ออง ซาน กับรัฐพม่าสมัยใหม่ (3) : โดย ลลิตา หาญวงษ์

อะไรจะเกิดขึ้นหากออง ซานไม่ถูกลอบสังหาร และขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศหลังพม่าได้รับเอกราชในต้นปี 1948? สังคมพม่าเชิดชูออง ซานในฐานะวีรบุรุษของชาติ เขาเป็นคนธรรมดาเพียงไม่กี่คน (นอกจากมหาบัณฑุละ แม่ทัพที่นำพม่าสู้กับกองทัพอังกฤษจนตัวตาย) ที่มีอนุสาวรีย์อยู่ทั่วประเทศ และเป็นเหมือนศูนย์รวมจิตใจที่ทำให้สังคมพม่า ที่ยังมีศูนย์กลางอยู่ที่คนพม่าแท้ รวมทั้งสถาบันทางการเมือง รู้สึกหวงแหนความเป็น “ชาติ” และความเป็นสหภาพอย่างเหนียวแน่นมาจนถึงปัจจุบัน

แนวคิดเรื่องชาตินิยมของออง ซานคล้ายคลึงกับนักชาตินิยมคนอื่นๆ ในรุ่นราวคราวเดียวกัน แต่เนื่องจากเขาแสดงความเป็นผู้นำมาตั้งแต่อายุยังน้อย และเป็นผู้สมาทานแนวทางสังคมนิยมอย่างแรงกล้า ทำให้ออง ซานตีความเรื่องชาติที่ออกจะก้าวหน้าอยู่มาก ครั้งหนึ่ง ออง ซานเคยให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ New Times of Burma (ธันวาคม 1946) ไว้ว่า

“ในความเห็นของข้าพเจ้า…ทุกชาติในโลกต้องเป็นเอกราช ทั้งเอกราชภายนอกและภายใน หมายความว่า ทุกๆ ชาติในโลกที่มีผู้คนจากหลายๆ ชาติและศาสนาควรพัฒนาแนวคิดชาตินิยมขึ้นเพื่อมอบสวัสดิการสังคมให้กับทุกคนในสังคมอย่างถ้วนทั่ว โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ ศาสนา ชนชั้น หรือเพศ นี่คือชาตินิยมสำหรับข้าพเจ้า”

สำหรับออง ซาน ชาตินิยมคือการอยู่ในสังคมร่วมกัน ผู้คนใช้ภาษาเดียวกัน ต่างคนต่างช่วยกันพัฒนาชาติ และมีความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับชุมชนที่เรียกว่า “ชาติ” (oneness) เป็นแนวคิดที่ทันสมัยสำหรับประเทศในเอเชียยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ในระหว่างสงคราม เขาเล็งเห็นว่าการนำพารัฐนาวาให้อยู่รอดได้อย่างยั่งยืนคือการส่งเสริมความสมัครสมานสามัคคีในชาติ หรือ “ความสามัคคีในความหลากหลาย” คล้ายคลึงกับนโยบายที่ลี กวน ยิว นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ นำมาใช้หลังแยกตัวออกมาจากมาเลเซียในปี 1965

Advertisement

จริงอยู่ว่าวิสัยทัศน์ของออง ซานอาจเป็นคำพูดเพื่อกระตุ้นคนในชาติในยุคก่อนพม่าได้รับเอกราช เพื่อสร้างพม่าใหม่ที่เข้มแข็งมั่นคง แทนที่จะให้ความสำคัญกับความแตกต่างด้านเชื้อชาติและศาสนา สำหรับชนกลุ่มน้อยบางกลุ่ม โดยเฉพาะชาวกะเหรี่ยง การเข้าร่วมกับรัฐบาลพม่าเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้เลย ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวกะเหรี่ยง (ส่วนใหญ่เป็นชาวคริสต์เป็นกำลังพลที่ช่วยอังกฤษรบกับทั้งญี่ปุ่น) และกองกำลังแห่งเอกราชพม่า (BIA) ที่มีออง ซาน เป็นผู้นำ (ในขณะนั้นออง ซานยังสนับสนุนญี่ปุ่นอยู่) ทั้งสองฝ่ายสู้รบกันอย่างดุเดือด และทำให้มีทั้งกองกำลังและชาวบ้านกะเหรี่ยงเสียชีวิตในการปะทะกับ BIA มากถึงเกือบ 2,000 คน ความบาดหมางระหว่างกองทัพฝ่ายพม่ากับกองกำลังของกะเหรี่ยงเป็นบาดแผลลึก แม้ต่อมาออง ซานจะพยายามไถ่โทษและเอาอกเอาใจผู้นำของกะเหรี่ยง แต่ก็ไม่เป็นผล และยังทำให้กะเหรี่ยงเป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ไม่กี่กลุ่มที่ไม่เข้าร่วมการลงนามในข้อตกลงปางหลวงในปี 1947 ด้วย

ข้อเขียนและสุนทรพจน์ของออง ซานหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่าเขามีความคิดเรื่องชาติ และสาธารณรัฐ ที่ทันสมัยยิ่ง ครั้งหนึ่งเขาเคยวิจารณ์ระบบเจ้าฟ้าของรัฐฉานว่าเป็นระบบที่ล้าสมัย แต่ถึงกระนั้น เมื่อพม่าได้รับเอกราชแล้ว ก็ต้องเป็นคนฉานที่กำหนดชะตาชีวิตของตนเอง แม้ระบบเจ้าฟ้าอาจจะดูไม่ทันสมัยเหมือนที่อื่น แต่หากชาวฉานเลือกมาแล้ว รัฐบาลพม่าก็ไม่มีสิทธิจะไปก้าวก่ายในกิจการภายในของรัฐฉาน ออง ซานมีนโยบายให้ชนกลุ่มน้อยบริหารจัดการเรื่องภายในของตนเอง โดยที่รัฐบาลพม่าจะจัดการเฉพาะเรื่องใหญ่ๆ เช่น การคลัง การทหาร และการบริหารบ้านเมือง ที่เป็นประโยชน์กับผู้คนทั้งสหภาพพม่า

จุดเด่นของพม่าคือการเป็นพหุสังคมที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และศาสนา ทั้งกลุ่มคนที่อยู่มาแต่เดิม และกลุ่มคนอินเดียและจีนที่เข้ามาใหม่ แต่ความโดดเด่นนี้เปรียบเหมือนดาบสองคมสำหรับรัฐพม่ายุคหลังเอกราช ในยุคหนึ่ง อังกฤษปกครองพม่าแบบหลวมๆ และไม่นำกิจการของชนกลุ่มน้อยแต่ละกลุ่มมาปะปนกัน แม้ออง ซานจะเกลียดชังระบอบอาณานิคมของอังกฤษ แต่เขาเห็นด้วยว่าการพัฒนากองทัพสมัยใหม่ที่มีประสิทธิภาพนั้น รัฐควรจัดกองทัพอยู่บนพื้นฐานของชาติพันธุ์ ยกตัวอย่างเช่น ใน Burma Battalion ก็ไม่ควรมีทหารกลุ่มชาติพันธุ์อื่นนอกจากชาวพม่าแท้ และทหารที่มีความสามารถด้านการรบในป่าเป็นพิเศษอย่างทหารกะเหรี่ยง ก็ควรจะมีเฉพาะทหารกะเหรี่ยงใน Karen Battalion โจเซฟ ซิลเวอร์สไตน์ (Josef Silverstein) ผู้รวบรวมสุนทรพจน์ของออง ซาน ตั้งข้อสังเกตว่าแนวคิดการจัดกองทัพบนพื้นฐานของกลุ่มชาติพันธุ์สำหรับออง ซานคือการเน้นให้เห็นศักยภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ที่แตกต่างกันในพม่า

Advertisement

จริงอยู่ว่าพื้นฐานความคิดของออง ซานจะมาจากแนวทางสังคมนิยม ที่เขาได้มาจากการอ่านงานสไตล์มาร์กซิสต์และศึกษาปรัชญาของนักเขียนฝ่ายซ้ายพม่ายุคก่อนหน้านั้น แต่เมื่อกล่าวถึงระบอบการปกครองที่ออง ซานมองว่าเหมาะสมกับพม่าที่สุด เขามองว่ามีเพียงระบอบประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะสร้างความก้าวหน้าและความกินดีอยู่ดีให้กับคนในชาติอย่างเท่าเทียมกันได้ ก่อนที่จะมีประชาธิปไตยแบบเต็มตัว กลุ่มชาติพันธุ์ในชาติพึงได้รับสิทธิตามธรรมชาติ เทียบเท่าคนพม่าแท้เสียก่อน ในมุมนี้ ออง ซานได้รับแรงบันดาลใจจากงานเขียนของเลนิน เรื่อง Marxism and the National and Colonial Questions

มรดกทางความคิดที่ออง ซานส่งผ่านให้ผู้นำพม่ารุ่นต่อๆ มาคือเรื่องความสมัครสมานสามัคคีของชาติ และการมอบสิทธิการปกครองตนเองให้กับชนกลุ่มน้อย เมื่อเขามีชีวิตอยู่ นโยบายเหล่านี้ได้รับการยอมรับเป็นอย่างดีภายในพรรครัฐบาล AFPFL แต่เมื่อออง ซานถึงแก่อสัญกรรมไปแล้ว ประเด็นเหล่านี้กลายเป็นประเด็นละเอียดอ่อน ที่สร้างความร้าวฉานระหว่างฝ่ายรัฐบาลที่ต้องการรักษาแนวทางของออง ซาน และกองทัพที่ไม่ต้องการให้ “สหภาพ” แตกสลาย ไม่มีใครรู้ว่า หากออง ซานยังมีชีวิตอยู่ พม่าจะพัฒนาไปในแนวทางใด แต่หากได้ประมวลแนวคิดของรัฐบุรุษผู้นี้ ที่จัดว่าก้าวหน้าและเปิดกว้างกว่าผู้นำส่วนใหญ่ในรุ่นเดียวกัน พม่าภายใต้การนำของออง ซานก็อาจจะกลายเป็นหนึ่งในชาติที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชียก็เป็นได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image