ธรรมฝ่ายตรัสรู้ : โดย ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

จิตรกรรมฝาผนังวิหารวัดบวกครกหลวง เจ้าชายสิทธัตถะทรงแผลงศร (เอื้อเฟื้อภาพถ่ายโดย รศ.ดร.สิทธิเดช พงศ์กิจวรสิน)

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมโปรดบุคคลจำนวนมากมายทั้งที่เป็นนักบวชและผู้ครองเรือน บางส่วนฝึกฝนทางจิตมาก่อน จำนวนมากไม่เคยปฏิบัติมาเลย

พุทธสาวกที่เจริญฌานมักปรากฏมากเป็นพิเศษในช่วงต้นโพธิกาลซึ่งอาจเป็นเพราะมีพราหมณ์โบราณจำนวนมากรอการอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้า ส่วนช่วงที่พระพุทธองค์ทรงเริ่มชราภาพและจำพรรษาที่กรุงสาวัตถีในพรรษาที่ 21-44 เป็นช่วงที่มีพุทธบริษัทหลากหลายกว้างขวาง

ประมาณพรรษาที่ 21 พระพุทธองค์ทรงตรัสต่อที่ประชุมสงฆ์วิหารบุพพาราม กรุงสาวัตถีว่าธรรมที่พระองค์ทรงแสดงไว้หลากหลายอันได้แก่สติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4 อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 โพชฌงค์ 7 และอริยมรรค 8 มิใช่เพราะความลำเอียงในการแสดงธรรม ธรรมเหล่านี้ล้วนเป็นไปเพื่อการหลุดพ้นทั้งสิ้น

ในพระสูตรเรียกธรรมทั้ง 7 หมวด 37 ประการดังกล่าวว่า “โพธิปักขิยธรรม”

Advertisement

อาจารย์เสถียร โพธินันทะ เคยกล่าวสรรเสริญว่าอภิธรรมที่พระพุทธองค์ตรัสถึงและปรากฏในพระสูตรที่จริงคือโพธิปักขิยธรรมนี้นี่เอง

ในโพธิปักขิยธรรม แม้มีองค์ประกอบหลายข้อปรากฏอยู่ในหลายหมวด องค์ประกอบเหล่านี้มีบทบาทและความละเอียดที่แตกต่างกัน มิได้เป็นการนับซ้ำ

สติปัฏฐาน 4: เจริญสติโดยมีฐานที่กาย (กายานุปัสสนา) ความรู้สึก (เวทนานุปัสสนา) การรับรู้ (จิตตานุปัสสนา) และสิ่งที่อยู่ในจิต (ธัมมานุปัสสนา)

Advertisement
จิตรกรรมฝาผนังมณฑปวัดกลาง นครหลวง
พระมหากัสสปะและพุทธสาวกเร่งเดินทางเมื่อเห็นดอกมณฑารพ (เอื้อเฟื้อภาพถ่ายโดย ผศ.นพ.ธงชัย พงศ์มฆพัฒน์)

สัมมัปปธาน 4: ความเพียรที่ระวังอกุศล ที่ละอกุศล ที่สร้างกุศลและที่รักษากุศลไว้

อิทธิบาท 4 : ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา

อินทรีย์ 5 : ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา

พละ 5 : ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา

โพชฌงค์ 7 : สติ ธรรมวิจยะ วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ สมาธิ อุเบกขา

อริยมรรค 8 ซึ่งมีองค์ประกอบ 8 ประการ เช่น สัมมาทิฏฐิและสัมมาสมาธิ

ข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อการหลุดพ้นเป็นข้อปฏิบัติสำหรับการเดินทางจากโลกียะสู่โลกุตระ ธรรมปฏิบัติที่คุ้นเคยที่สุดคือสติปัฏฐานอันเป็นการเริ่มต้นสร้างฐานการปฏิบัติด้วยสติ

พระพุทธองค์ทรงตรัสว่าธรรมที่พระองค์ทรงแสดงมีความอัศจรรย์หลายประการ ประการหนึ่งคือการปฏิบัติที่เป็นลำดับ เปรียบเสมือนมหาสมุทรซึ่งค่อยๆ ลาดลง ไม่เป็นเหวลึก โพธิปักขิยธรรมก็คือรัตนะในมหาสมุทรนั้น

หลังจากที่พระพุทธองค์เสวยวิมุติสุข สติปัฏฐาน 4 และอินทรีย์ 5 เป็นข้อปฏิบัติแรกๆ ที่ทรงรำพึงถึง สติปัฏฐาน 4 เป็นทางสายเอก ส่วนอินทรีย์ 5 เป็นทางที่ไปได้ถึงพรหม (แบบอนาคามี)

เมื่อเริ่มต้นในพรรษาแรก พระพุทธองค์ทรงโปรดปัญจวัคคีย์ดาบสเรื่องขันธ์ 5 และอริยสัจ 4 แก่นธรรมดังกล่าวนี้ก็จัดอยู่ในธัมมานุปัสสนา ทรงแสดงอาทิตตปริยายสูตรโปรดเหล่าชฎิลสามพี่น้องโดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับอินทรีย์ อายตนะและอริยสัจ ทรงโปรดทีฆนขปริพาชกด้วยบทเกี่ยวกับธาตุและเวทนาและทรงปูพื้นฐานทางจิตให้ยสกุลบุตร ภัททวัคคีย์และสหายก่อนทรงสอนอริยสัจ เหล่านี้ทรงแสดงให้เหมาะกับพื้นฐานการปฏิบัติของบุคคล

ในบิณฑปาตปาริสุทธิสูตร พระพุทธองค์ทรงตรัสแก่พระสารีบุตรถึงการพิจารณาของพระภิกษุที่ควรเริ่มตั้งแต่ออกบิณฑบาตจนถึงปลายทางคือพระนิพพาน ในพระสูตรนี้มีโพธิปักขิยธรรมเป็นเนื้อหาหลัก ในช่วงปลงอายุสังขารทรงตรัสย้ำว่าทรงแสดงธรรมเหล่านี้ด้วยปัญญาอันยิ่ง

การเดินทางออกจากฝั่งโลกียะสู่ฝั่งโลกุตระถือเป็นการเดินทางที่ยากอย่างที่สุด ไม่เหมือนการพัฒนาจิตใจในระดับที่เป็นโลกียะด้วยกัน

จิตรกรรมฝาผนังวิหารวัดชมภูเวก
พระพุทธเจ้าทรงปราบอชกลาปกยักษ์
ผู้ถึงฝั่งในธรรมย่อมไม่หวั่นไหว

ปัญหานี้ถือเป็นเรื่องพื้นฐานที่สะสมมาเฉพาะบุคคล ภาษาสามารถสื่อการปฏิบัติทางจิตได้เพียงระดับหนึ่ง ส่วนวิธีปฏิบัติได้เลือนไปมากตามกาลเวลาและความเสื่อมถอยของสังคมแวดล้อม ผู้ปฏิบัติจึงต้องสร้างความพร้อม มีความตั้งใจจริงและใฝ่หาธรรม

ผู้ที่ปฏิบัติสามารถเลือกอานาปานสติเป็นจุดเริ่มตามมหาสติปัฏฐานสูตรหรือฝึกฝนยาวต่อเนื่องตามอานาปานสติสูตร อาจอาศัยกายานุปัสสนาบทอื่นในมหาสติปัฏฐานสูตรก็ได้

ทั้งสติปัฏฐานและธรรมปฏิบัติหมวดอื่นล้วนย่อลงได้เป็นศีล-สมาธิ-ปัญญา การปฏิบัติที่เริ่มต้นแตกต่างกันระดับหนึ่งจะต้องเดินไปสู่การเกิดอริยมรรค โอกาสที่จะไม่เข้าเส้นทางจึงย่อมมีมากเป็นธรรมดา

ที่จริง มีพระสูตรสำคัญในพุทธกิจพรรษาที่ 2 ที่อธิบายเส้นทางสู่พระนิพพาน (รถวินีตสูตร) พระปุณณมันตานีบุตรครั้งพบกับพระสารีบุตรได้อุปมาเป็นการเดินทางที่ใช้รถม้าเร็วถึง 7 ผลัดด้วยกัน เรียกกันว่าวิสุทธิ 7 พระสูตรนี้มิได้ใช้คำว่าสติปัฏฐาน 4 อินทรีย์ 5 หรือโพชฌงค์ 7

ในแง่ของการปฏิบัติ ท่านพระอาจารย์หลวงปู่ทิวา อาภากโรได้อธิบายโพธิปักขิยธรรม 37 ให้เข้าใจง่ายในบริบทของโลกสมัยใหม่ ท่านได้เทียบการปฏิบัติเสมือนการเดินทางจากพื้นโลกสู่ดวงจันทร์ไว้อย่างละเอียดและเข้าใจได้ดียิ่ง

สติปัฏฐานเปรียบเสมือนจรวดหรือยานพาหนะ สัมมัปปธานเปรียบเป็นเชื้อเพลิง อิทธิบาทเป็นคู่มือให้ปฏิบัติสำเร็จ อินทรีย์เป็นความพร้อมของเจ้าหน้าที่ทุกแผนก พละเป็นการใช้กำลังออกเดินทางของเจ้าหน้าที่และเกิดอัปปนาสมาธิ โพชฌงค์เป็นการเดินทางจริงแต่ยังไม่เข้าเส้นทาง อริยมรรคจึงจะนับเป็นขั้นที่เข้าเส้นทางแล้ว

ท่านกล่าวว่าการเข้าเส้นทางมีความยากอย่างยิ่ง โคตรภูญาณซึ่งเป็นวิปัสสนาญาณคร่อมฝั่งเปรียบเสมือนระยะที่แรงดึงดูดของโลกเป็นศูนย์ เมื่อเข้ากระแสแรงดึงดูดของดวงจันทร์จึงเป็นพระโสดาบันและเมื่อถึงพื้นผิวก็เป็นอันว่าเสร็จสิ้นภารกิจหรือบรรลุพระอรหัตตผล

เราจะสังเกตได้ว่าการเดินทางเพื่อการหลุดพ้นมีการเพิ่มกำลังการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องและมีลำดับขั้นตอนจากขั้นที่หยาบไปสู่ขั้นที่ประณีตและชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ

สติปัฏฐานเป็นการเจริญสติและปัญญาจากฐานต่างๆ ของสติซึ่งอาศัยสมาธิมากน้อยแตกต่างกันไปบ้าง

สัมมัปปธานเป็นความเพียรที่อาศัยฉันทะหรือความชอบ สามารถแยกแยะอกุศลธรรมและกุศลธรรม มีความเพียรในการระวังและลดละอกุศลธรรม มีความเพียรในการเพิ่มพูนและรักษาไว้ซึ่งกุศลธรรม

อิทธิบาทเป็นการยกระดับสมาธิให้แน่วแน่ยิ่งขึ้น ปัญญาที่เกิดขึ้นแล้วจะชัดเจนไปจนถึงระดับสูงสุด พระพุทธองค์ทรงตรัสว่าอิทธิบาททำให้หลุดพ้นได้ทั้งด้านสมาธิ (เจโตวิมุติ) และด้านปัญญา (ปัญญาวิมุติ) การเพิ่มความมุ่งมั่นและกำลังสมาธิจึงสำคัญตลอดการเดินทาง

อินทรีย์เป็นความสามารถในการรับรู้ผ่านอายตนะทั้งหลาย อายตนะเป็นส่วนของจิตสัมผัสที่ต้องทำหน้าที่อันสำคัญยิ่ง องค์ประกอบของอินทรีย์ 5 ต้องไม่บกพร่องและมีความสมดุลกัน เช่น ศรัทธาไม่มากหรือน้อยเกินไปและได้ดุลกับปัญญาเป็นต้น

พละเป็นการเพิ่มกำลังของจิตให้เต็มที่ มีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว ไม่กลัว พละที่มากเป็นอินทรีย์ที่เข้มแข็งร่วมไปด้วยกัน ในพระสูตรมีกล่าวว่าสิ่งใดมีพละสิ่งนั้นมีอินทรีย์ สิ่งใดมีอินทรีย์สิ่งนั้นมีพละ สมาธิพละเป็นจิตที่แน่วแน่เป็นอัปปนาสมาธิ

โพชฌงค์เป็นการเจริญปัญญาให้สติและสมาธิอันละเอียดสามารถเป็นไปเพื่อการตรัสรู้ องค์ประกอบของโพชฌงค์มาจากจิตที่ละเอียดประณีตจึงเป็นขั้นตอนของการสร้างปัญญาขั้นสูง บางส่วนของสติ สมาธิและปัญญาเริ่มประสานเข้าด้วยกัน

เมื่อโพชฌงค์เหล่านี้มีกำลัง อริยมรรคจะเกิดขึ้นและมีผลอย่างยิ่งต่อการทำให้กิเลสต่างๆ เบาบางและดับไป

เราอาจกล่าวได้ว่าโพธิปักขิยธรรมคือศีล-สมาธิ-ปัญญา แต่ละหมวดก็เป็นศีล-สมาธิ-ปัญญา สติปัฏฐาน 4 อาศัยสติและปัญญาเป็นแก่น สัมมัปปธาน 4 จนถึงพละ 5 อาศัยสมาธิมากขึ้นๆ โพชฌงค์ 7 และอริยมรรค 8 อาศัยปัญญาขั้นสูงจนสติ สมาธิและปัญญาร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว

หลวงปู่แหวน สุจิณโณ กล่าวว่า เมื่อเกิดเอกมรรค จิตที่ละเอียดทรงตัวอยู่จะเรียกว่าจิตมีอิทธิบาท มีโพชฌงค์ มีพละหรือมีมรรค เพราะธรรมเหล่านี้ล้วนเสริมซึ่งกันและกัน

เมื่อผู้ปฏิบัติเดินทางผ่านอริยมรรคก็ถึงพระโสดาปัตติผล อรรถกถาปาวาสูตรตอนอชกลาปกยักษ์มีการขยายความเรียกพระโสดาบันว่าเป็นผู้ถึงฝั่งในศีล พระอนาคามีเป็นผู้ถึงฝั่งในสมาธิและพระอรหันต์เป็นผู้ถึงฝั่งในธรรม (ครบธรรมทั้งศีล สมาธิและปัญญา)

ทุกผู้คนสามารถเรียนรู้พระธรรมและมีการพัฒนาการเรียนรู้นั้นเป็นลำดับ ดวงตามีธุลีน้อยลงๆ อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติย่อมต้องเผชิญอุปสรรคเหนี่ยวรั้ง พระพุทธองค์ทรงตรัสว่าผู้ที่ถึงฝั่งนั้นมีน้อยมาก ที่เหลือได้แค่เลาะตลิ่ง

ถ้าอุปมาเปรียบกับการยิงธนู ความเพียรและกำลังจะช่วยให้ยิงเข้าใกล้เป้ามากขึ้นๆ หากทว่ายังต้องมีบุญบารมีที่สะสมมาซึ่งเรียกว่าบุพเพกตปุญญตา

เปรียบเสมือนการแผลงศรซึ่งต้องอาศัยอิทธิฤทธิ์แห่งบุพเพกตปุญญตาด้วย

สติปัฏฐาน 4 จนถึงโพชฌงค์ 7 จึงจะพาจิตผ่านไปสู่หนทางและจุดหมายแห่งโลกุตระ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image