กระแสเรียกร้องเอกราชฮ่องกง โดย ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

การประท้วงต่อต้านร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้จีนยืดเยื้อยาวนานเกินกว่าครึ่งปี สาเหตุหลักของผู้เดินขบวนประท้วงคือ ไม่พอใจการทำงานของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ตำรวจ

การรวมตัวกันที่ Edinburgh place ที่ฝั่งฮ่องกง เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2019 ที่เรียกว่า “การชุมนุมสนับสนุนสิทธิมนุษยชนอุยกูร์ 2019” นั้น

ด้วยได้เล็งเห็นคุณค่าแห่งสิทธิมนุษยชน จึงมีประชาชนเป็นจำนวนมากร่วมชุมนุม ในการชุมนุมมีคนส่วนหนึ่งชูธง “เอกราชฮ่องกง” “เอกราชซินเจียง” และ “เอกราชทิเบต”

เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าคนที่ร่วมชุมนุมส่วนหนึ่งมิใช่เพียงเพื่อเรียกร้อง 5 ข้อที่เรียกร้องเดิมเท่านั้น หากเป็นการเรียกร้อง “เอกราชฮ่องกง” ด้วย

Advertisement

“เอกราชฮ่องกง” คือ “ตรรกะป่วย” ที่ไปสู่ทางตัน และเป็นเรื่องอันตราย เป็นการทำลายผลประโยชน์หลักของสังคม อีกทั้งทำลายนโยบาย “1 ประเทศ 2 ระบบ”

การชุมนุมตั้งชื่อว่า “วันนี้ซินเจียง พรุ่งนี้ฮ่องกง”

ผู้ที่ร่วมชุมนุมมีทั้งสนับสนุนและไม่สนับสนุนเอกราชฮ่องกง

Advertisement

ในที่ชุมนุมนอกจากมีสัญลักษณ์ทางการเมืองอันเกี่ยวกับเอกราชฮ่องกงให้เห็นเป็นประจักษ์ ยังมีเสียงเรียกร้องดังสนั่นว่า “เอกราชฮ่องกงคือทางออก” มีการโบกธง “เอกราชฮ่องกง” และธงชาติเขตปกครองตนเองทิเบต ฯลฯ

จึงไม่แปลกที่มีคำกล่าวว่า “5 เอกราช” คือไต้หวัน ทิเบต ซินเจียง ฮ่องกง มองโกเลีย

ย้อนมองอดีต 6-7 ปีที่ผ่านมา เสียงเพรียกเรียกร้องเอกราชฮ่องกงเริ่มปรากฏออกมาเป็นระยะ รัฐบาลฮ่องกงและรัฐบาลกลางพยายามระงับพลังเรียกร้องมิให้เข้าสู่ระบบอำนาจ รัฐบาลฮ่องกงยังได้อาศัยอำนาจแห่งกฎหมายความมั่นคง ระงับยับยั้งการชุมนุมเรียกร้องเอกราช และดูประหนึ่งว่า เหตุการณ์ได้เพลาลงไปแล้ว

แต่ความจริงปรากฏว่า ความประสงค์แห่งเอกราชฮ่องกงมิได้คลาย หากยังดำรงอยู่ แต่ดำรงอยู่นอกระบบ อุปมาเสมือนการหมักในกระบวนการชีวเคมีที่เรียกว่า “fermentation”

การหมักของกระบวนการเรียกร้องเอกราชได้ใช้สื่อออนไลน์เป็นสรณะ โฆษณาชวนเชื่อ

เมื่อเดือนกันยายน 2017 ครั้นเมื่อมหาวิทยาลัยเปิดเรียน ได้เกิดกระแส “เว็บแบนเนอร์” อันเป็นการโฆษณาบนเวิลด์ไวด์เว็บ เพื่อดึงดูดคนให้เข้าไปยังเว็บไซต์ที่โฆษณา “เอกราชฮ่องกง”

ระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเด็นการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเอกราชฮ่องกง อุปมาเหมือนกับ “เตะบอลขอบสนาม” ซึ่งเป็นวิธีการที่กำลังแสวงหาโอกาสเพื่อพัฒนาต่อไป

กระทั่งเหตุการณ์ประท้วงร่างกฎหมายเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2019 มวลมหาประชาชนนับล้านร่วมชุมนุมเดินขบวนประท้วง วัตถุประสงค์หลักคือไม่พอใจรัฐบาลขาดความสนใจประชาชน จึงกังวลเกี่ยวกับเสรีภาพของคนฮ่องกงในอนาคต

ต่อมาการประท้วงได้บานปลายไปสู่ประเด็นไม่พอใจการใช้กฎหมายของตำรวจ

ความเป็นจริงอันเกี่ยวกับประชามติของคนฮ่องกงคือ ไม่สนับสนุนเอกราชฮ่องกง

อีกประการ 1 การเรียกร้องทั้ง 5 ข้อ ในการเดินขบวนประท้วง

ก็ไม่ปรากฏว่ามีข้อความใดที่เกี่ยวกับ “เอกราชฮ่องกง”

แต่เนื่องจากระหว่างการประท้วงกำลังดำเนินอยู่นั้น กลุ่มผู้ชุมนุมได้ยืนยันร่วมกันด้วยตรรกะแห่งความเคลื่อนไหว ตรรกะนั้นคือ “แยกกันเดินร่วมกันตี”

ตรงจุดนี้ที่เป็นโอกาสทำให้เสียงเพรียกเรียกร้อง “เอกราชฮ่องกง” ดังสนั่นขึ้นอย่างเปิดเผยและกระจายไปในวงกว้าง เจือสมกับ “การหมัก” ได้ที่พอดี จึงเป็นเหตุให้

ธงชาติ “เอกราชฮ่องกง” โบกสะบัดตามสายลมทั้งเช้าทั้งเย็น

ถ้ารัฐบาลฮ่องกงถือว่าคนส่วนใหญ่ไม่สนับสนุนเอกราชฮ่องกง และปล่อยให้ “แล้วกันไป” นั้น กรณีย่อมต้องถือว่า รัฐบาลฮ่องกงอนุญาตการพัฒนาประเด็นดังกล่าว อันตรายแน่

หากพินิจให้ถ่องแท้ การเป็นเอกราชของฮ่องกงมิใช่ทางออก เพราะจะทำให้ฮ่องกงและจีนเกิดความแตกแยก ทำลายนโยบาย “1 ประเทศ 2 ระบบ”

ความเป็นไปได้ที่สูงสุดมิใช่ “เอกราชฮ่องกง”

หากเป็น “1 ประเทศ 1 ระบบ”

อันนโยบาย “1 ประเทศ 2 ระบบ” เป็นหลักประกันเสรีภาพของคนฮ่องกง เป็นทางเดินที่ถูกต้อง เพราะมีจีนหนุนอยู่ มีความมั่นคง คนฮ่องกงประกอบสัมมาอาชีพได้อย่างอิสระ

ประวัติศาสตร์ย่อมเป็นเครื่องยืนยัน

ส่วน “เอกราชฮ่องกง” มิใช่ทางออก หากเป็นทางตัน กระแสเรียกร้องยิ่งแรง การกดดันของรัฐบาลจีนก็ยิ่งหนัก อาจหนักจนกระทั่งกระทบถึงเสรีภาพของคนฮ่องกง

ต้องไม่ลืมว่าฮ่องกงจะเดินบนเส้นทางแห่ง “ลัทธิแบ่งแยก” มิได้เป็นอันขาด

ดังนั้น ความเป็นเอกราชของฮ่องกง จึงเป็นเรื่องเพ้อฝัน

อุปมาเหมือนกับ “งมพระจันทร์ในน้ำ”

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image