อริยสัจ4 โดย ดร.นพ.วิชัย เทียนถาวร อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข

ข้อเสนอ “แก้รัฐธรรมนูญ”…ตาม “แนวพระราชดำรัสคุณธรรม 4 ประการ”

หากมองย้อนหลังไปกว่า 1 ทศวรรษ กล่าวคือ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2549 ในพระราชพิธีเฉลิมฉลองครองสิริราชสมบัติ 60 ปี พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร
มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานหลักคุณธรรม 4 ประการ ในการเสด็จออกพระสีหบัญชร ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ว่า…“ข้าพเจ้ามีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้มาอยู่ในท่ามกลาง มหาสมาคม พร้อมพรั่งด้วยบุคคลจากทุกสถาบันในชาติ ตลอดจน ประชาชนชาวไทย ขอขอบใจในคำอวยพร และการเฉลิมฉลอง อันยิ่งใหญ่ที่ทุกคนตั้งใจจัดให้ข้าพเจ้าเป็นพิเศษ ทั้งรัฐบาลที่จัดงานครั้งนี้ได้เรียบร้อยและงดงาม น้ำใจไมตรีของประชาชนชาวไทยที่ร่วมกันแสดงออกทั่วประเทศ รวมทั้งที่พร้อมเพรียงกันมาในวันนี้ น่าปลาบปลื้มใจมาก เพราะแต่ละคนได้แสดงออกและตั้งใจมา ด้วยความหวังดีจากใจจริง จึงขอขอบใจทุกๆ คน จิตใจที่เปี่ยมไปด้วยความปรารถนาดีและความเป็นอันหนึ่ง อันเดียวกันของทุกคนทุกฝ่ายนี้ ทำให้ข้าพเจ้าเห็นแล้วมีกำลังใจขึ้นมาก นึกถึงคุณธรรมซึ่งเป็นที่ตั้งของความรักความสามัคคี ที่ทำให้คนไทยเราสามารถร่วมมือร่วมใจกัน รักษาและพัฒนาชาติบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อกันมาได้ตลอดรอดฝั่ง ประการแรก คือ การที่ทุกคนคิด พูด ทำด้วยความเมตตามุ่งดีมุ่งเจริญต่อกัน ประการที่สอง คือ การที่แต่ละคนต่างช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ประสานงาน ประสานประโยชน์กัน ให้งานที่ทำสำเร็จผลทั้งแก่ตนแก่ผู้อื่น และแก่ประเทศชาติ ประการที่สาม คือ การที่ทุกคนประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในความสุจริต ในกฎกติกา และในระเบียบแบบแผนโดยเท่าเทียมเสมอกัน ประการที่สี่ คือ การที่ต่างคนต่างพยายามทำความคิดความเห็นของตน ให้ถูกต้องเที่ยงตรงและมั่นคงอยู่ในเหตุในผล หากความคิดจิตใจ และการประพฤติปฏิบัติที่ลงรอยเดียวกัน ในทางที่ดีที่เจริญนี้ ยังมีพร้อมมูลอยู่ในกายในใจของคนไทยก็มั่นใจ ได้ว่าประเทศชาติไทยจะดำรงมั่นคงอยู่ตลอดไปได้ จึงขอให้ท่านทั้งหลายในมหาสมาคมนี้ ทั้งประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า ได้รักษาจิตใจและคุณธรรมนี้ไว้ให้เหนียวแน่น และถ่ายทอดความคิดจิตใจนี้กัน ต่อไปอย่าได้ขาดสาย เพื่อให้ประเทศชาติของเราดำรงยืนยงอยู่ด้วย ความร่มเย็นเป็นสุข ทั้งในปัจจุบันและในภายภาคหน้า”

“พระราชดำรัสคุณธรรม 4 ประการ” ข้างต้น หากวิเคราะห์สังเคราะห์ดูแล้วจะพบว่ามีคุณค่าและมีความหมายยิ่งหากได้มีการนำมาพิจารณาและประยุกต์ใช้เป็น “เครื่องมือ” หรือเป็น “แนวทาง” ดำเนินการบริหารจัดการ… “การบ้าน การเมือง” ตามหลักพุทธศาสนา คือ “อริยสัจ 4” ทั้งในยามปกติและยามวิกฤตปัญหาของบ้านเมือง มั่นใจได้ว่าประเทศชาติไทยจะดำรงมั่นคงอยู่ได้ตลอดไป

ผู้เขียนได้มีโอกาสอ่านหนังสือ “การเมืองไทยและประชาธิปไตย” ของศาสตราจารย์ ดร.ลิขิต ธีรเวคิน อดีตราชบัณฑิต และหนังสือ “แก้รัฐธรรมนูญด้วยแนวทางพระราชดำรัสคุณธรรม 4 ประการ” มูลนิธิสถาบันสร้างอนาคตไทย ปรับปรุงจากดุษฎีนิพนธ์ของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ุ ความว่า…สืบเนื่องจากประเทศไทยเรามีการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเป็นระบอบที่ถือได้ว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดของระบบการเมืองในแง่การใช้อำนาจรัฐ การควบคุมการใช้อำนาจรัฐ คุณลักษณะของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยนั้นก็คือ การมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง (elected government) การที่ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง (participation) การประกันสิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคของประชาชน (rights, freedom and equality) การเคร่งครัดต่อหลักนิติธรรมในการออกกฎหมายในการใช้กฎหมายและการวางนโยบาย กล่าวคือ การธำรงไว้ซึ่งวิถีทางของรัฐธรรมนูญที่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม (the rule of law) และผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ นอกจากผู้ปฏิบัติงานทางการเมือง รวมทั้งประชาชนผู้ใช้สิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมืองต้องมีจริยธรรม (ethics) ทางการเมือง มีมารยาททางการเมือง (political etiquette) โดยมีหิริโอตตัปปะ เช่น การแสดงน้ำใจนักกีฬาด้วยการลาออกเมื่อบริหารงานผิดพลาดและที่สำคัญในการอภิปรายหรือการแสดงออกทางการเมืองจะต้องธำรงไว้ซึ่งความเป็นผู้ดีทางการเมือง ยึดหลักธรรมาภิบาลและจะสามารถพัฒนาความจำเริญ (Liability) อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน (Sustainability) ได้

Advertisement

อนึ่ง แต่ต้องเข้าใจว่าระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยนั้นก็มีจุดบกพร่องเป็นต้นว่า i) การใช้เสียงข้างมากในการตัดสิน แม้จะถูกต้องตามธรรมเนียมประเพณี การใช้เสียงข้างมากเป็นหลัก แต่ก็มีการเตือนว่าอาจเกิดทรราชแห่งเสียงข้างมากได้ เป็นต้นว่า พระสองรูปกับโจรสิบคนลงมติปล้นธนาคาร โจรชนะตลอด จึงมีคำกล่าวว่า…“ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยไม่ใช่ระบบการเมืองที่ดี แต่เป็นระบบการเมืองที่ทำงานให้ผล” หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ… “ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยเป็นระบบที่เลวและระบบอื่นเลวกว่า” ดังนั้นจึงถือได้ว่า “เป็นระบบการเมืองการปกครองที่เลวน้อยที่สุด”

ii) ในบางประเทศที่คิดว่าสถาปนาระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยได้ด้วยการ “ร่างรัฐธรรมนูญ” ที่มีความเป็นประชาธิปไตยนั้นเป็นการมองภาพที่ไม่กระจ่าง เจ้าอาณานิคมที่ยึดประเทศอื่นเป็นอาณานิคมได้ตระหนักถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวมานานแล้ว ก่อนจะปล่อยให้อาณานิคมเป็นเอกราชก็มี การร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ให้กับประเทศดังกล่าว แต่ทันทีเจ้าอาณานิคมถอนตัวจากอำนาจการปกครองบริหาร เช่น ประเทศอินเดีย ฯลฯ เป็นต้น เกิดความขัดแย้งอย่างฉับพลันถึงขั้นเป็นสงครามกลางเมือง และการพัฒนาการเมืองของประเทศไทยเราพบข้อเท็จจริงว่า การร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับเป็นการสร้างโครงสร้างและกระบวนการทางการเมืองขึ้นใหม่โดยใช้ “กฎหมาย” เป็นตัวนำ ไม่ใช่คาถาพิเศษที่จะเสกให้สำเร็จได้อย่างอัศจรรย์ (จะเห็นได้ว่าประเทศไทยเราใช้ “รัฐธรรมนูญ” มา 19-20 ฉบับแล้ว) เพราะความสำเร็จของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยขึ้นอยู่กับตัวแปรหลักๆ 3 ตัวแปร ไม่ใช่เพียงอาศัย “รัฐธรรมนูญ” แต่เพียงประการเดียว ตัวแปร 3 ตัว คือ ตัวแปรที่หนึ่ง : สภาพสังคมและเศรษฐกิจต้องเอื้ออำนวยต่อการปฏิรูปและการพัฒนาระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตย เช่น คนต้องมีการศึกษาระดับสูงระดับหนึ่ง มีความตื่นตัวทางการเมือง มีเขตชุมชนเมืองสามารถมีรายได้ภายใต้เศรษฐกิจที่มีอุตสาหกรรมระดับหนึ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้ จะมีส่วนเสริมการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย ตัวแปรที่สอง :
โครงสร้างและกระบวนการซึ่งได้แก่ การร่างรัฐธรรมนูญให้มีระบบการเลือกตั้ง การเข้าสู่ตำแหน่งอำนาจของฝ่ายบริหารการควบคุมการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร การทำหน้าที่และการควบคุมฝ่ายนิติบัญญัติ การส่งเสริมตุลาการ การปกปักรักษาสิทธิเสรีภาพของประชาชน การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองด้วยการปกครองตนเอง การแสดงประชาพิจารณ์ ประชามติ ฯลฯ

ประการสุดท้าย : ซึ่งเป็นตัวแปรที่สำคัญมากตัวหนึ่ง คือ “วัฒนธรรมการเมืองของประชาชน” ซึ่งแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนที่เกี่ยวกับประชาชนและส่วนที่เกี่ยวกับผู้กุมอำนาจทางการเมือง หรือผู้ปฏิบัติงานทางการเมือง ได้แก่ ผู้มีบทบาทในทาง “นิติบัญญัติ” และ “บริหาร” รวมทั้งในส่วนที่ร่วมกับ “รัฐธรรมนูญ” วัฒนธรรมทางการเมืองของประชาชนต้องเป็นวัฒนธรรมที่มีความตื่นตัวทางการเมืองมีจิตวิญญาณของความเป็นประชาธิปไตย เชื่อในความเสมอภาค เคารพสิทธิของผู้อื่นพร้อมที่ต่อสู้เพื่อสิทธิของตนเอง มีความยุติธรรมไม่ขายสิทธิขายเสียง มีความกล้าหาญ

Advertisement

เด็ดเดี่ยว ส่วนที่สอง ได้แก่ กลุ่มผู้นำทางการเมืองจำเป็นต้องเป็นบุคคลที่มีความเชื่อและศรัทธาอย่างแรง

กล้าในระบอบประชาธิปไตย มีอุดมการณ์และมุ่งมั่นทางการเมืองที่จะสถาปนาระบบเพื่อประโยชน์ของ “มวลชน” มีจิตวิญญาณของ “นักประชาธิปไตย” มีการกล่าวเสมอว่า…ผู้นำทางการเมืองของอินเดียและพิลิปปินส์ซึ่งเป็นระบอบประชาธิปไตยที่ประสบความสำเร็จนั้นเป็นผู้ซึ่งมีศรัทธาแรงกล้าในระบอบ…“ประชาธิปไตย” และมีจิตวิญญาณของความเป็นประชาธิปไตยสูง พฤติกรรมที่แสดงออกจะอยู่ในกรอบของหลักการประชาธิปไตยและกติการัฐธรรมนูญ พฤติกรรมแปลกแยกก็มีอยู่บ้าง แต่เป็นข้อยกเว้นมากกว่าเป็นกฎ

วิเคราะห์&สังเคราะห์ การเมืองการปกครองไทยตามอริยสัจ 4 พออนุมานได้ ดังนี้ 1.ทุกข์ : สถานะของปัญหาความขัดแย้งในการเมืองไทยปัจจุบัน (ทุกข์) ยังคงดำรงอยู่ ภาวะที่ดูเหมือนเป็นความสงบเรียบร้อยชั่วคราวในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งไม่มีมวลชนออกมาชุมนุมปิดถนน ปิดสถานที่ราชการ ฯลฯ เพราะว่าเกรงอำนาจเบ็ดเสร็จของคณะผู้ก่อการรัฐประหารนั้น เป็นเพียงวิธีการแก้ปัญหาที่เปรียบเสมือนกับการให้ยาพาราเซตามอลเพื่อแก้ปวดหัวตัวร้อนชั่วคราวเท่านั้น เมื่อหมดฤทธิ์ยา อาการปวดหัวตัวร้อนก็จะกลับคืนมาใหม่ เนื่องจากรัฐบาล คสช. ที่ผ่านมาไม่ได้แก้ไขที่ “สมุทัย” หรือเหตุมูลฐานของปัญหาความขัดแย้งในบ้านเมืองให้ตรงจุด อันเปรียบเหมือนกับการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อโรคที่เป็นต้นเหตุของอาการปวดหัวตัวร้อนนั้นๆ จึงทำให้อนุมานได้ว่า “รัฐประหารไปแล้วเสียของ” เพราะปัญหาความขัดแย้งในบ้านเมืองจะยังคงดำรงอยู่ และฉุดรั้งให้ประเทศไทยไม่สามารถพัฒนาให้ก้าวหน้าได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาสำคัญที่เราจะต้องฟันฝ่าไปให้ได้ก็คือ ขณะที่การปฏิรูปให้การเมืองไทยมีเสถียรภาพและมีคุณภาพ เป็นรากฐานของการแก้ปัญหาต่าง ๆ ทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมา แล้วการเมืองไทยจะหลุดพ้นจากการ “พายเรือในอ่าง” ที่วนเวียนอยู่กับการ “ทำรัฐประหาร/ฉีกรัฐธรรมนูญ-เขียนรัฐธรรมนูญ
ใหม่-เลือกตั้ง-ทำรัฐประหาร …” ได้อย่างไร

2.สมุทัย : เหตุมูลฐานของปัญหาความขัดแย้งเชิงโครงสร้างในระบบสังคม การเมืองไทย มีรากเหง้าอยู่ที่เมื่อข้าราชการซึ่งมีทหารเป็นแกนนำได้ทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินเมื่อปี 2475 ตลอดระยะเวลากว่า 87 ปีที่ผ่านมา อำนาจแท้จริงในการกำหนดนโยบายสำคัญของประเทศชาติ โดยเฉพาะนโยบายด้านความมั่นคงยังคงตกอยู่ที่ข้าราชการ ซึ่งมีทหารเป็นแกนนำและ “ยึดรัฐราชการเป็นศูนย์กลาง” ในการแก้ปัญหาต่างๆ บนสมมุติฐานของกระบวนทัศน์ (Paradigm) ในการมองปัญหาและแก้ปัญหาว่า…ถ้าเขียนกฎหมายไว้ดีและควบคุมบังคับให้ทุกคนทำตามกฎหมายได้ บ้านเมืองก็จะสงบเรียบร้อย จะพัฒนาไปสู่ความรุ่งเรือง นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเกี่ยวกับ ความเหลื่อมล้ำทางสังคมเศรษฐกิจ ความขัดแย้งระหว่างเมืองกับชนบท ความไร้เสถียรภาพของการเมืองไทย วัฏจักรวงจรปัญหาการเมืองไทย

ความขัดแย้งในช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา คนไทยมองเห็นวงจรเลวร้ายทางการเมืองจากการที่มีประหารครั้งแล้วครั้งเล่า โดยหากไม่สามารถทำให้ประเทศหลุดพ้นจากวงจรนี้ได้ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างก็พัฒนาเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์เกือบหมดแล้ว เราจะดำรงอยู่ได้อย่างไรภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวที่มีการแข่งขันอย่างรุนแรง จึงต่างพากันเคลื่อนไหวหวังยุติวงจรดังกล่าว ฝ่ายแรก : เชื่อว่าให้มีการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง ประชาชนจะค่อยเรียนรู้และผลักดันให้ระบบการเมืองปรับตัวสู่ “ประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ” เอง ฝ่ายที่สอง : กลับเห็นว่าต้องใช้วิธีหาคนดีที่มีความรู้ความสามารถมาแก้ไขปัญหาประเทศในระยะเปลี่ยนผ่าน แม้จำเป็นต้องใช้วิธีรัฐประหารเพื่ออาศัยอำนาจของ “เผด็จการโดยผู้มีคุณธรรม” มาช่วยแก้ปัญหา และผลักดันประเทศไปสู่ “ประชาธิปไตยที่มีคุณธรรม” จนกลายเป็นความขัดแย้งรุนแรงทางความคิดระหว่างคนไทยสองฝ่าย ด้วยเหตุนี้ถ้าทำให้สองฝ่ายมองเห็น “แนวทางหลัก” ที่จะนำไปสู่การสร้าง “ประชาธิปไตยที่มีทั้งคุณภาพและคุณธรรม” ตรงกันได้ โดยการชวนให้คนไทยทั้งสองฝ่ายหันมาร่วมมือกัน ผลักดันบ้านเมืองให้ไปสู่ “จุดหมายร่วม” นี้ได้

หากกระทำได้สำเร็จ “พลังความขัดแย้ง” ที่ผ่านมา ก็จะถูกเปลี่ยนให้เป็น “พลังขับเคลื่อน” ที่ดีต่อประเทศโดยอย่างก้าวกระโดด…

(3.นิโรธ…ติดตามฉบับหน้า)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image