอบที่แล้วที่ ผบ.ทบ.พูดบนเวทีก็มีการนำรูปนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ขึ้นสไลด์ แต่ทำให้ดูเหมือนเป็นการบรรยายทางวิชาการ รอบนี้ก็ใช้เพียงการยกทฤษฎี proxy crisis ขึ้นมา

สำหรับเป้าประสงค์ไม่ทราบว่า ผบ.ทบ.มีเป้าหมายต้องการสื่อสารอะไร แต่การพูดแบบนี้ถือว่าเป็นดาบสองคม เนื่องจากประชาชนจะสงสัยกลับด้วยว่าการพูดของ ผบ.ทบ.จะเป็น proxy crisis ด้วยหรือไม่ และตัว ผบ.ทบ.จะเป็นตัวแทนของใคร หรืออาจถูกมองว่าเป็นวิกฤตของทั้ง 2 ฝ่าย เพราะวิกฤตไม่ได้เกิดได้จากฝ่ายเดียว ถ้าโจมตีแบบนี้อีกฝ่ายก็ตั้งข้อสงสัยว่าคนที่พูดแบบนี้ถือเป็นตัวแทนด้วยหรือไม่ สำหรับบทบาท ผบ.ทบ.ที่แสดงออก ในสถานการณ์ที่เป็นสังคมประชาธิปไตยโดยทั่วไป ผบ.ทบ.จะไม่ออกมาแสดงความเห็นทางการเมือง แต่ผมเห็นว่าเป็นเรื่องผิดปกติ โดยเฉพาะจากการเคลื่อนไหวที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรง ไม่ทราบว่าโยนหินถามทางหรือไม่ แต่ตั้งข้อสังเกตว่าวิกฤตตัวแทนได้เกิดขึ้นทั้ง 2 ฝ่ายหรือไม่ และครั้งนี้ก็ดูเหมือนจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันหลังจากเคยขึ้นเวทีพูดโจมตีหัวหน้าพรรคการเมือง
พรรคหนึ่ง

Advertisement

ที่น่าสนใจว่าเมื่อมีแฟลชม็อบที่สกายวอล์ก หลายฝ่ายคาดว่า ผบ.ทบ.จะออกมาแสดงความเห็นในเวลาต่อมากับเรื่องที่เกิดขึ้น แต่ไม่เห็นออกมาพูด แต่มีการดำเนินคดีโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่เกี่ยวข้องกับทหาร แต่ผ่านไป 1 สัปดาห์ มีการจุดประเด็นขึ้นมา แทนที่จะพูดถึงการชุมนุม แต่พูดถึงตัวแทนความขัดแย้ง

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา

เป็นยุทธวิธีของทหาร ที่ใช้วิเคราะห์สถานการณ์สงคราม ซึ่งมักจะมอง “ตัวเอง” กับ “ศัตรู” แต่กรณีการวิเคราะห์เช่นนี้ เป็น Unit of Analysis คือการวิเคราะห์ที่ไม่ค่อยถูกต้องนัก เพราะเป็นการวิเคราะห์ทางการทหาร แต่นี่คือปรากฏการณ์ทางการเมือง ปรากฏการณ์ทางการเมืองไม่ใช่สงคราม เพราะการเมืองมีความเห็นต่าง มีความขัดแย้ง แต่มีจุดที่สามารถร่วมกันได้ สามารถแก้ปัญหาบนความขัดแย้งนั้นได้ ไม่จำเป็นจะต้องมองเป็นศัตรู จึงมองว่าวิธีคิดของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก เช่นนี้อันตรายมาก และวิธีคิดเช่นนี้ทำให้เห็นว่าฝ่ายความมั่นคงมองปัญหาการเมืองเป็นปัญหาความขัดแย้งที่จะต้องกำจัดให้สิ้นซาก
ซึ่งไม่ถูกต้อง

Advertisement

ที่ พล.อ.อภิรัชต์ทำแบบนี้ ส่วนตัวมองว่าเป็นพฤติกรรมที่เข้ามาแทรกแซงการเมืองของกองทัพ ซึ่งไม่สมควรทำ ย้ำว่า “กองทัพไม่สมควรแทรกแซงการเมือง ในลักษณะต่างๆ” ซึ่งกองทัพทำพฤติกรรมเช่นนี้มาหลายครั้งในรัฐบาลชุดนี้ ทำให้เห็นว่ากองทัพพยายามมีอิทธิพลหรืออำนาจที่ไม่เป็นทางการครอบงำการเมือง ซึ่งไม่ช่วยทำให้การเมืองดีขึ้น หรือพัฒนาขึ้น

การทำเช่นนี้ ส่วนหนึ่งอาจเพราะเห็นว่ารัฐบาลกำลังตกต่ำ รัฐบาลกำลังเกิดความสั่นคลอนในพรรคร่วมอย่างหนัก พล.อ.อภิรัชต์ จึงพยายามแย่งซีน หรือสร้างประเด็นเพื่อที่จะลดกระแส ที่จะให้สังคมรับรู้ความล้มเหลว ตกต่ำ ของรัฐบาล อีกทั้งที่ พล.อ.อภิรัชต์พยายามจะบอกว่าเป็นสงครามตัวแทนนั้น ส่วนตัวคิดว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่จะเกิดขึ้นหลังปีใหม่ เพราะไม่พอใจต่อการทำงานที่ล้มเหลวของรัฐบาล เขาไม่พอใจพฤติกรรมของรัฐมนตรี เขาไม่พอใจพฤติกรรมของ ส.ส.ในพรรคร่วมรัฐบาล และปัญหาเหล่านี้สั่งสมมาตั้งแต่หลังการเลือกตั้ง รัฐบาลไม่ทำอะไร ปัญหาเหล่านี้ทำให้คนรู้สึกได้จนต้องแสดงอิมแพคบางอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงความไม่พอใจต่อรัฐบาล ถ้ารัฐบาลเอาไปพิจารณาและปรับปรุงแก้ไข ก็น่าจะดีกว่า แต่ถ้ามองภายใต้วิธีคิดแบบบิ๊กแดง มองว่ามีกลุ่มจัดตั้ง มีคนหนุนหลัง จะกลายเป็นศัตรูที่ต้องกำจัดทันที ซึ่งเหตุผลเช่นนี้ไม่ถูกต้อง

พล.อ.อภิรัชต์คงจะมองว่ากลุ่มอนาคตใหม่ การจัดแคมเปญวิ่งไล่ลุง หรือกิจกรรมอื่นๆ มีคนหนุนหลัง พูดง่ายๆ คือ มองว่ารัฐบาลมีความเข้มแข็ง มีศักยภาพมาก ทำให้กลุ่มที่เป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลสู้รัฐบาลไม่ได้ จึงจำเป็นต้องสร้างตัวแทนขึ้นมาในการต่อสู้ สร้างตัวแทนขึ้นมาเพื่อเคลื่อนไหว ซึ่งความจริงวิธีคิดแบบนี้หน่วยการวิเคราะห์ผิด นั่นคือวิธีคิดของกองทัพที่มองสถานการณ์สงคราม แต่นี่คือสถานการณ์ทางการเมือง ซึ่งอาจจะมีหรือไม่ก็ได้ในการเคลื่อนไหว ส่วนตัวเชื่อว่าคนคิดอยู่เบื้องหลังมี แต่ต้องดูว่าเขาคิดบนเงื่อนไขและเหตุผลอะไร ถ้าเขาเห็นว่ารัฐบาลล้มเหลวในการบริหาร พฤติกรรม ส.ส. และรัฐมนตรีไปไม่ได้ ประชาชนมีสิทธิที่จะแสดงสัญลักษณ์ทางการเมืองออกมา ซึ่งความจริงรัฐบาลต้องรับฟังด้วยซ้ำ ว่าข้อเสนอของเขามีเหตุมีผลมากน้อยแค่ไหน จริงหรือไม่

การเคลื่อนไหวการเมืองต้องมีกลุ่มมันสมอง เสนาธิการ มีคนคิดวางแผนอยู่แล้วว่าจะกำหนดการเคลื่อนไหวยุทธศาสตร์ทางการเมืองอย่างไร ซึ่งเป็น 2 ทาง หลังจากมีคนคิดมีกิจกรรม กระบวนการเกิดขึ้น บางครั้งผลของกระบวนการทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันว่าจะขับเคลื่อนการเมืองต่อไปอย่างไร โดยเฉพาะลักษณะคล้ายแฟลชม็อบจะมีการกำหนดอยู่แล้วว่า จะเคลื่อนไหวอย่างไร แต่หลังจากกิจกรรมดำเนินต่อเนื่องไป คนที่เข้าร่วมก็อาจจะมีผลในการกำหนดทิศทาง จึงอาจไม่ได้มาจากส่วนเดียว แต่มาจากหลายส่วนที่ร่วมกำหนดทิศทางการเคลื่อนไหว จะบอกว่ามีผู้อยู่เบื้องหลังทั้งหมดก็คงเป็นไปไม่ได้

รังสิมันต์ โรม
ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่(อนค.)

สิ่งที่ พล.อ.อภิรัชต์ กล่าวหาถือว่าเข้าตำราเดิม เป็นการกล่าวหาลอยๆ แบบไร้หลักฐาน อย่างสมัยที่ผมร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับแนวร่วมคนอยากเลือกตั้งก็ถูกฝ่ายความมั่นคงโยงแบบนี้ กล่าวหาว่าคนอยากเลือกตั้งเคลื่อนไหวโดยมีพรรคเพื่อไทยอยู่เบื้องหลัง แต่ในท้ายที่สุด ผมตัดสินใจเข้าสู่การเมืองมาร่วมกับพรรคอนาคตใหม่ โดยที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทยเลย สิ่งเหล่านี้ถือเป็นเครื่องการันตีให้เห็นหรือยังว่าเวลาฝ่ายความมั่นคงกล่าวหาโดยไร้หลักฐาน นั่นคือ สิ่งที่มันไม่เป็นจริงเลย

ดังนั้น คนที่เป็นถึง ผบ.ทบ.การจะพูดอะไรต้องรับผิดชอบในคำพูดของตนเอง ไม่ควรที่จะเป็นคนที่กล่าวอะไรเลื่อนลอย หาก ผบ.ทบ.มั่นใจว่ากิจกรรมวิ่งไล่ลุง มีคนอยู่เบื้องหลังจริงก็เอาหลักฐานมาโชว์ต่อสังคมเลย เพื่อให้สังคมช่วยกันตัดสินว่าพยานหลักฐานที่โชว์ออกมาเป็นคุณหรือเป็นเท็จ แล้วมันสามารถลดทอน สิ่งที่กลุ่มนิสิตนักศึกษากำลังจะจัดขึ้นได้หรือไม่ เพราะการพูดลอยๆ แบบนี้ โดยหวังให้เป็นเงื่อนไขให้มีข้อขัดแย้งกัน ส่วนตัวผมคิดว่ามันไม่มีประโยชน์อะไร ที่สำคัญยังกลับทำให้นิสิตนักศึกษาเสียหาย เพราะมีประชาชนเชื่อในสิ่งที่ ผบ.ทบ.พูด แล้วเกิดไปทำร้ายนิสิตนักศึกษาเหล่านี้ขึ้นมา คนเป็น ผบ.ทบ.จะรับผิดชอบไหวหรือไม่

ทั้งนี้ ผมไม่เชื่อเลยว่าการจัดวิ่งไล่ลุงจะทำให้รัฐบาลล้มได้ เพราะถ้าคนออกมาวิ่งจนทำให้รัฐบาลล้มได้จริง วันนี้รัฐบาลต้องพิจารณาตัวเองเป็นอย่างมากแล้ว ดังนั้น เมื่อมันไม่มีผลถึงขนาดทำให้รัฐบาลล้มได้ ผมจึงคิดว่าควรปล่อยให้นิสิตนักศึกษาได้ทำกิจกรรมอย่างที่เขาปรารถนาเถอะ ฝ่ายความมั่นคงต้องอย่าไปกังวลเยอะ เพราะถ้าไปกังวลมากๆ โดยอ้างว่า เป็นเรื่องความมั่นคงทั้งหมด สุดท้ายจะไม่เหลือพื้นที่อะไรให้ประชาชนได้คิด หรือได้แสดงความเห็นเลย ซึ่งจะเป็นที่สิ่งอันตรายมาก เพราะพื้นฐานประชาธิปไตยคือการแสดงออก หากปราศจากการแสดงออก ปราศจากเสรีภาพที่ประชาชนจะสามารถแสดงออกได้อย่างเสรี เราจะเรียกสิ่งนั้นว่าเป็นระบอบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย
ไม่ได้

ผบ.ทบ.ต้องเข้าใจว่าคนที่หวังดีกับประเทศ ไม่ได้มีแค่ทหารเท่านั้น ใครๆ ก็รักประเทศไทย และต่างที่อยากจะเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงออก หรือมีสิทธิที่จะคิดได้ว่าเขาอยากให้ประเทศที่เขารักเดินหน้าไปทางไหน นิสิตนักศึกษาก็มีสิทธิที่จะคิด ดังนั้น อย่าสร้างปัญหาโดยตั้งอคติกันว่า มีเบื้องหลังกิจกรรม แต่ควรจะไปสนใจเนื้อหาและการกระทำในสิ่งที่พวกเขาอยากจะแสดงออก ผมคิดว่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า

ฐิติพล ภักดีวานิช
คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี

ทหารพยายามใช้ประเด็นความมั่นคงเป็นเครื่องมือในการกีดกันกลุ่มที่มีความเห็นต่างจากรัฐบาล ซึ่งสะท้อนให้เห็นในรูปแบบเดิมๆ ที่มีมาตั้งแต่ คสช.และครั้งนี้ยิ่งยืนยันให้เห็นว่าหลังการเลือกตั้งไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง ความสัมพันธ์ของทหารกับรัฐบาลก็ยังมีความเหนียวแน่น สนับสนุน พึ่งพากันและกันอยู่ การนำเหตุผลเรื่องความมั่นคงมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง ไม่ใช่แค่ พล.อ.อภิรัชต์เพียงอย่างเดียว ส่วนตัวเห็นว่ายังมีคนรุ่นเก่าอีกหลายคนที่ค่อนข้างจะอนุรักษนิยม ยังยึดติดกับวิธีคิดความเป็นไทย ที่ปฏิเสธคนรุ่นใหม่ อย่างหลายกรณีที่คนรุ่นใหม่แสดงความคิดเห็น ก็มักบอกว่ามีเบื้องหลัง แต่ปฏิเสธว่าคนเหล่านี้ก็คิดเองได้ สะท้อนให้เห็นทั้งเรื่องโครงสร้างอำนาจ โครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรมที่สะท้อนผ่านวิธีคิดเช่นนี้ออกมา

ปฏิเสธไม่ได้ว่าอาจจะมีบางกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุน แต่ส่วนตัวไม่ได้มองลักษณะนี้ว่าเป็นกิจกรรมที่มีเบื้องหลัง ซึ่งเราเห็นแล้วว่าคนส่วนหนึ่งไม่ชอบรัฐบาลจริง หากพูดอย่างแฟร์ๆ คนที่ชอบรัฐบาลก็สนับสนุนรัฐบาล เห็นกันอยู่ เหตุใดจึงไม่ตั้งคำถามบ้างว่าคนเหล่านี้มีเบื้องหลังสนับสนุนหรือไม่ โดยภาพรวมถ้าจะบอกว่าไม่มีเบื้องหลังก็ไม่ถูกเสียทีเดียว ส่วนตัวจึงไม่เห็นด้วยกับการที่จะบอกว่าการเคลื่อนไหวมีเบื้องหลัง มีผู้สนับสนุน เพราะรัฐธรรมนูญให้สิทธิในการแสดงออก ในการรวมตัวโดยกิจกรรมที่จะเกิดขึ้น ส่วนหนึ่งสะท้อนความไม่พอใจรัฐบาล หรือสิ่งที่รัฐบาลทำ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่รัฐบาลพยายามจะปิดกั้นไม่ให้คนเห็นต่าง เมื่อมีการทำกิจกรรม หรือแสดงออกอย่างแตกต่างทางการเมือง ก็จะถูกกล่าวหา ตีความว่าเป็นพวกมีคนหนุนหลัง ไม่ได้มีเจตนาบริสุทธิ์ ซึ่งนี่จะเป็นปัญหาของรัฐบาลไทย ทำให้เราไม่พัฒนาไปในระบอบประชาธิปไตย หากพูดเรื่องความมั่นคง ก็มักเป็นสิ่งที่ตีความโดยรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมาก็เห็นแล้วว่า การตีความเรื่องความมั่นคงไม่ได้เป็นไปอย่างตรงไปตรงมา แต่ตีความให้เอื้อกับรัฐบาลมากกว่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image