เหล่าทัพพิทักษ์ปฏิวัติอิหร่าน : โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

ประเทศอิหร่านมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน มีความสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์มาช้านานเนื่องจากที่ตั้งอยู่ใจกลางยูเรเชีย และอยู่ใกล้กับช่องแคบฮอร์มุซอันเป็นเส้นทางขนส่งน้ำมันปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติที่มีปริมาณสูงที่สุดของโลก ประเทศอิหร่านมีเนื้อที่ 1,648,195 ตารางกิโลเมตร เป็นประเทศใหญ่ที่สุดอันดับที่สองในตะวันออกกลางและอันดับที่ 18 ในโลก มีประชากร 78.4 ล้านคน มากที่สุดเป็นอันดับที่ 17 ของโลก เป็นประเทศเดียวที่มีชายฝั่งทะเลแคสเปียนและมหาสมุทรอินเดีย ประชากรส่วนใหญ่ของอิหร่านเป็นชาวเปอร์เซีย ไม่ใช่ชาวอาหรับ และภาษาที่ใช้คือภาษาเปอร์เซีย ชาวอิหร่านถือตนว่าเป็นประเทศที่มีอารยธรรมมายาวนาน แต่โบราณกาลประกอบกับชาวอิหร่านส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ ซึ่งเป็นอริกับนิกายซุนหนี่ที่ชาวอาหรับส่วนใหญ่ ดังนั้นในประเทศกลุ่มอาหรับที่ส่วนใหญ่มีผู้นำเป็นพวกซุนหนี่จึงมักมีกบฏที่เป็นพวกชีอะห์อยู่เสมอและพวกกบฏเหล่านี้จะได้รับการสนับสนุนทางการทหารและยุทโธปกรณ์รวมทั้งเงินทุนจากอิหร่านเช่นกบฏฮูตีในเยเมน พวกฮิซบุลเลาะห์ในเลบานอนและกองกำลังคาเต็บ ฮิซบุลเลาะห์ของอิรักล้วนแล้วแต่เป็นพวกชีอะห์ทั้งสิ้น

เมื่อเกิดการปฏิวัติอิสลามขึ้นในอิหร่านเมื่อ พ.ศ.2522 เป็นการโค่นราชวงศ์ปาห์ลาวีของพระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี ผู้ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ โดยมีอิหม่ามอยาตุลเลาะห์ โคมัยนี เป็นผู้นำการปฏิวัติ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์การฝ่ายซ้ายและอิสลามหลายแห่งและขบวนการนักศึกษาอิหร่าน สำหรับการปฏิวัติอิสลามของประเทศอิหร่านครั้งนี้ จัดว่าเป็นความแปลกประหลาดสำหรับโลกภายนอกมาก เนื่องจากเกิดขึ้นในประเทศที่มีความมั่งคั่งทางวัตถุนี้และเศรษฐกิจรุ่งเรืองก้าวหน้า มิได้มีสาเหตุหลักๆ ที่เป็นเงื่อนไขสำหรับการปฏิวัติโดยทั่วไป เช่น เกิดกบฏชาวนา, ประเทศแพ้สงคราม, เกิดวิกฤตการณ์การเงิน หรือกองทัพทำการยึดอำนาจ เป็นต้น

ผลของการปฏิวัติอิสลามในอิหร่านเมื่อ 40 ปีที่แล้วได้เปลี่ยนรูปแบบรัฐบาลของอิหร่านไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือ คือ จากระบอบกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นรัฐศาสนา (theocracy) คือ การใช้ศาสนาเป็นหลักในการปกครอง รัฐบาลที่ได้รับการแต่งตั้งจากอิหม่ามโคมัยนีก็เข้ารับหน้าที่ควบคุมสถานการณ์ภายในประเทศ และนำอิหร่านเข้าสู่การปกครองของรัฐอิสลามตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยมีผู้นำสูงสุดคือ อิหม่ามโคมัยนี เป็นผู้นำสูงสุดทางจิตวิญญาณมีอำนาจครอบคลุมทั้งการเมืองและการปกครองทั้งหมด อิหม่ามโคมัยนีจึงได้ดำเนินการปฏิวัติวัฒนธรรมอย่างเร่งด่วน โดยปิดมหาวิทยาลัยทุกแห่งเป็นเวลา 3 ปีเพื่อชำระนโยบายทางวัฒนธรรมและระบบการศึกษาทั้งระบบเพื่อให้เหมาะสมกับเป็นรัฐศาสนา อาทิ บังคับให้สตรีต้องคลุมหน้าในที่สาธารณะทุกคนโดยไม่มีข้อยกเว้น และสร้างระบบการศึกษาที่ปลูกฝังความเชื่อว่าบรรดานักบวชที่ปกครองบ้านเมืองไม่สามารถที่จะทำความผิดอะไรได้เนื่องจากเป็นผู้บริสุทธิ์

ที่สำคัญที่สุดคือการก่อตั้งเหล่าทัพพิทักษ์ปฏิวัติอิสลาม (Islamic Revolutionary Guard Corps) หรือ “IRGC” โดยคำสั่งของอิหม่ามโคมัยนีหลังจากการปฏิวัติอิสลามเพียง 3 เดือน โดยการรวบรวมทหารจากหลายหน่วยที่มีความภักดีต่อระบอบการปกครองใหม่คือ รัฐศาสนา ซึ่งมาจากแนวคิดที่ว่าต้องมีกองกำลังเป็นของตัวเอง เพราะความไม่ไว้วางใจกองทัพเดิมที่เคยภักดีต่อพระเจ้าชาห์กษัตริย์พระองค์เดิม โดยในระยะแรกของการก่อตั้ง “ไออาร์จีซี” นั้นเน้นไปที่การป้องกัน ภัยคุกคามภายใน เป็นหลักเนื่องจากไม่ไว้ใจกองทัพแห่งชาติของอิหร่านเดิมการก่อตั้งกองกำลัง ไออาร์จีซีขึ้นมาก็เพื่อคานอำนาจกับกองทัพ และป้องกันการแทรกแซงล้มระบบการปกครองใหม่ที่ยังไม่มีเสถียรภาพของกองทัพนั่นเอง

Advertisement

เหล่าทัพพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม หรือไออาร์จีซีมีกำลังพลอยู่ 1 แสน 5 หมื่นนาย นอกจากนี้ ยังมีกำลังพลของไออาร์จีซีอีก 2 หมื่นนาย ซึ่งทำหน้าที่ใช้เรือรบลาดตระเวนในช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งเป็นจุดที่เกิดการเผชิญหน้ากับเรือบรรทุกน้ำมันต่างชาติหลายครั้งใน พ.ศ.2562 ไออาร์จีซี ยังควบคุมหน่วยบาซีจ (Basij) ซึ่งเป็นกองกำลังอาสาที่ช่วยปราบปรามความไม่สงบในประเทศ อิหร่านสามารถระดมพลจากกองกำลังนี้ได้หลายแสนคนเลยทีเดียว ดังนั้นเหล่าทัพพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามก็คือ กองทัพขนาดใหญ่ เป็นขั้วอำนาจการเมือง และทรงอิทธิพลทางเศรษฐกิจของอิหร่าน แม้ว่าไออาร์จีซีมีกำลังพลน้อยกว่ากองทัพหลักของอิหร่าน แต่ถือว่าเป็นกองกำลังทหารที่มีอำนาจเด็ดขาดมากที่สุดในประเทศอิหร่านนั่นเอง

กองกำลังกุดส์ (Quds Force) ไม่ทราบจำนวนกำลังพลแน่ชัด บ้างว่า 2,000-5,000 นาย บ้างประมาณว่า 15,000 นาย เป็นหน่วยงานชั้นยอดของเหล่าทัพพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม รับผิดชอบกิจกรรมพิเศษด้านต่างประเทศและหน่วยสืบราชการลับ โดยกองกำลังกุดส์มี พลตรี กอซิม สุไลมานี เป็นผู้บัญชาการ ผู้เป็นนายทหารคนสำคัญของอิหร่านในการวางแผนและกำหนดยุทธศาสตร์ระดับภูมิภาคของอิหร่านในความพยายามต่อสู้กับอิทธิพลตะวันตก และส่งเสริมการขยายอิทธิพลอิหร่านทั่วตะวันออกกลาง เขาได้รับความสำคัญอย่างสูงจากผู้นำสูงสุด ในการออกงานวาระสำคัญๆ นายพลกอซิม สุไลมานี มักนั่งใกล้ชิดผู้นำสูงสุดเสมอ

กองกำลังกุดส์ให้การสนับสนุนและมีสายสัมพันธ์ที่ดีเยี่ยมกับกองกำลังกบฏในหลายประเทศ เช่น ฮิซบุลเลาะห์ ในเลบานอน, ฮามาส และอิสลามิกญิฮาด ในปาเลสไตน์,กบฏฮูซีในเยเมน และมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและระดมพลนักรบชีอะห์ ในอิรัก, ซีเรีย และอัฟกานิสถาน ซึ่งมักจะเป็นภารกิจลับจนกระทั่งอิหร่านเข้าร่วมสงครามต่อต้านไอซิสในอิรัก และซีเรีย จึงเปิดเผยถึงกองทัพกุดส์ที่เป็นหน่วยงานหลักของอิหร่านในการระดมพลนักรบอาสาสมัครชีอะห์จากประเทศอิหร่าน, อัฟกานิสถาน (ในชื่อกองกำลังฟาติมียูน) จากปากีสถาน (ในชื่อกองกำลังซัยนาบียูน) เข้าไปร่วมรบในซีเรีย และให้การสนับสนุนอย่างเปิดเผยกับกองกำลังคาเต็บ ฮิซบุลเลาะห์ (เคเอช) เป็นกองกำลังของชาวอิรักชีอะห์ที่ทำการต่อสู้กับกลุ่มไอเอสในอิรัก มีนายอาบู มาห์ดี อัล-มูฮันดิสเป็นผู้นำซึ่งที่ยิงจรวดราว 30 ลูกโจมตีฐานทัพเค 1 ของอเมริกาที่เมืองเคอร์คุก ทางเหนือของอิรักเมื่อวันศุกร์ที่ 27 ธันวาคมที่ผ่านมา เป็นเหตุให้ผู้รับเหมาพลเรือนของกองทัพชาวอเมริกันเสียชีวิต 1 คน และทหารสหรัฐ บาดเจ็บ 4 นาย เป็นเหตุให้สหรัฐอเมริกาตอบโต้ด้วยการส่งฝูงบินไปถล่ม 5 เป้าหมายในอิรักและซีเรียของกองกำลังคาเต็บ ฮิซบุลเลาะห์ (เคเอช) โดยเป้าหมายที่ถูกถล่มเป็นคลังอาวุธ และศูนย์บัญชาการและควบคุมที่ใช้โจมตีกองกำลังสหรัฐของกลุ่มเคเอช การโจมตีของสหรัฐครั้งนี้ได้สังหารนักรบของกองกำลังเคเอชไป 25 คน และที่หนักหนาที่สุดก็คือ ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ อนุมัติโจมตีด้วยเครื่องโดรนเพื่อสังหารพลตรี กอซิม สุไลมานี ผู้บัญชาการกองกำลังกุดส์ของอิหร่าน ที่สนามบินแบกแดด อิรัก เมื่อวันศุกร์ที่ 3 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งการลอบสังหารครั้งนี้ได้ก็เป็นหนึ่งในหลายครั้งจากความพยายามที่จะสังหารพลตรี กอซิม สุไลมานี เพียงแต่ครั้งนี้สังหารได้สำเร็จ

Advertisement

ครับ ! หลังจากนั้นก็มีการขู่กันไปมาระหว่างผู้นำทั้งสองฝ่ายคือ ประธานาธิบดีทรัมป์แห่งสหรัฐอเมริกากับอยาตอลเลาะห์ คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่านทำให้ชาวโลกตื่นเต้นหวาดกลัวว่าจะเกิดสงครามใหญ่ระดับสงครามโลกครั้งที่ 3 ขึ้นมาได้

ความจริงไม่น่าจะมีอะไรหรอกครับ เป็นเรื่องการเมืองภายในของสหรัฐอเมริกาเอง เนื่องจากปีนี้จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาอีกครั้ง ประธานาธิบดีทรัมป์แกก็เล่นการเมืองของแกไปเท่านั้นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image