โดนัลด์ ทรัมป์ หลุดพ้นการถอดถอน : โดย ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

โดนัลด์ ทรัมป์ หลุดพ้นการถอดถอน : โดย ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

โดนัลด์ ทรัมป์ หลุดพ้นการถอดถอน : โดย ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

การลงมติของวุฒิสภาสหรัฐเกี่ยวกับการ “ไม่ถอดถอน” โดนัลด์ ทรัมป์ ออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐ นั้น

เป็นเรื่องที่ไม่เกินความคาดหมาย

ก็เพราะสัดส่วนของวุฒิสมาชิกระหว่างพรรครีพับลิกันกับพรรคฝ่ายค้าน

Advertisement

ชัดเจนยิ่ง ชัดเจนที่สัดส่วนคือ “ธงคำตอบ”

บัดนี้ ญัตติถอดถอน โดนัลด์ ทรัมป์ จึงเป็นเวลาที่ต้องใส่เครื่องหมาย “full stop”

สาเหตุอันนำมาซึ่งการถอดถอนในครั้งนี้คือ สายข่าวความมั่นคงสหรัฐกล่าวหาว่าโดนัลด์ ทรัมป์ใช้อำนาจหน้าที่กระทำละเมิด โดยอ้างว่า เมื่อเดือนกรกฎาคม 2019 ทรัมป์ได้โทรศัพท์ข่มขู่กดดัน “โวโลดีมีร์ เซเลนสกี้” ประธานาธิบดียูเครนให้ทำการตรวจสอบเกี่ยวกับบุตรชายของ “โจ ไบเดน” ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีว่ามีพฤติกรรมทุจริตในประเทศยูเครนหรือไม่ ทั้งนี้ได้ระงับเงินช่วยเหลือทางการทหารไว้ก่อน จนกว่าได้รับผลการตรวจสอบ

Advertisement

การลงมติเกี่ยวกับการถอดถอนมีอยู่ 2 ญัตติ

1.ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ

2.ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของสภาคองเกรส

ผลการลงมติญัตติที่ 1 เห็นชอบ 48 เสียง ไม่เห็นชอบ 52 เสียง

ผลการลงมติญัตติที่ 2 เห็นชอบ 47 เสียง ไม่เห็นชอบ 53 เสียง

การลงมติญัตติที่ 2 เป็นไปตามสัดส่วนของพรรคคือ

พรรคฝ่ายค้าน 47 เสียง พรรครีพับลิกัน 53 เสียง

สำหรับญัตติที่ 1 เห็นชอบ 48 เสียง เป็นของพรรคฝ่ายค้าน 47 เสียง อีก 1 เสียงคือ “มิตต์ รอมนีย์” จากพรรครีพับลิกัน ส่วนคะแนนเสียงไม่เห็นชอบ 52 เสียงเป็นของพรรครีพับลิกัน

“มิตต์ รอมนีย์” คือนักการเมืองสอบตกใน Primary vote เพื่อชิงเป็นตัวแทนของพรรครีพับลิกันในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2016 ซึ่งถือเป็นไม้เบื่อไม้เมากับโดนัลด์ ทรัมป์

จึงไม่แปลกที่ “แตกแถว” ไปกับพรรคฝ่ายค้าน

อีกประการ 1 การกระทำของ “มิตต์ รอมนีย์” แม้ไม่กระทบถึงผลแห่งการลงมติ แต่สะท้อนให้เห็นว่า พฤติกรรมของทรัมป์เป็นการอันมิชอบ เพราะทรัมป์อาศัยอำนาจตำแหน่งหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนในทางการเมือง ตัดงบช่วยเหลือทางการทหาร เป็นการบั่นทอนกำลังด้านกลาโหมของยูเครนที่จะต่อต้านรัสเซีย อันเป็นการทำลายผลประโยชน์ของสหรัฐ

กรณีเป็นการทำลายภาพลักษณ์ของพรรครีพับลิกันด้วย

หลังการลงมติ “มิตซ์ แมคคอนแนล” ผู้นำเสียงข้างมากของพรรครีพับลิกันในวุฒิสภากล่าวว่า พรรคเดโมแครตหวังอาศัยผลการลงมติถอดถอนเพื่อให้ได้ชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไป แต่ผลการลงมติกลับสะท้อนให้เห็นว่า เป็นความพ่ายแพ้ทางการเมืองครั้ง 1 ของพรรคเดโมแครต การยื่นญัตติถอดถอนของพวกเขา จึงเป็นความผิดพลาด

ส่วนพรรคเดโมแครตปฏิเสธไม่ยอมรับการลงมติ โดย “แนนซี เพโลซี” ประธานสภาผู้แทนราษฎรวิพากษ์ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ และพรรครีพับลิกันบังอาจละเมิดกฎหมาย เธอกล่าวว่า การไต่สวนของวุฒิสภาปราศจากพยานบุคคล เอกสารและหลักฐานมานำสืบ จึงไม่ถือว่าเป็นการไต่สวน และยังพรรณนาว่า พฤติกรรมของคนรีพับลิกันเป็นการอันขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนให้โดนัลด์ ทรัมป์กระทำการอันคุกคามต่อประชาธิปไตยของอเมริกันชน

อย่างไรก็ตาม การยื่นญัตติถอดถอนโดนัลด์ ทรัมป์ในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการ “ขาดทุน” ทางการเมืองของพรรคเดโมแครต กล่าวคือ นอกจากกระบวนการถอดถอนไม่ประสบความสำเร็จ กลับกลายเป็นการสร้างโอกาสให้พรรครีพับลิกันกล่าวหาว่า ถูกพรรคเดโมแครตคุกคาม

จึงไม่แปลกที่ทรัมป์ลงในทวิตเตอร์ว่า “สหรัฐชนะการถอดถอนหลอกลวง”

ต่อแต่นี้ไป โดนัลด์ ทรัมป์ คงจะต้องชูประเด็นวุฒิสภาตัดสิน “ไม่ผิด” คือชัยชนะ เพื่อยกระดับการสนับสนุนจากผู้ใช้สิทธิ เพื่อเดินหน้าทำงานหาเสียงต่อไป

หากเปรียบเทียบกับเมื่อ 9 เดือนก่อน แนวโน้มการครองตำแหน่งประธานาธิบดีอีก 1 สมัย ขึ้นสูงมากทีเดียว จากการสำรวจประชามติของ “United States Gallup polls” เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ปรากฏว่า

1 พอใจผลงานโดนัลด์ ทรัมป์ ร้อยละ 49 ทำลายสถิติ

1 การสนับสนุนในพรรคร้อยละ 51 เทียบกับเดือนกันยายน 2019 เพิ่มขึ้นร้อยละ 8

ก่อนการลงมติ ทรัมป์ได้มีการแถลงผลงานระหว่างการดำรงตำแหน่งในวุฒิสภา สรุปพอเป็นสังเขปว่า “สหรัฐได้รับชัยชนะจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐระดับหนึ่ง ประเทศมีความก้าวหน้าความเจริญรุ่งเรือง อัตราคนตกงานต่ำสุดในรอบครึ่งศตวรรษ สร้างงานให้แก่อเมริกันชนถึง 7 ล้านตำแหน่ง เพิ่มรายได้ของคนทำงานในโรงงาน และคนระดับกลาง…”

คนรีพับลิกันชูไม้ชูมือโห่ร้องด้วยความดีใจพร้อมกับคำว่า “อยู่ต่ออีก 4 ปี”

ในขณะที่คนเดโมแครต “มิดอิมซิม”

บัดนี้ เป็นมงคลฤกษ์แล้วสำหรับการเดินเครื่องหาเสียงของโดนัลด์ ทรัมป์ คาดว่าเป้าหมายหลักคือคนทำงานในสำนักงาน คนงานในโรงงาน และครอบครัวระดับกลาง

ปฏิเสธมิได้ว่า เวลา 3 ปีที่ผ่านมา ผลงานที่โดดเด่นของทรัมป์คือ

อัตราคนตกงานต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

ประวัติศาสตร์อเมริกันบอกเราว่า ไม่ว่าประธานาธิบดีคนใดสามารถทำให้อัตราการตกงานต่ำ โอกาสที่จะครองตำแหน่งอีก 1 สมัยนั้น ไม่อยู่ไกลเกินเอื้อม

โดนัลด์ ทรัมป์ทำได้ และได้ทำแล้ว

ฉะนั้น โอกาสที่ทรัมป์จะชนะการเลือกตั้งวันที่ 3 พฤศจิกายน 2020 จึงค่อนข้างสูง

การครองตำแหน่งประธานาธิบดีอีก 1 สมัยของโดนัลด์ ทรัมป์

จึงมิใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้

ศ.ชยานันต์ ศุกลวณิช

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image