สะพานแห่งกาลเวลา : จีนสร้างรพ.ใน7วันได้อย่างไร? โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

(ภาพ-CNS via Reuters)

ทางการจีนกำลังสร้าง “โรงพยาบาล” 2 โรง ขึ้นที่นครอู่ฮั่น เมืองเอกของมณฑลหูเป่ย์ สำหรับรองรับผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 โดยเฉพาะ

โรงพยาบาลแรกขนาด 1,000 เตียง พื้นที่ใช้สอย 269,000 ตารางฟุต ชื่อ หัวเสินซาน เริ่มต้นก่อสร้างวันที่ 24 มกราคม กำหนดเปิดใช้งานจริงในวันที่ 3 กุมภาพันธ์นี้ รวมเวลาสร้าง 7-8 วัน

แห่งที่สอง คือ เหลยเสินซาน ขนาด 1,300 เตียง พื้นที่ 323,000 ตารางฟุต เริ่มก่อสร้างทีหลังเล็กน้อย กำหนดเปิดใช้งานหลังแห่งแรก 2 วัน คือวันที่ 5 กุมภาพันธ์

มีการ “ไลฟ์สด” การก่อสร้างที่ว่านี้ให้ดูกันทุกวัน ยอดผู้ชมออนไลน์นับเป็นเรือนล้านแล้วครับ

Advertisement

ทั้งงง ทั้งทึ่งกันไป ทั้งในวงการ นอกวงการ

ตัดเรื่องงบประมาณ เรื่องการเวนคืนที่ดิน และเรื่องระดมแรงงาน ซึ่งจีนมีถมไป (แถมไม่มีสหภาพอีกต่างหาก) ออกไปแล้ว ก็ยังถือว่าเร็วในระดับ “หายใจหายคอไม่ทัน” กันอยู่ดี

แล้วก็เกิดคำถามตามมาว่า สร้างได้อย่างไร? ปลอดภัยใช้งานได้แน่หรือ?

บรรษัทวิศวกรรมก่อสร้างแห่งรัฐจีน (ซีเอสซีอีซี) รัฐวิสาหกิจด้านการก่อสร้างของทางการจีน ผู้รับผิดชอบงานก่อสร้างมหาโหดนี้ อธิบายไว้ง่ายๆ ว่า ก็ใช้เทคโนโลยี “พรีแฟบริเคเต็ด” มาช่วยลดเวลาในการก่อสร้างนั่นเอง

ฟังดูแล้วก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดีครับว่า ทำได้ยังไงกัน

โชคดีที่มีผู้เชี่ยวชาญในแวดวงการก่อสร้างสถานพยาบาลของฝรั่งหลายคนอธิบายความเพิ่มเติมไว้ให้เห็นภาพได้ชัดเจนทีเดียว

สก็อต รอว์ลิงส์ สถาปนิกระดับผู้บริหารของ “เอชโอเค เฮลธ์แคร์ แพรคทิซ” ซึ่งกำลังรับงานก่อสร้างโรงพยาบาล 500 เตียงให้กับทางการเฉิงตู กับอีก 2 แห่งในฮ่องกงอยู่ในเวลานี้ เริ่มต้นด้วยการยืนยันว่า ที่ถูกทางการจีนเรียกว่า “โรงพยาบาล” นั้นจริงๆ แล้ว ไม่ใช่ “โรงพยาบาล” แบบเต็มรูป แต่เป็น “ศูนย์เพื่อคัดแยกเพื่อบริหารจัดการผู้ติดเชื้อจำนวนมาก” มากกว่า

เรื่องนี้ต่างกันมากตั้งแต่เริ่มต้นการออกแบบเลยครับ เพราะถ้าจะสร้างโรงพยาบาลกันจริงๆ ต้องใช้เวลาปรึกษาหารือตั้งแต่ทีมแพทย์ เรื่อยไปจนถึงผู้บริหารโรงพยาบาล แถมอาจต้องดูไปถึงชุมชนใกล้เคียงว่าจะออกแบบมาแบบไหน รองรับการรักษาอะไร และกำหนดจะใช้งานนานแค่ไหน ปรับปรุง พัฒนาไปในทิศทางใด แค่นี้ก็เสียเวลาเป็นปีแล้ว

แต่พอเป็นศูนย์สำหรับการคัดแยก ก็ไม่ต้องคิดอะไรมาก ทางการจีนใช้พิมพ์เขียวเดิมของโรงพยาบาล เซียวถังซาน ขนาด 1,000 เตียงที่สร้างไว้นอกกรุงปักกิ่ง สำหรับรองรับผู้ติดเชื้อซาร์ส เมื่อปี 2003 สำหรับเป็นแบบโรงพยาบาลที่อู่ฮั่นครับ

“พรีแฟบริเคเต็ด” ที่อ้างอิงถึงนั้น ธอร์สเตน เฮลบิก วิศวกรโครงสร้างผู้ร่วมก่อตั้ง “คนิปเปอร์ส เฮลบิก” บริษัทวิศกรรมของเยอรมนี บอกว่า ในแวดวงก่อสร้าง เรียกกันสั้นๆ ว่า “พรีแฟ็บ” หรือเรียกอีกอย่างว่า “การก่อสร้างแบบโมดุล” (modular construction) คือสร้างแบบแยกชิ้น ควบคุมคุณภาพกันภายในโรงงาน ทั้งคนออกแบบและคนสร้าง หารือแก้ปัญหากันตั้งแต่เรื่องของการวางระบบสายไฟ, ระบบท่อ, ระบบระบายอากาศ, ระบบกรองอากาศ เสร็จสรรพที่โรงงาน ก่อนยกมาเป็นชิ้นๆ ประกอบกันขึ้นเป็นโรงพยาบาล

โครงสร้างของโมดุลที่ว่านี้เป็นเหล็กกล้าครับ จึงสามารถนำมาเชื่อมต่อกันเข้าเป็นชั้นๆ ได้ไม่ยากในสถานที่ก่อสร้าง

คล้ายๆ กับที่มีการนำเอาตู้คอนเทนเนอร์สำหรับขนส่งสินค้ามาซ้อนกันเข้ากลายเป็นบ้านพักสองชั้น สามชั้นนั่นแหละครับ

สร้างง่ายและเร็วแบบนั้น ไม่ได้หมายความมาตรฐานการก่อสร้างของจีนจะต่ำเตี้ย ขาดโน่น เกินนี่ เมื่อเทียบกับมาตรฐานตะวันตกแต่อย่างใดทั้งสิ้น

เฮลบิก ซึ่งเคยมีโปรเจ็กต์ก่อสร้างใหญ่ๆ หลายแห่งในจีน อย่าง ท่าอากาศยาน เซินเจิ้น เบ๋าอัน กับ ดิสนีย์ รีสอร์ต ในเซี่ยงไฮ้ ยืนยันจากประสบการณ์ว่า ตรงกันข้าม การตรวจสอบ ประเมินมาตรฐานเพื่อความปลอดภัยของจีนนั้นถี่ยิบครอบคลุม

เขายืนยันว่า วิศวกรและสถาปนิกจีนไม่เคยทำอะไรบ้าๆ บอๆ เหมือนเมื่อ 10-15 ปีก่อนอีกแล้ว

ปัญหาอย่างเดียวของการก่อสร้างแบบนี้ของจีนก็คือ นี่เป็นการก่อสร้างอาคารแบบ “เฉพาะกิจ” ขั้นสูงสุด ยากต่อการดัดแปลงไปปรับใช้เป็นอย่างอื่น แม้แต่เป็นโรงพยาบาลทั่้วไปก็ไม่ได้ครับ

ตัวอย่างที่เห็นกันชัดๆ ก็คือ โรงพยาบาล เซียวถังซาน ที่ถูกนำมาใช้เป็นพิมพ์เขียวนั่นแหละครับ

ใช้เสร็จเพราะหมดซาร์สระบาดแล้วก็ถูกทิ้งร้างไปแบบเงียบๆ มาจนถึงทุกวันนี้

นี่คือข้อบกพร่องอย่างเดียวของการก่อสร้างโรงพยาบาลแบบเร่งด่วน 7-8 วันของจีน

เฮลบิกบอกว่า ถ้าจีนคิดเพิ่มไปอีกขั้น ทำให้ทุกอย่างรื้อง่าย นำไปประกอบใหม่ เพื่อวัตถุประสงค์ใหม่ได้ง่ายแล้วละก็ “สมบูรณ์แบบ” ไม่มีที่ให้ติเลยทีเดียว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image