เดินหน้าชน : กำจัด‘จุดอ่อน’ : โดย โกนจา

เดินหน้าชน : กำจัด‘จุดอ่อน’ : โดย โกนจา

เดินหน้าชน : กำจัด‘จุดอ่อน’ : โดย โกนจา

ปรากฏการณ์กิจกรรมทางการเมืองเดินวิ่ง “ไล่-เชียร์” ลุง เมื่อวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา บทสรุปยกแรกจากการวิเคราะห์ของ เทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ นับว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง

น่าสนใจเพราะมองว่าการชุมนุมทั้ง 2 กลุ่มดังกล่าว น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของปรากฏการณ์ความขัดแย้งในสังคมรอบใหม่ ระหว่างกลุ่มที่ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ รมว.กลาโหม กับ กลุ่มที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งจะทำให้สถานการณ์ของบ้านเมืองย้อนหลังกลับไปสู่เหตุการณ์ก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่มีความขัดแย้งทางสังคมอย่างรุนแรง ซึ่งในขณะนั้นเป็นความขัดแย้ง ระหว่างระบอบทักษิณกับสังคมไทย

แต่วันนี้ได้เปลี่ยนคู่ขัดแย้งใหม่ เป็นระหว่างระบอบประยุทธ์กับสังคมคนรุ่นใหม่

Advertisement

แสดงให้เห็นว่า 5 ปีที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่า การบริหารประเทศภายใต้ คสช.ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ไม่สามารถปลดล็อกความขัดแย้งของสังคมได้ จึงทำให้การรัฐประหารของ คสช. เมื่อปี 2557 เป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยที่ไม่คุ้มค่า เป็นการยึดอำนาจที่เสียของอีกครั้งหนึ่ง เพราะไม่สามารถที่จะคลี่คลายสถานการณ์ความขัดแย้งในสังคมไทยตามเป้าหมายของ คสช.ประกาศ

“วันนี้จุดศูนย์กลางความขัดแย้งทางการเมืองได้เปลี่ยนมาเป็น พล.อ.ประยุทธ์แต่เพียงผู้เดียว ซึ่งปัญหาทั้งหมดอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะถอดสลักแก้ปัญหาความขัดแย้งของคนในชาติได้อย่างไร เป็นเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์และบริวารต้องไปขบคิด และหาแนวทางแก้ไข หรือถอนตัวออกจากคู่ขัดแย้งให้เร็วที่สุด เพื่อให้สถานการณ์ความขัดแย้งในสังคมคลี่คลายไปสู่สภาวะปกติตามที่ทุกฝ่ายในสังคมปรารถนา”

ในขณะที่ “พล.อ.ประยุทธ์” อาจยังไม่รู้ว่าตนเองคือจุดอ่อน คือจุดศูนย์กลางความขัดแย้ง ยิ่งมาฟังโอวาทที่ให้กับนักศึกษากว่า 500 คนในโครงการยุวชนสร้างชาติ มีนัยยะน่าสนใจยิ่งว่า “ถึงเวลาที่เราจะต้องรวมพลังกันได้แล้ว อะไรที่ขัดข้องหมองใจต้องคุยกัน ทุกอย่างต้องแก้ปัญหาแบบนี้ ในต่างประเทศเขาก็แก้ปัญหากันแบบนี้ รบราฆ่าฟันกันยิ่งกว่านี้ เราต้องการกลับไปแบบนั้นกันอีกหรือ อย่าเลย เอาความตั้งใจมาร่วมมือกันคิดกันทำจะดีกว่า”

Advertisement

คำพูดที่ว่า “เราต้องการกลับไปแบบนั้นกันอีกหรือ” เหมือนเป็นคำขู่ว่า เชื้อแห่งการยึดอำนาจยังไม่หมดไปจากสังคมไทย หากจะเกิดอุบัติเหตุอีกครั้ง ย่อมไม่ใช่จากคนชื่อ “บิ๊กตู่” เพราะตนเองอยู่ในฐานะขาลอย ไร้อำนาจจากกองทัพ จึงย่อมรู้ว่าหากจะมีการรัฐประหารขึ้น ย่อมต้องเป็นผู้มีอิทธิพลของกองทัพในขณะนี้นั่นเอง

สำหรับบรรดา ส.ส.ในสภาเกือบ 500 คนย่อมรู้พิษสงของการยึดอำนาจ ชะตากรรมของนักการเมืองที่ไร้สภานานกว่า 5 ปี ต้องตกอยู่ภายใต้ท็อปบู๊ตนั้น กล้ำกลืนฝืนทนกันขนาดไหน

การแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองในสภา ย่อมเป็นหนทางที่ถูกต้อง เป็นไปตามครรลองของประชาธิปไตยสากล

หนทางการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองกำลังเปิดกว้าง เมื่อพรรคฝ่ายค้านกำลังจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในช่วงวันที่ 20 มกราคมนี้ เป้าหมายหลักย่อมที่ไม่พ้น “พล.อ.ประยุทธ์”

ภูมิธรรม เวชยชัย รองประธานคณะกรรมการกิจการพิเศษ พรรคเพื่อไทย มองผลการอภิปรายว่า ฝ่ายค้านที่มีเสียงข้างน้อย ในภาวะที่รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ การอภิปรายของฝ่ายค้านอยู่ในเหตุและผล แล้วให้สังคมร่วมตัดสินใจรัฐบาล หากแก้ปัญหาจัดการไม่ได้ก็คงบริหารไม่ได้ เพราะประชาชนไม่ให้ความเชื่อมั่น เมื่อดูจากปรากฏการณ์ที่ประชาชนแสดงออกถึงความไม่พอใจที่มาต่อรัฐบาล ยิ่งสะสมมากขึ้น สิ่งที่รัฐบาลแก้ได้ โดยเร่งจัดการกับปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น เปลี่ยนคนที่ไร้ประสิทธิภาพแก้ปัญหาไม่ได้ หากรัฐบาลเร่งทำก่อนอาจทำให้ความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลดีขึ้นก็ได้

ยิ่งคำพูดของ “เทพไท” บอกว่า ปัญหาทั้งหมดอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะถอดสลักแก้ปัญหาความขัดแย้งของคนในชาติได้อย่างไร

หาก ส.ส.ที่มักอ้างตัวเองว่ายึดโยงกับประชาชน จะช่วยกันถอดสลักความความขัดแย้ง

ร่วมมือร่วมใจกัน “กำจัดจุดอ่อน” และให้บทเรียนกองทัพกันสักครั้ง …

โกนจา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image