ยกระดับอาชีวศึกษา หนึ่งในความจำเป็นรีบด่วนของประเทศ : โดย วุฒิชัย กปิลกาญจน์

ยกระดับอาชีวศึกษา หนึ่งในความจำเป็นรีบด่วนของประเทศ : โดย วุฒิชัย กปิลกาญจน์

ยกระดับอาชีวศึกษา หนึ่งในความจำเป็นรีบด่วนของประเทศ : โดย วุฒิชัย กปิลกาญจน์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้ความสนใจในส่วนของการอาชีวศึกษามากพอสมควร โดยให้นโยบายที่สำคัญ คือ การยกระดับอาชีวศึกษา ซึ่งจะต้องผลิตกำลังคนสายวิชาชีพเพิ่มขึ้น (ทั้งปริมาณและคุณภาพ) เพื่อรองรับความต้องการแรงงานของสถานประกอบการทุกประเภทที่นักลงทุนจะจัดตั้งขึ้นตามคำชักชวนของรัฐในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดชายแดนของภูมิภาคต่างๆ และล่าสุดก็คาดหวังว่าตัวเลขของผู้เข้าเรียนสายวิชาชีพและสายสามัญ คงจะมีสัดส่วนเป็น 60:40 ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ทั้งนี้มาตรการในการดำเนินการตามนโยบายใหม่นี้คงจะได้รับการบูรณาการเข้ากับยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาระยะ 15 ปี (พ.ศ.2555-2569) และแผนแม่บทการพัฒนาสถาบันการอาชีวศึกษา 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาจัดทำและยึดถืออยู่ก่อนแล้ว

นอกเหนือจากนโยบายและมาตรการในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุผลตามแผนที่วางไว้ รัฐควรแจ้งให้ทราบถึงความต้องการแรงงานในด้านต่างๆ ของประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาที่สำคัญมากปัญหาหนึ่งของระบบการศึกษาไทยคือการขาดแคลนกำลังคน และการว่างงานของบัณฑิตใหม่ในบางสาขาวิชา เนื่องจากสถานศึกษาในปัจจุบันสามารถกำหนดจำนวนรับผู้เข้าศึกษาได้เองตามศักยภาพของตน ตัวอย่างเช่น การผลิตบัณฑิตด้านวิศวกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในกลุ่มพื้นฐาน : เครื่องกล โยธา ไฟฟ้า อุตสาหการ เคมี และสิ่งแวดล้อม และกลุ่มเฉพาะทาง : ชลประทาน ทรัพยากรน้ำ เกษตร การบินและอวกาศ พาณิชยนาวี และการขนส่งระบบราง จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ 5 คณะ (ใน 4 วิทยาเขต) และวิทยาลัยการชลประทาน มีจำนวนบัณฑิตใหม่ในปีล่าสุดถึงประมาณ 2,000 คน เป็นต้น ตัวเลขความต้องการกำลังคนที่แท้จริงจะได้เป็นฐานข้อมูลในการปรับเปลี่ยนการรับนักศึกษาใหม่ของสถานศึกษาทั้งหมด ทั้งภาครัฐ เอกชน ทั้งสายสามัญและสายวิชาชีพเพื่อให้สอดคล้องเหมาะสมกับความเป็นจริงของสภาวะเศรษฐกิจสังคมที่ปรับเปลี่ยนตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสายวิชาชีพระดับฝีมือ ระดับเทคนิคและระดับเทคโนโลยี ทางด้านอุตสาหกรรม เกษตรกรรม พาณิชยกรรม การท่องเที่ยว และการบริการ

การศึกษา คือ รากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ โดยการศึกษาสายวิชาชีพมุ่งเน้นให้ผู้เรียนเป็นผู้ที่สามารถปฏิบัติงานได้จริงและมีคุณสมบัติตรงตามความต้องการของภาคแรงงาน ซึ่งมีปัจจัยหลักในการจัดการศึกษา คือ ผู้เรียน ผู้สอนและหลักสูตร รวมถึงองค์ประกอบเพิ่มเติม ได้แก่ การจัดการเรียนการสอนและการวัดและประเมินผล ทั้งนี้ ผู้สอนน่าจะเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญที่สุดและปัญหาที่เกี่ยวข้องกับครูอาชีวศึกษา ทั้งในเรื่องการขาดแคลนอัตรากำลัง การผลิต พัฒนา และความก้าวหน้าในการปฏิบัติงานยังคงดำรงอยู่ จึงขอเสนอแนวทางแก้ไขในประเด็นการขาดแคลนอัตรากำลัง (นอกเหนือจากการขออัตรากำลังเพิ่มจากรัฐ) ดังนี้

Advertisement

ใช้ผู้สอนร่วมกันในกลุ่มของสถานศึกษาอาชีวศึกษาที่มีที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน

จัดหาผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (ทั้งภาครัฐและเอกชน) มาเป็นผู้สอนพิเศษ เช่น มหาวิทยาลัย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน ตลอดจนสถานประกอบการต่างๆ เป็นต้น

รักษาอัตรากำลังที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยการต่ออายุราชการ จ้างเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ รวมไปถึงปรับสถานภาพครูอัตราจ้างเป็นข้าราชการและการขออัตราครูผู้เกษียณอายุคืนในปีงบประมาณถัดไป

Advertisement

การดำเนินการตามข้อเสนอจะต้องใช้งบประมาณที่ส่วนใหญ่เป็นค่าตอบแทน และน่าจะช่วยบรรเทาปัญหาที่มีอยู่ในขณะนี้ไปได้บ้าง

ในส่วนของหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน และการวัดและประเมินผลเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องสอดคล้องและต้องดำเนินการไปด้วยกันโดยเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องของทุกฝ่ายเข้าร่วมด้วย ดังนี้

หลักสูตรควรเป็นหลักสูตรที่ใช้มาตรฐานอาชีพที่ดำเนินการแล้วมาแปลงเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่มีความทันสมัยสอดคล้องกับอาชีพที่มีอยู่ในปัจจุบัน และควรมีการประเมินหลักสูตรเมื่อมีนักศึกษาสำเร็จการศึกษาแล้ว

ในการจัดทำหรือพัฒนาหลักสูตรสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ควรดำเนินการร่วมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) สถานประกอบการและสมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง (เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นต้น)

ให้ความรู้กับครูผู้สอนในการจัดทำแผนการสอนแบบฐานสมรรถนะ

สถานศึกษาอาชีวศึกษาต้องจัดตารางการเรียนเต็มเวลา โดยช่วงเช้าควรสอนภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติในช่วงบ่าย

ควรมีข้อตกลงในการขอใช้เครื่องมือที่มีอยู่ในหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม และสถานประกอบการ เพื่อใช้ประกอบการเรียนการสอน

ที่ผ่านมาการจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีอาจจะดำเนินการได้สำเร็จเป็นอย่างดีในสาขาอุตสาหกรรมร่วมมือกับสถานประกอบการขนาดใหญ่ แต่ควรปรับใช้ให้เหมาะสมกับสาขาเกษตรกรรม พาณิชยกรรม การท่องเที่ยวและการบริการ ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME)

การวัดและการประเมินสมรรถนะนักศึกษานอกจากจะดำเนินการโดยครูผู้สอนและสถานศึกษาแล้ว ควรหารือร่วมกับหน่วยงานรับรอง เช่น สคช. และกระทรวงแรงงานด้วย

สำหรับวิทยาลัยด้านการเกษตรและประมงซึ่งกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ คือ ภาคเหนือ 12 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงหนือ 10 แห่ง ภาคกลาง 12 แห่ง และภาคใต้ 13 แห่ง รวมทั้งสิ้น 47 แห่งนั้น ต่างก็ประสบปัญหาคล้ายกันคืองบประมาณไม่เพียงพอ ขาดแคลนครูผู้สอนและจำนวนนักศึกษาลดลง จึงควรดำเนินการแก้ไขให้เปิดสอนเฉพาะสาขาวิชาที่มีศักยภาพ เนื่องจากเกษตรศาสตร์มีหลายสาขาวิชา ทั้งพืช (พืชสวน พืชไร่นา โรคพืช) สัตว์ (สัตว์น้ำ สัตว์ปีก สัตว์ป่า) ปฐพี ป่าไม้ สัตวแพทยศาสตร์ เครื่องจักรกลเกษตรรวมไปถึงอุตสาหกรรมเกษตรด้วย ดังนั้น การเปิดสอนหลายสาขาวิชาจะทำให้เกิดความซ้ำซ้อนและสิ้นเปลือง ควรจะต้องเลือกสาขาวิชาที่มีความพร้อมทั้งบุคลากร สถานที่และครุภัณฑ์เท่านั้น

เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปแล้วว่าการแก้ไขปัญหาระดับประเทศจะต้องใช้เวลานานพอสมควรรวมถึงจะต้องได้รับความเอาใจใส่ติดตามผลจากผู้บริหารทุกระดับ ดังนั้น นโยบายและแผนงานทั้งหมดควรจะได้รับการยึดถือและปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง (ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้บริหารก็ตาม) จึงจะทำให้ปัญหาได้รับการแก้ไขและมาตรการต่างๆ ประสบความสำเร็จตามที่วางแผนไว้

วุฒิชัย กปิลกาญจน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image