ปฏิรูปกองทัพ เขตทหารห้ามเข้า โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

โศกนาฏกรรม จ่าสิบเอกกราดยิงพันเอกนายทหารผู้บังคับบัญชา ตำรวจ และชาวบ้านผู้บริสุทธิ์รวม 29 ศพ บาดเจ็บอีกครึ่งร้อย ที่จังหวัดนครราชสีมา นอกจากทำให้สังคมเกิดข้อถกเถียงถึงต้นเหตุ ระหว่าง พฤติกรรมเบี่ยงเบนของคน กับ ระบบ โครงสร้างสังคมที่หล่อหลอม แวดล้อมอยู่รอบตัว อะไรเป็นปัจจัยหลัก ปัจจัยรอง การหาทางป้องกัน แก้ไข ควรมุ่งไปที่จุดใดแล้ว ข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปกองทัพครั้งใหญ่ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แม้ว่าผู้บัญชาการทหารบกจะแถลงขอโทษและประกาศยืนยันจะชำระสะสางเรื่องไม่ชอบมาพากลที่ดำรงอยู่ในกองทัพบก ให้ได้มากที่สุดก่อนจะเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายนปีนี้ โดยเฉพาะโครงการเกี่ยวกับสวัสดิการด้านต่างๆ ของทหาร

คำประกาศของผู้บัญชาหารทหารบก เกิดจากความจริงใจ ต้องการเห็นความถูกต้อง เป็นธรรมเกิดขึ้นก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงความคิดเห็น แนวทางนโยบายส่วนบุคคล

จึงเกิดคำถามตามมาว่า หากมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เปลี่ยนผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนใหม่ รัฐบาลใหม่ คนใหม่ทั้งหลายนี้ไม่เอาด้วย ไม่สานต่อ จะมีหลักประกันอะไรว่าสิ่งที่คนปัจจุบันกำลังชำระสะสาง จะยืนยงคงทน เป็นบรรทัดฐานการปฏิบัติต่อไป

Advertisement

ผลในทางปฏิบัติจะยั่งยืนยิ่งกว่า ก็ต่อเมื่อการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ทำอย่างเป็นระบบ ด้วยความโปร่งใส

ต้องปฏิรูปกองทัพทุกมิติ ซึ่งไม่ใช่แค่นโยบายของผู้นำกองทัพ ของรัฐบาลเท่านั้น แต่ต้องทำให้ความผูกพันทางกฎหมายเป็นเงื่อนไขผูกมัด เช่นเดียวกับการปฏิรูปประเทศด้านอื่นๆ

ทำตามรัฐธรรมนูญ 2560 หมวดที่ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ และ พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2560 เป็นฐานทางกฎหมายรองรับ

Advertisement

เกิดคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 13 คณะ ได้แก่ ปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ปฏิรูปกฎหมาย ปฏิรูป

กระบวนการยุติธรรม ปฏิรูปเศรษฐกิจ ปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปฏิรูปสาธารณสุข ปฏิรูปสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ และปฏิรูปด้านสังคม

แต่กลับไม่กำหนดให้มีการปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปทหาร ทั้งๆ ที่ข้อเรียกร้องนี้เกิดขึ้นในสังคมมาตลอด ก่อนปฏิวัติ 22 พฤษภาคม 2557

คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ สภาปฏิรูปประเทศ (สปช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จนถึงคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ไม่สามารถหรือกล้าผลักดันให้เกิดคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านทหารหรือกองทัพ ทำนองเดียวกันกับคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปข้าราชการพลเรือน (บริหารราชการแผ่นดิน)ฯ

เพราะเหตุใด เข้าใจได้ไม่ยาก การเมือง การบริหารอยู่ภายใต้อำนาจพิเศษของกองทัพ ก็เท่านั้นเอง

ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้น ในสมัยรัฐบาลประชาธิปไตยมีการจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน สรุปข้อเสนอ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2554 ให้ปฏิรูปกองทัพ ภายใต้หลักการสำคัญ 3 ข้อ คือ

1.ทหารจะต้องยอมรับอำนาจสูงสุดในการกำหนดนโยบายแห่งชาติและในการบริหารประเทศของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

2.ทหารควรมุ่งเน้นปฏิบัติภารกิจหลักโดยลดภารกิจที่ไม่ใช่กิจการโดยตรงของกองทัพ โดยเฉพาะการเข้ามามีบทบาททางการเมือง

3.ควรปรับขนาดของกองทัพให้เล็กลง กะทัดรัด และสอดคล้องกับภารกิจหลัก โดยเฉพาะการลดกำลังคน ตำแหน่งและยุทโธปกรณ์ที่ไม่จำเป็นลง เพื่อนำทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดไปใช้ในการสร้างเสริมสมรรถนะในการปฏิบัติภารกิจหลักของกองทัพ

พิจารณาจากข้อเสนอ การปฏิรูปกองทัพในภาพรวม ที่เกิดขึ้นมาก่อนแล้ว นโยบายชำระสะสางโครงการสวัสดิการกองทัพบกของผู้บัญชาการทหารบก กลายเป็นเรื่องเล็กเพียงส่วนเดียว ทั้งเป็นการให้ความเป็นธรรมระหว่าง คนในกองทัพด้วยกันเอง แค่นั้น

แต่การปฏิรูปกองทัพทั้งระบบ เป็นเรื่องของความเป็นธรรมที่จะเกิดขึ้นกับทุกคนในสังคมไทย ซึ่งกว้างขวางกว่ามาก รวมถึงความเป็นธรรมกับเพื่อนข้าราชการอื่นทุกประเภท ที่ไม่ได้รับสวัสดิการต่างๆ ในมาตรฐานเดียวกับข้าราชการทหาร

ทหารเกษียณแต่ยังทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติอยู่บ้านหลวงต่อได้ แต่ข้าราชการประเภทอื่นเกษียณแล้วและยังทำประโยชน์ให้กับประเทศเช่นกันแต่การปฏิบัติต่างกัน ความลักลั่น ไม่เป็นธรรม ดังกล่าวดำรงอยู่มานานจนถึงขณะนี้

ถามว่า ในทางปฏิบัติที่เป็นจริง การปฏิรูปกองทัพหรือปฏิรูปทหารทั้งระบบ มีโอกาสเป็นไปได้หรือไม่ ตอบได้เลยว่าเป็นไปได้ทันที ถ้าจะทำ

คณะกรรมการปฏิรูปกองทัพเกิดขึ้นได้ ตาม พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ ซึ่งเปิดช่องไว้ในมาตรา 8 (11) ด้านอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

สำคัญว่าจะกำหนดไหม กล้ามั้ย มีความมุ่งมั่น จริงจัง ต้องการลดความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรมในสังคมจริงอย่างที่ปากพูดแค่ไหน

ส่วนกรรมาธิการทหาร สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา ที่จะเชิญผู้บัญชาการทหารบกและผู้เกี่ยวข้องมาให้ข้อเท็จจริงกรณีโศกนาฏกรรมที่โคราช ไม่ควรปิดจ็อบเพียงแค่ประเด็นโครงการสวัสดิการทหาร แต่ต้องศึกษาแนวทางปฏิรูปกองทัพทั้งระบบ ถึงจะคุ้มค่าภาษีประชาชน ครับ

สมหมาย ปาริจฉัตต์

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image