สถานีคิดเลขที่ 12 : อาการน่าเป็นห่วง : โดย จำลอง ดอกปิก

สถานีคิดเลขที่ 12 : อาการน่าเป็นห่วง : โดย จำลอง ดอกปิก

สถานีคิดเลขที่ 12 : อาการน่าเป็นห่วง : โดย จำลอง ดอกปิก

ปัญหารุมเร้ารัฐบาล ท้าทายความสามารถในการบริหารจัดการแก้ปัญหาที่เป็นคำถามมาตลอดอย่างเป็นที่ยิ่ง

เศรษฐกิจแย่เรื้อรัง ปัญหายังไม่คลี่คลาย ซ้ำร้ายถูกซ้ำเติม ด้วยภัยแล้ง น้ำแห้งขอด ขยายวงกว้างอย่างน้อย 20 จังหวัด

ปากหิว ท้องกิ่วไม่พอ

Advertisement

หายใจไม่คล่อง ติดขัดอีกต่างหาก

ฝุ่นจิ๋วพีเอ็ม 2.5 เกินมาตรฐานหลายพื้นที่/เขต จังหวัด กระทบสุขภาพประชาชนอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้

งบประมาณประจำปี 2563 จำนวน 2.3 ล้านล้าน ที่รัฐและฝ่ายต่างๆ รอคอย พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้ เนื่องจากเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาล ในการแก้ปัญหา ปากท้อง ประคองชีพจรเศรษฐกิจให้พอเดินต่อได้ และอีกสารพันปัญหา

Advertisement

ล่าช้าจากตุลาคม 2562 เดือนแรกของปีงบประมาณ 4 เดือนแล้ว

กุมภาฯเดือนหน้า ที่คาดการณ์ไว้ จะออกใช้ ก็ติดปัญหา กระบวนการตรากฎหมาย ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่

เนื่องจาก ส.ส.พรรครัฐบาลเสียบบัตร โหวตลงคะแนนเสียงแทนกัน ในวาระ 2 และ 3

จำเป็นต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย

บางฝ่ายคาดว่า อาจใช้เวลา 2 เดือน หรือล่าช้าจากปกติถึง 6 เดือน

ขณะที่ปัญหาไม่คอยท่า

ยิ่งช้ายิ่งเสียโอกาส แก้ยากขึ้นทุกวัน และส่งผลกระทบต่อประชาชน ผู้มีส่วนได้เสีย จากการบริหารประเทศ

จริงอยู่ งบประมาณเป็นเครื่องมือสำคัญต่อการแก้ปัญหาอย่างมิต้องสงสัย

หากออกช้า ย่อมเกิดผลกระทบตามมาแน่นอน มากน้อยตามระยะเวลา มาตรการรองรับ และการปรับแผนเบิกจ่าย

แต่ที่น่าห่วงยิ่งกว่า คือวิธีบริหาร จัดการ

เพราะในขณะที่ปัญหาเก่า ปัญหาใหม่ทับถมนับวันเพิ่มขึ้น แต่แนวทางแก้ยังเป็นแบบเดิม

พิมพ์เดียวกันกับรัฐบาล คสช. ไม่เปลี่ยน แปลง ซึ่งพิสูจน์มาแล้วว่า ประสบความสำเร็จในการคลี่คลายปัญหาเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำหรือไม่

ประสบความสำเร็จเรื่องการพัฒนาสร้างความเข้มแข็งจากฐานรากเพียงใด

การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ รักษาสิ่งแวดล้อม การสร้างความสงบสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ฯลฯ

เรื่องใดได้รับการยอมรับอย่างเป็นการทั่วไปว่าดีขึ้น??

เป็นความจริงที่ว่า ปัญหาของประเทศนั้นมากมายก่ายกอง แก้ไม่ง่าย และไม่สามารถคลี่คลาย แก้ไขได้ในเวลาอันรวดเร็ว

เรื่องนี้ ต้องให้ความเป็นธรรมกับรัฐบาล

แต่อย่างน้อย 5-6 ปีที่ผ่านมา ก็ถือได้ว่าเป็นเวลาไม่น้อย เทอมกว่าๆ ของอายุขัยรัฐบาลเลือกตั้ง

แต่เราๆ ท่านๆ ก็ได้เห็นแล้ว วิธีการแก้ปัญหาแบบเดิมนั้น นำพาบ้านเมืองหลุดพ้นวิกฤต ปัญหาต่างๆ ได้หรือไม่

ตัวอย่างที่เห็นชัด คือ ปัญหาประจำฤดูกาล หมอกควันฝุ่น 2.5 แล้ง ท่วม

ประเทศไทยมิได้ขาดองค์ความรู้ในการแก้ไขแต่อย่างใดเลย แต่ขาดการตัดสินใจบนพื้นฐานข้อมูลที่ถูกต้อง และลงมือทำอย่างจริงจัง แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ควบคู่ไปกับการวางแผนแก้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

เท่าที่เห็นการแก้ปัญหาระยะสั้น ก็ทำแบบเสียมิได้ คล้ายเพียงอยากแสดงให้เห็นว่า ได้กระตือรือร้นแก้ปัญหาแล้วเท่านั้น และระยะยาวยิ่งไม่ต้องพูดถึง

วันนี้แม้เปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลทหาร มาเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้งแล้วก็ตาม

แต่การบริหารยังคงเป็นแบบเดิม

ขาดการมีส่วนร่วมของฝ่ายการเมือง ภาคประชาชน ฝ่ายต่างๆ ขาดการระดมสมอง อย่างที่ควรจะเป็น

มีการผูกขาดอำนาจตัดสินใจ

การตัดสินใจ ก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการยึดข้อมูล ข้อเสนอแนะ แนวทาง ฟังจากฝ่ายข้าราชการเป็นหลัก

ที่ควรใช้ยาแรง ก็ใช้ยาดม ที่จำเป็นต้องแก้แต่ดูเหมือนไม่กล้า

ตัดสินใจเหมือนกับมิได้ตัดสินใจ

จึงน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ว่าวิธีบริหารแบบนี้ หากไม่ทบทวน ทั้งเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้อง ดินฟ้าอากาศ แล้ง ท่วม ฝุ่น และอะไรต่อมิอะไร ประชาชนจะฝากผีฝากไข้ให้กับรัฐบาลได้หรือไม่

ตลอดอายุขัยการบริหารของรัฐบาล คสช.

ไม่มีใครยื่นญัตติ อภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่มติของจริงที่พอเทียบเคียงได้ว่า รัฐบาลสอบผ่านหรือไม่ คือผลการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562

รัฐบาลจะยังคงสืบทอดแนวทางการบริหารแบบเดิมเอาไว้อีกหรือ ทั้งที่ได้ชื่อว่าเสียของ ล้มเหลว

จำลอง ดอกปิก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image