เดินหน้าชน : จังหวัดจัดการตนเอง โดย เสกสรรค์ กิตติทวีสิน

เมื่อกล่าวถึง “จังหวัดจัดการตนเอง” ในประเทศไทย ถ้าติดตามข่าวมาตลอดจะพบว่ามีความพยายามมามากมายหลายครั้งแล้ว แต่เส้นทางเดินไปไม่สุดเสียที มาครั้งนี้ ถูกยกเป็นร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการจังหวัดจัดการตนเอง พ.ศ. … กำลังถูกปั้นทีละมาตราอยู่ในชั้นคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) การปกครองส่วนท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ ในคณะ กมธ.การกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ สภาผู้แทนราษฎร ที่คาดว่าจะมีประมาณ 130 กว่ามาตรา

ยศวัฒน์ มาไพศาลสิน ส.ส.กาญจนบุรี พรรคภูมิใจไทย 1 ในอนุ กมธ.ชุดนี้บอกว่า คณะอนุ กมธ.ได้พิจารณาร่างกฎหมายได้แล้วประมาณ 29 มาตรา สาระสำคัญการปรับโครงสร้างจังหวัดจัดการตนเองนั้นล้อไปกับ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562

ขณะที่ บรรณ แก้วฉ่ำ นักวิชาการด้านกฎหมายการกระจายอำนาจ และยังเป็นคณะอนุ กมธ.การปกครองส่วนท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ บอกว่า การยกร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้คาดว่าจะเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2563 เป็นกฎหมายกลางเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนแต่ละจังหวัดที่มีความพร้อมเสนอทำประชามติขอยกฐานะจังหวัดตนเองให้มีโครงสร้างการปกครองท้องถิ่น 2 ระดับคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับจังหวัด ได้แก่ จังหวัดจัดการตนเอง มีเขตพื้นที่การปกครองครอบคลุมทั้งจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับพื้นที่ ได้แก่ เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษในพื้นที่

บรรณอธิบายต่อว่า หากเป็นท้องถิ่นระดับจังหวัดจะมีการเลือกตั้งแบบ กทม. คือเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากเสียงของประชาชน ส่วนท้องถิ่นระดับล่างก็จะเหลือเทศบาลกับองค์การบริหารส่วนตำบลที่ยังเดินหน้าต่อไป การควบยุบรวมราชการส่วนภูมิภาคเป็นราชการส่วนท้องถิ่น มีการตั้งสภาพลเมืองขึ้นมาทั้งท้องถิ่นระดับบนและระดับล่าง

Advertisement

เนื่องจากการเปิดกว้างให้ท้องถิ่นที่มีความพร้อมในการจัดการตนเอง ต้องการเลือกผู้ว่าราชการจังหวัดขึ้นมาเอง ดังนั้น การตรวจสอบก็จะมีสภาพลเมืองที่เป็นสภาของภาคประชาชน เป็นกลไกสำคัญในการช่วยตรวจสอบการทำหน้าที่ของฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติอย่างเข้มข้น และเพื่อทำให้เห็นว่า คนในจังหวัดนั้นๆ
ก็สามารถจัดการบริหารตรวจสอบการทำงานของเหล่าผู้แทนได้ดีไม่แพ้ใครๆ เพราะคงไม่ปล่อยให้ผู้ที่มาบริหารบ้านเมืองปู้ยี่ปู้ยำได้ตามใจชอบ

ขณะที่ ชำนาญ จันทร์เรือง ในฐานะประธานคณะอนุ กมธ.การปกครองส่วนท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ แถลงข่าวที่รัฐสภาถึงการยกร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการจังหวัดจัดการตนเอง พ.ศ. … สรุปได้ว่า บทบาทและอำนาจหน้าที่ของจังหวัดจัดการตนเอง จะไปไม่ถึงเรื่องของอำนาจในการป้องกันประเทศ ด้านการคลังของรัฐและระบบเงินตรา ด้านกระบวนการยุติธรรม และด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อีกทั้งการดำรงตำแหน่งและบทบาทของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล ไปจนถึงสารวัตรกำนัน ตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะคงอยู่ในตำแหน่งต่อไป ให้มีอำนาจหน้าที่ในการช่วยเหลือ สนับสนุนงานของท้องถิ่น เช่น การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในท้องถิ่น ให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการออกข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อดำเนินการได้

แต่มีรายงานข่าวว่า ทางสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทยไม่เห็นด้วยกับการจัดทำร่างกฎหมายฉบับนี้ และถ้าย้อนไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2558 ทางสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านก็เคยยื่นหนังสือต่อ พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในขณะนั้น ว่าไม่เห็นด้วยกับจังหวัดจัดการตนเอง ที่ขณะนั้นมีการบรรจุในร่างรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดจัดการตนเองที่มีการปกครองรูปแบบพิเศษ คล้ายกับเลือกผู้ว่าฯกทม. และนายกเมืองพัทยา ที่จะไม่มีกำนันและผู้ใหญ่บ้าน รวมทั้งไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดขึ้นมา

Advertisement

เพื่อความชัดเจน คงต้องดูกันต่อ ทางอนุ กมธ.จะเชิญนายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย และสมาคมนักปกครอง ร่วมแสดงความเห็นกันอย่างเต็มที่ เมื่อมีคำถามเข้ามา ทางผู้ร่างกฎหมายก็พร้อมจะตอบข้อข้องใจทุกประเด็นในวันที่ 12 กุมภาพันธ์นี้

เสกสรรค์ กิตติทวีสิน

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image