การตรวจพิสูจน์ โควิด-19 ของจีน : โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งซึ่งสร้างความสับสนให้กับผู้ที่ติดตามการแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือไวรัสอู่ฮั่นในเวลานี้คือ ทำไมจู่ๆ เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ยอดผู้ติดเชื้อ “รายวัน” ในจีนถึงกระฉูดขึ้นวันเดียวกว่า 14,000 ราย

คำอธิบายของจีนก็คือ เกิดขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนวิธีการตรวจวินิจฉัยเพื่อยืนยันผู้ติดเชื้อ โดยใช้คำที่เข้าใจกันในวงการแพทย์ว่า จากเดิมที่ใช้แค่ “ชุดตรวจ” หรือ “เทสต์คิท” มาเป็นการตรวจเชิงคลินิก หรือ “คลินิคัล เทสต์”

เหตุผลก็เพื่อยืนยันผู้ติดเชื้อได้เร็วขึ้น และสามารถรักษาได้เร็วขึ้น

ปัญหาก็คือ กรณีนี้สร้างความสับสนเพิ่มขึ้นมากมาย กลายเป็นความไม่รู้แล้วก็กลายเป็นความกลัวมากยิ่งขึ้น

Advertisement

เพราะการเพิ่มพรวดขึ้นมานั้น ทำให้ “เทรนด์” ของการระบาดที่เคยติดตามได้หายวูบไปในทันทีเช่นกัน

แล้วทำไมต้องเปลี่ยน? เท่าที่ผมตรวจสอบจากหลายๆ แหล่งแล้ว ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ต้องเปลี่ยนคือ “ความจำเป็น” ครับ

เพื่อทำความเข้าใจทั้งหมด เราต้องย้อนกลับไปดูว่า เดิมจีนตรวจยืนยัน “เคส” ทั้งหลายด้วยวิธีไหนกัน

Advertisement

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของจีนใช้เทคนิคการตรวจเชื้อที่เรียกว่า “รีเวิร์ส ทรานสคริปเทส โพลิเมราส เชน รีแอ๊กชั่น” (Reverse Transcriptase Polymerase Chain Reaction RT-PCR) เรียกกันสั้นๆ ว่า “อาร์ที-พีซีอาร์” ครับ

“อาร์ที-พีซีอาร์” คือการตรวจตัวอย่าง (เลือด หรือตัวอย่างจากช่องทางเดินหายใจ) โดยมีชุดเก็บตัวอย่างแล้วนำไปทดสอบในห้องปฏิบัติการ เพื่อหากรดนิวคลีอิคของไวรัสโดยตรง แทนที่จะต้องตรวจหาแอนติเจนท์ หรือแอนติบอดี ที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเพื่อต้านไวรัส ซึ่งต้องรอระยะเวลาหนึ่ง

วิธีนี้ในทางการแพทย์จึงเรียกกันอย่างหนึ่งว่า นิวคลีอิค เทสต์ หรือแนท (นิยมใช้ในการทดสอบผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ซึ่งเป็นไวรัสเหมือนกัน)

วิธีที่สองที่ใช้กันก็คือ การนำเอาเลือดหรือตัวอย่างจากช่องจมูก, ปาก มาทำ “เจเนติค ซีเควนซ์” หรือการจำแนกพันธุกรรมออกมาดูว่ามีสัดส่วนเหมือนกับพันธุกรรมของไวรัสมากน้อยแค่ไหน มากก็คือติดเชื้อนั่นแหละครับ

ทั้งสองวิธีมีความแม่นยำสูง (ข้อเท็จจริงก็คือ ไม่มีวิธีตรวจยืนยันใดให้ผลเป๊ะ 100 เปอร์เซ็นต์) แต่มีปัญหา

ปัญหาคือระยะเวลาที่ใช้ อุปกรณ์ที่ใช้และบุคลากรที่ใช้ในการตรวจ

อาร์ที-พีซีอาร์ ต้องมีอุปกรณ์พิเศษ สภาพแวดล้อมต้องสะอาด และผู้ทดสอบต้องมีทักษะสูง เพื่อป้องกันความผิดพลาดจากการปนเปื้อน

เจเนติค ซีเควนซ์ ยิ่งไปกันใหญ่ ไม่เพียงแพง ยังเป็นไฮเทค ซึ่งต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ “อ่าน” หรือตีความผลลัพธ์ ถึงจะให้ความแม่นยำระดับสูงได้

ขณะที่ อาร์ที-พีซีอาร์นั้น 1 ตัวอย่าง กว่าจะได้ผลลัพธ์ต้องใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง

ถ้าความทรงจำของผมไม่ผิดเพี้ยน โรงพยาบาลในอู่ฮั่นมีอยู่เพียง 4 แห่ง แต่อู่ฮั่นกลับมีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในจีน คิดสัดส่วนแล้วมากถึง 82 เปอร์เซ็นต์

จาง หงซิง รัฐมนตรีช่วยสาธารณสุขจีน บอกเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า อู่ฮั่นตรวจยืนยันผู้ติดเชื้อได้มากที่สุด 6,000 ถึง 8,000 คนต่อวัน

นั่นเป็นการทำงานกันแบบไม่มีวันหยุด หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันทำตลอด 24 ชั่วโมง

แต่ถ้า “ผู้ต้องสงสัย” มีเป็นแสน เป็นล้าน? คนที่ไม่ได้รับการตรวจย่อมคั่งค้างมากมาย

การเปลี่ยนวิธี หรือเพิ่มวิธี โดยนัยหนึ่งคือการยอมรับว่าวิธีเดิมรับมือไม่ไหวแล้วนั่นแหละครับ

วิธีใหม่ที่เพิ่มเข้ามาก็คือการจับ “ผู้ต้องสงสัย” เข้าไปทำทีซีสแกนปอด ดูว่ามีอาการอักเสบหรือไม่ ถ้ามี ก็ใช่ ไม่ต้อง อาร์ที-พีซีอาร์ หรือเจเนติค ซีเควนซ์อีกแล้ว

วิธีนี้เหมาะที่สุดในการจำแนกผู้ต้องสงสัยที่คั่งค้างครับ เพราะปอดอักเสบไม่ได้เป็นอาการเริ่มแรก แต่ต้องผ่านไประยะหนึ่งจึงแสดงอาการ

จนถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ มีผู้ถูกระบุยืนยันออกมาด้วยวิธีนี้แล้ว 17,000 คน

เจสสิกา จัสท์แมน รองศาสตราจารย์แพทยศาสตร์ด้านระบาดวิทยาของมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในสหรัฐ ชื่นชมว่าเป็นการประยุกต์ใช้ที่น่าสนใจและชอบด้วยเหตุผลทีเดียว

ปัญหาตอนนี้ก็คือ ผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลกคงต้องรออีก 1 ถึง 2 สัปดาห์กว่าตัวเลขที่ครอบคลุมมากขึ้นนี้จะนิ่งและแสดงแนวโน้มที่แท้จริงออกมาว่า จำนวนผู้ติดเชื้่อที่หูเป่ย์ทั้งหมดนั้นยังคงเพิ่มอยู่ หรือคงที่แล้วหรือกำลังลดลง

ทุกคน รวมทั้่งผมเองด้วย กำลังภาวนาให้เป็นอย่างหลังครับ

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image