ผอ.โรงเรียนปฏิบัติการชิงทอง บทสะท้อนของความพอเพียง และมาตรฐานจรรยาบรรณวิชาชีพ : รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

ภายหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดสิงห์บุรีได้หลังจากที่ปฏิบัติการชิงทองและทำร้ายผู้อื่นจนบาดเจ็บและเสียชีวิตเมื่อเร็วๆ นี้นั้น ทำให้สังคมมีการตั้งคำถามและวิเคราะห์ต่อการกระทำดังกล่าวไปต่างๆ นานา ทั้งนี้ เพราะบุคคลที่ก่อการเป็นผู้ที่ได้ชื่อว่าแม่พิมพ์ของชาติและเป็นถึงผู้บริหารสถานศึกษา

จากการปฏิบัติการของผู้อำนวยการโรงเรียนรายนี้ หากมองย้อนไปถึงการกระทำความผิดหรือกิจที่ไม่เหมาะสมสำหรับครูและผู้บริหารสถานศึกษาจะพบว่าปรากฏการณ์ของผู้ต้องหารายนี้ผิดแผกแตกต่างไปจากรายอื่นอย่างที่ไม่เคยปรากฏให้พบเห็นมาก่อน ซึ่งมูลเหตุจากการก่อการดังที่สื่อมวลชนรายงานจะพบว่าส่วนหนึ่งมาจากการดำรงตนที่ไม่อยู่บนความพอเพียงและเพียงพอ

ความพอเพียงเป็นหนึ่งในปรัชญาที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำรัสเพื่อพระราชทานแก่ปวงชนชาวไทยในการนำไปเป็นแนวทางสำหรับการปฏิบัติตน และดำรงชีพมานานกว่าครึ่งศตวรรษดังความตอนหนึ่งว่า “พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ…”

ที่น่าสนใจจากพระราชดำรัสดังกล่าวจะพบว่าหากผู้ใดได้นำไปปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการดำรงชีพ หรือการปฏิบัติหน้าที่ล้วนแล้วแต่ได้พิสูจน์ให้เห็นในเชิงประจักษ์แล้วว่าสามารถดำรงตนอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุขทั้งสิ้น

Advertisement

อย่างไรก็ตาม จากปรากฏการณ์ของผู้ต้องหารายนี้ ซึ่งตนเองมีอาชีพเป็นข้าราชการครู และอยู่ในแวดวงการศึกษา ซึ่งมีหน้าที่ในการสร้างคน หรือทุนมนุษย์สำหรับออกไปรับใช้ชาติในอนาคตย่อมเป็นที่ถกเถียง และตั้งข้อสังเกตของผู้คนในสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่น่าสนใจอาจจะสะท้อนไปถึงบริบทของการผลิตครู และการได้มาซึ่งผู้บริหารสถานศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ

ต่อกรณีนี้ เมื่อสังคมมีการวิพากษ์และตั้งข้อสังเกตอันเนื่องมาจากความประพฤติที่ไม่ถูกไม่ควรของบุคลากรในสังกัด กระทรวงศึกษาธิการในฐานะองค์กร ซึ่งรับผิดชอบต่อการศึกษาของชาติ และผู้อำนวยการรายนี้จะวางเฉย หรือให้ผ่านพ้นไปคงไม่ได้ โดยเฉพาะการปฏิบัติหน้าที่ของครูรวมทั้งการได้มาซึ่งผู้บริหารสถานศึกษาว่าจะมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ หรือแนวทางการได้มาอย่างไรหรือไม่ และในเรื่องนี้สอดคล้องกับการแสดงทรรศนะผ่านสื่อมวลชนของนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศธ.ดังความตอนหนึ่งว่า “ศธ.คงจะใช้วิกฤตเป็นโอกาสในการสอนให้เด็กเข้าใจในสิ่งต่างๆ นอกจากนี้ ตนได้พูดคุยกับครูและให้กำลังใจกับครูที่อยู่ที่นั่นแล้วว่าให้เข้มแข็ง เพราะครูต้องเป็นหลักให้นักเรียนทุกคน ส่วนการทบทวนการเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาใหม่นั้นต้องมีมาตรการและแนวทางที่ชัดเจน โดยหลักคือต้องมีคุณภาพที่ตรงกับการเป็นผู้บริหาร” (มติชนออนไลน์ 23 มกราคม 2563)

เมื่อครูหรือผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษากระทำการที่ไม่เหมาะกับการประกอบวิชาชีพ โดยเฉพาะการปฏิบัติการเย้ยกฎหมายอย่างที่ไม่เคยมีครูหรือผู้บริหารสถานศึกษารายใดได้กระทำการดังที่ ผอ.โรงเรียนรายนี้ก่อการชิงทอง และฆ่าผู้บริสุทธิ์ ในครั้งนี้ย่อมส่งผลให้สังคมเกิดการตั้งข้อสังเกต และข้อสงสัยในมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวกับการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

Advertisement

คุรุสภา ซึ่งเป็นองค์กรหลักที่มีบทบาทหน้าที่ในการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู และใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหาร โดยนางวัฒนาพร ระงับทุกข์ ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคุรุสภา กล่าวความบางตอนว่า “ในส่วนของคุรุสภาจะเกี่ยวข้องกับเรื่องใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู และใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหาร โดยเบื้องต้นทางคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจโดยตรงได้มอบอำนาจให้เลขาธิการคุรุสภาตั้งคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริง ทั้งนี้ หากการสืบข้อเท็จจริงมีมูล กมว.จะตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง เพื่อนำไปสู่การเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทั้ง 2 ใบต่อไป”

ด้านสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งถือว่าเป็นหน่วยงานต้นสังกัดโดยตรงของ ผอ.โรงเรียนรายนี้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่สะท้อนและส่งผลเสียต่อวงการครู และการศึกษา นายอำนาจ วิชยานุวัติ ในฐานะเลขาธิการได้ออกมาแสดงทรรศนะผ่านสื่อมวลชนความตอนหนึ่งว่า “เบื้องต้นให้ออกจากราชการไว้ก่อน ส่วนเรื่องคดีความเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจส่วนตัวเองรู้สึกตกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้ ไม่เข้าใจว่าเขาคิดอะไร เพราะอย่างน้อยคนเป็นครู เป็นผู้บริหารโรงเรียนต้องมีความผูกพันกับเด็ก มีจิตวิญญาณความเป็นครู แต่ผู้อำนวยการโรงเรียนคนดังกล่าว ตนไม่ทราบว่าสภาพจิตใจเขาเป็นอย่างไรถึงก่อเหตุร้ายแรงเช่นนี้” (มติชนออนไลน์ 22 มกราคม 2563 )

จากปรากฏการณ์การก่อการที่ไม่พึงประสงค์ของ ผอ.โรงเรียนรายนี้ นอกจากจะเป็นบทสะท้อนให้เห็นถึงความไม่พอเพียง และเพียงพอในการดำรงชีพแล้วด้านความเชื่อความศรัทธาที่สังคมจะพึงมีต่อมาตรฐาน และจรรยาบรรณวิชาชีพครู ย่อมจะส่งผลตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้นว่าการกระทำดังกล่าวจะเป็นเพียงการกระทำของปัจเจกบุคคลก็ตามแต่ข้อกังขาที่มีต่อการผลิตบัณฑิตครู และผู้ที่จะได้รับใบประกอบวิชาชีพครูรวมทั้งผู้บริหารสถานศึกษาย่อมเป็นแรงผลักให้องค์กรทางการศึกษาตลอดจนผู้เกี่ยวข้องต้องเร่งตอบโจทย์ และการบ้านที่จะไม่ให้เหตุการณ์ในครั้งนี้ต้องเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยของสังคม และกลายเป็นหลุมดำต่อวงการศึกษาชาติสืบไป

เมื่อ “ความพอเพียง” เป็นหนึ่งในปรัชญา หรือคาถาที่สำคัญสำหรับการดำรงชีพและการปฏิบัติหน้าที่ในมิติต่างๆ จากนี้ไปคงจะถึงเวลาอีกครั้งหนึ่งที่รัฐบาลตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงวัฒนธรรมจะได้เป็นทัพหน้าในการขับเคลื่อน เพื่อสร้างความตระหนักรู้ และให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างให้เยาวชนตลอดจนประชาชนทั่วไปได้นำหลักคิด และแนวทางสู่การปฏิบัติ

ในขณะที่สถาบันผลิตครูตลอดจนองค์กรที่รับผิดชอบต่อมาตรฐานจรรยาบรรณวิชาชีพ และผู้ที่มีอำนาจในการออกใบประกอบวิชาชีพก็ควรที่จะศึกษาวิจัย และแสวงหาแนวทางที่สอดคล้องกับบริบทการเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อให้ผู้ที่จะจบการศึกษาไปประกอบวิชาชีพครู หรือการเข้าสู่การดำรงตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาในอนาคตจะได้เป็นผู้ที่มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์อย่างแท้จริง

เหนือสิ่งอื่นใดปรากฏการณ์ในเชิงประจักษ์ที่ผ่านการพิสูจน์ให้เห็นมาอย่างยาวนานในการดำรงตนและการรักษาไว้ ซึ่งมาตรฐานของจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสำหรับผู้คนในสังคมนั้น คือ การมีความพอเพียงและเพียงพอบนพื้นฐานของความถูกต้องชอบธรรมย่อมนำมาซึ่งความสงบสุขทั้งต่อตนเอง และสังคม

รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร
ศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์
มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image