สะพานแห่งกาลเวลา : จากหนังสือ ถึง อีบุ๊ก : โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ปี 2019 ที่กำลังจะหมดสิ้นในอีกไม่ช้าไม่นานนี้ถือเป็นปีสุดท้ายของทศวรรษ 2010

ขึ้นทศวรรษใหม่กันในปี 2020 ก็อดไม่ได้ที่จะหันกลับไปตรวจสอบเทคโนโลยีอะไรต่อมิอะไรที่เคยฮือฮากล่าวขวัญถึงกันอึงคะนึงในช่วงที่ผ่านมา แต่แล้วก็ไม่เห็นจะเป็นดังว่ากันสักที

เริ่มต้นจากหนังสือนี่แหละครับ

ในแวดวงเขาถือกันว่า หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ หรืออีบุ๊ก กำเนิดอย่างเป็นทางการในปี 2007 พร้อมๆ กับที่
อเมซอนเผยโฉมของ “คินเดิล” (Kindle) ออกมา

Advertisement

ที่ถือกันอย่างนั้นเพราะว่า คินเดิล คือ อี-รีดเดอร์ หรือเครื่องอ่านอีบุ๊กเครื่องแรกที่มี “ร้านหนังสือ” เป็น
ของตัวเอง เจ้าของอี-รีดเดอร์สามารถซื้อหาหนังสือใหม่ได้เรื่อยๆ เมื่ออ่านเล่มเดิมจบลง

คินเดิล พลิกโฉมหน้าการอ่านเสียใหม่ แล้วก็กลายเป็นความสำเร็จในชั่วพริบตา ถึงขนาดต้องออกอี-รีดเดอร์ เวอร์ชั่นใหม่ออกมาแทบทุกปี บางปี 2 รุ่นด้วยซ้ำไป

ความสำเร็จของ คินเดิล มีมากถึงขนาดที่ บาร์นส์ แอนด์ โนเบิลส์ เครือข่ายร้านหนังสือใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา อดรนทนไม่ไหว ต้องพัฒนา “นุค” (Nook) ออกมารับกระแสความนิยม ต่อด้วย “โคโบ”
ที่มีฐานอยู่ในแคนาดาอีกราย

ยุคทองของอีบุ๊ก อยู่ในช่วงระหว่างปี 2010-2013 เป็นช่วงที่ขายดีแบบ “เป็นบ้าเป็นหลัง” อเมซอนทำรายได้เป็นหลายๆ พันล้านจากการขายทั้งหนังสืออิเล็กทรอนิกส์และอี-รีดเดอร์

ผู้ค้ารายอื่นๆ ก็ประสบความสำเร็จไม่น้อยเช่นเดียวกัน

ตอนนั้นแหละ ที่ฮือฮากันถึงขนาดว่านักวิเคราะห์แนวโน้มใจกล้าบางคนฟันธงลงไปว่า ไม่ช้าไม่นาน อีบุ๊กจะกระทำ “ฆาตกรรม” หนังสือเป็นเล่มๆ จนหมดไปจากโลก ซึ่งกลายเป็นความเชื่อหลักของคนอ่านหนังสือและอีบุ๊กตามไปด้วย

สาเหตุหลักมาจากการที่ราคาหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ในช่วงนั้นถูกมาก ที่ราคาถูกเพราะอเมซอนใช้วิธีซื้อ “เหมา” จากสำนักพิมพ์ แล้วนำมาขายในราคาถูก โดยยอมแบกส่วนต่างเอาไว้เอง

เป้าหมายทางหนึ่งก็คือเพื่อให้อีบุ๊กเป็นที่นิยมให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ได้ขายเครื่องอ่านให้มากที่สุด รวมความแล้วก็คือ อเมซอนก็ยังกำไรอยู่ดีนั่นเอง

สำนักพิมพ์เองก็แฮปปี้ไปด้วย เพราะรายได้จากอีบุ๊กก็เป็นกอบเป็นกำอยู่ แม้รายได้จากการขายหนังสือเป็นเล่มๆ จะหดหายไปเรื่อยๆ ก็ตาม

ทั้งหมดนั้นเปลี่ยนไปเมื่อปรากฏ “ไอแพด” ออกมา เพราะแอปเปิล อิงค์. ไปโน้มน้าวชักชวนให้สำนักพิมพ์ใหญ่ๆ 6 แห่งในสหรัฐอเมริกาที่เรียกกันว่า “บิ๊กซิกซ์” ให้หันมายอมรับ “ยูนิฟอร์ม ไพรซิง โมเดล” ของตน ซึ่งก็คือการกำหนดราคาหนังสือให้เป็นราคาเดียวกันจากทุกร้านค้าอีบุ๊ก ใครจะไปกำหนดเองแบกต้นทุนเองแบบอเมซอน ไม่ได้อีกแล้ว

สำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่ 5 แห่ง ตกลงเอาด้วยกับแอปเปิล ส่งผลให้ราคาอีบุ๊กพุ่งพรวด

ตัวอย่างเช่น หนังสือระดับ “เบสต์เซลเลอร์” อเมซอนเคยขายอยู่ที่ 9.99 ดอลลาร์ ต้องปรับราคา
เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า เป็นต้น

ความนิยมในอีบุ๊กลดน้อยถอยลงนับตั้งแต่บัดนั้น

ถึงที่สุดในปี 2012 กระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกาก็ฟ้องร้องแอปเปิลกับ 5 สำนักพิมพ์ ว่าสมคบกันกำหนดราคาหนังสือ เข้าข่ายเป็นการละเมิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาด

แอปเปิลแพ้คดีครับ ยูนิฟอร์ม ไพรซิง โมเดล หมดไปตั้งแต่วันที่แพ้คดี แต่ราคาอีบุ๊ก ไม่ถูกลงเหมือนที่ผ่านมา เพราะตลาดที่ซบเซาทำให้เกิด “เจ้าตลาด” ขึ้นเพียงไม่กี่ราย ยังสามารถกำหนดราคาสูงๆ ได้อยู่

ในด้านผู้บริโภคก็ลดการซื้ออีบุ๊กลงไปอีก กลายเป็นเรื่องในเชิงจิตวิทยาที่ว่า ก็ฉันกำหนดราคามันไว้แค่นี้นี่นา

ยอดขายอีบุ๊กลดลงต่อเนื่อง 6 ปีติด กว่าจะทรงตัวได้ก็ในปี 2019 นี่เอง ถึงตอนนี้หนังสือที่พิมพ์ออกมาเป็นเล่มยังทำยอดขายได้มากกว่าอีบุ๊กหลายเท่าตัว

สำนักพิมพ์อเมริกันทำรายได้จากการขายอีบุ๊กและ “ออดิโอบุ๊ก” หรือ “หนังสือเสียง” ที่เริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในระยะหลัง (จากอิทธิพลของพ็อดคาสต์) แต่คิดรวมๆ แล้วก็ได้เพียงแค่ 20 เปอร์เซ็นต์ของรายได้จากการขายหนังสือทั้งหมดเท่านั้น

ในรายงานประจำปี 2019 ของสมาคมผู้พิมพ์ผู้โฆษณาอเมริกัน (เผยแพร่เมื่อเดือนกันยายน) บอกว่ารายได้รวมของหนังสือในทุกฟอร์แมท เท่ากับ 26,000 ล้านดอลลาร์

เป็นหนังสือที่พิมพ์เป็นเล่มๆ มากถึง 22,600 ล้านดอลลาร์ เป็นอีบุ๊กแค่ 2,040 ล้านดอลลาร์

เมอริล ฮอลส์ ผู้อำนวยการสมาคมผู้ขายหนังสือแห่งสหราชอาณาจักร (ยูเค) บอกว่า แนวโน้มเดียวกันเกิดในยูเคด้วย ที่น่าสนใจก็คือ

ข้อเท็จจริงแสดงให้เห็นว่ายิ่งเป็นนักอ่านรุ่นเยาว์ ยิ่งซื้อหาหนังสือเป็นเล่มๆ มาอ่านกันมากขึ้น เพราะผลการสำรวจของนีลเส็น แสดงให้เห็นว่า 63 เปอร์เซ็นต์ของหนังสือเล่ม ที่ขายกันทั้งหมดในยูเคนั้น ขายให้กับคนอ่านที่อายุต่ำกว่า 44 ปี

52 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายอีบุ๊กในยูเค ขายให้กับผู้อ่านที่อายุเกินกว่า 45 ปีทั้งสิ้น

ในสหรัฐอเมริกา พิว รีเสิร์ช สำรวจเอาไว้เมื่อปี 2017 พบว่า 75 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มอายุ 18-29 ปี อ่านหนังสือเป็นเล่มมาอย่างน้อย 1 เล่ม

ทั้งๆ ที่ค่าเฉลี่ยของทุกกลุ่มอายุอยู่ที่ 67 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเองครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image