สะพานแห่งกาลเวลา : ว่าด้วยเรื่องถุงพลาสติก โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

(ภาพ-AFP)

ตั้งแต่ปีใหม่ที่ผ่านมาหมาดๆ ไปไหนมาไหน พูดคุยกับใคร มีแต่คนพูดถึงเรื่อง “ถุงพลาสติก”

เพราะตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา เครือข่ายร้านค้าใหญ่ๆ ทั่วประเทศ 75 เครือข่าย ตั้งแต่ร้านค้า ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ และอื่นๆ อีก รวมแล้วเป็นจำนวน 25,000 ร้าน เลิกให้ถุงพลาสติกสำหรับใส่ของที่เราซื้อหากันแล้ว

นี่เป็นส่วนหนึ่งของแผนบริหารจัดการขยะพลาสติกต่อเนื่อง 20 ปีของรัฐบาลภายใต้ความร่วมมือของภาคเอกชนครับ

อันที่จริง การ “แบน” ครั้งนี้เป็นการใช้ พลาสติก ประเภทใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง 3 กลุ่ม คือกลุ่มภาชนะพลาสติกที่ความหนาไม่เกิน 36 ไมครอน ก็จำพวกถุงพลาสติกหูหิ้ว ที่เราใช้กันเป็นประจำนั่นแหละครับ

Advertisement

กลุ่มที่สองคือ ภาชนะโฟม (สไตโรโฟม) สำหรับบรรจุอาหารใช้แล้วทิ้งเหมือนกัน สุดท้ายก็คือ กลุ่มแก้วพลาสติกและหลอดดูดพลาสติกครับ

ในบรรดา 3 กลุ่มนี้ ถุงพลาสติกหูหิ้วนี่แหละที่ก่อปฏิกิริยามากที่สุด

บางคนทำตาโต ไม่พอใจเพราะรู้สึกเหมือนถูกบังคับ บางคนรู้สึกไปอีกทาง คือรู้สึกอับจนหมดหนทางเลือก แน่นอน มีอีกไม่น้อยที่พึงพอใจกับมาตรการ “แบน” แบบจริงๆ จังๆ อย่างครั้งนี้

Advertisement

มีอีกส่วนหนึ่งที่ “สนุกสนาน” กับการนี้ เลือกซื้อหาถุงผ้าสารพัดแบบสารพัดสี ไว้เสมือนหนึ่งเป็นแฟชั่นประจำตัว

ไม่มีใครผิดหรอกครับ เรื่องของความรู้สึกทั้งหลายย่อมห้ามกันไม่ได้อยู่แล้ว

ถ้าเราคิดถึงกรณีนี้ว่านี่เป็นการบังคับ กะเกณฑ์ เราก็จะรู้สึกเหมือนถูกบังคับ

เช่นเดียวกัน ถ้าหากเรายึดถือว่า ถุงพลาสติกหูหิ้วเป็นทางออกอย่างเดียวเท่านั้นเมื่อต้องซื้อหาข้าวของ เราก็จะรู้สึกอับจนหนทางอยู่แน่นอนครับ

ทั้งๆ ที่มีหนทางอื่นๆ ให้เราเลือกใช้อยู่มากมาย ไม่เชื่อลองไปสำรวจตรวจสอบตามโซเชียลมีเดีย จะพบเห็นทางออกของคนไทยมากมาย มีทั้งที่ฮาๆ ทั้งสร้างสรรค์ ให้เลือกใช้

อย่างที่ว่าไว้ว่า เรื่องความรู้สึกไม่มีใครผิดไม่มีใครถูก ทุกคนมีสิทธิจะคิดได้ทั้งนั้น เช่นเดียวกับใครที่คิดว่า การเลิกใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วเป็นเรื่องของ “ความจำเป็น” ที่ต้องทำ ก็จะรู้สึกไปอีกทางหนึ่งครับ

ผู้ที่ตระหนักถึงความจำเป็นของเรื่องนี้ จะรู้สึกไปในทางที่ดีว่า การไม่ใช้ถุงพลาสติก คือการแสดงความรับผิดชอบอย่างหนึ่ง

เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อตัวเอง ต่อสังคม ต่อโลก ต่อลูกหลานในอนาคตครับ

ข้อเท็จจริงก็คือว่า เราใช้ถุงพลาสติกกันมากเกินไป มากถึงปีละ 70,000 ล้านถุง มากเป็นอันดับ 6 ของโลกทั้งๆ ที่ประชากรของเรามีเพียง 69 ล้านคน มากเป็นอันดับที่ 19 หรือ 20 ของโลกเท่านั้น

60 เปอร์เซ็นต์ของพลาสติกที่เราใช้หนเดียวแล้วทิ้ง ไม่ไปไหนครับ ไปลงเอยในทะเล ในมหาสมุทร เข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อาหารที่ย้อนกลับมาสู่สัตว์ แล้วก็สู่มนุษย์ คือตัวเราในที่สุดนั่นเอง

ข้อมูลของกระทรวงวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม บอกว่า เราทำให้สัตว์ทะเลตายเพราะขยะพลาสติกมากมายในแต่ละปี เต่าทะเล 150 ตัว, วาฬและโลมา 100 ตัว, พะยูนอีก 12 ตัว ต้องตายลงทุกปีเพราะกินขยะที่ย่อยไม่ได้ที่เราทิ้งใส่สิ่งแวดล้อมไปนั่นแหละครับ

การห้ามการใช้ถุงพลาสติก จึงไม่ได้เกิดจากความต้องการบังคับ ไม่ได้เกิดเพราะแฟชั่นเอาอย่าง แต่เกิดขึ้นเพราะความจำเป็น และต้องการให้ทุกคนที่เคยเป็นต้นเหตุ แสดงความรับผิดชอบต่อลูกหลานในอนาคตด้วยการเลิกใช้กันตั้งแต่วันนี้นั่นเอง

ไทยไม่ได้เป็นประเทศเดียว หรือประเทศแรกที่ห้ามอย่างนี้นะครับ หลายๆ ประเทศทำแบบเดียวกันนี้มาแล้วมากมาย เกาหลีใต้ก็ห้ามใช้ถุงพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง ไต้หวันนั้นใครอยากได้ถุงพลาสติกใส่ของต้อง “ซื้อ” เอา ไม่แจกให้ ส่วนจีนก็ทำแบบเดียวกันกับเรามาตั้งแต่ปี 2008 โน่น แล้วก็ช่วยลดการใช้ถุงพลาสติกลงได้มากถึง 66 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นจำนวนถุงถึง 40,000 ล้านถุงเลยทีเดียว

ช่วยกันคนละไม้คนละมือตั้งแต่วันนี้ เพื่อลูกหลานของเราเองในอนาคตกันดีกว่าครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image