คอลัมน์หน้า 3 : เสียงโห่ ป้ายผ้า “ผ น ง ร จ ต ก ม” มี เป้าหมาย ชัด

ไม่ว่าเสียงโห่อันกระหึ่มกึกก้อง ณ กระทรวงพาณิชย์ระหว่างรอซื้อ “หน้ากากอนามัย” ไม่ว่าการเดินถือป้าย “ผนงรจตกม” ในฟุตบอลประเพณี

คนละเรื่องเดียวกัน

เหมือนกับเป้า ณ กระทรวงพาณิชย์คือ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เจ้ากระทรวง เหมือนกับเป้า ณ ฟุตบอลประเพณีจะเป็น “ผนง”

แต่ปลายทางอย่างเดียวกัน

Advertisement

พูดตามสำนวนของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ กรณีของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ กรณีของ “ผนง” ดำเนินไปเหมือนกับเป็นตัวแทน

เป็น PROXY

ความรู้สึกอย่างแท้จริงของผู้คนในสังคม ไม่ว่าที่รอซื้อ “หน้ากากอนามัย” ไม่ว่าที่รอดูขบวนล้อการเมืองและการแปรอักษรของนิสิตนักศึกษา

Advertisement

รวมศูนย์อยู่ที่ “คนซึ่งใครๆ ก็รู้”

สถานการณ์เดือนตุลาคม 2516 นามของ จอมพลถนอม กิตติขจร นามของ จอมพลประภาส จารุเสถียร นามของ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร

กระหึ่ม

นั่นก็คือ อารมณ์ร่วม นั่นก็คือ เป้าหมายร่วมที่สังคมไทยต้องการให้พ้นออกไปจากอำนาจ ไม่ต้องการให้อยู่แม้กระทั่งในประเทศ

ประณามอย่างรุนแรงว่า “3 ทรราช”

สถานการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 เสียงร้องตะโกนออกไป ออกไป พร้อมกับการตบขวดน้ำพลาสติกกระหึ่มบนถนนราชดำเนิน

นี่คือ อารมณ์ร่วม นี่คือ ความรู้สึกร่วม

ไม่ว่าเมื่อเดือนตุลาคม 2516 ไม่ว่าเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 ความรู้สึกและอารมณ์ของสังคมดำเนินไปอย่างที่เรียกว่าเห็นพ้องต้องกัน

ความรู้สึก “ร่วม “อย่างนี้ดำเนินไปในลักษณะ “สะสม”

ความต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงในเดือนตุลาคม 2516 มิใช่อยู่ๆ ก็ปะทุขึ้นโดยไร้ต้นสายปลายเหตุ ตรงกันข้ามมันสะสมมาอย่างยาวนาน

ยาวนานตั้งแต่รัฐประหารเมื่อเดือนตุลาคม 2501

ยาวนานตั้งแต่หลังเลือกตั้งเมื่อปี 2512 และเริ่มไม่พอใจมากยิ่งขึ้นจากรัฐประหารในเดือนพฤศจิกายน 2514

ใช้เวลาเกือบ 2 ปีในการบ่ม

สถานการณ์ในเดือนพฤษภาคม 2535 มีจุดเริ่มจากความไม่พอใจต่อรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2534

เพียงแต่ถูกสะกดด้วยปากกระบอกปืน

ต่อเมื่อมีความพยายามร่างรัฐธรรมนูญและจัดวางพิมพ์เขียวเพื่อการสืบทอดอำนาจนั้นหรอกจึงเกิดความรู้สึกร่วม จึงนำไปสู่ความเคลื่อนไหวในทางการเมือง

จากความไม่พอใจที่ “สะสม” จึงกลายเป็น “พลัง”

จากนี้จึงเห็นได้ว่าเสียงโห่อันกระหึ่มก้องในกระทรวงพาณิชย์จึงมิได้เป็นเรื่องอันเป็นเหตุบังเอิญ หรือแม้กระทั่งป้าย “ผนงรจตกม” มิได้เป็นเรื่องที่มิได้มีเป้าหมาย

มีและมีอย่างแจ่มชัด

เป็นความรู้สึกสะสมตั้งแต่หลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 และทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นภายหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562

รอจังหวะเวลาอันเหมาะสม

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image