ตีทะเบียนนักการเมือง? : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

สํานักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นภาคส่วนต่างๆ เพื่อนำมาปรับปรุงแผนปฏิรูปประเทศให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน ซึ่งคลอดออกมาภายหลัง

เวทีเปิดไปแล้วสองครั้งที่ภาคอีสาน จังหวัดขอนแก่น วันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา ครั้งที่สองภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 27 มกราคม ครั้งที่สามภาคใต้ ที่จังหวัดสงขลา วันที่ 31 มกราคม ก่อนมาปิดท้ายที่กรุงเทพฯ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ เขตหลักสี่ ตั้งแต่เช้าถึงเย็น

ในฐานะภาคพลเมืองและแฟนคลับการเมือง ผมมีโอกาสเข้าไปร่วมสังเกตการณ์เวทีแผนปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ที่เชียงใหม่เมื่อสองวันที่แล้ว ฟังแล้วอยากเอาบางประเด็นมาถ่ายทอดต่อ เพื่อให้เกิดการถกเถียง วิวาทะ อภิปรายกันให้กว้างขวางมากขึ้นซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำให้การเมืองไทยพัฒนาขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองตั้งประเด็นสำคัญที่ควรจะได้รับการปฏิรูป สำนวนภาษาอังกฤษว่า Big Rock ตามลำดับไว้ 5 ประเด็น ได้แก่ 1.การเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

Advertisement

2.กลไกการแก้ไขความขัดแย้งโดยสันติและการรู้รักสามัคคีของสังคมไทย 3.การกระจายอำนาจ
การปกครองส่วนท้องถิ่นและการจัดสรรทรัพยากรที่เป็นธรรม 4.การเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรมเพื่อการปฏิรูปประเทศ 5.การสร้างรัฐธรรมาธิปไตย

ภายใต้ความเชื่อว่า หากสังคมไทยช่วยกันปฏิรูปในเรื่องเหล่านี้ ทำให้ทั้ง 5 ประเด็นนี้สำเร็จเป็นจริงขึ้นมาได้ การเมืองและสังคมไทยจะก้าวหน้า มีเสถียรภาพ ภราดรภาพ สันติภาพ อย่างแน่นอน

ประเด็นปัญหาอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไร เมื่อไหร่ และใครจะทำ เพราะในความเป็นจริงของการเมืองมีตัวละครอยู่ร่วมในเวทีมากมายหลายฝ่าย

Advertisement

ที่น่าสนใจ ในเวทีแลกเปลี่ยน มีนักกฎหมายระดับอาจารย์มหาวิทยาลัย ตั้งโจทย์น่าคิด ในประเด็นปฏิรูปการเมืองข้อแรก การเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมือง ว่าเราจะนิยามคำว่าวัฒนธรรมทางการเมืองอย่างไร แบบไหน

ระหว่างวัฒนธรรมทางการเมืองแบบสากล กับแบบไทยๆ ซึ่งอยู่ภายใต้อิทธิพลของระบบอุปถัมภ์มาเป็นเวลานาน วัฒนธรรมทางการเมืองที่จะเสริมสร้าง เนื้อหาสาระควรเป็นอย่างไร จะไปทางไหนระหว่างวัฒนธรรมสองแนวทางนี้ ว่างั้นเถอะ

จะยอมรับการอยู่ร่วมกันของคนภายใต้ระบบอุปถัมภ์แบบไทยๆ กันต่อไปได้หรือไม่ เป็นคำถามที่ชวนคิดมาก

ขณะเดียวกันอีกหลายคนก็เห็นว่าการสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา สั่งสม พัฒนามาตามลำดับของทุกช่วงวัย ตั้งแต่เด็กจนกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เงื่อนไขปัจจัยที่ทำให้วัฒนธรรมทางการเมืองเข้มแข็ง จึงต้องหล่อหลอมตั้งแต่ครอบครัว โรงเรียน ชุมชน และสังคมโดยรวม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการศึกษาจะเป็นเครื่องมือหล่อหลอมที่สำคัญและมีผลอย่างยิ่ง มีการพูดถึงการศึกษาเพื่อความเป็นพลเมือง หรือ Civic Education ระบบการศึกษาไทยต้องให้ความสำคัญกับหลักสูตรเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ มีความตื่นตัว ภายใต้หลักการ 3 เคารพคือ เคารพตัวเอง เคารพผู้อื่น และเคารพกฎ กติกา กฎหมาย

เมื่อภาคพลเมืองมีความตื่นตัว มีพลังอำนาจต่อรอง ถ่วงดุล การเมืองก็มีโอกาสพัฒนา เกิดวัฒนธรรมทางการเมืองที่เข้มแข็ง

อีกประเด็นที่ถูกกล่าวถึง น่าอภิปรายถกเถียง ไม่น้อยเช่นกัน คือ มีข้อเสนอให้จดทะเบียนนักการเมือง ทำนองมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ เช่นเดียวกับผู้ประกอบวิชาชีพอื่นๆ ใครจะเข้ามาสู่อาชีพนักการเมืองตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับชาติ ควรได้รับการกลั่นกรอง มีใบอนุญาต รับรองที่ชัดเจน

ความคิด วิธีปฏิบัติทำนองนี้ ถูกหรือผิด ควรหรือไม่ควร สามารถแก้ไขปัญหาระบบการเมือง และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไร้ประสิทธิภาพ ไร้คุณธรรม ไร้เสถียรภาพ ได้จริงหรือไม่ นั่นเป็นประเด็นหนึ่ง หากเกิดขึ้นจริงคงทำให้เกิดการโต้ตอบ ถกเถียง วิวาทะกันอย่างดุเดือดแน่นอน

คำถามก็คือ เหตุไฉน ทำไม ความคิดการ
จดทะเบียน ออกใบอนุญาต License ทางการเมือง ทำนองนี้ถึงเกิดขึ้นมาได้ เพราะระบบการเมืองไทย หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีพฤติกรรมที่ไม่น่าเชื่อถือ ศรัทธา และไว้วางใจ

ในที่สุดก็มาจบลงตรงข้อถกเถียงที่ว่า ระหว่างระบบกับคน อะไรสำคัญกว่า ควรมุ่งเน้นแก้ปัญหาไปที่ไหนก่อนหลัง

ฟังไป ทำให้คิดถึงคำกลอนที่มีผู้รจนาไว้ว่า

คนดี ระบบดี ย่อมดีแน่
คนดี ระบบแย่ พอแก้ไข
คนแย่ ระบบดี ไม่ช้าก็ไป
คนแย่ ระบบแย่ บรรลัยเอย

เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับคำกลอนนี้ก็แล้วแต่ ขอให้ยึดหลักสันติประชาธรรมเป็นสำคัญ อย่าสนับสนุนการแก้ปัญหาด้วยความรุนแรงทุกรูปแบบ เป็นที่ตั้งครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image