ภาพเก่า…เล่าตำนาน : ลอนดอน เมืองเก่า…(เคย) เน่ามาก่อน

“มหานครลอนดอน” เมืองเอกของโลก นครหลวงของอังกฤษ เป็นศูนย์รวมแห่งอำนาจ ศูนย์กลางการเมือง วัฒนธรรมและวิทยาการทุกแขนง เป็นผู้นำด้านการเงิน การเมือง วิทยาศาสตร์ การบันเทิง แฟชั่นและศิลปะของโลก

…ช่วงเวลาหนึ่ง เมื่อประชากรจากอาณานิคมทั่วโลกหลั่งหลั่งไหลแห่กันเข้าไปทำมาหากิน ตั้งถิ่นฐาน ไปเรียนหนังสือมากขึ้นและมากขึ้น เมืองลอนดอนก็ประสบปัญหาแออัดกลายเป็นเมืองโสโครก น้ำเน่า อากาศเสีย ขยะล้นเมือง

ในช่วงปี พ.ศ.2343-2393 เกิดการหลั่งไหลของประชากรหลากหลายชนเผ่าเข้าสู่มหานครแบบมืดฟ้ามัวดิน

พ.ศ.2397 (ช่วงต้นรัชสมัยในหลวง ร.4) อหิวาต์มาทำลายล้างชาวลอนดอนตายนับหมื่นคน เมืองนี้กลายเป็นแหล่งเพราะเชื้อโรค ผู้คนในเมืองเจ็บป่วยล้มตายกันมหาศาล เศรษฐกิจพังพินาศ ประชาชนหวาดผวา มหาอำนาจเมืองผู้ดีเป็นที่เยาะเย้ยถากถางของคนทั่วโลกในความอ่อนด้อยสติปัญญาที่จะแก้ปัญหาคนเจ็บ คนตาย…

Advertisement

ลองมาย้อนอดีตเพื่อการศึกษา (อีกครั้ง)

เกิดเหตุการณ์ “กลิ่นเหม็นรุนแรง” หรือ The Great Stink ในกรุงลอนดอนเมื่อ ปี พ.ศ.2401 ตรงกับช่วงปลายรัชสมัยแผ่นดินในหลวง ร.4 ช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม พ.ศ.2401 ช่วงนั้นลอนดอนอากาศร้อน ที่เลวร้ายที่สุดคือน้ำประปาไร้คุณภาพ

Advertisement

ชาวลอนดอนราว 8 ล้านคนเศษ มีอาการอึดอัด เจ็บป่วย ตรอกซอกซอยแม้กระทั่งถนนใหญ่คละคลุ้งไปด้วยกลิ่นเหม็น มองไปทางไหนเจอแต่น้ำเน่า ขยะ ท่อระบายน้ำตัน หนู แมลงสาบยั้วเยี้ย…

เมืองเอกของโลกแห่งนี้คือศูนย์กลางความเจริญของโลกที่ล้ำหน้าในทุกมิติ อังกฤษกำลังรุ่งเรืองด้วยอุตสาหกรรม ปล่องไฟของโรงงานทุกหนแห่งพ่นควันสีดำสูงเสียดฟ้าทั้งวันทั้งคืน

ลอนดอนเนอร์ต้องเจอกับกลิ่นเน่าเหม็นรุนแรง ชาวเมืองต้องทนทุกข์แสนสาหัสแบบ “สิ้นหวัง”

…น้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมที่มีอยู่ในลอนดอนระบายผลักไสของเสียลงสู่แม่น้ำเทมส์

แม่น้ำเทมส์ คือแม่น้ำสายหลักที่สวยใส ให้ความเพลิดเพลินและการพักผ่อนหย่อนใจ เทมส์สร้างความมั่งคั่ง โอ่อ่า สง่างาม ให้ลอนดอนมาหลายศตวรรษ… วันนั้นเทมส์กลายเป็นความอัปลักษณ์

บทความชั้นนำใน The Illustrated London News แสดงความคิดเห็นเสียดสีในยามลอนดอนเน่าว่า:

“…เรา (อังกฤษ) สามารถตั้งอาณานิคมที่ปลายสุดของโลก เราสามารถพิชิตอินเดียได้ เราสามารถจ่ายดอกเบี้ยของหนี้จำนวนมหาศาลที่เคยทำสัญญาไว้ เราสามารถกระจายชื่อของเรา ชื่อเสียงของเราและความมั่งคั่งที่ฟุ่มเฟือยของเราไปยังทุกส่วนของโลก แต่เราไม่สามารถทำความสะอาดแม่น้ำเทมส์ได้…”

พ.ศ.2398 แม่น้ำเทมส์ที่เคยสะอาดใสเริ่มกลายเป็นของเหลวสีน้ำตาลและส่งกลิ่นเหม็นรุนแรงมากๆ โดยที่ทำให้คนในสมัยนั้นตกใจหนักคือ บริเวณเหนือแม่น้ำมีหมอกหนา ซึ่งเกิดจากการผสมกันของสิ่งเน่าเสียและสสารของอุจจาระที่ถูกนำมาทิ้ง

พ.ศ.2461 ชาวเมืองระเบิดอารมณ์แบบแตกหัก

มีข้อมูลที่น่าเกลียดบันทึกว่า…ในช่วงเวลานั้น…วิธีระบายของเสียของชาวลอนดอนในชีวิตประจำวันคือการใช้กระโถนแล้วเทปัสสาวะ ของเสียหนัก-เบา ทั้งปวงที่เก็บไว้ในกระโถนลงในแม่น้ำเทมส์

เมืองยักษ์ คนเยอะ…ไร้การควบคุมสิ่งปฏิกูล ท่อระบายน้ำในเมืองที่สร้างมาแต่ดึกดำบรรพ์กลายเป็นท่อขยะที่อุดตันด้วยไขมัน…

น้ำเสียจากการอาบและชะล้างจะถูกปล่อยไหลลงพื้นแล้วระบายสู่ท่อน้ำเสียบนถนน น้ำกินน้ำใช้จะมาจากบ่อ ถังเก็บน้ำ ท่อประปาหรือมาจากน้ำในแม่น้ำ

อหิวาตกโรค…ขาประจำ เริ่มมาเยี่ยมและปลิดชีพชาวลอนดอน ประชาชนในสมัยนั้นยังไม่มีใครรู้หัวนอนปลายตีนของอหิวาต์ แกเป็นใคร จึงทำให้ล้มตายกันแบบไม่อั้น…

London’s Great Stink ทำให้รัฐบาลต้องออกมารับผิดชอบ…ปัญหาอยู่ตรงไหน?

หลังจากทีมวิศวกรมืออาชีพตรวจสอบปัญหาแล้วสรุปได้ว่า การแก้ไขลอนดอนเน่าคือต้องรื้อท่อ วางระบบระบายน้ำในมหานครลอนดอนใหม่ทั้งหมด

ท่านผู้อ่านคงเคยได้ยินชื่อ นายไมเคิล ฟาราเดย์ (Michael Faraday) นักเคมีและนักฟิสิกส์ชาวอังกฤษ เขาเป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ผู้มีอิทธิพลมากที่สุดในประวัติศาสตร์โลก เขาติดตามปัญหาและความเหลวไหลของระบบงานระบายน้ำ ฟาราเดย์คือผู้ถือธงนำสนับสนุนการรื้อระบบระบายน้ำของลอนดอน

ลอนดอนเน่า…ไม่มีข้อแก้ตัว ต้องแก้ไข…

เสียงคัดค้านจากกลุ่มอนุรักษนิยมดังสวนขึ้นมากระหึ่ม บรรดานักการเมืองกลุ่มหนึ่งขอแก้ปัญหากลิ่นเหม็นโดยให้ย้ายที่ประชุมออกไปนอกเมือง หรือใช้ระบบการกำจัดกลิ่นในห้องประชุมของสภา เป็นทางเลือก

การต่อสู้ทางความคิดเป็นไปอย่างเข้มข้นท่ามกลางวิกฤตลอนดอนเน่า

ไมเคิล ฟาราเดย์ ลงทุนนั่งเรือพร้อมทีมงานตระเวนในแม่น้ำเทมส์แล้วส่งจดหมายถึงบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เดอะไทมส์

จดหมายที่มีชื่อว่า “การสังเกตการณ์บนสิ่งสกปรกของแม่น้ำเทมส์” โดยฟันธงเปรี้ยงลงไปว่า “ทั้งหมดของแม่น้ำ เป็นของเหลวสีน้ำตาลทึบแสง และแม่น้ำนั้นไม่มีอะไรมากไปกว่าท่อระบายน้ำที่แท้จริง”

ฟาราเดย์บอกกับชาวอังกฤษว่า แม่น้ำเทมส์ในเวลานั้นมีสถานะเป็น “ท่อระบายน้ำเน่าเสีย”

การพูดจาชี้แจงอย่างชาญฉลาด เป็นเหตุ-เป็นผลของฟาราเดย์ และการล้มตายของผู้คนทำให้เกิดความกดดันไปที่สภาผู้แทนราษฎร และต่อมาในเวลา 18 วัน สภาฯอังกฤษจึงผ่านกฎหมายให้งบประมาณที่จะให้รื้อระบบระบายน้ำของลอนดอนแล้ววางระบบใหม่

อยุธยาไม่สิ้นคนดี ลอนดอนไม่จำนนต่อปัญหา

เซอร์ โจเซฟ บาซัลเกตต์ (Sir Joseph William Bazalgette) วิศวกรชาวอังกฤษ ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้สำรวจข้อมูลอย่างละเอียด และเป็นประธานคณะกรรมการจัดสร้างระบบระบายน้ำใหม่

นี่คือมโหฬารงานก่อสร้างของมหานครที่อาจกล่าวได้ว่าแทบต้องรื้อเมืองกันใหม่ เป็นอภิมหาโปรเจ็กต์…แต่ไม่มีทางเลือก…ต้องทำ

ทีมวิศวกรวางแผนรื้อท่อระบายน้ำ ย้ายสถานีสูบน้ำ รวมทั้งการสร้างเขื่อนริมแม่น้ำในลอนดอนใน 3 ระดับ ซึ่งขยายยาว 4 ไมล์บนฝั่งซ้ายและฝั่งขวาของแม่น้ำ ใช้เทคโนโลยีในยุคสมัยนั้นเข้าจัดการแบบ “ครบวงจร” ไม่ได้แก้ปัญหาแบบปะผุ

การรื้อระบบระบายน้ำต้องไปทำงานใต้ดิน วางระบบบำบัดน้ำเสีย ย้ายท่อระบายน้ำทิ้งไปทางทิศตะวันออกของลอนดอน มีการสร้างระดับของน้ำ ในระบบระดับสูง กลางและระดับต่ำ

การออกแบบก่อสร้างยังคำนึงถึงการจราจรของเรือขนาดยักษ์ในแม่น้ำ กำหนดพื้นที่ต่างๆ อย่างเป็นระบบตลอดแนวแม่น้ำเทมส์

สิ่งที่วิศวกร สถาปนิก คำนึงถึงคือ “ทางคนเดิน” ตามแนวแม่น้ำที่อยู่บนท่อระบายน้ำขนาดใหญ่กว้าง 6 เมตร

งานที่วิศวกรอัจฉริยะผู้นี้ออกแบบ คือการวางท่อระบายน้ำใต้ดินในลอนดอนยาวประมาณ 1,760 กิโลเมตร รวมออกแบบระบบบำบัดน้ำเสีย น้ำจะระบายออกได้แม้ช่วงเวลาน้ำขึ้น

ระบบกำจัดน้ำเสียเพื่อกำจัดของเสียจะมีขนาดใหญ่พอสำหรับอนาคตของมหานคร น้ำเสียจะถูกกรองและทำความสะอาดเพื่อให้มีเพียงน้ำสะอาดเท่านั้นที่กลับสู่แม่น้ำเทมส์

วิศวกรบาซัลเกตต์ออกแบบระบบท่อระบายน้ำเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้วให้สามารถรองรับปัญหาในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างชาญฉลาด

สถาปนิกผังเมือง แพทย์ ทุกฟากฝ่ายเข้ามาใช้ความรู้ ใช้หลักการเต็มพิกัด

เพื่อกอบกู้มหานครให้กลับมาโอ่อ่า สง่างาม เพื่อเกียรติภูมิของเมืองผู้ดี

สิ่งที่ปรากฏต่อสายตาชาวลอนดอนและผู้คนที่ไปเยือนในเวลาต่อมา คือสถาปัตยกรรมของผังเมืองที่งามตาและสามารถจัดการกับปัญหาน้ำเน่าของลอนดอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ชาวอังกฤษที่ใช้ชีวิตอยู่บนดินแดนที่หนาวเย็น เฉอะแฉะ ฝนฉ่ำ ต่างปลื้มกับ “ทางเดินเล่น” เพื่อสูดอากาศ รับแสงแดด พักผ่อนในวันที่มีสายลม แสงแดด

ชาวยุโรปคือชนชาติที่โหยหา หิวกระหายแสงแดดมิรู้อิ่ม เมืองลอนดอนที่ถูกออกแบบ วางและสร้างระบบใหม่ใต้ดิน บนดิน เป็นความภูมิใจของคนอังกฤษ

ภารกิจที่ถือเป็นความสำเร็จตามมา คือการสร้างระบบประปาใหม่ที่บริสุทธิ์ขนาดดื่มได้จากก๊อกน้ำ

เมื่อลงมือทำงานตามแผน เรื่องของแม่น้ำเทมส์ที่เน่าเสีย สภาพกรุงลอนดอนที่เต็มไปด้วยเชื้อโรคเริ่มคลี่คลายไปอย่างช้าๆ

ชาวลอนดอนสามารถหายใจด้วยความโล่งอกที่เหมาะสมไม่เพียงแต่อากาศปลอดโปร่งเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผลประโยชน์อื่นๆ ที่มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลง

ผู้เขียนพยายามหาสาเหตุความขัดแย้งในหมู่ชาวอังกฤษว่า เหตุใดจึงมีกลุ่มคนอีกจำนวนหนึ่ง “คัดค้าน” การรื้อระบบระบายน้ำ และการจัดการของเสียในเวลานั้น ซึ่งชาวอังกฤษกำลังล้มตายจากอหิวาตกโรคนับหมื่นคน

คำตอบคือ ในเวลานั้นยังไม่มีใครพิสูจน์ได้ว่า ความสกปรกของเมือง น้ำเสีย สิ่งปฏิกูล และแม่น้ำที่เน่า คือต้นเหตุของอหิวาตกโรค

 

บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ของอังกฤษอีก 1 คนในวิกฤตการณ์นี้คือ จอห์น สโนว์ ซึ่งทำงานหนักและพบว่าบริษัท

ผู้ผลิตน้ำประปาทั้ง 9 แห่งในลอนดอนอาศัยน้ำจากแม่น้ำเทมส์ไปผลิตเป็นน้ำประปา (เวลานั้นมีเอกชน 9 บริษัทผลิตน้ำประปาขาย ประชาชนเลือกบริษัทได้เอง)

จอห์น สโนว์ ตรวจสอบคุณภาพน้ำประปาของทุกบริษัทพบว่า… บริษัทแห่งหนึ่งใช้น้ำดิบจากแม่น้ำเทมส์จากบริเวณที่สกปรกที่สุดในการทำน้ำประปา และสำรวจพบว่า ประชาชนที่ใช้น้ำประปาของบริษัทนี้ป่วยเป็นอหิวาต์มากที่สุด

เขาได้นำน้ำจากบริษัทนี้ไปให้นักจุลชีววิทยาผู้มีชื่อเสียงที่สุดในยุคนั้นตรวจสอบและพบว่าน้ำจากแหล่งต้องสงสัยมีสิ่งมีชีวิตเล็กๆ รูปร่างเป็นวงรีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่กล้องที่มีอยู่ในสมัยนั้นยังไม่ดีพอที่จะบอกได้ว่าสิ่งมีชีวิตเล็กๆ นี้คืออะไร สโนว์จึงต้องหาหลักฐานผ่านวิธีการทางระบาดวิทยาอีกครั้งหนึ่ง

กล้องจุลทรรศน์ในสมัยโน้นยังไม่ละเอียดพอที่จะบอกอะไรได้

จอห์น สโนว์ พยายามจะหาความเชื่อมโยงระหว่างน้ำสกปรกกับอหิวาต์

ต่อมา เขาพบว่าผู้เสียชีวิตจากอหิวาต์ทั้งหมดอยู่อาศัยใกล้บ่อต้องสงสัยนั้น หรือดื่มน้ำจากบ่อที่ใกล้กับบ่อส้วม

เขารายงานผลการศึกษาไปยังรัฐบาล ถึงแม้ว่าคณะกรรมการผู้รับผิดชอบทางด้านสุขาภิบาลส่วนใหญ่จะไม่ค่อยเชื่อถือข้อมูลของสโนว์ แต่พวกเขาก็สั่งปิดการใช้บ่อทันที ซึ่งเท่ากับเป็นการหยุดการระบาดโรคติดต่อที่มาจากน้ำเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

หลังจากนั้นรัฐบาลได้แต่งตั้งกรรมการขึ้นสอบสวนสาเหตุของอหิวาต์เพิ่มเติม ผลการทดลองทำให้สมมุติฐานของสโนว์ที่ว่าน้ำเป็นตัวกลางในการระบาดของอหิวาต์… เป็นความจริง

ในเดือนตุลาคม ปี 2399 เบนจมิน ริชาร์ดสัน ให้ความเห็นไว้ในการประชุมของสมาคมแพทย์ The British Medical Association in Birmingham ยืนยันว่า อหิวาต์ระบาดจากน้ำที่ปนเปื้อน ส่วนความสำเร็จของการหาสาเหตุการระบาดของอหิวาต์เป็นผลมาจากความพยายามของจอห์น สโนว์

คณะกรรมการจึงมีมติให้ย้ายบ่อกำจัดน้ำเสียออกไปจากใจกลางกรุงลอนดอน จากนั้นมากรุงลอนดอนก็รอดพ้นจากการระบาดของอหิวาต์

จอห์น สโนว์ เสียชีวิตเมื่ออายุเพียง 45 ปี ด้วยโรคเส้นโลหิตในสมองในเดือนมิถุนายน 2401 เขาเสียชีวิตก่อนที่ผลงานของเขาจะได้รับการยอมรับและส่งผลดีต่อวงการแพทย์ทั่วโลก…

การตัดสินใจเด็ดขาด…รื้อระบบระบายน้ำ และสร้างขึ้นใหม่ในวันนั้น…ทำให้ลอนดอนฟื้นจากฝันร้าย

แม่น้ำเทมส์ซึ่งเคยเป็นบ่อเกิดของกลิ่นเหม็นในวันนั้น ในปัจจุบันก็กลายเป็นหนึ่งในแม่น้ำที่ได้ชื่อว่าสะอาดที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

เซอร์ โจเซฟ บาซัลเกตต์ และจอห์น สโนว์ ไม่ใช่นักรบ แต่เขาคือวีรบุรุษของอังกฤษที่ถูกจารึกชื่อไว้ในประวัติศาสตร์

ขอส่งท้ายให้คนไทยภูมิใจ…เมื่อพูดถึงน้ำประปา… ในหลวงรัชกาลที่ 5 มีพระราชดำริให้ผลิตน้ำประปาใช้ในพระนครเป็นครั้งแรก จึงได้ขุดคลองเพื่อนำน้ำดิบจากแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเริ่มจากบริเวณ “วัดสำแล” ต.บ้านกระแชง อ.เมืองปทุมธานี ซึ่งเป็นจุดที่คำนวณแล้วว่าน้ำเค็มจากทะเลจะหนุนมาไม่ถึง เพื่อให้น้ำดิบที่ได้เป็นน้ำจืดไม่มีน้ำทะเลปะปน จนถึงคลองสามเสนบริเวณโรงกรองน้ำสามเสน การขุดคลองแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2456

คลองประปามีความยาวทั้งสิ้น 25 กิโลเมตร กว้าง 14 เมตร และลึก 3 เมตร ส่งน้ำดิบสำหรับโรงกรองน้ำบางเขนและโรงกรองน้ำสามเสน

สยามมี “คลองประปา” ที่น้ำสะอาด ถูกสุขลักษณะ แนวคลองตรงเป๊ะ เป็นไปตามหลักสุขาภิบาล ไม่มีใครเอากระโถนไปเทใส่ ขุดเสร็จหลังจากลอนดอนประสบปัญหาราว 50 ปี และก็ยังโดดเด่น ใช้งานได้มาถึงปัจจุบัน

ผู้เขียนมั่นใจว่า… ในประเทศไทยมีนักวิชาการ ข้าราชการ ที่ศึกษาวิทยาการในแขนงนี้จำนวนไม่น้อย คนพวกนี้เก่ง มีความรู้ที่จะทำงาน สร้างสรรค์ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทยได้ …ซึ่งมิใช่เฉพาะในกรุงเทพฯ

จังหวัดใหญ่ๆ พลเมืองหนาแน่นในประเทศไทยกำลังประสบปัญหาแบบลอนดอนในอดีตก็มีหลายเมือง

ให้โอกาส มอบภารกิจให้ “คนเก่ง-มืออาชีพ” ทำงานแสดงฝีมือ คิด วางแผน ตัดสินใจ แล้วลงมือทำ เพื่อลูกหลานไทยจะได้ไม่ลำบาก…

พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก
———————————————
ข้อมูลบางส่วนจาก https://www.historic-uk.com/HistoryUK/HistoryofBritain/Londons-Great-Stink/

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image