อินเดียเจริญรอยตามฮ่องกง ลงถนนประท้วงแก้ร่างกฎหมาย : โดย ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

อินเดียเจริญรอยตามฮ่องกง ลงถนนประท้วงแก้ร่างกฎหมาย : โดย ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

อินเดียเจริญรอยตามฮ่องกง ลงถนนประท้วงแก้ร่างกฎหมาย : โดย ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

เหตุการณ์ชุมนุมประท้วงในอินเดียเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม 2019 ซึ่งมีสาเหตุที่เกิดจากรัฐสภาได้ผ่านร่างกฎหมายฉบับ 1 อันชาวมุสลิมเห็นว่าเป็นการเจาะจงปฏิบัติต่อผู้ที่เคารพและสักการะศาสนาอิสลาม จึงลงถนนทำการประท้วง รัฐบาลได้ใช้กำลังรุนแรง ทำการปราบปราม จนกลายเป็นการปะทะที่ดุเดือดร้อนแรง

นำมาซึ่งความบาดหมางใจระหว่างรัฐบาลและประชาชน

เมฆหมอกทางการเมืองยังมองไม่เห็นแสงสีตัดพาด

Advertisement

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอินเดียไม่ต่างไปจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ฮ่องกง

หากการแก้ไขปัญหาความวุ่นวายระหว่างอินเดียกับฮ่องกงมีความต่าง

ตัดกลับไปเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2019 รัฐสภาอินเดียได้ผ่านร่างแก้กฎหมายที่เรียกว่า “กฎหมายสถานภาพประชาชน” สาระสำคัญของกฎหมายได้ให้สิทธิแก่ผู้ที่อพยพอย่างผิดกฎหมาย อันประกอบด้วยชาวปากีสถาน บังกลาเทศและอัฟกานิสถาน ล้วนเป็นผู้ที่นับถือศาสนาฮินดู อันได้แก่ชาวซิกช์ และชาวโซโรอัสเตอร์ แต่ไม่รวมถึงผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม

Advertisement

คือปฐมเหตุ

การแก้ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว เป็นเหตุให้ชาวมุสลิมในอินเดียร้อยละ 14 ของประชากรทั้งประเทศไม่พอใจ จึงได้ลงถนนชุมนุมทำการประท้วง

เพราะพวกเขาเห็นว่า กรณีนี้เป็นการแบ่งพวก แบ่งศาสนา เลือกที่รักมักที่ชัง

แม้รัฐบาลได้ยืนยันว่าการแก้ร่างกฎหมาย มิได้เจาะจงต่อศาสนาใดศาสนาหนึ่งก็ตาม

แต่ความสงสัยและคลางแคลงใจของชาวมุสลิมก็ยังไม่คลาย เหตุผลคือ

1.เมื่อเดือนสิงหาคม 2019 นายกรัฐมนตรีโมที ได้ยกเลิกสิทธิปกครองตนเองของรัฐจัมมูและแคชเมียร์ อันเป็นสิทธิที่ได้ดำรงมาถึง 70 ปี และให้ทั้ง 2 รัฐขึ้นตรงกับสหพันธรัฐ ประชากรส่วนใหญ่ของทั้ง 2 รัฐเป็นชาวมุสลิม

2.ในเวลาเดียวกัน รัฐบาลอินเดียก็ได้ผลักดันนโยบาย “ลงทะเบียนประชากร” โดยเป็นมาตรการตรวจคัดกรองสถานภาพประชากร หากสถานภาพของผู้ใดไม่สอดคล้องกับคุณสมบัติ ก็จะถูกยกเลิกสัญชาติ ผลปรากฏว่าผู้ที่ขาดคุณสมบัติส่วนใหญ่ก็เป็นชาวมุสลิม

ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้ชาวมุสลิมสงสัยคลางแคลงใจเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาล

กรณีเข้าข่ายการ “เคลียร์ทะเบียนราษฎร”

ปัญหา “ศาสนา” และ “ทะเบียนราษฎร” 2 พฤติกรรมพฤติเหตุเจือสมกัน

เป็นเหตุให้ชาวมุสลิมต้องลงถนนชุมนุมประท้วงในวงกว้าง

เป็นความปั่นป่วนทางการเมือง

เป็นความสับสนทางสังคม

เข้าทำนอง “เคราะห์ซ้ำกรรมซัด”

ความกังวลในดวงหทัยของคนอินเดียในขณะนี้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าคนฮ่องกง

ประเทศอินเดียมีประชากรเกือบร้อยละ 80 นับถือศาสนาฮินดู

เมื่อปี 2014 ครั้นเมื่อ “โมที” ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี

ปรากฏว่ามีการปราศรัยหลายครั้งที่อ้างอิงถึงศาสนาฮินดู

จึงถูกกล่าวหาว่าโน้มเอียงไปในทางลัทธิชาติพันธุ์

กระแสประท้วงต่อต้านการร่างแก้กฎหมายครั้งนี้ เริ่มขึ้นโดยชาวมุสลิมในเบื้องต้น

และมีผู้ที่มิใช่ชาวมุสลิมเข้าร่วมในปริโยสาน

เพราะพวกเขาเห็นว่า การกระทำของรัฐบาล ขัดต่อนัยยะแห่งรัฐธรรมนูญในประเด็น “ฆราวาสนิยม” จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เริ่มตั้งแต่ความขัดแย้งเรื่องชาติพันธุ์และศาสนา ได้ขยายวงกว้างไปเป็นกระแสต่อต้านหลายภูมิภาคของประเทศ ทั้งนี้ปัญหาเศรษฐกิจที่ถดถอยก็มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย

เมื่อ 3 ปีก่อน ผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (GDP) เติบโตร้อยละ 9

ไตรมาสล่าสุดเติบโตเพียงร้อยละ 4.5

อันการที่รัฐบาลให้คำมั่นเกี่ยวกับการเพิ่มงานอีก 20 ล้านตำแหน่งไม่สัมฤทธิผลนั้น

ก็เป็นความคับแค้นใจในสังคมระดับ “จัณฑาล” อยู่แล้ว

บวกกับปัญหาชาติพันธุ์และศาสนาเข้าไป

จึงเสมือนการเติมเชื้อเพลิง

เหตุการณ์ชุมนุมประท้วงและปะทะกันครั้งนี้ จวบจนวันที่ 30 ธันวาคม 2019 มีผู้เสียชีวิต 20 คน มีผู้ถูกจับกุมคุมขัง 6 พันคน

พฤติการณ์สลายม็อบของรัฐบาลอินเดียเรียกกันว่า “White horror”

จึงเป็นเหตุให้นักศึกษาส่วนหนึ่งซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ก็ “ร่วมด้วยช่วยกัน”

รัฐบาลแถลงว่า กรณีเป็นการทำลายรูปแบบการบริหาร (damage control mode) จึงมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ทำการชี้แจงเหตุผลการแก้ร่างกฎหมายและนโยบายการลงทะเบียนประชากร

ทั้งนี้ เพื่อวัตถุประสงค์ในการลดอุณหภูมิแห่งความขัดแย้งลงไปบ้างตามสมควร

อินเดียมีสถานภาพเป็นสาธารณรัฐ ซึ่งประกอบด้วยรัฐต่างๆ รวม 28 รัฐ องค์ประกอบของแต่ละรัฐแตกต่างกันไป จึงมากด้วยปัญหา

อย่างไรก็ตาม ผู้นับถือศาสนาฮินดูเป็นจำนวนสูงถึงร้อยละ 80 ของประเทศ อีกประการ 1 พรรค BJP ของรัฐบาลมีเสียงถึงร้อยละ 60 ในรัฐสภา ถือเป็นมติหลักที่สนับสนุนรัฐบาล

จึงเชื่อโรตีกินได้ว่า การชุมนุมประท้วงคงไม่ยืดเยื้อยาวนานเหมือนกับฮ่องกง

ปฐมเหตุแห่งการเดินขบวนประท้วงในอินเดียกับฮ่องกงมีทั้งจุดเหมือนและจุดต่าง

จุดเหมือนคือ รัฐบาลอินเดียมองว่าการแก้ร่างกฎหมายไม่มีเจตนาที่เจาะจงต่อฝูงชนใด จึงเกิดความชะล่าใจ จึงมิได้ทำการเดินสายอธิบายให้ประชาชนเข้าใจถึงวัตถุประสงค์

จุดต่างคือ ระดับการใช้กำลังของผู้ชุมนุมประท้วงไม่รุนแรงเท่าฮ่องกง แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจอินเดียกลับใช้กำลังที่รุนแรงกว่าทำการปราบปราม และสลายม็อบ ส่วนฮ่องกงมีพัฒนาการใหม่คือความระแวงระหว่างรัฐบาลและผู้ต่อต้านที่มีต่อกันนับวันมากขึ้น ส่วนสาเหตุการตายของผู้ประท้วงนั้น ก็ยังหาข้อสรุปมิได้

อินเดียมีสถานะเป็นประเทศ ย่อมจะนำมาเปรียบเทียบกับฮ่องกงทุกประเด็นมิได้

นอกจากนี้ อินเดียมีปัญหาความขัดแย้งทางชาติพันธุ์และศาสนาเป็นเวลาอันยาวนาน

แต่ปัญหาดังกล่าวไม่มีในฮ่องกง

อย่างไรก็ตาม เหตุอันเนื่องจากแก้ร่างกฎหมาย นำมาซึ่งความแตกแยกของสังคมฮ่องกงและอินเดีย ปฏิเสธมิได้ว่า “เหมือนกันเป๊ะ”

แต่รัฐบาลอินเดียและพรรครัฐบาลได้รับฉันทานุมัติจากประชาชน นโยบายของรัฐบาลคือเครื่องมือในการแก้ปัญหาได้โดยอิสระ และไม่ยากนัก อยู่ในวิสัยที่ทำได้ อีกทั้งคนอินเดียส่วนใหญ่มีความเข้าใจและเห็นความสำคัญเกี่ยวกับความมั่นคงประเทศ

ไม่ว่าอดีต ไม่ว่าปัจจุบัน ประเทศอินเดียมีปัญหาเกี่ยวกับชาติพันธุ์และศาสนา มีความสับสนมากที่สุดในโลก ดังนั้น การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับการแก้ร่างกฎหมายในครั้งนี้

แม้ว่าไม่น่าจะยืดเยื้อยาวนานเหมือนฮ่องกง

แต่ก็คงไม่สามารถให้ยุติในระยะเวลาอันสั้น

ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image