ระเบียบเรื่องการตัดผมของนักเรียนอาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง

ปัญหาเรื่องทรงผมของนักเรียน การแต่งชุดไปรเวต อาหารกลางวัน และปัญหาอื่นๆ ที่ค่อยๆ มีแนวคิดจะเปลี่ยนแปลง มีทั้งแรงหนุนและแรงต้าน บทความนี้จะเป็นความรู้พื้นฐานอย่างหนึ่งที่อาจจะมีคุณค่าในการตัดสินใจเลือกทางเดินที่กำลังจะก้าวโดยเฉพาะสิ่งที่จะต้องกล่าวถึงโดยขาดเสียมิได้คือสิทธิตามอนุสัญญาสิทธิเด็ก

การอนุวัติกฎหมายภายในประเทศให้เป็นไปตามอนุสัญญาสิทธิเด็กเป็นการเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้าง ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่ที่ต้องอาศัยการตีความซับซ้อน เมื่อตีความได้ครบถ้วนแล้วจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาสำคัญๆ ในระดับโครงสร้างของการจัดการบริหารสถานศึกษา ปัญหาเรื่องทรงผมของเด็กนักเรียนเป็นตัวอย่างหนึ่งที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาอื่นๆ อีกมากมายที่มีอยู่ในสถานศึกษา

1.สภาพปัญหา
การตัดผมและทรงผมของนักเรียนในโรงเรียนบางแห่งถูกบังคับโดยกฎเกณฑ์ที่อาจจะไม่ชอบด้วยอนุสัญญาสิทธิเด็ก ซึ่งอนุสัญญานี้มีผลบังคับใช้จริงแล้วในประเทศไทย ตามพันธะกรณีระหว่างประเทศ รอเพียงกฎหมายภายในอนุวัติเท่านั้น และเป็นหน้าที่ของรัฐต้องอนุวัติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเราเป็นภาคีอนุสัญญาแล้ว

หากถามว่าไม่ทำตามได้หรือไม่ ตอบว่าหากไม่ทำตามก็แทบจะไม่มีหน้าตาในสังคมโลก เวลาไปขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศในเรื่องใด ต่างประเทศก็อาจจะยกขึ้นมาอ้างว่ายังไม่ทำตามอนุสัญญา ไม่ร่วมมือหรือไม่ให้ความช่วยเหลือ ซึ่งก็คงเป็นในทำนองเดียวกับเรื่องที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับปัญหาการประมงไร้ร่องรอย หรือไร้การตรวจสอบ ดังที่เป็นข่าวซึ่งได้รับทราบกันในช่วงหลายปีมานี้และปัญหาก็ยังแก้ได้ไม่หมดจนถึงปัจจุบัน

Advertisement

หากยึดตามอนุสัญญาสิทธิเด็กที่ไทยเป็นภาคีอนุสัญญาแล้ว นักเรียนที่เป็นเด็ก คือ อายุต่ำกว่า 18 ปีนั้น อาจจะสามารถไว้ผมทรงใดก็ได้ ดังจะได้กล่าวในรายละเอียดต่อไป

2.กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
อนุสัญญาสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) ได้รับการรับรองโดยที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติมาเป็นเวลานานมากแล้ว กล่าวคือในปี พ.ศ.2532 และประเทศไทยได้ลงนามเป็นภาคี ในปี พ.ศ.2535 นานมากแล้วอีกเช่นกัน แต่การจัดการเกี่ยวกับการศึกษาของเด็กตามโรงเรียนต่างๆ ยังคลาดเคลื่อนต่อหลักการ เพราะการอนุวัติกฎหมายภายใน (implementation) ให้สอดรับอนุสัญญานั้นยังทำได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย

หลักสำคัญในอนุสัญญา คือ
ข้อ 14 รัฐภาคีมีหน้าที่เคารพเสรีภาพในทางความคิดของเด็ก
ข้อ 16 เด็กจะต้องไม่ถูกแทรกแซงโดยมิชอบด้วยกฎหมายในสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติและชื่อเสียง
ข้อ 28 รัฐภาคีมีหน้าที่ดำเนินการให้ระเบียบวินัยของโรงเรียนหรือสถานศึกษาที่จัดการศึกษาของเด็กนั้น สอดคล้องกับศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และที่สำคัญต้องสอดคล้องกับอนุสัญญาสิทธิเด็กด้วย
ข้อ 24 รัฐภาคีมีหน้าที่ดำเนินการที่จะยกเลิกทางปฏิบัติแต่เดิมที่จะเป็นผลเสียต่อสุขภาพของเด็ก (ซึ่งจะเห็นว่าถ้อยคำในอนุสัญญานั้นมีความเป็นนามธรรมและแปลความยากพอสมควร)
ข้อ 31 รัฐภาคีต้องยอมรับสิทธิของเด็กในการที่จะมีเวลาพักผ่อน การเล่น การสนทนาการที่เหมาะสมกับวัย
ข้อ 37 รัฐภาคีต้องไม่ให้เกิดสถานการณ์ที่เด็กถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพโดยไม่มีกฎหมายกำหนด

Advertisement

และที่ขาดเสียมิได้คือรัฐธรรมนูญและประมวลกฎหมายอาญา

3.แนวทางในการพิจารณาและวิเคราะห์
สำหรับการตีความ มีข้อพิจารณาที่สำคัญเกี่ยวกับอนุสัญญา ข้อ 24 ที่กล่าวถึงสุขภาพของเด็กนั้น คำว่าสุขภาพ ย่อมหมายความรวมถึงทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต สุขภาพจิตของคนเราจะดีได้ก็ต่อเมื่อคนแต่ละคนมีความเป็นตัวของตัวเอง มีสิทธิเลือกในสิ่งที่ตัวเองชอบตราบเท่าที่ไม่ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น เด็กก็ควรที่จะมีสิทธิที่จะเลือกทรงผมที่เขาต้องการ เพราะเด็กแต่ละคนมีความชอบไม่เหมือนกัน และในสังคมโลกเราในปัจจุบันนี้ยอมรับความแตกต่างนั้น การบังคับให้ต้องไว้ผมทรงเดียวกันกระทบต่อสุขภาพจิตของเด็กอย่างแน่นอน สิทธิของเด็กในการเลือกทรงผมตาม ข้อ 24 นั้นก็ยังสอดรับกับศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ตาม ข้อ 28 เพราะถ้ามนุษย์มีศักดิ์ศรีแล้วมนุษย์ย่อมต้องเลือกทรงผมได้ หน่วยงานราชการส่วนใหญ่ (ซึ่งยกเว้นหน่วยงานที่กล่าวข้างต้น) ยังให้เสรีภาพแก่เจ้าหน้าที่ในการเลือกทรงผม เมื่อผู้ใหญ่ได้สิทธินี้เด็กก็ควรได้สิทธินี้ด้วย ได้ปรากฏในต่างประเทศว่าได้ก้าวข้ามเรื่องทรงผมของเด็กนักเรียนนี้ไปนานแล้วและไม่หันหลังกลับมาอีก ล้วนเป็นประเทศที่พัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งสิ้น

เรื่องการตัดผมของเด็ก ซึ่งบางโรงเรียนกำหนดให้เด็กไว้ผมทรงเดียวกันหรือตามที่แบบที่โรงเรียนกำหนด โรงเรียนอ้างว่าเป็นระเบียบของโรงเรียน และมีวันตรวจผมหากไม่ผ่านตามเกณฑ์ก็ลงโทษ อย่างนี้ในความเห็นของผู้เขียนเห็นว่าขัดต่ออนุสัญญาสิทธิเด็กข้อ 28 และข้อ 37 ในส่วนที่ขัดต่อข้อ 28 คือ ระเบียบวินัยของโรงเรียนหรือสถานศึกษาไม่สอดคล้องกับศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เพราะมนุษย์แต่ละคนมีเสรีภาพที่จะเป็นตัวของตัวเองตราบเท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย และปัจจุบันไม่มีกฎหมายไทยฉบับใดในระดับพระราชบัญญัติขึ้นไปกำหนดให้คนมีทรงผมเหมือนกัน

โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับสิทธิตามกฎหมายรัฐธรรมนูญเรื่องสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว ตามมาตรา 32

มาตรา 32 แห่งรัฐธรรมนูญ บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีสิทธิและความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว

การกระทำอันเป็นการละเมิดหรือกระทบต่อสิทธิของบุคคลตามวรรคหนึ่ง หรือการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าในทางใดๆ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อเป็นประโยชน์สาธารณะ

มาตรา 32 นี้รับรองไว้เกี่ยวกับเรื่องเสรีภาพโดยรวมของบุคคลซึ่งหากตีความรวมถึงเด็กก็ได้ และตีความครอบคลุมถึงเรื่องทรงผมของเด็กก็ได้เช่นกัน หากโรงเรียนมีระเบียบที่ขัดต่ออนุสัญญาข้อ 28 ก็จำเป็นจะต้องยกเลิก เพราะระเบียบเรื่องผมไม่เกี่ยวเรื่องประโยชน์สาธารณะ ตามมาตรา 32 และที่สำคัญกว่านั้นถ้าระเบียบนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญและเป็นระเบียบที่โรงเรียนออกบังคับใช้เองหรือจะทำวิธีใดๆ เป็นการหลีกเลี่ยง เช่น ทำเป็นสัญญาระหว่างโรงเรียนกับผู้ปกครอง เป็นข้อตกลงในเชิงยอมรับไว้ก่อน ฯลฯ ซึ่งตีความได้ว่ามีเจตนาจะให้บังคับใช้อย่างเป็นระเบียบ กฎเกณฑ์ ผู้บริหารสถานศึกษาอาจจะต้องมีความรับผิดชอบในทันทีหากมีผู้ยกเรื่องนี้ขึ้นฟ้องร้องต่อศาล เพราะสิทธิหรือเสรีภาพใดที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ แม้ยังไม่มีการตรากฎหมายขึ้นใช้บังคับ บุคคลหรือชุมชนย่อมสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพนั้นได้ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 25 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

อีกทั้งการปล่อยให้มีการลงโทษนักเรียนโดยที่ระเบียบยังขัดแย้งต่ออนุสัญญาข้อ 28 โรงเรียนหรือผู้บริหารโรงเรียนนั้นอาจมีการกระทำที่ขัดต่ออนุสัญญาข้อ 37 อีกด้วย เพราะข้อ 37 กำหนดให้รัฐภาคีต้องไม่ให้เกิดสถานการณ์ที่เด็กถูกลิดรอนเสรีภาพโดยไม่มีกฎหมายกำหนด ในกรณีนี้เด็กถูกลิดรอนเสรีภาพเพราะไม่ได้เลือกทรงผมที่ตนเองต้องการประการหนึ่ง และถูกลิดรอนเสรีภาพจากการลงโทษที่ไม่สมควรหรือขัดต่อกฎหมายอีกประการหนึ่งด้วย

ในความเห็นของผู้เขียนซึ่งน่าจะสอดคล้องกับความเห็นของนักกฎหมายโดยทั่วไป เห็นว่าหากเด็กหรือผู้ปกครองของเด็กที่ถูกลงโทษจะฟ้องฐานละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ก็ยังได้ ในกรณีที่เป็นโรงเรียนของรัฐ จะฟ้องอาญา มาตรา 157 สำหรับเจ้าหน้าที่รัฐที่ลงโทษเด็กนักเรียน และฟ้องศาลปกครองในกรณีที่เป็นโรงเรียนของรัฐก็ยังมีช่องทางให้ฟ้อง เพื่อเพิกถอนคำสั่งทางปกครอง กฎหรือระเบียบได้ และยังมีอีกช่องทางหนึ่งร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินได้ สำหรับโรงเรียนเอกชนคงฟ้องได้แต่ทางแพ่ง เว้นแต่มีการลงโทษนักเรียนที่มีการกระทบต่อเนื้อตัวร่างกาย อาจจะฟ้องผู้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญาได้ในความผิดที่เกี่ยวกับการทำร้ายร่างกายจากการลงโทษด้วยวิธีการตี การกักตัวนักเรียนก็อาจเป็นความผิดต่อเสรีภาพได้อีกประการหนึ่งด้วย

เรื่องสิทธิในการเลือกทรงผมของเด็กนี้เป็นสิทธิเสรีภาพพื้นฐานที่สุด แม้จะมีหรือไม่มีอนุสัญญาสิทธิเด็ก ก็ควรที่จะก้าวข้ามไปให้ได้ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าบุคคลที่มีอำนาจตัดสินใจของบ้านเมืองได้เอาใจใส่ดูแลเด็กอย่างจริงจัง และเพื่อเปิดโอกาสให้มีความคิดปรับปรุงในสิ่งอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์แก่เด็กต่อไป ซึ่งตรองดูแล้วเวลานี้เหมาะสมที่สุด เพราะสังคมได้ตระหนักแล้วและมีพลวัติที่เริ่มจะเปลี่ยนแปลง

หากวิเคราะห์ในด้านสิทธิที่จะต้องมีกฎหมายอนุวัติตามอนุสัญญาสิทธิเด็ก สิทธิในหลายๆ กรณีเป็นสิทธิที่ติดตัวมากับความเป็นมนุษย์ ดังนั้นการให้มีสิทธิ ก็มิใช่ให้สิ่งใหม่ แต่เป็นการคืนสิ่งเดิมและน่าจะเป็นความคิดที่จะคืนสิทธิที่เด็กควรมีให้แก่เด็ก กล่าวคือสิทธิเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีกำเนิดมาติดตัวเด็กเป็นสิทธิที่เกิดมาพร้อมกับเด็ก แต่สังคมบางแห่งพรากเอาไป ดังนั้นจึงต้องคืนกลับสู่เด็ก โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในโรงเรียน ซึ่งบังคับและรองรับตามสิทธิได้ง่ายกว่าเด็กที่กระจายอยู่ตามแหล่งอื่นๆ

ดังนั้นหากประเมินสิ่งที่ควรจะทำตามอนุสัญญาแล้วสิทธิเหล่านั้น ได้แก่
1.สิทธิที่จะมีเวลาพักช่วงหนึ่ง ในตอนเช้าเพื่อกินอาหารเช้าที่โรงเรียน เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กทุกคนจะมีโอกาสได้รับประทานอาหารเช้า (ข้อ 31)
2.สิทธิของเด็กนักเรียนที่จะไม่ต้องเข้าแถวตอนเช้านานเกินไป (ข้อ 24)
3.สิทธิของเด็กนักเรียนที่จะไม่ต้องฟังผู้ใหญ่พูดในสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับเขาเมื่อเข้าแถวในตอนเช้า (ข้อ 16)
4.สิทธิในการกินอาหารกลางวันที่ถูกสุขลักษณะและมีเวลาเพียงพอ (ข้อ 24, 31)
5.สิทธิในการเลือกทรงผมตามความต้องการของตนเอง (ข้อ 14, 16)

ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 71 วรรคสาม ซึ่งบัญญัติว่า “รัฐพึงให้ความช่วยเหลือเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ยากไร้ และผู้ด้อยโอกาสให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ และคุ้มครองป้องกันมิให้บุคคลดังกล่าวถูกใช้ความรุนแรง หรือปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม…”

4.บทสรุปและข้อเสนอแนะ
ความรุนแรงหรือการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมแก่เด็กนักเรียน ส่วนหนึ่งมาจากระเบียบของโรงเรียนที่ไม่เป็นแก่นสาร หรือไม่มีสาระสำคัญต่อการเรียนรู้และการศึกษาของเด็ก ซึ่งควรมีการทบทวนอยู่เสมอเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายรัฐธรรมนูญและอนุสัญญาต่างๆ

ก่อนหน้านี้ทางการได้อนุโลมให้นักเรียนชายตัดผมรองทรงในบางกรณีไปแล้ว แต่สำหรับนักเรียนหญิงดูจะห้ามเรื่องการซอยผมอยู่ ความจริงถ้าคิดให้ลึกซึ้งแล้ว การตัดรองทรงก็เหมือนกับการซอยผมไม่เห็นจะต่างกัน ต่างกันก็เฉพาะตัวบุคคลคือ เพศชายหรือเพศหญิงเท่านั้น ซึ่งในทางสากลจะนำเอาเพศมาแบ่งแยกสิทธิทำนองนี้ไม่ได้

ถ้ารัฐภาคีใดไม่ดำเนินการตามอนุสัญญาสิทธิเด็กจะได้หรือไม่ คำตอบคือ ในตัวอนุสัญญาเองมี ข้อ 4 ระบุไว้ชัดว่า รัฐภาคีจะดำเนินการทั้งด้านนิติบัญญัติ บริหาร และด้านอื่นๆ ให้เป็นตามอนุสัญญาและสิทธิต่างๆ ตามอนุสัญญานี้จะต้องดำเนินการให้เป็นที่ยอมรับและใช้ได้จริง โดยใช้ความสามารถและทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเต็มที่

ประเด็นที่น่าพิจารณาก็คือ ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาที่ประสงค์จะบังคับตามสิทธิหรือต้องการได้รับสิทธิตามอนุสัญญาสิทธิเด็ก จะทำอย่างไร ในเมื่อกฎหมายภายในยังไม่อนุวัติการให้เป็นไปตามอนุสัญญา คำตอบ คือ ให้เสนอเรื่องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอาจจะมีทางดำเนินการต่อไปได้ หรือกลับไปสู่หลักการทั่วไป คือ เสนอเรื่องต่อสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะมีคณะกรรมาธิการดูแลเรื่องเหล่านี้อยู่ หรือไม่ก็ใช้วิธีการเข้าชื่อกันเสนอกฎหมายตามวิธีการที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกำหนดไว้

ส่วนประเด็นเรื่องครูทำร้ายเด็กหรือลงโทษเด็กโดยมิชอบด้วยกฎหมายนี้ สามารถใช้ประมวลกฎหมายอาญาดำเนินการตามที่ได้กล่าวมาแล้ว

สำหรับผู้สนใจเรื่องอนุสัญญาสิทธิเด็กควรจะได้ศึกษาจะได้อนุสัญญาฉบับเต็มก็จะพบว่ามีสิทธินี้ซับซ้อนและหลากหลายมากกว่าที่กล่าวมานี้อีก เช่น สิทธิในการชุมนุมอย่างสงบ สิทธิในการรักษาเอกลักษณ์ของชาติพันธุ์ สิทธิเกี่ยวกับการรับบุตรบุญธรรม สิทธิในด้านสาธารณสุขและยังมีประเด็นเรื่องข้อควรระวังต่างๆ เช่น เด็กไม่ควรอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเห็นอาวุธโดยเปิดเผย เด็กไม่ควรถูกแชร์ภาพทางสื่อในบางกรณี เป็นต้น

สำหรับกรณีที่มีความต้องการจะคงไว้ซึ่งระเบียบทรงผมของนักเรียนถ้าจะยืนยันให้เด็กนักเรียนต้องถูกบังคับให้ไว้ผมตามระเบียบหรือมีทรงผมตามระเบียบจะต้องอธิบายหรือพิสูจน์ให้ได้ว่า

1.การไว้ผมหรือการเลือกทรงผมเป็นเรื่องส่วนรวมหรือเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่สิทธิส่วนบุคคล

2.ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าระเบียบข้อบังคับในการไว้ผมหรือการตัดผมมีขึ้นเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อเสริมพัฒนาการของเด็กและเป็นสาระสำคัญในการศึกษา

3.ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าข้อบังคับเกี่ยวกับทรงผมไม่กระทบกระเทือนต่อจิตใจหรือสุขภาพจิตของเด็กหรือความเป็นเอกลักษณ์ในปัจเจกบุคคล

4.ถ้าจะมีระเบียบเกี่ยวกับเรื่องทรงผมของเด็กต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าการจำกัดสิทธินั้นหรือการให้สิทธินั้นมีความเท่าเทียมกันระหว่างนักเรียนชายกับนักเรียนหญิง

ถ้าพิสูจน์ไม่ได้ในบริบทของสังคมที่เรามีอยู่ ก็ขอให้พยายามปฏิบัติตามอนุสัญญาสิทธิเด็กตามที่ได้เป็นภาคีอนุสัญญาจะเป็นการเหมาะสมสำหรับเด็กและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพราะระเบียบเหล่านี้แต่เดิมเรามีความคิดว่าจะทำให้เด็กนักเรียนเสมอภาคกัน ไม่มีใครได้มีโอกาสแสดงให้เห็นถึงความร่ำรวยหรือฐานะที่เหนือกว่าคนอื่น แต่เมื่อเวลาผ่านไประเบียบเหล่านี้ก่อให้เกิดความยุ่งยากและซับซ้อน ทำร้ายจิตใจเด็ก และบางครั้งระเบียบที่เคร่งครัดมากเกินไปกลับจะตอกย้ำความแตกต่างระหว่างบุคคลสำหรับผู้ที่ไม่ได้มีฐานะทางการเงินมากพอที่จะปฏิบัติตามระเบียบที่ซับซ้อนเหล่านั้น ซึ่งควรยกเลิกมากกว่าที่จะคงไว้

กนกศักดิ์ พ่วงลาภ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image