วันเด็กและคืน(ของ)ผู้ใหญ่ : โดย กล้า สมุทวณิช

ต้นกำเนิด “วันเด็ก” นั้นเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2489 ที่รัฐบาลไทยในสมัยนั้นก็ได้รับข้อเสนอของ วี เอ็ม กุลกานี ผู้แทนองค์กรสมาพันธ์เพื่อสวัสดิภาพเด็กระหว่างประเทศ และกำหนดให้มี “วันเด็กแห่งชาติ” ขึ้นในวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม ก่อนที่จะมาเปลี่ยนเป็นวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม ตั้งแต่ปี พ.ศ.2508 จนถึงปัจจุบัน

ความเป็นมาอันยาวนานกว่า 70 ปีนี้ ทำให้เชื่อว่าบรรดาผู้ใหญ่ที่มีชีวิตอยู่ในตอนนี้ น่าจะเคยผ่าน “วันเด็ก” ในแต่ละยุคสมัยของตนกันมา ที่แน่ๆ พวกเราต้องท่องจำ “คำขวัญวันเด็ก” ที่นายกรัฐมนตรีจะมอบให้เป็นประจำทุกปี บางโรงเรียนเคร่งครัดอาจจะถึงกับทดสอบให้เด็กท่องคำขวัญที่ว่าให้ฟังเป็นรายบุคคลก็มี

หากเราพิจารณาคำขวัญวันเด็กของแต่ละยุคสมัย จะพบว่ามันสะท้อนถึงสิ่งที่ผู้ใหญ่ของบ้านเมืองนั้นคาดหวังเอากับเด็ก เช่น สมัยของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ช่วงปี 2502-2506 คำขวัญจะอยู่ในรูปแบบของการ “…ขอให้เด็กสมัยปฏิวัติของข้าพเจ้า จงเป็นเด็กที่ …” จากนั้นก็เติมคำลงในช่องว่างแต่ละปี เช่นมีระเบียบวินัย ประหยัด รักความสะอาด หรืออะไรก็ว่าไป ในช่วงที่ผู้คนเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมจนเกิดความขัดแย้งระหว่างกันในทางความคิดความเชื่อช่วง พ.ศ.2516-2520 คำขวัญวันเด็กก็จะออกมาในทางขอให้เด็กรู้จักสามัคคี รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ หรือในยุครัดเข็มขัดสมัย พล.อ.เปรม คำขวัญวันเด็กก็จะออกมาในแนวทางที่ว่าให้เด็กรู้จักประหยัดใจสัตย์ซื่อ ในช่วงเวลาที่ปัญหายาเสพติดระบาดในปลายยุค 2530 ก็มีคำขวัญให้เด็กไทยห่างไกลยาเสพติด หรือช่วงวิกฤตการเมืองก่อนการปฏิรูปการเมืองในระหว่างช่วงปี 2540 คำขวัญก็เรียกร้องให้เด็กๆ มีคุณธรรม

อย่างไรก็ตามคำขวัญวันเด็กก็มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในช่วงปี 2544-2548 ที่คำขวัญในช่วงนั้นไม่ได้เน้นวินัยหรือคุณธรรมอะไรมากมาย แต่มุ่งหมายให้เด็กๆ รู้จักที่จะเรียนรู้ มีความคิดสร้างสรรค์ และก้าวทันเทคโนโลยี และจนกระทั่งปัจจุบันคำขวัญวันเด็กก็กลับมาสู่ยุคแห่ง “วินัยและความเชื่อฟัง” อีกครั้ง อันที่จริงเรื่องคำขวัญวันเด็กที่สะท้อนสภาวะทางการเมืองไทยนี้อาจจะเอามาเขียนเป็นบทความได้ยาวๆ หรือศึกษาเป็นงานทางวิชาการได้สบายๆ

Advertisement

ถ้าคำขวัญวันเด็กเหล่านั้นคือการสะท้อนสิ่งที่ผู้ใหญ่คาดหวังจากเด็ก คำถามต่อมาก็คือว่า แล้วทำไมผู้ใหญ่ต้องคาดหวังอะไรต่างๆ เอากับเด็กๆ และเยาวชนด้วย

นั่นก็เป็นเพราะตามกฎธรรมชาติแล้ว ไม่ว่าจะยืดยื้ออย่างไร ในที่สุดโลกนี้ก็จะต้องตกอยู่ในปกครองดูแลของคนรุ่นต่อไป เราผู้ใหญ่ในตอนนี้จะกลายเป็นผู้ชราในวันนั้น และใช้ชีวิตอยู่ในรัฐประเทศของเด็กๆ ในวันนี้

เช่นนี้ในระหว่างที่เด็กๆ ยังอยู่ภายใต้การปกครอง ดูแล และสั่งสอนของผู้ใหญ่อยู่ พวกเขาจึงต้องใช้โอกาสนี้ในการ “หล่อหลอม” เด็กๆ ให้เติบโตไปอย่างที่เขาต้องการ เพื่อให้เด็กเหล่านี้สร้างหรือรักษาสภาวะที่ผู้ใหญ่ในวันนี้สามารถอยู่ได้อย่างสบายใจ ในเวลาเป็นคนชราในวันหน้า และอยู่ภายใต้การปกครองดูแลของเด็กๆ เหล่านั้น

Advertisement

คำพูดที่ว่า “เด็กคืออนาคตของชาติ” จึงเป็นสัจธรรมที่ไม่เกินเลย

แต่เราปลูกฝังอะไรให้แก่เด็กๆ ของเราบ้าง และมันจะได้ผลจริงหรือไม่ เราลองมาทบทวนกันดูสำหรับผู้ใหญ่ที่ปัจจุบันมีอายุ 30-50 ปีนั้น เติบโตมาในยุคที่คาดหมายคาดหวังให้ “เด็กดี” ต้อง “มีวินัย” แต่คำว่า “วินัย” ที่ผู้ใหญ่ในตอนนั้นทำให้เราเข้าใจนั้น หมายถึงการปฏิบัติตาม “ข้อบังคับ” หรือ “วัตรปฏิบัติ” ต่างๆ ที่ผู้ใหญ่เป็นผู้กำหนด การมีวินัยนั้นพูดง่ายๆ ก็คือการทำตาม “คำสั่ง” ที่ผู้ใหญ่กำหนด และใครปฏิบัติตามคำสั่งเหล่านั้นได้เคร่งครัดที่สุด ก็ถือว่าเป็นผู้ที่มีวินัยอันดีแล้วตามความคาดหวังของผู้ใหญ่

ยุคสมัยที่เราเติบโตมา หรืออันที่จริงต่อเนื่องยาวนานมาถึงทุกวันนี้ “วินัย” ในโรงเรียนล้วนเป็นข้อบังคับเอาแก่นักเรียนตั้งแต่หัวจรดเท้า ทรงผมไปจนถึงชุดชั้นใน บางโรงเรียนที่เคร่งครัดแม้การยืนเดินกินดื่มก็ถูกกำหนดไว้อยางละเอียด ห้ามเดินไปกินไป ดื่มน้ำ(และ)ปัสสาวะได้เฉพาะในเวลาพัก ฯลฯ นี่คือวินัยที่เรารู้จัก คือข้อกำหนดจากภายนอกที่บังคับให้เราทำตาม

จึงไม่ค่อยน่าแปลกใจนักที่เมื่อพ้นอำนาจบังคับแล้ว วินัยเหล่านั้นจึงไม่ค่อยติดตัวเรามาด้วย และหนำซ้ำพวกเราหลายคนยังมีความรู้สึกต่อต้านอยู่ลึกๆ เพราะเมื่อเห็นคำนี้ที่ใดก็จะให้ความรู้สึกเหมือนกรงกรอบกักกัน ด้วยรู้สึกว่ามันมีอำนาจที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรามาบังคับอยู่ และที่อำนาจนั้นบังคับก็ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของเรา หากเป็นประโยชน์แก่อำนาจนั้นเอง เช่นวินัยในโรงเรียนเป็นไปเพื่อให้ครูอาจารย์สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยได้ง่าย มากกว่าจะเป็นประโยชน์แก่นักเรียน

ข้อเรียกร้องประการต่อมาของบรรดาผู้ใหญ่ คือการขอให้เด็กประพฤติตามคำสั่งสอนของพวกเขา และรู้จักหน้าที่อย่างที่ผู้ใหญ่คาดหวังมอบหมาย สิ่งที่ไม่พึงกระทำคือการโต้เถียงหรือโต้แย้งกับผู้ใหญ่ เพราะเป็นเรื่องเปล่าประโยชน์ เนื่องจากผู้ใหญ่นั้นมีความรู้และประสบการณ์เหนือกว่า เช่นนี้จึงแทบไม่มีความเป็นไปได้ทางใดเลยที่เด็กจะ “ถูก” และผู้ใหญ่จะ “ผิด” ได้

ทั้งหมดนั้นคือเรื่องราวของเด็กๆ ในยุคสมัยอันล่วงพ้น และปัจจุบันเราก็เป็นผู้ใหญ่กันแล้ว สิ่งที่เราได้รับการปลูกฝังมานั้นยังมียังเหลือและมันเป็นประโยชน์อยู่หรือไม่ พวกเราแต่ละคนคงตอบได้แก่ใจตนเอง

เปล่าเลย ผมไม่ได้จะบอกว่า การมีวินัยนั้นคือสิ่งไม่ดี หรือเป็นเพียงคำเรียกของการใช้อำนาจบังคับที่ไม่จำต้องเคารพทำตาม หรือเด็กๆ ควรจะดื้อแพ่งโต้เถียงกับผู้ใหญ่ในทุกกรณี หากเราควรจะทบทวนความหมายของ “วินัย” “ความเชื่อฟัง” และ “หน้าที่” กันใหม่ต่างหาก

เพราะที่แท้แล้ววินัยนั้นไม่ใช่กรงกรอบกักกัน แต่เป็นไปตรงกันข้ามคือ วินัยต่างหากที่จะทำให้เราได้รับอิสรภาพอันแท้จริง ตามที่เอลิอุด คิปโชเก มนุษย์คนแรกของโลกที่วิ่งระยะมาราธอนได้ต่ำกว่า 2 ชั่วโมงได้กล่าวไว้ ว่าผู้มีวินัยที่แท้นั้นจะเป็นอิสระสามารถทำสิ่งต่างๆ ที่ต้องการอย่างแท้จริงได้โดยไม่ตกเป็นทาสของกิเลสและสิ่งล่อลวงต่างๆ ซึ่งคอยเหนี่ยวรั้งไม่ให้เราทำในสิ่งที่เราต้องการจริงๆ

วินัยที่แท้ต้องมาจากภายใน มันคือความสามารถในการควบคุมตัวเองและรักษาความสม่ำเสมอเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายของเราแต่ละคน วินัยคือสิ่งที่ทำให้นักวิ่งลุกขึ้นมาฝึกซ้อมตามตารางทุกเช้ามืด เป็นสิ่งเดียวกันที่ทำให้ไม่ว่าจะอย่างไร ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นนักเขียนจะต้องเขียนหนังสือทุกวันให้ได้จำนวนคำหรือจำนวนหน้าที่กำหนดตั้งใจ และเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้สร้างสรรค์ทั้งหลายสร้างผลงานออกมาได้ในกรอบเวลาตามความคาดหมายของผู้ที่ต้องการผลงานนั้นหรือรับไปทำงานขั้นต่อไป

วินัยแบบนี้ต่างหากคือสิ่งที่เราต้องปลูกฝังให้เด็กๆ ของเรา ไม่ใช่ดูแลเพียงให้แต่งกายถูกระเบียบไปโรงเรียนตรงเวลา สำคัญที่สุดคือวินัยนั้นจะต้องเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงและเป็นประโยชน์โดยตรงกับตัวของเขาเอง เช่นถ้าเด็กของเราอยากเป็นนักกีฬา วินัยของเขาคือการฝึกซ้อมตามตารางซึ่งเขาต้องควบคุมตัวเองโดยมีเราช่วย หรือถ้าเด็กของเราอยากมีรูปร่างสวยงามเพื่อประโยชน์ในทางอื่นเช่นเป็นบิวตี้บล็อกเกอร์หรือยูทูบเบอร์ สิ่งที่เราต้องให้เขาปลูกฝัง คือวินัยในการกิน การออกกำลังกาย และการรักษาเนื้อรักษาตัว

ส่วนเรื่องความเชื่อฟังนั้น เราในฐานะผู้ใหญ่ในวันนี้อาจจะต้องทำใจว่า โลกในยุคปัจจุบันนี้ การรับประสบการณ์นั้นมีหลากหลายขึ้น ในสมัยก่อนอาจจะเป็นไปได้ยากที่เด็กจะมีประสบการณ์มากกว่าผู้ใหญ่ แต่ไม่ใช่ในตอนนี้ ผู้ใหญ่ที่ใช้ชีวิตซ้ำเดิมกับสิ่งที่คุ้นเคย ก็ไม่น่าจะมีประสบการณ์ไปมากกว่าเด็กที่ทดลองทำโน่นทำนี่ในเรื่องที่แม้แต่ผู้ใหญ่ก็อาจจะไม่เคยหรือไม่กล้าทำ เอาง่ายๆ ผู้ใหญ่หลายคนยังไม่มีประสบการณ์การรายงานข่าวแบบถ่ายทอดสดออกอากาศ แต่นั่นคืองานหรือกิจกรรมปกติของเด็กๆ ที่เป็นนักแคสเกมส์หรือยูทูบเบอร์ นี่ยังไม่ต้องพูดถึงประสบการณ์บางอย่างของผู้ใหญ่ที่อาจจะล้าสมัยไปแล้ว

เราจึงควรเคารพในประสบการณ์ที่แตกต่างกัน ยอมรับว่าเป็นไปได้ที่เด็กบางคนจะมีประสบการณ์มากกว่าเราในบางเรื่อง แต่เราเองก็มีประสบการณ์เหนือกว่าเขาในอีกหลายๆ เรื่อง อย่างน้อยๆ เด็กๆ ก็ไม่น่าจะเคยมีประสบการณ์ในการจัดการกับความกดดันในการทำงานหรือฟันฝ่าอุปสรรค หรือประสบการณ์ในอารมณ์ความรู้สึกที่จะต้องอาศัยการก้าวผ่านและการเรียนรู้จริงๆ เช่นการจัดการกับอารมณ์เมื่อผิดหวังหรือหัวใจสลาย ไม่ว่าจะจากคนที่รักหรือเป้าหมายที่ยึดถือ

หากเราเปลี่ยนมุมมองคำว่า “เชื่อฟัง” จากการยอมรับคำสั่งและปฏิบัติตามโดยปราศจากข้อโต้แย้ง มาเป็นการ “เชื่อ” เพราะได้ “ฟัง” ประสบการณ์อันแตกต่างหลากหลายจากเรา และแน่นอนว่าผู้ใหญ่เองก็อาจจะ “เชื่อฟัง” เด็กได้ ในเรื่องที่เรายอมรับว่าเด็กๆ น่าจะมีประสบการณ์ดีกว่า (อย่างน้อยก็อาจจะเริ่มจากการ “เชื่อ” และ “ฟัง” เด็กๆ เขาหน่อยว่าไอ้รูปภาพข้อความอะไรที่ได้มาทาง LINE นั้นบางครั้งก็เป็นเรื่องเสียดสี ต้มตุ๋น หรือแม้แต่ข่าวเท็จ)

และสุดท้าย “หน้าที่” ของเด็กนั้น คือการบรรลุเป้าหมายตามความตั้งใจหรือความต้องการ ในเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเขาเอง และออกแบบโลกอย่างที่เขาต้องการจะเป็นจะอยู่ต่อไป ซึ่งสิ่งนั้นต้องแลกมาด้วยการทำบางสิ่งบางอย่างที่เรียกว่าหน้าที่ แต่ไม่ใช่การทำในสิ่งที่ผู้ใหญ่เรียกร้องต้องการ เพราะเขาไม่ได้ติดหนี้อะไรกับเรา

ผู้ใหญ่เสียอีก ที่มีหน้าที่ที่จะต้องส่งพวกเขาไปสู่จุดที่พวกเขาต้องการ ตามความสามารถและศักยภาพของพวกเขาแต่ละคน ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ใหญ่อย่างเราก็มีหน้าที่ในการรักษาโลกนี้ไว้ในสภาพพร้อมว่าเมื่อจะส่งมอบให้คนรุ่นต่อๆ ไปแล้ว เขาจะได้รับโลกและสิ่งแวดล้อมที่ยังพออยู่ได้ไม่ยับเยินจนเกินไป

เด็กกับผู้ใหญ่นั้นเหมือนอยู่บนโลกเดียวกันแต่ต่างละติจูด เรามองเห็นกันและคุยกันได้ แต่เราต้องยอมรับว่าเวลาของเรากำลังล่วงแล้วลงไปทุกขณะ เมื่อ “วันของเด็ก” มาถึง เมื่อนั้นจะเป็นช่วงค่ำย่ำเย็นของคนรุ่นเรา ดวงอาทิตย์ของเรากำลังลับลาฟ้า พร้อมกับที่ขอบฟ้าของพวกเขากำลังมีแสงเรืองรองของรุ่งอรุณ

เนื่องในโอกาส “วันเด็ก” ในเสาร์ที่ 11 มกราคมที่กำลังจะมาถึง ผู้ใหญ่อย่างเราอาจจะใช้เวลาในค่ำคืนเดียวกันนั้นเป็น “คืนผู้ใหญ่” ที่จะสำรวจตัวเองว่า เราแต่ละคนจะสั่งสอนอะไรให้เด็กๆ ของเรา และจะเหลือชาติ ประเทศและโลกอย่างไรไว้ให้แก่พวกเขา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image