สถานการณ์สร้างวีรสตรี : โดย ชยานันต์ ศุกลวณิช

สถานการณ์สร้างวีรสตรี : โดย ชยานันต์ ศุกลวณิช

สถานการณ์สร้างวีรสตรี : โดย ชยานันต์ ศุกลวณิช

และแล้วก็ไม่เกินความคาดหมาย นางฉ้าย อิงเหวิน (蔡英文) พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (民主進步黨) ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีไต้หวันอีก 1 สมัย เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2020

เป็นการเลือกตั้งที่ได้รับความสนใจมากที่สุดของคนฮ่องกงเป็นประวัติการณ์

ก็เพราะ “เหตุการณ์ฮ่องกง” ได้กลายเป็นตัวแปรการแพ้ชนะของการเลือกตั้งครั้งนี้

Advertisement

“ฉ้าย อิงเหวิน” ได้ใช้เหตุการณ์ประท้วงร่างแก้กฎหมายฮ่องกงเป็นสรณะ

โดยแปลงเป็น “ตู้เอทีเอ็มการเมือง”

สามารถชนะ “หาญ กั๋วอี๋” (韓國瑜) ผู้ท้าชิงของพรรคกั๋วหมินตั่ง (國民黨) อย่างถล่มทลาย “ฉ้าย” ชูประเด็นการเมือง ปฏิเสธนโยบาย “1 ประเทศ 2 ระบบ”

Advertisement

ในขณะที่ “หาญ” ใช้นโยบายเศรษฐกิจหาเสียง

ไม่ว่านโยบายการเมือง ไม่ว่านโยบายเศรษฐกิจ

ล้วนเป็นการหาเสียงแบบประชานิยม

ว่ากันว่า การที่ ฉ้าย อิงเหวินใช้ประชานิยมไม่เอาจีนแผ่นดินใหญ่

เป็นพฤติการณ์อันลืม “ชาติกำเนิด”

ย่อมเป็นการสร้างความระคายเคืองต่อปักกิ่ง

ความตึงเครียดปักกิ่งกับไต้หวัน คงเป็นปัญหาที่มิอาจหลีกเลี่ยง

การเลือกตั้งครั้งนี้ “ฉ้าย อิงเหวิน” ได้ทำลายสถิติการเลือกตั้ง โดยได้คะแนนเกินกว่า 8 ล้านเสียง ในขณะที่ “หาญ กั๋วอี๋” ได้ประมาณ 5.5 ล้านเสียง

คะแนนของ “ฉ้าย อิงเหวิน” คิดเป็นร้อยละประมาณ 55 ของผู้มีสิทธิลงคะแนน

หากประเมินผลงานของนาง 1 ปีที่ผ่านมา หาใช่โดดเด่นได้ไม่ หากเป็นปัจจัยภายนอก ซึ่งเป็นการอำนวยช่วยให้เธอชนะการเลือกตั้ง

ส่วน “หาญ กั๋วอี๋” แจ้งเกิดเมื่อครั้งเลือกตั้งข้าราชการท้องถิ่นเมื่อ 2018 โดยได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรีเมืองเกาเสือง นับเป็นชัยชนะที่สะเทือนเวทีการเมืองไต้หวัน

“กระแสหาญ” มาแรงตามลำดับ การหยั่งเสียงความนิยม 1 ปีที่ผ่านมา หลายสำนักยืนยันว่าโอกาสการเป็นประธานาธิบดีไต้หวันของ “หาญ กั๋วอี๋” เป็นเรื่องที่ไม่อยู่ไกลตัว

แต่ผลเลือกตั้ง “11 มกราคม” เป็นการชี้ชัดถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างรวดเร็ว

รวดเร็วชนิดกลับจากหน้ามือเป็นหลังมือ เหตุผลคือ

1 ชูประเด็นความวุ่นวายฮ่องกงเพื่อเป็นยุทธศาสตร์การหาเสียง จึงเกิด “กระแสฉ้าย” ขึ้นมาโดยพลัน ความนิยมดีวันดีคืน การหยั่งเสียงจากรองกลายเป็นต่อ

1 ได้รับอานิสงส์จากการขัดแย้งจีน-สหรัฐยกระดับ

1 วอชิงตันอาศัยไต้หวันเป็นเครื่องมือ ทำการสกัดจีน

1 วอชิงตันทำการสนับสนุนไต้หวันอย่างออกหน้า โดยรัฐสภาผ่าน “กฎหมายไทเป” เป็นการอันค้ำจุนไต้หวันในประการที่จะบรรลุนิติสัมพันธ์กับต่างประเทศ

1 สงครามการค้าจีน-สหรัฐ เป็นเหตุกระทบถึงนักลงทุนไต้หวันในจีน จึงมีโรงงานส่วนหนึ่งย้ายฐานผลิตกลับสู่ไต้หวัน

ล้วนเป็นเหตุที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ “ฉ้าย อิงเหวิน”

“กระแสฉ้าย” มาแรงเหมือนพายุบ้าหมู จึงเป็นเหตุให้ “กระแสหาญ”

ต้องลอยหายไปกับสายลม

เป็นคราวบุญมาวาสนาส่งของฉ้าย อิงเหวิน กอปรกับเธอมีความชาญฉลาดได้ฉวยโอกาส และใช้โอกาสเป็นและถูกต้องตาม “กาลและการณ์”

จึงปฏิเสธมิได้ว่า “วีรสตรี” นี้ ได้เกิดจากสถานการณ์โดยแท้

ชั่วข้ามคืน เธอก็ได้ครองตำแหน่งประธานาธิบดีอีก 1 สมัย

เป็นชัยชนะที่ไม่ธรรมดา

หากพินิจถึงผลงานของนาง ตั้งแต่ขึ้นดำรงตำแหน่ง ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนได้รับการแก้ไขปรับปรุงไม่มาก การที่ได้รับเลือกเพราะเธอใช้ประชานิยมทางการเมืองในการหาเสียง โดยอ้างว่า ถ้ายอมรับนโยบาย “1 ประเทศ 2 ระบบ” ในอนาคตก็จะต้องประสบพบพานเหตุการณ์วุ่นวายเหมือนฮ่องกง ดังนั้น จึงต้อง “say no”

จึงกลายเป็นความกังวลในดวงหทัยของคนไต้หวัน

จึงกลายเป็นสาเหตุใหญ่ที่มีการเปลี่ยนใจมาเลือกเธอ

นอกจากนี้ เธอยังนำเอา concept อันเกี่ยวกับ “ชาติกำเนิด” มาเป็น “จุดขาย”

และดูประหนึ่งว่า จุดขายของเธอเป็นการบ่งบอกในเชิงสัญลักษณ์ว่า ถ้าผู้ใดไม่หย่อนบัตรให้เธอ กรณีก็คือบ่อนเซาะประชาธิปไตยของคนรุ่นหลัง

การเลือกตั้งคราวที่แล้ว ทั้งพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าและพรรคกั๋วหมินตั่ง ล้วนได้พูดถึง “ฉันทามติ 1992” ซึ่งเป็นการบรรลุความเข้าใจร่วมกันระหว่างผู้นำไต้หวันและผู้นำจีนแผ่นดินใหญ่อันเกี่ยวการบรรลุนโยบาย “จีนเดียว”

แต่การเลือกตั้งคราวนี้ “ฉ้าย อิงเหวิน” ได้กำหนดจุดยืนของไต้หวันคือ “ต่อต้านจีน”

กรณีย่อมเป็นการอันสร้างความแตกแยกระหว่างจีนไต้หวันและจีนแผ่นดินใหญ่

ความจริง ไม่ว่าคนจีนไต้หวัน ไม่ว่าคนจีนแผ่นดินใหญ่

ล้วนเกิดจากบรรพบุรุษเดียวกัน เลือดทุกหยดในร่างกายล้วนเป็น “เลือดจีน”

ยุทธศาสตร์การหาเสียงเพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่ง เป็นประชานิยมที่หาตรรกมาอธิบายมิได้

การหาเสียงด้วยวิธี “ลืมชาติกำเนิด” เป็นเรื่องวิปริต

น่าเชื่อว่า นโยบายต่อต้านจีนของ “ฉ้าย อิงเหวิน” อาจต้องนำมาซึ่งปัญหาที่ระคายเคืองต่อจีนปักกิ่ง ที่ล่อแหลมสุดคือ หลังจากการประกาศผลเลือกตั้ง เธอได้พรรณนาว่า “ผลการเลือกตั้งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า คนไต้หวันปฏิเสธนโยบาย 1 ประเทศ 2 ระบบ อีกทั้งกล่าวว่า บรรดาเพื่อนพ้องน้องพี่ในฮ่องกงต่างยินดีปรีดากับการตัดสินใจของไต้หวัน”

แต่น่าเชื่อว่า เอาจริงเข้า รัฐบาลไต้หวันก็คงได้แต่สนใจผลประโยชน์ของไต้หวัน

หากมิใช่อนาคตของเขตปกครองพิเศษฮ่องกง

อย่างไรก็ตาม วันนี้ความสัมพันธ์จีนไต้หวัน-จีนแผ่นดินใหญ่ ตลอดจนสถานการณ์ทั่วไป

จักต้องเปลี่ยนแปลงแน่นอน

ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image