คุณทำอะไร หลังเลิกเรียน? : โดย สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน, ชุติมา ชุมพงศ์

เด็กไทย เรียนหนักที่สุดในโลก
ความเหลื่อมล้ำประเทศไทย อันดับที่ 1 ของโลก
กลุ่มเด็กยากจน กลุ่มเสี่ยง ด้อยโอกาส 3.7 ล้านคน

สังคมไทยกำลังเสี่ยง เปราะบาง และอันตราย สำหรับเด็กและเยาวชนมากขึ้นทุกวัน
“หลังเลิกเรียนคุณทำอะไร” คำถามนี้คงเป็นคำถามที่ต้องใส่ใจ ทวนกระแสสำหรับผู้กำหนดนโยบาย พ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือนักเรียนนักศึกษาต้องเคยประสบพบกับการหากิจกรรมทำหลังเลิกเรียน ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมของเด็กและเยาวชนในโรงเรียนที่อยู่ในเมือง คือ การเรียนพิเศษกวดวิชาหามรุ่งหามค่ำเสริมทักษะหาความรู้ทางด้านวิชาการ การเรียนเสริมทักษะความเคลื่อนไหว เช่น เรียนร้องเพลง เต้นบัลเลต์ เล่นดนตรีทั้งกลอง เปียโน เสพติดออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ไลน์ SnapChat ตากแอร์ในห้างสรรพสินค้า ทำการบ้านกับเพื่อน ในทางกลับกันกิจกรรมของเด็กและเยาวชนในโรงเรียนที่อยู่ในชนบท คือ การเข้าร้านเกม เล่นกีฬาทั้งฟุตบอล บาสเกตบอล แบดมินตัน วอลเลย์บอล เปตอง ตะกร้อ ช่วยเหลืองานที่บ้าน หรือเป็นเด็กล่องลอย พฤติกรรมเสี่ยงติดเหล้า บุหรี่ การพนัน แว้นมอเตอร์ไซค์ และยาเสพติด ซึ่งพบว่าเป็นปัญหาและมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นมากขึ้นเรื่อยๆ

และเมื่อเด็กในวัยเรียนก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ได้มาเรียนสถาบันอุดมศึกษาที่ตนได้เลือกเรียนแล้วนั้น พบความแตกต่างของชีวิตในช่วงวัยเรียนมัธยมกับช่วงวัยเรียนอุดมศึกษาในเรื่องเวลาเป็นอย่างมาก กล่าวคือ มีเวลาว่างเยอะกว่าวัยมัธยมเพื่อไปทำการบ้าน รายงาน โปรเจ็กต์ ตื่นสายได้ การบริหารจัดการเวลาอยู่ที่ตัวเราเอง รวมถึงเวลาหลังเลิกเรียนก็ไม่เท่ากัน เนื่องจากบางวันมีเรียนน้อยก็สามารถเลิกเรียนได้เลย หรือบางวันมีเรียนต้องอยู่ทำรายงานกับเพื่อนทำให้เลิกเรียนช้า คำถามที่ว่า “หลังเลิกเรียนคุณทำอะไร” จึงเป็นคำถามที่น่าสนใจว่านิสิตนักศึกษาหลังเลิกเรียนทำอะไรกัน

นอกจากนี้ งานวิจัยของ ดร.ไมเคิล บรูส (Dr.Michael Breus) นักจิตวิทยาคลินิกและนายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับ เชื่อว่าการทำงานกับนาฬิกาธรรมชาติของร่างกายเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จในการทำงานต่างๆ โดยช่วงเวลาของการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ของคนเราจะมีประสิทธิภาพมากที่สุดเมื่ออยู่ในช่วงเวลา 10.00-14.00 น. และ 16.00-22.00 น. เนื่องจากสมองจะอยู่ในช่วงที่พร้อมเปิดรับสิ่งต่างๆ มากที่สุด ในขณะที่ช่วงเวลาที่ไม่ควรจะเรียนรู้หรือขวนขวายอะไรให้เข้ามาในสมอง คือ ช่วง 04.00-07.00 น. เนื่องจากเป็นเวลาแห่งการนอนหลับพักผ่อน อีกทั้งช่วงเวลาที่ความคิดสร้างสรรค์จะทำงานได้ดีที่สุดกลับเป็นช่วงเวลาที่รู้สึกเหนื่อยล้า และสมองเริ่มฟุ้งซ่าน เพราะสมองด้านซ้ายและด้านขวาจะเชื่อมต่อกันและกระตุ้นความคิดใหม่ๆ ดังนั้นช่วงเวลาหลังเลิกเรียนจึงเป็นช่วงเวลาที่มีค่าของการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ของเด็กและเยาวชน

Advertisement

จากการลงพื้นที่การทำงานของผู้เขียน โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีความหลากหลายของความเป็นเมืองและความเป็นชนบท การท่องเที่ยว การค้าบริการทางเพศ ขบวนการค้ามนุษย์ ยาเสพติด พบความหลากหลายของเด็กและเยาวชนทั้งทางด้านวัฒนธรรม ภาษา เศรษฐานะ มีกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น ม้ง ลาหู่ กะเหรี่ยง อาข่า หรือแม้แต่กลุ่มเด็กและเยาวชนที่มีความต้องการพิเศษ เปราะบางที่ต้องการได้รับการดูแล อีกทั้งยังพบว่ามีเด็กและเยาวชนที่เป็นนิสิตนักศึกษาในนามกลุ่ม “เครือข่ายเยาวชน คน มือ ดี” ซึ่งประกอบด้วยนิสิตนักศึกษาที่อยู่ในชมรมหลากหลายสถาบันในภาคเหนือตอนบน เช่น ชมรมเสริมสร้างสุขภาพและชมรมฅนสร้างสุข มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ชมรมบูรณาการความรู้สู่ชุมชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชมรมรากดินแม่โจ้ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ชมรมฅนรักษ์ธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เป็นนักกิจกรรมที่ลงไปทำงานกับชุมชน นำองค์ความรู้ที่หลากหลายในสถาบันอุดมศึกษา มาบูรณาการ ทำงานร่วมกับชุมชน ในการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ผ่านการชักจูง ชี้แนะ กลุ่มคนที่ทำงานกับเด็กและเยาวชน นั่นก็คือ “มูลนิธิภูมิพลังชุมชนไทย” ที่เป็นโซ่ข้อกลาง คอยให้คำแนะนำ ชักจูงให้เด็กและเยาวชนได้เจอกัน สนับสนุน สร้างและเปิดพื้นที่การเรียนรู้ ถ่ายทอดเรื่องราวที่ได้พบเจอ โดยกลุ่มเยาวชนดังกล่าวได้สะท้อนปรากฏการณ์สังคมไทยผ่านสื่อ นำเสนอผลงานที่เกิดจากทรรศนะที่มีต่อสังคม และเป็นเบื้องหลังความคิดของเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่มองเห็นมุมของปัญหาทางสังคมที่เกิดขึ้น และส่งผลกระทบต่อชีวิต ผ่านหนังสั้นที่เป็นเรื่องเล่าทั้ง 3 เรื่อง กล่าวคือ

เรื่องเล่าที่ 1 ต่าง Different จากทีม BUCHA-FIRE นักศึกษาชมรมบูรณาการความรู้สู่ชุมชน คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเด็กไร้สัญชาติไร้สิทธิทางการศึกษาไม่ได้ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาเหมือนเด็กสัญชาติไทยคนอื่นๆ เรื่องเล่าที่ 2 เปราะบาง Fragile จากทีม ณ บ้านนอกสตูดิโอ เด็กมัธยมปลาย จากโรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคม รัชมังคลาภิเษก อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เป็นเรื่องราวของวัยรุ่นในหมู่บ้าน ที่ต้องเผชิญปัญหาของสังคม หลงใหลในวัตถุนิยม ขาดสติพิจารณา การตั้งครรภ์วัยเรียน ทำให้เขาต้องคอยแก้ไขปัญหาที่เผชิญกับผลกระทบของโลกวัตถุนิยม และเรื่องเล่าที่ 3 เรื่องเล่าหลังเลิกเรียน The After-Class Story จากทีม ADEC FILMS สาขาวิชาการสื่อสารดิจิทัล คณะสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นเรื่องราวของเด็กคนหนึ่งที่เกิดและโตมาในครอบครัวที่เห็นพ่อต้องเลี้ยงดูตนเองเพียงลำพัง เมื่อหลังเลิกเรียนต้องรีบกลับมาช่วยพ่อทำงาน แต่งานของพ่อเป็นอาชีพที่สังคมไม่ได้ให้การยอมรับนั่นคือ การต้มเหล้าเถื่อน แล้วเขาจะทำอย่างไรต่อไป

อย่างไรก็ตาม เรื่องราวทั้ง 3 เรื่องราวที่ได้สะท้อนให้เห็นเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนปัญหาทางสังคมของเด็กและเยาวชนที่ได้ลงพื้นที่หลังเลิกเรียนแล้วนำมาถ่ายทอดเรื่องราว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องการเข้าไม่ถึงสิทธิการศึกษาของเด็กไร้สัญชาติ ความเปราะบางของเด็กและเยาวชนในสังคมโลกวัตถุนิยม การทำหน้าที่ลูกที่ดีแม้ขัดต่ออาชีพของผู้ให้กำเนิดที่ไม่ได้รับการยอมรับ และอื่นๆ ดังจะเห็นว่าการกำหนดจังหวัดพื้นที่เฉพาะ สังคมเด็กและเยาวชนนำเศรษฐกิจท่องเที่ยว หลังเลิกเรียนให้เกิดกิจกรรมสร้างสรรค์ พื้นที่การแสดงออก และส่งเสริมการมีส่วนร่วมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการมหาวิทยาลัยในพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคม เบญจภาคี ช่วยกันร่วมมือร่วมใจ บูรณาการทำงาน มีส่วนร่วมทุกฝ่าย ลดการกวดวิชาลงบ้าง รับฟังเสียงของเด็กและเยาวชน หากิจกรรมและมีการเปิดพื้นที่ที่สร้างสรรค์หลังเลิกเรียนสอดแทรกความรู้ในเรื่องต่างๆ เช่น การรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและดิจิทัล สิทธิขั้นพื้นฐานที่เด็กพึงได้รับ การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ปัญหาด้านสุขภาวะของวัยรุ่น คือ การติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การขาดสารอาหาร ภาวะอ้วน เหล้า บุหรี่ และสารเสพติด ตลอดจนปัญหาที่เกี่ยวกับสุขภาพจิต

Advertisement

ผู้เขียนเชื่อว่าจังหวัดเชียงใหม่จะเป็นต้นแบบจังหวัดจัดการตนเองของเด็กและเยาวชนหลังเลิกเรียนได้ดีที่สุด

สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน
ชุติมา ชุมพงศ์
หน่วยปฏิบัติการวิจัยเพื่อการพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน
คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image