โดนัลด์ ทรัมป์-หลิว เหอ ลงนามสัญญาข้อตกลงการค้าระยะที่ 1 : โดย ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

โดนัลด์ ทรัมป์-หลิว เหอ ลงนามสัญญาข้อตกลงการค้าระยะที่ 1 : โดย ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

โดนัลด์ ทรัมป์-หลิว เหอ ลงนามสัญญาข้อตกลงการค้าระยะที่ 1 : โดย ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

จีน-สหรัฐได้ลงนามสัญญาข้อตกลงสงครามการค้าระยะที่ 1 เรียบร้อยแล้ว ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 15 มกราคม ตามเวลาท้องถิ่น

จีนตกลงยินยอมนำเข้าสินค้าสหรัฐภายในเวลา 2 ปีเป็นจำนวน 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

เป็นการสะสมต้นทุนในทางการเมืองของทรัมป์เพื่อป้องกันตำแหน่งประธานาธิบดี

Advertisement

สำหรับปักกิ่ง ถือเป็นการซื้อเวลาในประการที่ทำการปรับเปลี่ยนและยกระดับเกี่ยวกับเศรษฐกิจและเทคโนโลยีตาม “รูปแบบจีน”

สัญญาข้อตกลงใหม่ได้ยกเลิกการยกระดับปรับเพิ่มอัตราภาษีสินค้านำเข้าเป็นการชั่วคราว

ย่อมต้องถือเป็นข่าวดีในทางเศรษฐกิจสำหรับจีน-สหรัฐ และทั่วโลก

Advertisement

แม้กระนั้น ยังมีอุปสรรคในการปฏิบัติตามสัญญา อันอาจกลายเป็นข้ออ้างในการฉีกสัญญา

ว่ากันว่า นี่คือสัญญาข้อตกลงที่ค่อนข้างอ่อนแอ จะให้จีน-สหรัฐหยุดรบนานเท่าใด

จำต้องใส่เครื่องหมายคำถามขนาดใหญ่ไว้ก่อน

ตั้งแต่เริ่มต้นสงครามการค้า โดนัลด์ ทรัมป์ยืนยันว่า “ชนะได้ง่ายดาย”

บัดนี้ จีน-สหรัฐได้ลงนามในสัญญาข้อตกลง ใครแพ้ใครชนะ จึงกลายเป็น “จุดโฟกัส”

การลงนามสัญญาข้อตกลงครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่า ประเด็นส่วนใหญ่เป็นการร้องขอของสหรัฐ เป็นต้นว่า จีนตกลงซื้อสินค้าสหรัฐเป็นจำนวนเงินมหาศาลภายในระยะเวลาอันจำกัด เพียงเพื่อแลกกับการยกเลิกภาษีสินค้านำเข้าบางส่วนเท่านั้น

กรณีย่อมต้องถือว่าจีนยอมโอนอ่อนผ่อนตามข้อเรียกร้องของสหรัฐ

แต่นักวิเคราะห์สหรัฐจำนวนไม่น้อยวิพากษ์ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ได้ประโยชน์ไม่มาก หากอเมริกันชนจำนวนไม่น้อยได้รับความเสียหาย

พรรคเดโมแครตถึงกับโจมตีทรัมป์ว่า พฤติการณ์เป็นการอ่อนข้อต่อจีน ในประเด็นที่ไม่สามารถบังคับให้จีนปรับเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาประเทศ

“สี จิ้นผิง” จึงกลายเป็นคนที่ “หัวเราะทีหลังดังกว่า”

สงครามการค้าจะไม่มีฝ่ายใดชนะหรือแพ้ เพราะมิใช่ Zero Sum Game

มีแต่เสียหายทั้ง 2 ฝ่าย

นี่คือสัจธรรม

ย้อนมอง 2 ปีก่อนสงครามการค้า พิกัดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจีนของสหรัฐถัวเฉลี่ยอยู่ที่ ร้อยละ 3 ส่วนจีนเรียกเก็บร้อยละ 8 ของสินค้าสหรัฐที่นำเข้า

บัดนี้ การลงนามในสัญญาข้อตกลงยุติสงครามการค้าได้สำเร็จลุล่วงแล้ว หากอัตราภาษีการนำเข้าสินค้าของทั้ง 2 ประเทศยังอยู่ในระดับร้อยละ 20

เป็นเหตุให้กระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

หากพินิจในมุมแห่งผลประโยชน์ทางการค้า ทั้ง 2 ฝ่ายคือผู้แพ้

หากพิเคราะห์ถึงนัยแห่งสัญญาข้อตกลงครั้งนี้ เป็นที่ประจักษ์ว่า มีอยู่เกินกว่า 80 จุดที่ระบุว่า “จีนต้อง” ปฏิบัติอย่างไร ในขณะที่มีเพียงไม่กี่จุดที่ระบุว่า “สหรัฐต้อง” ปฏิบัติอย่างไร

จึงเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า จีนมีความเสียเปรียบในเชิงการเจรจา

แต่ก็ต้องหวานอมขมกลืน

กรณีจึงเสมือน “คนใบ้อมบอระเพ็ด”

แรกเริ่ม เนื้อแท้แห่งสงครามการค้าคือ การ “รุก-รับ” เท่านั้น หากจะพิจารณาว่าฝ่ายใดชนะหรือแพ้ ควรต้องดูฝ่าย “รุก” ได้อะไร และบรรลุเป้าหมายหรือไม่

ส่วนฝ่าย “รับ” ควรต้องดูว่ารับอยู่หรือไม่

หากย้อนมองสาเหตุที่ “โดนัลด์ ทรัมป์” เปิดสงครามการค้านั้น ก็คือการค้าจีน-สหรัฐมีการขาดดุลมหาศาล ตลอดจนการโอนย้ายเทคนิคและนโยบายชดเชย ไม่มีความยุติธรรม

ต้องถือว่าเคราะห์ซ้ำกรรมซัด ฝ่ายเหยี่ยวได้ฉวยโอกาสบังคับให้จีนเปลี่ยนแปลงรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจ และทำการสกัดความเติบโตทางเทคโนโลยีและเศรษฐกิจ

ส่วนประเทศจีน ซึ่งกำลังอยู่ในห้วงเวลาที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบทางเศรษฐกิจ ปริมาณการบริโภคเป็นการกระตุ้นความเติบโตทางเศรษฐกิจ การเพิ่มปริมาณนำเข้าซึ่งสินค้า

จึงเป็นการอันสอดคล้องกับสภาพการณ์ของประเทศ

สรุปผลการ “รุก” ของทรัมป์ ได้ประโยชน์ไม่มากอันเกี่ยวกับการแก้ปัญหาขาดดุล ส่วนจีนซึ่งเป็นฝ่าย “รับ” อุปมาเสมือน “ผู้รักษาประตู” ของกีฬาฟุตบอล ก็ทำหน้าที่รักษาประตูได้ดี

โดนัลด์ ทรัมป์ จึง “เตะลูก” ไม่เข้า

ก่อนหน้านี้ การเจรจาการค้าจีน-สหรัฐ มีประเด็น 1 ที่ตกลงกันมิได้ ซึ่งสหรัฐยืนยันจะต้องมีระบบ “ตรวจสอบ” ประเทศจีนอันเกี่ยวกับการบรรลุการดำเนินการตามสัญญาหรือไม่ประการใด แต่ปักกิ่งเห็นว่าเป็นการละเมิดอธิปไตย

ดังนั้น จึงไม่ตกลง

บัดนี้ สัญญาข้อตกลงมีการเปลี่ยนแปลงจากข้อเสนอเดิม คือกรณีที่เกิดข้อโต้แย้ง ทั้ง 2 ฝ่ายมีสิทธิยกประเด็นปัญหาขึ้นพิจารณา และทำการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกัน

การลงนามในสัญญาข้อตกลงครั้งนี้ มีประเด็นที่น่าสนใจคือ

“หลิว เหอ” รองนายกรัฐมนตรีจีน ซึ่งเป็นผู้ที่ลงนามในสัญญาคู่กับ “โดนัลด์ ทรัมป์” นั้น มิได้ไปในฐานะทูตพิเศษของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง หากไปในฐานะรองนายกรัฐมนตรีจีน แต่ทรัมป์ยอมลดระดับประธานาธิบดี ทำการลงนามในสัญญาร่วมกับรองนายกรัฐมนตรี โดยไม่ส่งผู้แทนการค้าที่อยู่ในระดับเดียวกับ “หลิว เหอ” คือ “ไลท์ไฮเซอร์” มาลงนามแต่อย่างใด

เป็นการ “เรียกแขก” ที่ประเสริฐสุด

อย่างไรก็ตาม นัยยะแห่งสัญญาข้อตกลงการค้า ยังไม่รัดกุมพอ ต่อไปหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะขอถอนตัวออกจากสัญญาคงมิใช่เรื่องยาก แต่ภายในสิ้นปีนี้คงจะมีความราบรื่นพอควร เพราะเป็นห้วงเวลาที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี สิ่งที่ทรัมป์ต้องการคือป้องกันแชมป์ให้สำเร็จ

คนอย่างทรัมป์ มีความพลิกพลิ้วชิวหา พูดจาก็เพื่อความสะดวกไปเฉพาะคราวหนึ่งๆ เท่านั้น

หากทรัมป์ได้รับเลือกอีก 1 สมัย เมื่อถึงการเจรจาระยะที่ 2 ทรัมป์อาจทำการกดดันจีนมากขึ้น โดยบังคับให้จีนยอมโอนอ่อนผ่อนตามสิ่งซึ่งสหรัฐต้องการ

การหาข้ออ้างเพื่อฉีกสัญญานั้น สำหรับโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นเรื่องไม่ยาก

แต่จีนคงไม่ยอมก้มหัวให้อย่างง่ายดาย

อย่างไรก็ตาม การลงนามในสัญญาข้อตกลงเจรจาการค้าระยะที่ 1 เพียงเพื่อให้ยุติความขัดแย้งชั่วคราวเท่านั้น น่าเชื่อว่าละครฉากเด็ดคงจะต้องตามมา

เพราะขณะนี้เป็นเพียงการโหมโรงเท่านั้น

ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image