ซักฟอกรัฐบาล การเมืองเปิด ประชาธิปไตยไปรอด : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

จบจากการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 วาระสอง สาม วันที่ 9 มกราคม ต่อด้วยกิจกรรมของกลุ่มวิ่งไล่ลุง ที่สวนรถไฟ เขตจตุจักร กับกลุ่มเดินเชียร์ลุง ที่สวนลุมพินี เขตลุมพินี วันเดียวกันที่ 12 มกราคม กลุ่มไหนระดมคนได้มากกว่า น่าลุ้น น่าติดตามแค่ไหนก็แล้วแต่

ความเคลื่อนไหวที่ว่ามาล้วนสร้างกระแสให้กิจกรรมทางการเมืองครั้งสำคัญที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นรายการต่อไป คือการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา น่าระทึกใจ ได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น

เหตุเพราะจะเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งแรกของรัฐบาลที่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งดำรงตำแหน่งติดต่อกันมาเป็นปีที่ 6 หลังจากที่การเมืองไทยอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจพิเศษมาตรา 44 ติดต่อกันมาหลายปี จนกระทั่งมีสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้ง

การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะเกิดขึ้นมีเสียงสะท้อนจากฝ่ายรัฐบาลทำนองท้วงติงว่า รัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งเพิ่งบริหารงานมาได้ไม่นานแค่ 5 เดือน การอภิปรายควรเน้นที่การดำเนินงานในปัจจุบัน ไม่ควรขุดเรื่องเก่า ย้อนหลังไปถึงช่วงสมัย คสช.เพราะเป็นคนละห้วงเวลากัน ปรากฏว่าถูกโต้ตอบจากฝ่ายค้านว่า รัฐบาลที่แล้วและรัฐบาลนี้เป็นรัฐมนตรีคนเดิม นโยบายก็สืบเนื่องมาจากรัฐบาลที่แล้ว

Advertisement

ฝ่ายกองเชียร์ลุงตู่มองว่า การยื่นอภิปรายของพรรคฝ่ายค้านทั้งๆ ที่รู้ว่าถึงอย่างไรคะแนนก็แพ้ฝ่ายรัฐบาลอยู่ดีเพราะจำนวนมือ ส.ส.น้อยกว่า ฝ่ายค้านต้องการสั่นคลอนเสถียรภาพ ทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาลเป็นหลักมากกว่า

บางรายไปไกลถึงขั้นตั้งประเด็นว่า นอกจากเพื่อสร้างความสะใจในการเล่นงานรัฐบาลแล้ว ประชาชน สังคมได้อะไร

ครับ เป็นคำถามในเชิงหลักการที่น่าสนทนาวิสาสะเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมองถึงภาพรวมของการเมืองทั้งระบบ

ที่ผ่านมาภายใต้การบริหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติและรัฐบาล เป็นรัฐซ้อนรัฐ เป็นคนกลุ่มเดียวกัน การเมืองไทย 5 ปีกว่าจึงเป็นการเมืองปิด การปิดกั้น จำกัดการแสดงออกของฝ่ายเห็นต่างเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกิดบรรยากาศของความกลัวที่ค่อยๆ สะสมเป็นความเบื่อหน่ายเพิ่มขึ้นๆ

เมื่อมีการเลือกตั้ง บรรยากาศเปลี่ยนแปลงจากการเมืองปิดมาสู่การเมืองเปิด การอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นเครื่องมือหนึ่งภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ติดตาม ตรวจสอบ การบริหาร มีการถ่วงดุลอำนาจในสภาระหว่างฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาล

การอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นช่องทางทำให้สังคมได้รับรู้ข้อมูล ข่าวสาร ที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ด้วยตนเอง แต่แสดงผ่านผู้แทนราษฎรในสภา ทำให้เกิดความเปิดเผย โปร่งใส เป็นการสร้างบทบาท ความเข้มแข็งเชิงสถาบันให้กับสภาผู้แทนราษฎร

ขณะเดียวกันเป็นโอกาสของฝ่ายรัฐบาลจะได้ชี้แจงแถลงข้อเท็จจริง ความคิดเห็น หลักการแนวทางการบริหาร จนกระทั่งผลงานให้สังคม ประชาชนคนกลางได้รับรู้และเป็นผู้ตัดสินว่าควรจะเชื่อถือฝ่ายไหนมากกว่ากัน

หากฝ่ายค้านซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบแสดงบทไม่ดีพอ ไม่เหมาะสม เล่นแต่สำนวนโวหาร เน้นความสะใจ ขาดข้อมูลที่เป็นความจริง เอาเรื่องโกหก หลอกลวงขึ้นมากล่าวหา ใส่ร้ายป้ายสี ก็เท่ากับเป็นการทำลายตัวเอง ไร้ความเชื่อถือศรัทธา

ในความเป็นจริงของการเมืองเรื่องตัวเลข จำนวนมือ ส.ส.ของฝ่ายรัฐบาลที่มีอยู่ก็เป็นต่อฝ่ายค้านอยู่แล้ว หากเกิดเพลี่ยงพล้ำอำนาจในการยุบสภาก็อยู่ในมือนายกรัฐมนตรี จะตัดสินใจยุบสภาเมื่อไหร่ได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายแพ้หรือชนะโหวตก็ตาม เป็นเรื่องปกติของกระบวนการประชาธิปไตยระบบรัฐสภา

ฉะนั้นจะไปวิตก หวั่นไหว กลัวอะไร ถ้าสามารถตอบและโต้แย้งคำอภิปรายของฝ่ายค้านได้อย่างมีน้ำหนัก

อย่างไรก็ตาม ความน่าสนใจติดตามสำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ น่าจะอยู่ที่บทบาทของนักการเมืองคนรุ่นใหม่ที่เคยแสดงให้เห็นมาบ้างแล้วก่อนหน้านี้

หลายคนล้วนมีการศึกษาดี มีความรู้ ทำงานมีระบบ ภายใต้การค้นคว้าข้อมูล ข้อเท็จจริง มากกว่าการอภิปรายด้วยความรู้สึก อารมณ์เอามันเป็นหลักอย่างนักการเมืองรุ่นเก่าลายคราม สำนวนดี ลีลาดุเดือด แต่เนื้อเหาเบาโหวงเหวงจนไร้น้ำหนัก

การอภิปรายไม่ไว้วางใจจะส่งเสริมพัฒนาการทั้งตัวบุคคลและสถาบัน เป็นโอกาสการแจ้งเกิดของคนหนุ่มคนสาวในแวดวงการเมืองให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ทำให้การเมืองทั้งระบบเข้มแข็ง
มีเสถียรภาพ

สถาบันสภาผู้แทนราษฎรเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยได้ในที่สุด หากทุกฝ่ายอดทน อดกลั้น ให้เวลากับการเมืองระบบเปิดเดินหน้าต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image