สังคมกำลังเครียด :วีรพงษ์ รามางกูร

ตั้งแต่ครึ่งหลังปีที่แล้วต่อมาถึงปี 2563 นี้ บรรยากาศของสังคมรู้สึกจะตึงเครียดขึ้นอย่างไม่รู้ตัว ข่าวอาชญากรรม เรื่องปล้นฆ่าชิงทรัพย์ ข่มขืนและฆ่าตัวตาย บนสื่อกระแสหลัก มีให้ได้อ่านได้ยินได้เห็นถี่ขึ้นทุกเมื่อเชื่อวัน จะว่าเมื่อก่อนนี้ข่าวเช่นว่านี้ไม่มีก็ไม่ใช่ จะว่าเป็นเพราะบัดนี้เรามีช่องทางที่จะเสพสื่อได้หลายๆ ชนิดก็คงไม่ใช่ จะว่าเป็นเพราะสมัยนี้มีข่าวปลอมมากก็ไม่ใช่ เพราะสำหรับคนรุ่นเก่าที่ไม่คุ้นเคยกับเครื่องไม้เครื่องมือในการเข้าถึงข่าวจริงปนข่าวปลอมก็เห็นจะไม่ใช่

เพราะแค่เสพข่าวจากการอ่าน การฟังและการเห็น จากสื่อหลักคือหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุในรถยนต์ ก็เพียงพอที่จะได้รับทราบข่าวในประเทศและข่าวต่างประเทศเพียงพอแล้ว แถมยังได้อ่านบทความที่นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลเขียนวิพากษ์วิจารณ์รายงานเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจยุโรปและของอเมริกาด้วย ก็มากเกินพอสำหรับชาวอย่างเราๆ ที่ไม่มีอาชีพหลักเป็นสื่อมวลชน

การที่ติดนิสัยเสพสื่อมาตั้งแต่ครั้งเรียนหนังสือที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย มาเป็นอาจารย์สอนหนังสือที่คณะรัฐศาสตร์ แล้วย้ายมาสังกัดคณะเศรษฐศาสตร์ จนได้เป็นคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มาเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แล้วก็มาเป็นรองนายกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แล้วก็มาเป็นรองนายกรัฐมนตรี การต้องทันต่อสถานการณ์ทั้งในและต่างประเทศเป็นของจำเป็นมาก

จนบัดนี้มาเป็นผู้เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ทุกสัปดาห์ สิ่งที่จะขาดเสียมิได้ก็คือเสพข่าวจน “รู้สึกหิวข่าวเหมือนหิวข้าว” แล้วก็ล้นออกมาเป็นอักษรบนหน้าหนังสือพิมพ์ กลายเป็นสื่อคนหนึ่งที่ต้องตระหนักในหน้าที่ เป็นผู้คิดผู้เขียนผู้แสดงออกแทนประชาชนคนหนึ่ง และมีความเย่อหยิ่งว่าเป็นผู้หนึ่งที่มีฐานันดร estate คือฐานันดรที่ 4 คนหนึ่งด้วย

Advertisement

การเป็นสื่อที่มีฐานันดรทำให้รู้สึกไวต่อความรู้สึกของสังคม และถ่ายทอดความรู้สึกนั้นออกมาเป็นตัวอักษรตามความรู้สึกที่ตนมี ไม่มีวาระซ่อนเร้น เพราะชีวิตได้ผ่านทุกสิ่งทุกอย่างที่ทิ้งไว้เบื้องหลังเป็นอดีตไปแล้ว มีแต่ข้างหน้าที่ไม่ได้ต้องการอะไร ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งแห่งที่ เกียรติยศชื่อเสียงที่มีพอแล้วเพียงแต่ต้องรักษาไว้ให้ดี ส่วนจะมีเพิ่มขึ้นอีกนั้นไม่มีแล้ว ผู้มีพระคุณหลายๆ ท่าน ไม่ว่าจะเป็นบิดามารดา ลุงป้าน้าอา ครูบาอาจารย์ ผู้บังคับบัญชา เพื่อนฝูงที่รักใคร่สนิทสนมกัน บางคนต่างก็ทยอยจากกันไปเป็นธรรมดาของชีวิต

ตั้งแต่ปลายปี 2562 มาจนถึงต้นปี 2563 บัดนี้ รู้สึกได้ว่าสังคมมีความตึงเครียดขึ้นทุกขณะและได้รับแต่ข่าวไม่ดี นับตั้งแต่ระบบการศึกษาของเราถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าแย่ที่สุดในภูมิภาค คนไทยอ่านเขียนพูดภาษาอังกฤษซึ่งขณะนี้ถือว่าเป็นภาษาทางโลกไปแล้วแย่ที่สุด คนชาติอื่นเรียนภาษาต่างประเทศ 2-3 ปีก็พูดได้เขียนได้อ่านได้แล้ว คนไทยเรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่ชั้นประถมถึงมหาวิทยาลัย กินเวลานาน 14-15 ปี ก็ยังอ่านพูดเขียนไม่ได้

มิหนำซ้ำอดีตเอกอัครราชทูตจีนชื่อ กวน มู่ ก็ยังวิพากษ์วิจารณ์ระบบการศึกษาของเราว่าเป็นระบบที่นิสิตนักศึกษามุ่งหน้าแต่จะเอาปริญญา เลือกเรียนวิชาง่ายๆ หลีกเลี่ยงวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ซึ่งเป็นวิชาที่ใช้ท่องจำเพื่อเอาไปสอบไม่ได้ ไม่เหมือนวิชาทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ถ้าจะเอาแค่สอบก็ใช้การท่องจำโดยไม่ต้องเข้าใจอะไรก็พอจะผ่านได้

Advertisement

ปัญญาชนคนไทยจึงคิดเองไม่ค่อยเป็น แก้ไขปัญหาของตนเองไม่ได้ และอยากจะเพิ่มเติมอีกด้วยว่าคนไทยไม่ให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่เหมือนกับนานาอารยประเทศ ยังงมงายอยู่กับกระแสที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของคนกลุ่มน้อยเป็น

ระยะๆ เมื่อระบอบประชาธิปไตยของตนมีปัญหาก็ไม่คิดแก้ไขด้วยตนเอง และไม่ใจเย็นพอที่จะให้กลไกในระบบแก้ไขด้วยตนเอง แต่กลับสนับสนุนความคิดที่จะเรียกร้องให้เผด็จการทหารเข้ามาแก้ไข ทั้งๆ ที่เคยมีบทเรียนมาหลายครั้งหลายหนแล้วว่าไม่ได้ผล

มิหนำซ้ำยังเป็นการดึงประเทศชาติทั้งสังคมและเศรษฐกิจให้ถอยหลังกลับไปอย่างน้อยก็ครึ่งศตวรรษ หลายคนคิดว่าเป็นเพราะระบอบการศึกษา หลายคนคิดว่าเป็นเพราะลักษณะประจำชาติของความเป็น “คนไทย” หรือ “คนไต” ซึ่งมีอยู่ในพม่า จีนและลาวด้วย น่าคิดอยู่เหมือนกัน

ความตึงเครียดในสังคมที่ถูกกดทับไว้ในขณะนี้ โดยระบอบการเมืองที่ปิด โดยการข่มขู่ปิดกั้นสื่อมวลชนอย่างกลายๆ หรือบางทีก็เป็นข่าวว่าถูกเรียกไปปรับทัศนคติ หรือ re-education ซึ่งเป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นในประเทศสหภาพโซเวียตและบริวาร ความตึงเครียดเช่นว่าถูกกดทับไว้โดยการจำกัดการแสดงออก ใครเขียนตามความเป็นจริงอยู่บ้างก็จะถูกพรรคพวกเพื่อนฝูงเตือนว่า “แรง” ทั้งๆ ที่เขียนไปอย่างธรรมดาของข้อมูลจากสื่อสาธารณะทั้งนั้น

การที่สื่อทุกวันนี้เลือกค่าย ซึ่งเป็นของธรรมดาในอารยประเทศที่ไม่ใช่ประเทศที่ปกครองโดยระบอบเผด็จการ แต่สำหรับประเทศเผด็จการแล้วมีสื่อที่เลือกอยู่ข้างฝ่ายเผด็จการ ออกมากล่าวหาฝ่ายโน้นฝ่ายนี้ว่าเป็นคน “ชังชาติ” ผ่านสื่อในของตนทุกเวลาเช้าสายบ่ายเย็น มีแต่ตนเท่านั้นเป็นคน “รักชาติ” ฝ่ายเห็นต่างเป็นฝ่ายทำลาย “ความมั่นคง” แล้วก็ทิ้งไว้เท่านั้นให้คนเข้าใจเอาเองว่าเป็นความมั่นคงของชาติ ทั้งๆ ที่เป็นความมั่นคงของรัฐบาล ไม่ใช่ของชาติ

เมื่อกระแสของโลกเปลี่ยนไปจากการมีประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาอย่างโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ประกาศอย่างชัดเจนว่า “อเมริกามาก่อน” หรือ America first เลิกสนับสนุนกฎบัตรสหประชาชาติ เลิกสนับสนุนขบวนการประชาธิปไตย จึงเป็นข้ออ้างของฝ่ายเผด็จการทหารที่จะอยู่ในอำนาจต่อไป โดยการสร้างกฎหมาย กฎเกณฑ์ หรือแม้แต่การแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาเอาไว้สนับสนุนตนเองให้อยู่ในอำนาจต่อไป

จากนี้ไป กรณีพรรคอนาคตใหม่ กรณีญัตติไม่ไว้วางใจรัฐบาล กล้วยแต่ละหวี น่าจะมีราคาแพงขึ้นไปอีก เคยมีตัวอย่างมาแล้ว จอมพลถนอม กิตติขจร ที่ต้องทำการปฏิวัติรัฐบาลตนเอง ก็เพราะฝ่ายที่ทำรัฐประหารต้องการเป็นรัฐบาลโดยไม่ยอมลงจากอำนาจ ไม่ยอมคืนอำนาจให้ประชาชน ต้นทุนของการสืบทอดอยู่ในตำแหน่งจึงสูง ไม่เหมือนการแข่งขันกันตามธรรมชาติ แม้พรรคการเมืองจะมีต้นทุนแต่ก็เป็นต้นทุนที่ไม่สูงเท่ากับตน ได้เสียงจากประชาชนน้อยกว่าหรือมีที่นั่งในรัฐสภาเมื่อรวมวุฒิสมาชิกแล้วก็ยังปริ่มน้ำอยู่

การผ่านร่าง พ.ร.บ.แต่ละฉบับจึงมีราคาแพง การมีรัฐบาลเผด็จการทหารซึ่งให้อำนาจข้าราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าราชการในต่างจังหวัดที่ไม่มีผู้แทนราษฎรคอยเป็นปากเสียงให้ จึงเป็นสังคมที่เครียดอยู่ตลอดเวลา ข่าวที่ออกมาไม่มีใครแน่ใจว่าเป็นข่าวจริงหรือข่าวปลอม เกิดคำถามขึ้นตลอดเวลาแล้วความเครียดก็ตามมา เหมือนกรณีจ่าสิบเอกมาทำการอย่างอุกอาจ สามารถสังหารผู้บังคับบัญชาและผู้อื่นได้ถึง 30 คน บาดเจ็บอีกหลายสิบคน

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบอย่างที่เป็นอยู่ ไม่ว่าจะมีการเลือกตั้ง ผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร นายกรัฐมนตรีก็เป็นคนเดิม สูง ต่ำ ดำ ขาว ฉลาดเฉลียว โง่และเบาปัญญาอย่างไรก็ต้องยอมรับ เพราะกฎหมายรัฐธรรมนูญโดยเนติบริกรเขาร่างไว้อย่างนั้น ประชามติครั้งนั้นก็เพียงถามประชาชนว่าจะเอาระบอบเผด็จการทหารต่อไป หรือจะเอาระบอบสืบทอดอำนาจเผด็จการ ไม่มีทางเลือก ต้องลงคะแนนเสียงรับรองรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยครึ่งใบ หรือระบอบสืบทอดอำนาจเผด็จการทหาร ถ้าไม่คิดอะไรก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าคิดว่าไม่เอาอย่างนี้ แล้วจะเอาแบบเก่าที่ผู้คนแตกแยกเป็น 2 ฝ่าย เป็นคำขู่ที่ทำให้เครียด ทั้งๆ ที่ไม่เป็นความจริง

ในระบอบประชาธิปไตยย่อมมีอย่างน้อย 2 ฝ่ายเสมอ คือฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ไม่เหมือนระบอบสืบทอดอำนาจเผด็จการที่มีเพียงฝ่ายรัฐบาลทหารเท่านั้นที่เป็นรัฐบาลตลอดไป ฝ่ายประชาชนเป็นได้เพียงฝ่ายค้านเสมอ ด้วยเหตุนี้ผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ที่เคยประกาศว่าตนเชื่อมั่นในระบอบรัฐสภา จึงต้องกลืนน้ำลายตนเองเมื่อยอมรับเป็นประธานรัฐสภา เมื่อฝ่ายทหารเขาหยิบยื่นให้ ซึ่งเป็นการทรยศต่อประชาชนที่ลงคะแนนให้พรรคประชาธิปัตย์อย่างหน้าตาเฉย

ต่อจากนี้ไปจะหาเสียงโดยประกาศว่าตนเชื่อมั่นในระบอบอะไร ตนเองไม่เครียดแต่ประชาธิปัตย์จำนวนมากทั้งในกรุงเทพฯและที่ปักษ์ใต้เครียด เท่าๆ กับเมื่อได้ยินการประกาศยึดอำนาจการปกครอง นำประเทศถอยหลังกลับไป 62 ปี เมื่อ พ.ศ.2500 เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประกาศยึดอำนาจ แล้วจอมพลถนอมประกาศสืบทอดอำนาจต่อมาจนถึงวันที่ 14 ตุลาคม 2516 แล้วกลับมามีรัฐประหารอีกเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 กลายเป็นเดือนตุลาฯอาถรรพ์ แต่ต่อไปนี้สงสัยจะเป็นเดือนเมษาฯอาถรรพ์เสียแล้ว ความเครียดทำให้ขาดสติได้ ไม่เหมือนกับความชื่นบาน ที่จะมีสติสัมปชัญญะเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้ง

ในขณะที่สังคมกำลังเครียดกับเรื่องเศรษฐกิจตกต่ำซบเซา ปัญหาปากท้องก็โผล่ขึ้นมา คำพูดเรื่องรวยกระจุกจนกระจายก็ดังขึ้น คนฆ่าตัวตายเพราะธุรกิจล้มเหลว ไม่มีปัญญาชำระหนี้ก็ดังขึ้น ปัญหาหนี้เสียของสถาบันการเงินก็จะกลับมาอีก เพราะธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ยอมลดอัตราดอกเบี้ย ปล่อยให้ค่าเงินบาทแข็งที่สุดในโลกเป็นเวลานาน จากความเครียดทางเศรษฐกิจ ก็จะไปเป็นความเครียดของสังคม และต่อไปเป็นความเครียดทางการเมือง

หนีไม่พ้น จะรอดู

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image