ต้องมีโทษ ไม่เพียงแต่ตำหนิ : โดย เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

เคยว่าไว้ถึงการเป็นสมาชิกรัฐสภา โดยเฉพาะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้งจากพวกเรา-ประชาชน มีฉันทานุมัติให้ไปเป็นสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ปฏิบัติหน้าที่แทนประชาชนในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรดูแลเรื่องนิติบัญญัติกฎบัตรกฎหมายที่มาบังคับใช้กับประชาชน

ตั้งแต่ออกกฎหมายอันเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนโดยส่วนรวม แก้ไขกฎหมายเดิมที่ล้าหลังและไม่เป็นประโยชน์ รวมถึงคำสั่งและประกาศของผู้เข้ามายึดอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ทั้งยังออกคำสั่งให้บรรดาประกาศคำสั่งนั้นบังคับใช้เยี่ยงเดียวกันกฎหมาย ให้ยกเลิกไปเสีย แต่ไม่มีพรรคการเมืองใดปฏิบัติ

เรื่องที่ขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนยึดถือและปฏิบัติคือ การถือศีลห้า

โดยมีข้อสำคัญข้อหนึ่งที่ทุกคนต้องถือปฏิบัติ คือ ศีลข้อสี่ “มุสาวาทาเวรมณีสิกขาประทังสมาทิยามิ”

Advertisement

ไม่โกหก ไม่พูดจาส่อเสียด และอันเกี่ยวกับการพูดจาทั้งหมด

แม้การ “เสียบบัตร” แทนกันก็ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะเป็นการ “โกหก” ทั้งตัวเองและผู้อื่น โดยเฉพาะกับประชาชนที่ทั้งเลือกและไม่ได้เลือกท่านเข้าไปปฏิบัติหน้าที่แทนในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติ

เรื่องที่สมาชิกไม่ว่าในสมาคมใดต้องไม่ปฏิบัติ เป็นข้อห้ามไว้ชัดเจน คือการไม่ให้ลงคะแนนเสียงแทนกัน โดยสมาชิกผู้ลงคะแนนเสียงต้องลงรายมือชื่อเข้าร่วมประชุมและอยู่ในที่ประชุมเท่านั้น จึงจะออกเสียงได้

Advertisement

การออกเสียงประชุมเรื่องใดเรื่องหนึ่ง มี 3 กรณี คือ เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย และงดออกเสียง ซึ่งต้องกระทำด้วยตนเอง ดังกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเรื่องการออกเสียงเลือกตั้งต้องกระทำด้วยตัวเอง โดยตรงและลับ

การลงคะแนนเสียงแทนกันเกิดมาหลายครั้งแล้ว หรือนับแต่มีระบบอัตโนมัติด้วยวิธีการ “เสียบบัตร”

การนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในการประชุม เพื่อให้เกิดการสะดวกและรวดเร็ว ทั้งไม่ต้องเสียเวลาเดินออกไปหย่อนบัตรในหีบลงคะแนน ทั้งไม่ต้องเสียเวลาขานชื่อ ตรวจสอบผู้มาประชุม หรือไม่อยู่ในที่ประชุม

ที่สุดคือ การไว้เนื้อเชื่อใจบรรดา “ผู้ทรงเกียรติ” ที่รักษาเกียรติของตัวเองตามที่ประชาชนให้ความไว้วางใจเลือกตั้งเข้าไปปฏิบัติหน้าที่แทน

การเสียบบัตรลงคะแนนอย่าว่าแต่ในวาระสำคัญดังกรณีญัตติผ่านร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายแผ่นดิน ประจำปี ซึ่งเป็นวาระสำคัญผ่านการพิจารณาอภิปรายในวาระแรก ผ่านการพิจารณาในวาระสอง แปรญัตติ ถึงขนาดต้องขานรับหรือไม่รับทีละมาตรา และวาระสามคือผ่านการพิจารณาเพื่อส่งร่างไปยังสมาชิกวุฒิสภาเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ประกาศใช้เป็นพระราชบัญญัติ นำเงินงบประมาณแผ่นดินออกมาใช้จ่ายตามที่หน่วยงานราชการทำเรื่องขอไว้ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชนต่อไป เท่านั้น

ทำไมจึงว่า การ “เสียบบัตร” แทนกันเป็นการผิดศีลข้อสี่ คือมุสาวาทาเวรมณี การโกหก เพราะการวางใจให้ผู้อื่นกระทำการตัดสินใจแทนตน แม้บอกให้ปฏิบัติตามที่สั่งการไว้แล้วก็ตาม หากบุคคลที่ตนไว้วางใจสั่งการนั้นไม่ปฏิบัติตาม กลับปฏิบัติตรงกันข้าม จะไม่เป็นการผิดไปจากความต้องการของตนเองดอกหรือ

นั้นคือการลงมติเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย หรืองดออกเสียง ทำให้ญัตติไม่เป็นไปตามที่ตนเองตัดสินใจ อาจเป็นเหตุให้ร่างพระราชบัญญัติ หรือญัตตินั้นไม่ผ่าน หรือผ่านตามที่ตนต้องการก็ได้

การมีโอกาสเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นับเป็นตำแหน่งสูงสุดที่ประชาชนให้ความไว้วางใจ ดังเคยเกิดความไม่ไว้วางใจกับผู้ที่เคยได้รับเลือกตั้งมาแล้ว ภายหลังเมื่อผิดคำมั่นที่ให้ไว้กับประชาชน เช่นการย้ายพรรค เป็นเหตุให้ประชาชนผู้นิยมชมชอบพรรคนั้นขาดความไว้วางใจไม่เลือกตั้งในครั้งต่อไปก็เป็นได้

มักมีการพูดจาว่า หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนนั้นผิดคำมั่นสัญญา คราวต่อไปไม่ต้องเลือกก็ได้

ความข้อนี้ ไม่ควรเกิดจากความคิดหรือออกจากปากผู้อาสาเข้ามารับใช้ประชาชนโดยสิ้นเชิง

เพราะเป็นการ “ไม่มีความเชื่อมั่นในตนเองในการจะมารับใช้ประชาชนอย่างแท้จริงตั้งแต่แรก”

ผู้ที่จะสมัครรับเลือกตั้งต้องเป็นผู้ที่ประชาชนให้ความเชื่อถือศรัทธา และหากปฏิบัติตน “โกหกตอแหล”-เสียบบัตรแทนกัน ต้องมีโทษกำหนดไว้ ไม่ใช่เพียงตำหนิเป็นการทำที่ไม่สมควรเท่านั้น จริงไหมท่านประธาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image