คุณเดินเชียร์ แต่เราวิ่งไล่ : โดย กล้า สมุทวณิช

คอลัมน์นี้เขียนขึ้นในเช้า วันอาทิตย์ที่ 12 มกราคม 2563 ซึ่งมีกิจกรรมน่าสนใจอันถือเป็นหมุดหมายอีกครั้งบนเส้นเวลาของประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลังยุค คสช.นั่นคือการร่วมใช้เสรีภาพทางการเมืองอย่างเปิดเผย ที่อาจจะนับเป็นครั้งที่สองของฝ่าย “ไล่ลุง” ที่ไปวิ่งกันที่สวนรถไฟ และถือเป็นครั้งแรกของการแสดงพลังจากฝ่าย “เชียร์ลุง” ซึ่งจัดขึ้นที่สวนลุมพินี

ซึ่งคงคาดเดาได้ว่าจะต้องมีอำนาจรัฐแทรกแซงเข้าไปเอื้อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการจัดกิจกรรมของคนสองกลุ่มอย่างแตกต่างกัน กลุ่มที่ “วิ่งไล่” นั้นถูกขัดขวางด้วยกลไกอำนาจรัฐต่างๆ นานา ทั้งที่เป็นไปตามกฎหมายและใช้อำนาจกดดันนอกเหนือกฎหมาย ในบางจังหวัดไม่สามารถจัดกิจกรรมนี้ได้ด้วยการขัดขวางของอำนาจรัฐหรือพลังแฝงอื่นๆ หรือที่จัดได้ ฝ่ายผู้ร่วมจัดงานก็ถูกคุกคามโดยอาศัยการอ้างอำนาจตามกฎหมายที่แปลกประหลาด เช่น กิจกรรมนี้ที่จังหวัดหนึ่งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจไปห้ามไม่ให้ใส่เสื้อของงาน “วิ่งไล่ลุง”

แม้แต่กิจกรรมหลักที่กรุงเทพมหานครก็ได้รับการรบกวนขัดขวางตลอดมา จนต้องเปลี่ยนสถานที่วิ่งย้ายมาจัดกันที่สวนรถไฟ แต่กระนั้นก็ยังถูกรบกวนและเลือกปฏิบัติจากภาครัฐที่เกี่ยวข้องในหลายเรื่อง รายละเอียดนั้นใครติดตามข่าวก็คงพอทราบ

ในขณะที่ฝ่าย “เดินเชียร์ลุง” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดโดยคณะผู้จัดที่ไม่เปิดเผยตัวอยู่นาน จนกระทั่งมาแสดงตนในช่วงก่อนงานไม่มากนักว่านำโดยแกนนำ กปปส. และบรรดา “ขาประจำ” ของฝ่ายการเมืองที่เราคุ้นหน้าคุ้นตาและบทบาท กลุ่มเดินเชียร์สามารถจัดงานได้อย่างสะดวกง่ายดาย รวมถึงมีกองทุนจากที่ไหนก็ไม่รู้มาสนับสนุนเสื้อวิ่ง น้ำดื่ม อาหารและอุปกรณ์แสดงพลังแบบที่ดูก็รู้ว่าผลิตและเตรียมมาจากที่เดียวกัน มีการตั้งขบวนถือป้ายแสดงความชื่นชม “ลุง” กันได้แบบเสรี แตกต่างจากฝ่ายที่สวนรถไฟแบบหน้ามือเป็นหลังมือ ที่ป้ายแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ “ลุง” ถูกเก็บเรียบตั้งแต่ที่ทางเข้า

Advertisement

กระนั้นความที่ “อำนาจรัฐ” เข้ามายุ่มย่ามนี้ก็กลับเป็นผลดี เพราะการที่เจ้าหน้าที่ “ขอความร่วมมือ” ตรวจสอบผู้คนที่จะเข้าร่วมกิจกรรมที่เปิดให้เข้าไปในสวนรถไฟแบบจำกัดช่องทาง ทำให้ได้จำนวนผู้เข้าร่วมงาน “วิ่งไล่ลุง” ที่ใกล้เคียงความจริงโดยไม่จำเป็นต้องมาถกเถียงหรือหาพื้นที่คำนวณจำนวนคน ตัวเลขที่ “ฝ่ายความมั่นคง” นั้นเคาะออกมาที่ประมาณ 13,000 คนขึ้นไป ส่วนฝ่าย “เชียร์ลุง” นั้นก็เคลมตัวเลขเท่ากัน แต่ข้อเท็จจริงจำนวนคนเข้าร่วม “อย่างแท้จริง” ว่ามีเท่าไรนั้น ผู้จัดและฝ่ายอำนาจรัฐที่ทำหน้าที่ประเมินเก็บข้อมูลก็คงรู้อยู่แก่ใจ หรือแม้แต่วิญญูชนพิจารณาจากภาพถ่ายจากมุมสูงและมุมกล้องก็อาจจะสามารถประเมินได้ว่าจำนวนคนที่แท้จริงของฝ่าย “ไล่” และ “เชียร์” นั้นเป็นสัดส่วนเท่าไร

อาจกล่าวได้ว่า การ “วิ่งไล่ลุง” นี้คือการแสดงพลังของประชาชนที่ไม่ยอมรับการสืบทอดอำนาจของประยุทธ์และ คสช.ที่ไม่ได้สะท้อนออกมาตามความเป็นจริงจากการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลในปีที่แล้ว ฝ่ายประยุทธ์และผู้สนับสนุนอาจจะปากกล้าเสียงแข็งว่าตัวเองมาจากการเลือกตั้ง และจัดตั้งรัฐบาลอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ แต่ข้อเท็จจริงนั้นเราก็ทราบอยู่ว่า จำนวนเสียงที่แท้จริงของประชาชนที่สนับสนุนและไม่สนับสนุนพวกเขานั้นมีอยู่จริงเท่าไร

เพราะเสียงของผู้คนเหล่านั้นไม่สามารถสะท้อนออกมาได้ด้วยจำนวนผู้แทนราษฎรที่ควรจะเป็นเพราะการใช้อำนาจที่น่าเคลือบแคลงขององค์กร “อิสระ” ที่ทำหน้าที่จัดการและกำกับดูแลการเลือกตั้ง ประกอบกับความได้เปรียบจากกลไกโครงสร้างของรัฐธรรมนูญ ที่ทำให้ฝ่ายผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่เคยเป็นอดีตหัวหน้า คสช.นั้นมีเสียงสนับสนุนจากวุฒิสภาที่แต่งตั้งมากับมือ จนทำให้ฝ่ายการเมืองที่หน้ามืดมองประโยชน์เฉพาะหน้าปลงใจว่าถึงอย่างไรก็ไม่น่าจะเอาชนะความได้เปรียบนี้ได้ ก็เข้าร่วมเสียเลยจะได้จบๆ กันไป

Advertisement

พวกเขาก็น่าจะรู้อยู่แก่ใจว่าตัวเองไม่ได้มาจากความนิยมอันแท้จริงของประชาชน หากดื้อรั้นที่จะครองอำนาจต่อไปโดยฝ่าฝืนความต้องการของคนส่วนใหญ่ในประเทศ เช่นนี้ “เสียงอันแท้จริง” จึงสำแดงออกมาให้ได้เห็นผ่านการร่วมกิจกรรม “ไม่ถอยไม่ทน” ที่ทางเดินสกายวอล์กเมื่อกลางเดือนที่แล้ว และกิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา

และที่สำคัญไปกว่า “จำนวน” ของผู้คน ก็คือ “ความหลากหลาย” ของผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่เราจะได้เห็นคนหนุ่มสาวที่เป็นนักเรียนนักศึกษา คนทำงานในนานาอาชีพทั้งที่หาเช้ากินค่ำ พนักงานกินเงินเดือน นักธุรกิจทั้งเล็กกลางใหญ่ คนทำงานอิสระ แม้แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือข้าราชการในแทบทุกระดับที่มองเห็นความไม่เป็นธรรมและการใช้อำนาจที่แลกมาด้วยความเสื่อมถอยของหลักนิติรัฐและนิติธรรม

ส่วนความหลากหลายของผู้เข้าร่วมกิจกรรม “เดินเชียร์ลุง” นั้นก็ประเมินกันด้วยสายตาและวิจารณญาณของท่านกันเองเถิด

เชื่อว่าถ้ายังไม่มืดบอดหรือหลอกตัวเอง พวกเขาก็คงพอจะรู้ว่าสัดส่วนของประชาชนที่ไม่สนับสนุนและพร้อมขับไล่ผู้ครองอำนาจรัฐที่ขาดความชอบธรรมนั้นมีอยู่เท่าไร เป็นสัดส่วนอย่างไรเมื่อเทียบกับจำนวน “ผู้คนจริงๆ” ที่สนับสนุนพวกเขาอยู่

หวังเหลือเกินว่าฝ่ายที่ได้เปรียบโดยครองอำนาจรัฐนั้นอยู่คงฉลาดพอที่จะไม่ทำอะไรแบบไม่เกรงใจประชาชนและเป็นการจุดไฟลงมาบนไม้แห้งชุ่มน้ำมันที่พร้อมอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลผู้ทรงอำนาจ ฝ่ายการเมืองที่เข้าไปค้ำยันด้วยคำนึงถึงความได้เปรียบทางการเมืองหรือประโยชน์อื่นใดอย่างเฉพาะหน้า และหมายรวมถึงองค์กรและผู้ใช้อำนาจอิสระทั้งหลายที่ตั้งแท่นเตรียมจะใช้อำนาจพิจารณาวินิจฉัยเรื่องใดที่ขัดต่อหลักกฎหมายและความยุติธรรมอย่างไม่ยำเกรงความรู้สึกของประชาชนส่วนใหญ่ บรรดาหน่วยงานของรัฐที่กำลังจะใช้งบประมาณที่ขอไปอย่างไม่คำนึงถึงความจำเป็นของประเทศและประชาชนส่วนรวมเป็นหลักร้อยล้าน สิทธิประโยชน์เกินสมควรต่างๆ ที่พวกท่านได้รับมาเนื่องจากใช้อำนาจเป็นคุณต่อรัฐบาล ไปเที่ยวโน่นหรือได้ค่านั่นค่านี่ฟรีจากภาษีประชาชน

ประชาชนที่ฆ่าตัวตายรายวันเพราะปัญหาเศรษฐกิจ ผู้คนที่ต้องทนอยู่กับมลภาวะเป็นพิเศษและสังคมที่เป็นอันตราย อย่างที่เรียกร้องความรับผิดชอบจากใครก็ไม่ได้ ซ้ำยังถูกลดทอนลิดรอนสิทธิเสรีภาพต่างๆ นานา

ถ้าพวกท่านยังเหลือความฉลาดและวิสัยทัศน์อยู่บ้าง น่าจะรู้ว่าท่านควรจะใช้อำนาจที่พอมีประคองตัวอย่างไร จะผ่อนหรือเร่งกระแสน้ำอดน้ำทนของผู้คนที่เริ่มเครื่องติดแล้วนี้

อีกสิ่งหนึ่งที่อยากเตือนไว้สำหรับตัวบุคคลที่เป็นผู้ลงมือใช้อำนาจรัฐในทางปฏิบัติ ได้แก่ เจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งที่มีสีและใส่สูท ซึ่งอาจจะได้รับคำสั่งมาจากผู้ใหญ่หรือเบื้องบน ก็คือการใช้อำนาจของท่านไม่ว่าจะในทางใดนั้น หากเรื่องนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย นอกเหนือกฎหมาย หรือเป็นการตีความบังคับใช้หรือวินิจฉัยกฎหมายอย่างเกินเลยจากเจตนารมณ์หรือวัตถุประสงค์ของกฎหมายเพียงไร สุดท้ายแล้วมันจะเป็นความเสี่ยงของตัวท่านเองเป็นการส่วนตัวในอนาคตทั้งสิ้น

พวกท่านต้องไม่ลืมว่าความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 นั้น มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี
หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และด้วยระวางโทษนี้ อายุความของการฟ้องร้องนำตัวมาดำเนินคดี อยู่ที่ 15 ปี ตามมาตรา 95 ของกฎหมายเดียวกันนั้น ซึ่งท่านควรเตือนตัวเองว่าวันนี้ไม่มี “อำนาจพิเศษ” ใดๆ มายกเว้นโทษให้ได้เหมือนการใช้อำนาจโดยคณะรัฐประหารในช่วงที่ผ่านมาอีกแล้ว

สิ่งที่ท่านใช้อำนาจ สั่งการ หรือกระทำการไปในวันนี้โดยรู้อยู่ว่าเป็นการใช้อำนาจโดยไม่ชอบ นอกขอบเขต หรือผิดจากเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้น อาจจะย้อนกลับมาหาท่านได้ตั้งแต่พรุ่งนี้จนถึงปี พ.ศ.2578 ถ้าท่านแน่ใจว่าในตอนนั้น “อำนาจ” ที่คุ้มครองท่านในขณะนี้ จะยังคุ้มครองท่านได้อยู่ถึงตอนนั้นก็ไม่เป็นไร หรือถึงวันนั้นท่านคงทิ้งร่างลาโลกไปแล้วก็ไม่ว่ากัน

เพราะการชดใช้ความผิดนั้นยิ่งเนิ่นนานไปเท่าไร น้ำหนักของความรุนแรงก็เหมือนดอกเบี้ยทบต้น การติดคุกตอนอายุ 70 ปีนั้นน่าจะหนักหนากว่าการต้องโทษเดียวกันก่อนหน้านั้น หลักฐานต่างๆ ในยุคดิจิทัลนี้สามารถเก็บรักษาได้อย่างยาวนานราวกับศิลาอมตะ และได้รับการรวบรวมและบันทึกรายละเอียดไว้ทั้งโดยผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง และองค์กรหรือพรรคการเมืองที่พอจะมีพลังความสามารถ จะเป็นข้อมูลหรือพยานหลักฐานที่ในวันเวลาที่เหมาะสม มันจะตามหลอกหลอนในวันที่พวกท่านอ่อนแอสิ้นหวังถึงที่สุด

สำหรับฝ่ายที่ออกไป “วิ่งไล่ลุง” ทั้งที่เดินทางไปที่สวนรถไฟ วิ่งในหมู่บ้าน วิ่งในงานที่จัดกันแต่ละจังหวัด ภาพของผู้คนนับหมื่นที่แม้จะมีความแตกต่างหลากหลายทางพื้นเพภูมิหลัง แต่มีจุดร่วมกันอยู่ที่ความเชื่อเดียวกันว่าความมั่นคงหรือเจริญก้าวหน้าของประเทศนั้น จะต้องมาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน ภายใต้ระบบการเมืองที่ยุติธรรม มิใช่ใคร่อ้างว่าเป็นคนดีหรือตู่ว่ารักชาติ จะเข้ามาด้วยวิธีการที่น่ารังเกียจแค่ไหนหรือใช้อำนาจไม่เป็นธรรมโดยอ้างประโยชน์ของชาติลอยๆ เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้อีกต่อไป

การวิ่งไล่ลุงอาจจะจบลงแล้ว แต่ก็ไม่ใช่เพียงวิธีนี้เท่านั้น เรายังอาจจะทำอะไร “ไล่ลุง” ได้ตามความสะดวกของเรา เรียนหนังสือไล่ลุง กินอาหารไล่ลุง สอนพิเศษไล่ลุง เราสามารถแสดงความเชื่อและความจริงได้ผ่านทุกกิจกรรม โดยเราต้องแสดงให้ผู้คนที่อาจจะคิดเหมือนเราแต่ไม่กล้าแสดงออกได้รับรู้ว่า คนส่วนใหญ่คิดเหมือนพวกเขา และยินดีร่วมแสดงออกและปกป้องซึ่งกันและกัน

ขอปิดท้ายด้วยประโยคน่าสนใจหนึ่งจากปาก “ป้า” จากงาน “เดินเชียร์ลุง” ที่สื่อ The Standard ไปสัมภาษณ์ ก็คือ “ถ้าลูกหลานชอบอนาคตใหม่ ก็ให้ไปขอเงินธนาธร…”

คำพูดของป้าแสดงให้เห็นชัดเจนว่า “คนเชียร์ลุง” ไม่มีตรรกะอะไรที่เป็นเหตุเป็นผล นอกจากใช้อำนาจเหนือเข้าข่มว่าเมื่อลูกหลานเยาวชนยังต้องพึ่งพาพวกเขา ก็ต้องเชื่อฟังไม่หือไม่อือ โดยไม่ต้องคำนึงถึงเหตุผลถูกผิดใดๆ

ป้าคนนั้นอาจจะสำคัญผิดและลืมคิดไปว่า ลูกหลานของแกกำลังจะมี “อนาคต” ของพวกเขาเอง และสักวันจะเดินพ้นจากการต้องพึ่งพา ไปทำงานหาเงินเลี้ยงตัวเอง เช่นนี้เขาควรมีสิทธิที่จะเลือก “อนาคต” ของประเทศของเขาเอง ในขณะที่คนอย่างป้ากำลังเดินถอยหลังเข้าสู่สภาวะที่กำลังหมดความสามารถในการดูแลตัวเองลงไปเรื่อยๆ

เพราะโดยทั่วไปแล้ว กริยาการ “วิ่ง” นั้นย่อมเร็วกว่า “เดิน” อยู่เสมอ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image