ไวรัสกับข่าวลือ : โดย กล้า สมุทวณิช

เมื่อกลางสัปดาห์ที่แล้ว โตมร ศุขปรีชา ได้พูดถึง “ไวรัส” ไว้ในสเตตัสบนเฟซบุ๊ก โดยตั้งข้อสังเกตว่าไวรัสนี่เหมือน “พรหม” ด้วยเหตุผลที่สรุปได้ว่า เพราะไวรัสนั้น “เกือบ” ไม่มีชีวิต ไม่ได้เป็นแม้กระทั่งเซลล์ ไม่จำเป็นต้องมีเมตาโบลิซึม ไม่ต้องจัดการกับภาวะต่างๆ อย่างสิ่งมีชีวิตที่มีเซลล์

และไวรัสนั้นก็ไม่ต้องกินอะไรด้วย เรื่องเดียวที่คล้ายๆ ว่าจะมีชีวิต ก็คือการที่มันจำลองตัวเองได้ ซึ่งก็ไม่เหมือนกับการสืบพันธุ์หรือแพร่พันธุ์อีก เพราะมันไม่ได้สนใจเรื่องพันธุ์อะไร ก็แค่จำลองตัวเองผ่านโฮสต์ต่างๆ เท่านั้นเอง ไม่ต้องกิน ไม่ต้องนอน ไม่ต้องเติบโต ไม่แสดงพฤติกรรมอะไรในความหมายของคำว่าพฤติกรรม มันจึงไม่จำเป็นต้องตอบสนองต่อ “สิ่งเร้า” ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมด้วย แต่ว่ายังตอบสนองต่อ “สิ่งแวดล้อม” อยู่เพียงเพื่อให้อยู่ต่อไปได้ ไม่ได้มีกิเลสตัณหาอะไรซับซ้อน นอกจากแค่จำลองตัวเองไปเรื่อยๆ เท่านั้นเอง จึงแอบคิดว่าเป็นไปได้ที่ในไวรัสจะมีสภาวะ “พรหม” ฝังอยู่

และหลังจากนั้น พี่หนุ่มก็กล่าวสรุปเรื่องไวรัสนี้ซ้ำอีกครั้งใน Decoder Podcast EP13 ว่าด้วยเรื่องไวรัสนี้ ซึ่งผู้สนใจไปหาฟังกันได้ใน Spotify และ Apple Podcast

การระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ถ้าจะมีประโยชน์อยู่บ้าง ก็คงเป็นเรื่องที่ทำให้เราได้ศึกษาใหม่ หรือย้อนทบทวนความรู้เรื่องของสิ่งมหัศจรรย์ที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ที่จะเรียกว่าจุลชีพก็ก้ำกึ่งนี้อีกครั้ง

Advertisement

แม้ในทางทฤษฎีมันจะไม่มีพฤติกรรม ไม่มีความต้องการใดอย่างสิ่งมีชีวิต นอกจากการทำซ้ำตัวเองไปเรื่อยๆ แต่การทำซ้ำนั้นเองก็คล้ายมีเจตนาบางอย่างเป็นแรงผลัก เพราะไวรัสบางชนิดเจาะลงไปฝังในเซลล์ได้ รวมถึงเข้าไปควบคุมการทำงานของเซลล์ ลดการสร้างโปรตีนตามปกติของเซลล์นั้นและสร้างโปรตีนที่เหมาะกับสภาพความเป็นอยู่ของไวรัสนั้นแทน ทำให้ไวรัสที่เพิ่มขึ้นมานั้นสามารถอยู่อาศัยภายในเซลล์และทำซ้ำตัวมันเองต่อไปได้ และเมื่อเซลล์ทำงานไม่เป็นปกติหรือตายไป ก็เป็นที่มาของอาการป่วยไข้หรือโรคภัยของมนุษย์

การเข้าไปยึดครองเซลล์เพื่อแบ่งตัวของไวรัสนี้เองที่ทำให้มีผู้แย้งว่าถ้าไวรัสไม่มีพฤติกรรมและเจตจำนงมันจะทำอย่างนั้นไปเพื่ออะไร แต่คำตอบในเรื่องนี้ก็อาจจะเพราะว่าเรานั้นมองด้วยมุมมองของมนุษย์ที่เชื่อว่าสรรพสิ่งนั้นมีความมุ่งหมายบางอย่าง ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วมันก็ดำเนินไปตามกลไกตามธรรมชาติของมันเช่นนั้นเอง เหมือนเช่นที่ก้อนหินกลิ้งตกลงมาจากภูเขาเพราะแรงโน้มถ่วง ไม่ใช่ว่าเพราะอยากลงมาโดนหัวหรือขวางทางใคร

จำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วย และผู้เสียชีวิตจากโคโรนาไวรัสที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในชั่วสัปดาห์กว่าๆ ที่ผ่านมาทำให้องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศว่าไวรัสโคโรนาเป็นภาวะฉุกเฉินสาธารณสุขทั่วโลก ก็เท่ากับนี่เป็นเรื่องที่มนุษยชาติจะต้องรับชะตากรรมร่วมกัน

Advertisement

อีกสิ่งหนึ่งที่อาจจะถือว่าแพร่กระจายขยายตัวไปอย่างรวดเร็วไม่แพ้โคโรนาไวรัสก็คือ “ข่าวปลอม” ซึ่งเป็นปัญหาร่วมกันทั้งโลก

การแพร่กระจายของข่าวปลอมนั้นว่าไปก็คล้ายไวรัส ที่มันไม่สามารถเพิ่มจำนวนหรือกระจายออกไปได้ด้วยตัวเอง หากไวรัสนั้นแทรกแซงติดเข้าไปในเซลล์และทำซ้ำขยายตัวออกไป สำหรับข่าวปลอมมันก็มีอะไรบางอย่างที่เราจะเรียกว่าเป็นความผิดเพี้ยน ที่รวมความหมายถึงไม่ถูกต้อง ความเท็จ และความคลาดเคลื่อน ที่มันจะเข้าไปเกาะลงไปบนข่าวจริง และเมื่อความผิดเพี้ยนนั้นเกาะลงไปแล้ว มันก็จะทำให้ข่าวจริงนั้นเสียสภาพไป และความผิดเพี้ยนนั้นก็จะทำซ้ำตัวเองต่อไปแบบปากต่อปาก หน้าจอต่อหน้าจอ และอาจจะกลายพันธุ์ต่อไปบนชิ้นส่วนของข้อเท็จจริงที่ผิดเพี้ยนไปนานแล้วแต่ยังเหลือสภาพเป็นเค้าลางที่เรียกความน่าเชื่อถือ ไวรัสนั้นจะทำซ้ำหรือแพร่กระจายตัวเองออกไปได้หากสภาวะแวดล้อมเหมาะสม หรือตัวมันเองอาจจะสร้างสภาวะแวดล้อมนั้นขึ้นเองก็ได้ เช่นเดียวกันกับข่าวปลอมที่กระจายตัวออกไปได้ดีในช่วงที่ผู้คนและสังคมตื่นตระหนกไม่แน่ใจ และหิวกระหายข่าวสาร รวมถึงตัวความผิดเพี้ยนที่เกาะอยู่บนข้อมูลข่าวสารที่เคยจริงนั้นก็สร้างสภาวะที่เหมาะสมต่อการแพร่ระบาดให้ตัวมันเอง ด้วยการสร้างบรรยากาศแห่งความตื่นกลัวซ้ำลงไปอีก

ข่าวปลอมจึงถือเป็นอีกสิ่งที่เป็นภัยคุกคามไปพร้อมกับไวรัส แต่ก่อนอื่นเราอาจจะต้องมาทบทวนอย่างรวดเร็วเกี่ยวกับรูปแบบและนิยามของ “ข่าวปลอม” อีกสักครั้ง

คู่มือศึกษาและอบรมผู้สื่อข่าว “Journalism, ‘Fake News’ & Disinformation” ของ UNESCO นั้นพยายามหลีกเลี่ยงคำที่มีความหมายกำกวมอย่าง “ข่าวปลอม” หรือ “Fake News” แต่เลือกใช้คำที่มีความหมายที่เป็นกลางกว่า คือ “ข้อมูลข่าวสารผิดวิสัย” (Information disorder) ซึ่งแบ่งออกเป็นสามประเภท ได้แก่ข้อมูลข่าวสารคลาดความจริง (Mis – Information) ซึ่งหมายถึง ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง แต่ผู้กระจายข้อมูลเข้าใจว่ามันเป็นจริงโดยปราศจากเจตนาร้าย

ประเภทต่อมาคือข้อมูลข่าวสารผิดความจริง (Dis – Information) เป็นข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกต้องหรือเป็นเท็จ และผู้กระจายข้อมูลนั้นก็กระจายออกไปโดยรู้อยู่แล้วถึงความไม่ถูกต้องนั้น ซึ่งรูปแบบนี้ใกล้เคียงกับสิ่งที่เรียกว่า “Fake News” คือข้อมูลข่าวสารที่ถูกทำปลอมขึ้นโดยมีเจตนาประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลจะสร้างความเข้าใจผิดบางประการ และสุดท้ายคือข้อมูลข่าวสารเจตนาร้าย (Mal – Information) คือเรื่องเท็จหรือเรื่องจริงที่ถูกปล่อยไปด้วยเจตนาร้าย เช่นการให้ข้อมูลลับบางอย่างหลุดลอดออกไปสู่สาธารณะเพื่อก่อความเสียหายให้บุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพื่อมุ่งหมายล่วงละเมิดหรือรังแกทำร้าย และเพื่อสร้างความเกลียดชัง

ข่าวปลอมในช่วงของการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสนี้มีหมดทุกประเภท ที่รัฐและประเทศจำเป็นและจำต้องกำจัดกวาดล้างนั้นก็ได้แก่ข้อมูลข่าวสารผิดความจริง (Dis – Information) และข้อมูลข่าวสารเจตนาร้าย (Mal – Information) เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากเจตนาอันไม่ถูกต้อง ในภาวะวิกฤตระดับโลกนี้ไม่มีเหตุผลใดที่ฟังขึ้นทั้งสิ้นสำหรับการสร้างข่าวปลอม นั่นเป็นเรื่องที่แน่นอนอยู่แล้ว

แต่สิ่งที่ภาครัฐอาจจะต้องระวังท่าทีและสงวนออมการใช้อำนาจ ก็คือประชาชนคนธรรมดา หรือชาวบ้านที่เผยแพร่ข้อมูลประเภท ข้อมูลคลาดความจริง (Mis – Information)

จริงอยู่ที่ว่าข้อมูลคลาดความจริงนั้นก็ถือเป็นข้อมูลข่าวสารผิดวิสัยไม่ถูกต้องรูปแบบหนึ่ง และหากกล่าวถึงเฉพาะผลกระทบแล้ว การเผยแพร่ข้อมูลประเภทคลาดความจริง เช่นข่าวลือเรื่องมีคนติดเชื้อล้มป่วยหรือเสียชีวิตที่นั่นที่นี่ หรือถ่ายภาพคนล้มมาแชร์กันว่าเกิดจากการติดเชื้อนั้น ก็ส่งผลไม่ค่อยดีนักต่อสุขภาพจิตโดยรวมของสังคม ทั้งเป็นการสร้างความตื่นกลัวและความเครียดเกินจำเป็น

หากสิ่งที่แตกต่างกันออกไปของผู้เผยแพร่ข้อมูลคลาดความจริงก็คือ “เจตนาร้าย” เพราะผู้เผยแพร่ข้อมูลคลาดความจริงนั้นปราศจากเจตนาตั้งต้นในทางร้าย ไม่ได้จะเผยแพร่ข้อมูลเพื่อให้เกิดความเสียหายเป็นพิเศษแก่ใครหรือเพื่อหวังผลอะไร เต็มที่จริงๆ ก็อาจจะเผยแพร่ข้อมูลนั้นด้วยความคะนองว่าตัวเองรู้ดีหรือรู้ก่อนใคร หรืออาจจะเพราะตระหนกจนกระพือความตระหนกของตัวเองต่อไปโดยไม่รู้ตัว

เช่นนี้จึงเป็นเหตุผลว่าภาครัฐจำเป็นจะต้องจัดการอย่างขึงขังตึงตังด้วยกฎหมายเสียทุกกรณีไป จนถึงกับไปตามไล่จับเอาผิดกันถึงบ้านหรือพาสื่อไปแถลงข่าวกัน โดยเฉพาะเมื่อทางผู้ใช้อำนาจรัฐก็รู้อยู่ทนโท่ว่าบรรดาผู้คนที่ชี้นิ้วว่าจะใช้กฎหมายเล่นงานเหล่านั้นจริงๆ ก็เป็นแค่ประชาชนธรรมดาที่แชร์ข่าวไปด้วยความแตกตื่นโดยไม่ตรวจสอบข้อมูล หากไม่ใช่ผู้ที่มีเจตนาพิเศษในทางร้าย หรือไม่ใช่แม้แต่ศัตรูทางการเมืองของฝ่ายตนเองด้วยซ้ำ

อย่าให้การใช้คำเกร่ออย่าง “ข่าวปลอม” หรือ “Fake News” นั้นกลายเป็นเครื่องมือที่เอาไว้กลบเกลื่อนความสามารถในการทำงานของตัวเองในลักษณะที่ว่า เราไม่อาจจะอุดรูรั่วที่ท้องเรือได้ แต่เราห้ามไม่ให้คนพูดถึงรอยรั่วหรือเรื่องน้ำเข้าเรือได้

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าข่าวปลอมหรือข้อมูลข่าวสารคลาดความจริงนั้นทำซ้ำแพร่กระจายออกไปได้ดีในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม หนึ่งในนั้นคือการไม่เชื่อมั่นในการบริหารจัดการของรัฐ ทั้งต่อการแก้ปัญหาและต่อการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับปัญหา และในยุคที่ปัจเจกชนแต่ละคนถือว่าเป็นสื่อที่มีสำนักข่าวในอุ้งมือของตัวเอง การส่งต่อข่าวสารกันเองก็อาจจะได้รับความเชื่อถือมากกว่า และนั่นคือสภาวะที่เอื้อต่อการแพร่ระบาดไม่ว่าจะข่าวจริงหรือข่าวปลอม

และหลายครั้งก็กลายเป็นว่า ข่าวลือที่เคยถูกกล่าวหาว่าเป็นข่าวปลอมนั้น ภายหลังต่อมาได้รับการยืนยันว่าเป็นข่าวจริงไปเสียอย่างนั้น เช่นกรณีของการติดเชื้อจากบุคคลต่อบุคคลภายในประเทศ จากผู้ขับรถแท็กซี่ที่ติดเชื้อไวรัสจากนักท่องเที่ยวชาวจีน การที่ข่าวลือที่เคยถูกมองว่าเป็นข่าวปลอมภายหลังกลายเป็นข่าวจริงนั้น ยิ่งทำให้เขตแดนความน่าเชื่อถือระหว่างข่าวสารทั้งสองพร่าเลือนไป

เพราะปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้ข่าวปลอมหรือคลาดเคลื่อนเรื่องของโคโรนาไวรัสหรือต่อเรื่องวิกฤตทุกข์ยากอะไรแพร่กระจายไปได้อย่างรวดเร็วนั้น เกิดมาจาก “ความกลัว” ต่อปัญหานั้น และ “ความไม่มั่นใจ” ว่าจะได้รับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องรวดเร็ว

การลดหรือหยุดการแพร่กระจายหรือทำซ้ำ ก็คือการลดความกลัวและเพิ่มความมั่นใจ การไล่จับคนเผยแพร่ข่าวที่ไม่ได้มีเจตนาร้ายแต่ทำไปเพราะตื่นกลัวไม่ช่วยอะไร หากเป็นโรคก็เพียงเป็นการกินยาเพื่อกดอาการ แต่ไม่ใช่การสร้างสภาพร่างกายที่แข็งแรงจนโรคนั้นไม่อาจเติบโตแพร่กระจายออกไปได้

ในภาวะนี้ สิ่งที่อาจจะต้องร้องขอจากภาครัฐ คือเมตตาธรรมและภราดรภาพ ที่จะมองประชาชนธรรมดาว่าเป็นเพียงผู้ตื่นกลัวที่จำเป็นจำต้องปลอบขวัญ มิใช่อาชญากรที่ปล่อยข่าวปลอมอันมีความมุ่งหมายเป็นภัยต่อสังคมและรัฐบาล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image