เปิดแผนจัดการน้ำ แก้‘ภัยแล้ง-ท่วม’

หมายเหตุศาสตราจารย์เกียรติคุณ ฉลอง เกิดพิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญ การบริหารและพัฒนาแหล่งน้ำ อดีตอาจารย์ ประจำภาควิชาทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ศึกษาแบบจำลองเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม

บทนำ

เป็นการศึกษาวิเคราะห์เบื้องต้นอย่างเป็นระบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในช่วงเกิดอุทกภัย ช่วงปกติและช่วงที่เกิดภัยแล้งบนลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นลุ่มน้ำที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ถ้ารวมกับพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลองจะเป็น 41% ของพื้นที่ประเทศไทยหรือประมาณ 211,000 ตร.กม. และมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่อยู่ 2 อ่าง ได้แก่
– อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลบนแม่น้ำปิง ความจุที่ระดับเก็บกัก 13,400 ล้าน ลบ.ม.
– อ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์บนแม่น้ำน่าน ความจุที่ระดับเก็บกัก 9,660 ล้าน ลบ.ม.
– เขื่อนเจ้าพระยาซึ่งเป็นเขื่อนผันน้ำไปยังพื้นที่เพาะปลูกฤดูฝนสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยามากกว่า 7 ล้านไร่ ซึ่งเขื่อนเจ้าพระยาสามารถรับน้ำได้จากทั้งเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ส่วนเขื่อนนเรศวรรับน้ำได้เฉพาะเขื่อนสิริกิติ์ นอกจากนี้ยังมีการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาใช้ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกตอนล่าง และเพื่อการประปาฝั่งธนบุรีอีกด้วย ดังนั้นจึงต้องศึกษาวิเคราะห์อย่างเป็นระบบลุ่มน้ำเจ้าพระยา-แม่กลอง

แนวทางการศึกษาวิเคราะห์

Advertisement

การศึกษาเบื้องต้นเมื่อวิเคราะห์เป็นระบบลุ่มน้ำแล้วสามารถสรุปได้ดังนี้
1) ได้มีการศึกษาเพื่อปรับเกณฑ์การใช้อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลเพื่อลดปัญหาน้ำท่วมด้านท้ายน้ำ ถ้าใช้เกณฑ์ใหม่นี้และเกิดอุทกภัยเช่นปี พ.ศ.2554 ขึ้นมาอีก จะสามารถลดน้ำท่วมสูง (Peak flow) ที่จังหวัดนครสวรรค์ได้ 500 ลบ.ม.ต่อวินาที
2) เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เสนอแนะให้ศึกษาเพื่อลดปัญหาน้ำท่วมด้านท้ายน้ำ  โดยเมื่ออุทกภัยรอบ 100 ปีไหลผ่านอ่างเก็บน้ำ ปริมาณน้ำที่ระบายลงท้ายน้ำต้องไม่เกินความจุของแม่น้ำ  ดังกรณีศึกษาของเขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งอุทกภัยใหญ่ครั้งเดียวมากกว่าความจุของอ่างเก็บน้ำ โดยมีปริมาตรอ่างสำหรับเก็บกักอุทกภัยเป็นการชั่วคราว (Flood surcharge storage) และในอนาคตถ้าเกิดอุทกภัยเช่นปี พ.ศ.2554 ขึ้นมาอีกคาดว่าจะสามารถลดปริมาณน้ำท่วมสูง (Peak flood) ท้ายอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ได้ไม่น้อยกว่า 300 ลบ.ม.ต่อวินาที และ 200 ลบ.ม.ต่อวินาที ทั้งท้ายอ่างเก็บน้ำเขื่อนแควน้อยและเขื่อนป่าสัก    ชลสิทธิ์ ตามลำดับ
3) เสนอแนะให้พัฒนาแบบจำลอง สำหรับทำนายปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์และอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ต่างๆ ของประเทศ ซึ่งสามารถทำนายเป็นรายฤดู รายสัปดาห์และรายวันได้
4) ได้มีการนำแบบจำลองสำหรับคำนวณหาความต้องการน้ำชลประทาน (Irrigation demand model) ที่ได้เริ่มพัฒนาไว้มาพัฒนาต่อ พร้อมทั้งได้มีการเก็บข้อมูลจากแปลงทดลองในสนามโดยเฉพาะในเขตโครงการชลประทานในลุ่มน้ำอื่นมาสอบเทียบแบบจำลองไว้จำนวนหนึ่ง พร้อมทั้งได้มีการนำแบบจำลองดังกล่าวไปใช้ในการศึกษาหาเกณฑ์การใช้น้ำจากอ่างเพื่อการเพาะปลูกฤดูแล้ง (DSAR-Curve) ด้วย

5) สำหรับปริมาณน้ำที่ไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยาท้ายอ่างแต่เหนือเขื่อนเจ้าพระยา และลุ่มน้ำอื่นที่ไม่มีอ่าง เช่น ลุ่มน้ำยมเสนอแนะให้พัฒนาแบบจำลองเพื่อทำนายเป็นรายฤดู รายสัปดาห์ และรายวันเช่นเดียวกัน และควรให้ใช้ได้กับแบบจำลองการจัดสรรน้ำล่วงหน้ารายสัปดาห์ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา-แม่กลอง (เพราะมีการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาใช้ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา) ซึ่งรายละเอียดแบบจำลองการจัดสรรน้ำล่วงหน้ารายสัปดาห์ได้มีการพัฒนาต่อเนื่องมาเป็นระยะๆ ซึ่งหลักการสำคัญของแบบจำลอง คือ ใช้ระบบทำนายล่วงหน้า รายสัปดาห์กล่าวคือ เมื่อจะเริ่มส่งน้ำชลประทานให้พื้นที่เพาะปลูก กิจกรรมการเพาะปลูกที่จะนำมาใช้คำนวณหาปริมาณน้ำที่ส่งยังไม่เกิด ฝนก็ยังไม่ตก จึงยังไม่ทราบค่าปริมาณน้ำที่ไม่สามารถควบคุมได้และปริมาณน้ำที่เหลือใช้จากพื้นที่ชลประทานตอนบน (ถ้ามี) และปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำ เมื่อสัปดาห์ถัดไปมาถึงจึงเก็บรวบรวมข้อมูลจากสนามมาคำนวณเพื่อปรับแก้สำหรับการจัดสรรน้ำล่วงหน้าสัปดาห์ถัดไป
6) เพื่อให้แบบจำลองการจัดสรรน้ำล่วงหน้ารายสัปดาห์มีความถูกต้องจึงเสนอแนะให้เลือกแปลงทดลองขนาดต่างๆ ให้กระจายไปตามโครงการชลประทานต่างๆ ทั้งลุ่มน้ำเจ้าพระยา-แม่กลอง เพื่อตรวจวัด (Monitor) ข้อมูลน้ำฝนที่ใช้แทนปริมาณน้ำชลประทานได้ ความสัมพันธ์ระหว่างฝนที่ตกรายสัปดาห์และปริมาณฝนที่ใช้แทนน้ำชลประทานได้รายสัปดาห์ และการใช้น้ำที่สำคัญอื่นๆ รวมถึงปริมาณน้ำเหลือใช้ (Return flow) ทั้งบนแปลงทดลองและทั้งในและนอกระบบชลประทานเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3-5 ปี เพื่อนำมาสอบเทียบแบบจำลอง อนึ่งสำหรับปริมาณฝนที่ใช้แทนน้ำชลประทานได้อาจต้องใช้เวลาเก็บข้อมูลยาวกว่า 5 ปี ทั้งนี้เพื่อให้ครอบคลุมฝนลักษณะต่างๆ
7) เมื่อได้ข้อมูลใหม่มากพอ เสนอแนะให้ศึกษาหาอุทกภัยและเกณฑ์การใช้อ่างเก็บน้ำเพื่อลดปัญหาน้ำท่วมและเกณฑ์การใช้อ่างเก็บน้ำเพื่อการชลประทาน และเกณฑ์การใช้น้ำในอ่างเก็บน้ำเพื่อการเพาะปลูกฤดูแล้ง ของอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อย เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ต่างๆ ในลุ่มน้ำใหม่

8) ถ้าดำเนินการได้ตามข้อ 6) และ 7) ซึ่งต้องศึกษาอย่างเป็นระบบลุ่มน้ำที่ถูกต้อง ก็จะสามารถลดปัญหา น้ำท่วม (ปี 2554) ได้มาก และสามารถแก้ปัญหาภัยแล้ง (ปี 2536-2537) ได้มากอีกด้วย
9) สำหรับอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ก่อสร้างมานานแล้ว เสนอแนะให้ศึกษาเพื่อปรับปรุงให้สามารถเก็บกักน้ำบนปริมาตรอุทกภัยใหญ่ถึงระดับน้ำในอ่างสูงสุดเป็นการชั่วคราวได้เหมือนเมื่อออกแบบครั้งแรก
10) มาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้างที่สำคัญที่สุดคือ บุคลากรที่รับผิดชอบจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ทั้งพื้นฐานทางทฤษฎีและประสบการณ์ในการนำทฤษฎีมาประยุกต์ใช้ในงานด้านปฏิบัติที่รับผิดชอบและควรมีการอบรมเกี่ยวกับงานที่เกี่ยวข้องทั้งทางทฤษฎีและภาคปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบในการตัดสินใจระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ทั้งเพื่อการลดอุทกภัยท้ายน้ำ การใช้น้ำเพื่อการเพาะปลูกทั้งฤดูฝนและฤดูแล้งและการใช้แก้มลิงและคลองผันน้ำในช่วงเกิดอุทกภัย (ในระบบชลประทานคลองส่งน้ำต้นคลองใหญ่ปลายคลองเล็ก ส่วนคลองระบายน้ำ ต้นคลองเล็กปลายคลองใหญ่)
11) มาตรการใช้สิ่งก่อสร้างที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การขุดลอกแม่น้ำลำคลองท้ายฝาย และประตูควบคุมน้ำ จะต้องคำนวณตรวจสอบก่อนว่าเมื่อขุดลอกแล้ว เวลาเปิดบานประตูหรือเวลามีปริมาณน้ำไหลผ่านจะไม่เกิดการกัดเซาะท้ายฝายหรือประตูควบคุมน้ำ ซึ่งจะทำให้เกิดอันตรายต่อฝายและประตูได้ โดยเฉพาะเขื่อนเจ้าพระยา อนึ่ง การขุดลอกแม่น้ำลำคลอง นอกจากจะเกิดปัญหาดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ยังจะทำให้เกิดน้ำท่วมและตลิ่งของแม่น้ำท้ายจุดขุดลอกพังทลายเพิ่มมากขึ้น ถ้าพิจารณาศึกษาไม่ถูกต้อง

สรุป

ถ้าได้มีการศึกษาเพื่อปรับเกณฑ์การใช้อ่างช่วงเกิดอุทกภัย (Flood rule curve) และเกณฑ์การใช้น้ำในอ่างเพื่อการเพาะปลูกฤดูแล้ง (DSAR-Curve) ของอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลใหม่และตรวจสอบความมั่นคง (Stability) ของเขื่อนสิริกิติ์ในการใช้ปริมาตรอุทกภัยเหนือระดับเก็บกักน้ำปกติ (Flood surcharge storage) เก็บกักน้ำอุทกภัยในระหว่างและปลายฤดูฝน เป็นการชั่วคราว กับศึกษาเพื่อปรับเกณฑ์การใช้น้ำในอ่างเพื่อการเพาะปลูกฤดูแล้ง (DSAR-Curve) ใหม่ รวมทั้งอ่างเก็บน้ำเขื่อนแควน้อยและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ พร้อมทั้งได้มีการพัฒนาแบบจำลองสำหรับทำนายทั้งปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำ (Inflow) และปริมาณน้ำที่ไม่สามารถควบคุมได้ (Side flow) และพัฒนาแบบจำลองสำหรับจัดสรรน้ำล่วงหน้ารายสัปดาห์อย่างเป็นระบบลุ่มน้ำที่ถูกต้อง และมีการเก็บข้อมูลจากสนามที่มากพอและเป็นเวลานานพอเพื่อนำมาใช้สอบเทียบ (Calibrate) แบบจำลองก็อาจลดอุทกภัยในปี 2554 ที่ จ.นครสวรรค์ได้มากกว่า 1,000 ลบ.ม.ต่อวินาที และยังสามารถเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกฤดูแล้งได้อีกด้วย

ข้อเสนอแนะ

1)เสนอแนะให้มีการพัฒนาแบบจำลองแล้วดำเนินการจัดสรรน้ำล่วงหน้ารายสัปดาห์ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา-   แม่กลอง อย่างเป็นระบบลุ่มน้ำดังเช่นที่เคยปฏิบัติในช่วงปี พ.ศ.2522-2525 เพราะนอกจากจะสามารถแก้ปัญหาภัยแล้งดังเช่นที่เกิดในปี พ.ศ.2536-2537 ได้ถึงระดับหนึ่งแล้ว และถ้าเกิดน้ำท่วมเช่นปี พ.ศ.2554 ขึ้นมาอีก ก็จะสามารถลดน้ำท่วมสูงตามลำน้ำเจ้าพระยาตั้งแต่จังหวัดนครสวรรค์จนถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้ไม่น้อยกว่า 1,000 ลบ.ม.ต่อวินาที และตั้งแต่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาถึงจังหวัดสมุทรปราการได้ไม่น้อยกว่า 1,200 ลบ.ม.ต่อวินาที มีกรณีศึกษาเพื่อปรับปรุงทั้งระบบส่งน้ำและการใช้งาน (Operate) ระบบส่งน้ำอยู่หลายกรณี ซึ่งส่วนหนึ่งได้มาจากการศึกษาเพื่อจัดสรรน้ำล่วงหน้ารายสัปดาห์ด้วยแบบจำลอง อยู่ใน (1), (2) และ (3)
2) เสนอแนะให้มีการเก็บข้อมูลสำคัญในแปลงทดลองจากสนามดังที่กล่าวมาแล้วเป็นเวลาอย่างน้อย 3-5 ปี เพื่อนำมาใช้สอบเทียบแบบจำลอง
3) เสนอแนะให้พัฒนาแบบจำลองสำหรับทำนายปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำ (Inflow) สำคัญๆ ในลุ่มน้ำและปริมาณน้ำที่ไม่สามารถควบคุมได้ (Side flow หรือ Uncontrol flow) ณ จุดสำคัญในลุ่มน้ำเพื่อให้สามารถทำนายทั้งปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำและปริมาณน้ำที่ไม่สามารถควบคุมได้ (Inflow และ Side flow) เป็นรายฤดู รายสัปดาห์ และรายวันได้

4) เสนอแนะให้ศึกษาเพื่อปรับปรุงเกณฑ์การใช้อ่างเก็บน้ำเพื่อลดอุทกภัย (Flood rule curve) และเกณฑ์การใช้น้ำในอ่างเพื่อการเพาะปลูกฤดูแล้งในรูปของกราฟสำหรับคำนวณหาพื้นที่เพาะปลูกฤดูแล้ง (DSAR-Curve) ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหม่
5) ถ้าดำเนินการดังที่ได้กล่าวมาแล้ว จะทำให้การใช้อ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำเกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งด้านป้องกันอุทกภัยและเพื่อการชลประทาน ทั้งในเวลาปกติและเวลาที่เกิดภัยแล้ง และทำให้ทราบปริมาณน้ำที่ไม่สามารถควบคุมได้ (Uncontrol flow) ณ จุดสำคัญๆ ในระบบลุ่มน้ำเพื่อนำมาใช้ประกอบในการตัดสินใจระบายน้ำออกจากอ่างได้อย่างถูกต้อง ทั้งช่วงเกิดอุทกภัย ช่วงเกิดภัยแล้งและช่วงปกติและถ้าเกิดความแห้งแล้งเช่นปี พ.ศ.2536 ขึ้นมาอีกในลุ่มน้ำเจ้าพระยา กรุงเทพฯอาจไม่ขาดน้ำดิบในการผลิตน้ำประปาอีกด้วย
6) ลุ่มน้ำอื่น ลุ่มน้ำอื่นที่เสนอแนะให้ดำเนินการเช่นเดียวกับลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้แก่ลุ่มน้ำชี เพราะมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่อยู่ 2 อ่าง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์และอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำปาว ถ้าจะก่อสร้างเขื่อนชีบน จะต้องศึกษาเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำอย่างเป็นระบบที่ถูกต้อง มิฉะนั้น ประชาชนที่อยู่ด้านท้ายน้ำบางพื้นที่จะได้รับความเดือดร้อนอย่างแน่นอน

บทส่งท้าย

เรื่องที่นำเสนอนี้คงเกิดขึ้นได้ยาก เพราะทั้งผู้บริหารระดับสูงทั้งที่เป็นนักการเมืองและข้าราชการประจำ         มีพื้นความรู้ทางด้านวิชาการเกี่ยวกับเรื่องนี้ค่อนข้างน้อย จึงยังใช้วิธีการเก่าๆ ก่อนปี พ.ศ.2520 จัดการน้ำของประเทศอยู่ เพราะฉะนั้นในอนาคตอันใกล้นี้ถ้าเกิดความแห้งแล้งเช่นปี พ.ศ.2536 ขึ้นมาอีกในลุ่มน้ำเจ้าพระยา โอกาสที่กรุงเทพฯ จะขาดน้ำดิบในการผลิตน้ำประปาจึงมีสูงมากๆ หรือการเกิดน้ำท่วมในลักษณะอื่นๆ ที่เกิดจากความผิดพลาดในการจัดการน้ำ เช่น ทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่รังสิต ดอนเมือง หลักสี่และเขตจตุจักรในปี พ.ศ.2554 เป็นต้น ซึ่งผู้เขียนทราบถึงการจัดการน้ำที่ผิดพลาดตั้งแต่วันแรกแต่ไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร ทั้งนี้เพราะพื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับหนึ่งในหลายกรณีศึกษาของผู้เขียนในโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำ โดยการจัดสรรน้ำล่วงหน้ารายสัปดาห์อย่างเป็นระบบด้วยแบบจำลองในลุ่มน้ำเจ้าพระยาซึ่งผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมงานโดยปฏิบัติงานเต็มเวลาเป็นเวลา 3 ปี (2522-2524) และต่อมาในปี 2559 จะผันน้ำอุทกภัยเข้าคลองระพีพัฒน์ อีกถ้าผู้เขียนไม่รีบเขียนบทความเรื่องคลองระพีพัฒน์ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมได้จริงหรือลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวันเสียก่อน

อนึ่งความเสียหายในลักษณะที่คล้ายกันหรือลักษณะอื่นก็อาจจะเกิดขึ้นได้อีก ทั้งนี้ เพราะหาผู้ที่ทราบเรื่องเกี่ยวกับการจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างเป็นระบบได้ยากมาก

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image