เดินหน้าชน : พันพัวนัวเนีย : โดย สัญญา รัตนสร้อย

การออกมาแฉกรณี ส.ส.เสียบบัตรลงคะแนนแทนกันของพรรคภูมิใจไทย โดย นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในการโหวตร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563

ประชาธิปัตย์ที่เป็นหนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาลเช่นเดียวกับภูมิใจ

กระทั่งต้องเสนอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาร่างกฎหมายฉบับนี้

เป็นการวางระเบิดให้รัฐบาลต้องเร่งถอดชนวนโดยด่วน

Advertisement

ไม่เพียงส่งผลต่อกระบวนการออกกฎหมายโดยมิชอบ

ไม่เพียงอาจส่งผลต่อสถานะรัฐบาล ในฐานะผู้เสนอร่างกฎหมายที่มีความสำคัญต่อการบริหารราชการแผ่นดิน

หากอานุภาพของระเบิด กว้างขวางเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโดยรวม ความเป็นอยู่ประชาชนทั้งประเทศ

Advertisement

นั่นเพราะเท่ากับการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ เพื่อดำเนินกิจกรรมต่างๆ หล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจต้องถูกดึงยืดยาวออกไปอีก จากที่ต้องถูกนำมาใช้จ่ายตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2562

ล่าช้ามาแล้วร่วม 4 เดือน

ถ้าอย่างนั้นในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลไปล้วงเงินจากไหนมาใช้จ่าย

อธิบายได้จากมาตรา 141 แห่งรัฐธรรมนูญ กำหนดว่าหาก พ.ร.บ.งบประมาณฯออกไม่ทันปีงบประมาณใหม่ ให้ใช้กฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณปีก่อนไปพลางก่อน ขณะนี้จึงอยู่ระหว่างการใช้หลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2562 ที่มีวงเงินรวม 3 ล้านล้านบาท

แต่มีเงื่อนไข เงินที่นำมาใช้จะต้องเป็นไปเพื่อรายจ่ายประจำ อาทิ เงินเดือนข้าราชการและโครงการลงทุนที่ผูกพันสัญญาไว้แล้วเท่านั้น ภายใต้กรอบไม่เกินครึ่งหนึ่งของงบประมาณปี 2562 หรือ 1.5 ล้านล้านบาท

ปัญหาอยู่ที่ว่า ช่วงที่ 4 เดือนก่อนใช้วงเงินไปแล้ว 1 ล้านล้านบาท จึงเหลือพื้นที่อีก 5 แสนล้านบาท

สำนักงบประมาณคำนวณดูแล้ว จะพอใช้ได้ไปถึงเดือนมีนาคมนี้

หากไม่มีสัญญาณบวก หลังจากนั้นเงินข้าราชการทั่วประเทศอาจต้องสะดุด หรือ “ชัตดาวน์” ทันที

แม้หลายฝ่ายพยายามเสนอทางออก แต่ดูเหมือนยังไม่ลงล็อกเท่าไหร่นัก

วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีแย้มช่อง “โยนหินถามทาง” ทำนองว่า หากการโหวตรับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯของสภาผู้แทนราษฎรมีปัญหาความชอบในกระบวนการออกกฎหมาย อาจเท่ากับร่างกฎหมายฉบับนี้เสียไป อีกทั้งขณะนี้ก็ล่วงเลยกำหนดเวลา 105 วัน ที่รัฐธรรมนูญขีดเส้นสภาผู้แทนราษฎรต้องพิจารณาให้เสร็จสิ้น

รองนายกฯวิษณุให้มุมมอง “ร่างกฎหมายที่เสียไป” อาจเท่ากับสภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯไม่เสร็จภายใน 105 วัน และนำไปเชื่อมโยงกับมาตรา 143 ของรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่าหากสภาพิจารณาไม่เสร็จภายใน 105 ให้ถือว่าสภาเห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติตามที่รัฐบาลเสนอมา และให้เสนอร่างต่อวุฒิสภาพิจารณาต่อไป

จนถึงขณะนี้ไม่มีใครยืนยันได้ว่าแนวทางนี้ ในเชิงกฎหมายสามารถนำมาใช้ได้จริงหรือไม่

ขณะที่ผลกระทบด้านการลงทุนของรัฐ จริงอยู่ พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2563 แม้มีวงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท แต่ส่วนใหญ่หมดไปกับรายจ่ายประจำกว่าร้อยละ 70 เหลืองบเพื่อการลงทุนประมาณ 6.5 แสนล้านบาท ไม่ได้มากมายเพียงพอขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจทั้งประเทศ

แต่ในสภาพภาคเอกชนยังอยู่ระหว่างรอดูทิศทาง และภาวะแวดล้อมของเศรษฐกิจทั้งภายในและนอกประเทศที่ยังไม่สู้ดีนัก การลงทุนจึงแผ่วบางตามสถานการณ์

เม็ดเงินจากภาครัฐเพื่อเป็นหัวเชื้อให้ภาคเอกชนเดินตาม จึงมีความจำเป็นอย่างสูง

การดำรงอยู่ของการเมืองและการเศรษฐกิจไทย เกี่ยวข้องเชื่อมโยงยากจะแยกออก ทั้งส่งผลกระทบต่อกัน

การเมืองในสภา การเมืองระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล กำลังส่งผลต่อเศรษฐกิจ

น่าสนใจว่า เมื่อปัญหาเศรษฐกิจเป็นผลจากเหตุข้างต้น แล้วจะเป็นอย่างไรต่อการเมืองของรัฐบาล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image