เมื่อเขาค้อ…ร่มเย็นและเป็นสุข : โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

20กุมภาพันธ์ ของทุกปี คือวัน “รำลึกวีรกรรมผู้เสียสละเขาค้อ” รายชื่อ พลเรือน ตำรวจ ทหาร ผู้สละชีพ ในสมรภูมิรบอันดุเดือ คนไทยเข้าป่าจับปืน สู้รบกันเองยาวนาน 15 ปี ถูกจารึกไว้ ณ อนุสรณ์สถานตรงนี้ครับ

พื้นที่ป่าเขาอันกว้างใหญ่ ครอบคลุม 3 จังหวัด คือ พิษณุโลก เลย และเพชรบูรณ์ มีภูมิประเทศที่ซ่อนพราง กำบัง มีน้ำ ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ทำการเกษตรได้ เป็น“ป้อมปราการ” คนไทยกลุ่มหนึ่งที่ได้รับความกดดัน คับแค้นทางจิตใจ ยากไร้ทางวัตถุใช้พักพิง ในที่สุดพลิกผันเป็น “สมรภูมินองเลือด” คือ พื้นที่เขาค้อ…

17 เมษายน 2518 กรุงพนมเปญ ในกัมพูชาแตกสลาย พ่ายแพ้ต่อกองกำลังเขมรแดงของ พอล พต ผู้นำแนวสังคมนิยมสุดโต่ง

…ถัดมาไม่กี่วัน…ตอนสายของ 30 เมษายน 2518 กรุงไซ่ง่อนล่มสลาย พ่ายแพ้แก่กองทัพเวียดนามเหนืออันเกรียงไกร

Advertisement

2 ธันวาคม 2518 กองกำลังฝ่ายคอมมิวนิสต์ลาวเอาชนะกองกำลังของรัฐบาลได้อีก 1 สนามรบ

ฝ่ายคอมมิวนิสต์มีชัยในสงคราม 3 ประเทศข้างบ้านของเรา เวียดนาม กัมพูชาและลาว

สงครามทั้งที่รบกันเองและมี “มหาอำนาจ” เข้ามาดันหลังให้รบกันยาวนานราว 30 ปีเศษ เขมร-ลาว-ญวน เปลี่ยนการปกครองเป็นสังคมนิยมแบบเข้มตกขอบทั้งหมด กองทัพเวียดนามอันเกรียงไกรภายใต้การสนับสนุนของลูกพี่ใหญ่จีนและโซเวียต เป็นมหาอำนาจพี่ใหญ่ ที่มีอำนาจสูงสุดควบคุมลาวและเขมร

Advertisement

กองทัพเวียดนามเหนือ นักรบป่า ใส่รองเท้าแตะทำจากยางรถยนต์ ขุดหลุม ขุดอุโมงค์จนชนะสงคราม สร้างความตื่นตะลึง น่าเกรงขาม

ไม่หยุดตรงนั้น ผู้นำเวียดนามห้าวหาญ ส่งทหารเวียดนามจำนวนมหาศาลเข้าไปวางกำลังรบในลาว

สถานการณ์ช่วงนั้น…หายใจไม่ทั่วท้อง…จะเกิดอะไรขึ้นกับแผ่นดินไทย

ไทยต้องเผชิญหน้าตามลำพังกับกองกำลังมหาศาลของเวียดนามที่แข็งแกร่ง พร้อมจะแสดงแสนยานุภาพรุกต่อเข้าไทยและยังมีกองกำลังเขมรแดงจ่ออยู่ที่รั้วข้างบ้านอีกต่างหาก

สถานการณ์ในประเทศไทยเอง มีการจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เชื่อมโยงกับจีน พื้นที่ในภาคเหนือ ภาคอีสาน แผ่ซ่านลงไปถึงภาคใต้ พลเรือน ตำรวจ ทหาร ที่ยกกำลังไป ป้องกันและปราบปราม ต่อสู้ต้องเสียชีวิตปีละหลายร้อยนาย

ผู้เขียนเป็นนักเรียนนายร้อย จปร. ช่วงปี พ.ศ.2516-2521 ถูกจัดให้ไปร่วมพิธีพระราชเพลิงที่วัดพระศรีมหาธาตุบางเขน มีคำถามในใจเสมอว่า “อะไรคือสาเหตุที่ทำให้คนไทยฆ่ากันเอง?”

ถามไถ่กัน คุยกันก็ไม่มีใครตอบได้ เราเห็นเพียง “ภาพเล็กเป็นจุด” เป็นภาพในระดับ “ยุทธวิธี” ในการใช้กำลังทหารเข้าปฏิบัติ

ในประเทศไทย จะมีซักกี่คนที่เข้าใจ รู้ซึ้งถึง “รากเหง้าของปัญหา”

สังคมรับรู้แต่เพียงว่า เราต้องกำจัดพวกที่ฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์… พวกคอมมิวนิสต์ อยู่ในป่าเขา เราต้องไปปราบ

ที่กระหน่ำซ้ำเติมให้บ้านเมืองบอบช้ำลงไปอีก คือในปี พ.ศ.2519 มีเหตุการณ์ในกรุงเทพฯ นักศึกษาจำนวนไม่น้อยที่กำลังเรียนหนังสือในมหาวิทยาลัย ทิ้งการเรียน หนีเข้าป่าไปเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยด้วยอุดมการณ์อันแรงกล้าที่จะขอเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศ

ที่ต้องรบราฆ่าฟันกันจริงๆ เป็นคำถามที่อยู่ในใจของทุกฝ่ายมานาน…ระดับล่าง รู้อย่างเดียว คือ ป้องกันและปราบปราม

ในปี พ.ศ.2518 หลังจากคอมมิวนิสต์เป็นฝ่ายมีชัยชนะเบ็ดเสร็จเด็ดขาดรอบบ้าน ประเทศไทยต้องดำเนินวิเทโศบาย แบบ “เดินไต่เส้นลวด” จะต้องเลือกยุทธศาสตร์ที่นำพาประเทศชาติให้รอดจากการยึดครองของฝ่ายคอมมิวนิสต์ให้จงได้

ภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ ถูกบรรจุในหลักสูตรทางทหารทั้งหมดเรียน-ฝึกเพื่อไปสู้รบกับพวกคอมมิวนิสต์ เพราะเราทราบเพียงว่าคอมมิวนิสต์กำลังแย่งชิงเอาแผ่นดินไทยแล้วเราจะไม่มีแผ่นดินอยู่

วิกฤตของบ้านเมืองในช่วงนั้น เป็นประวัติศาสตร์ของไทยที่กำลังจะเลือนหายไปกับกาลเวลา…และรางเลือน

ผู้เขียนเป็นนักเรียนนายร้อย ติดตามข่าวจากหนังสือพิมพ์เสมอ จำได้ว่า ในช่วงนั้นเศรษฐี นักธุรกิจ ผู้มีอันจะกินของไทย “หนีออกนอกประเทศ” ไปไม่น้อย ไปหาซื้อบ้าน ในต่างประเทศเพื่อเตรียมอพยพ เพราะโลกตะวันตกตั้ง “ทฤษฎีโดมิโน” ยืนยันว่าประเทศที่จะต้องตกเป็นคอมมิวนิสต์ต่อไป คือ ไทยแลนด์

ขอเจาะจง เลือกที่จะคุยกันถึง สมรภูมิรบโหดในประเทศที่ดุเดือดเลือดพล่าน 1 ในนั้นคือ “สมรภูมิเขาค้อ” เพชรบูรณ์

พื้นที่บริเวณภูเขารอยต่อ 3 จังหวัด คือ เพชรบูรณ์-พิษณุโลก-เลย เป็นที่อยู่อาศัยของชาวเขาเผ่าต่างๆ ซึ่งส่วนมากเป็นเผ่าม้ง กระจายกันตั้งหลักแหล่งบริเวณเทือกเขาค้อ เขาปู่ เขาย่า ภูทับเบิก ภูหินร่องกล้า ภูขี้เถ้า และเทือกเขาอื่นๆ ชาวเขาตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นกลุ่มๆ มีหัวหน้าบ้านปกครองกันเอง เช่น บ้านเล่าลือ บ้านเล่านะ บ้านเซาเน้ง บ้านเล่ากี

เขาค้อมีลักษณะเป็นภูเขาสูงปกคลุมไปด้วยป่ารกทึบ บริเวณนี้มีเนื้อที่ ราว 50 ตารางกิโลเมตร

ตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ.2511 พคท.แข็งแกร่งขึ้น ดำเนินการจัดตั้งกำลังทหารหลัก แบ่งออกเป็น 3 ชุด ชุดที่ 1 พื้นที่ภูหินร่องกล้า ภูขี้เถ้า ทับเบิก ชุดที่ 2 พื้นที่เขาค้อ และชุดที่ 3 พื้นที่ภูขัด ภูเมี่ยง พร้อมทั้งโฆษณาชวนเชื่อ และชี้นำให้ชาวไทยภูเขาเข้าร่วมอุดมการณ์

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2511 พคท.ประกาศ “วันเสียงปืนแตก” ในพื้นที่เขาค้อ โดยนำกำลังเข้าตีหมู่บ้านเล่าลือและเข้าตีฐานของอาสาสมัครชุดคุ้มครองหมู่บ้านห้วยทรายเหนือ สังหารเจ้าหน้าที่เสียชีวิตและบาดเจ็บ พร้อมทั้งยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ไปได้

กฎเหล็ก ที่สู้รบกันวันนั้น “ทหารป่า” ไม่มีอาวุธ จึงต้องไปแย่งปืนจากมือข้าศึก

พคท.ประสบความสำเร็จอีกขั้นโดยการ ปจว.กับชาวเขาในพื้นที่ว่าทหารจะกลับมาแก้แค้น ทำให้ชาวเขาเผ่าม้งและเผ่าอื่นๆ พากันอพยพไปเข้าร่วมงานกับ ผกค.กลุ่มงานเขาค้อ

กองทัพบก โดยกองทัพภาคที่ 3 ที่อยู่ทางภาคเหนือ กำลังพลไม่พอเพียงที่จะวางกำลังในพื้นที่ปฏิบัติการ ทหารที่เป็นกำลังหลักในการรบ คือ กองพลทหารราบที่ 4 ตั้งอยู่ที่ จ.นครสวรรค์

กองพลทหารราบที่ 4 ใช้กำลังพลในหน่วยออกรบในภาคเหนือแทบหมดหน่วย ทหารหน่วยนี้เป็นหน่วยทหารที่สูญเสีย และบาดเจ็บพิการแขน ขา ขาด จากการรบมากที่สุด ตั้งแต่ผู้บังคับกองพัน ลงมา…

หน่วยบิน โดยเฉพาะเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบก มีบทบาทโดดเด่นห้าวหาญ ทั้งยิงในแบบกันชิพ (Gunship) ส่งกำลังบำรุง ข้าวปลาอาหาร น้ำ จดหมาย และนำคนเจ็บออกจากพื้นที่การรบ

นักบิน ทบ.กล้าหาญชาญชัยจะต้องดิ่งลงไปรับคนเจ็บให้ได้ สวนทางกับห่ากระสุนที่สาดมาจาก ผกค. รูกระสุนที่ลำตัวเครื่องเป็นเรื่องที่ต้องมาวัดกัน

ทหารรบพิเศษจากลพบุรี ได้รับมอบภารกิจการสู้รบที่ไม่ธรรมดา

พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ จัดตั้ง “ทหารพราน-นักรบเดนตายชุดดำ” ทำการฝึกที่ค่ายปักธงชัย เพื่อไปทำการรรบแบบ “เกลือจิ้มเกลือ”

การสู้รบขยายตัวออกไป ต้องจัดกำลังทหารกองพลทหารราบที่ 9 จากกาญจนบุรี ขึ้นไปปฎิบัติการทางภาคเหนือ ปืนใหญ่ด้วยจำนวนและขนาดที่เหมาะสมถูกนำไปวางบนที่สูง ยอดเนินเพื่อสนับสนุนการยิงให้หน่วยทหารราบ ทหารช่างต้องสร้างถนนในป่าเขาเพื่อให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์

มีการจัดตั้งหน่วย “กองพันทหารม้า” ขึ้นใหม่ของ “กองพลทหารม้าที่ 1 “ ที่เพชรบูรณ์ อัตราการจัดอาวุธยุทโธปกรณ์ (อจย.) ของหน่วยระบุไว้ว่าต้องมี ยานเกราะล้อยาง ยานยนต์ ฯลฯ

หากแต่ความเป็นจริงในเวลานั้น ไม่มียานพาหนะอะไรให้ทหารม้าใช้ออกศึก

“ทหารม้า” ในหน่วยดังกล่าวเกือบทั้งหมด จึงต้อง “เดินเท้า” ถือปืนเล็กยาวไปรบ เดินดอย ตั้งฐานบนดอยสูงเหมือน “ทหารราบ”

เกร็ดประวัติศาสตร์ที่ทหารม้า “ยังไม่มีรถ” ต้องมาเดินเท้า ทำการรบแบบทหารราบบนภูเขา เป็นภารกิจที่ “ทหารม้า” ทำการรบได้อย่างน่าชมเชย บู๊สะบัดช่อ กล้าหาญ เป็นเรื่องสนุก ขำๆ ถูกนำมาเป็นเรื่องเฮฮา เพราะไม่มีรถให้ใช้… เมื่อนำมาคุยกันตอนเป็นผู้ใหญ่แล้ว…

งานโฆษณาชวนเชื่อ ทำให้มีชาวเขาราว 3,000 คน เข้าร่วมอุดมการณ์ทางการเมืองและจากนั้น พคท. จึงได้สถาปนาอำนาจรัฐประชาชนขึ้นในเขตที่มั่นของตนเป็นแห่งแรกในประเทศไทย

25 ธันวาคม 2511 กองทัพภาคที่ 3 จัดตั้งกองบัญชาการผสม 394 ที่สนามบิน อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์

หลังจากนั้นมา…เริ่มปฏิบัติการทางทหารอย่างต่อเนื่อง เปิดยุทธการกวาดล้างที่สำคัญรวม 12 ครั้ง เช่น ยุทธการภูขี้เถ้า ยุทธการรามสูร ยุทธการผาเมืองเผด็จศึก 1-3 ยุทธการผาเมืองเกรียงไกร ฯลฯ ปี พ.ศ.2514-2515 ได้เริ่มสร้างถนนแยกจากถนนพิษณุโลก-หล่มสัก ตรงบริเวณกิโลเมตรที่ 100 บ้านแคมป์สนไปยังบ้านเล่าลือ

เป็นการทำงานทางทหารแบบ “ปูพรม” มีทหารบาดเจ็บ เสียชีวิต พิการ อย่างต่อเนื่องยาวนาน และผสมผสานไปกับการพัฒนา นำความเจริญ สร้างอาชีพ หาที่ทำกินให้กับประชาชน

คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/23 ที่ออกมาเมื่อ พ.ศ.2523 คือ จุดพลิกผัน ทำให้การสู้รบค่อยๆ ลดความรุนแรง

คำสั่งที่เหมือนยาวิเศษฉบับนี้ “ให้โอกาส” แก่ผู้ที่จับอาวุธสู้รบกับพลเรือน ตำรวจ ทหาร กลับคืนสู่สังคม…เสียงปืนจึงสงบลง

เสียดายที่หน้ากระดาษหมดเพียงเท่านี้ครับ…ตอนต่อไป จะเปิดเผยเรื่องราวอีกด้านหนึ่งของเหรียญ….

20กุมภาพันธ์ 2560 หลังเกษียณอายุราชการ ผู้เขียนเดินทางไปร่วมพิธี ในพื้นที่เขาค้อโดยการประสานงานของอดีตนักรบเขาค้อผู้บาดเจ็บพิการ คือ พลเอก ชัชวาล ขำเกษม และพลโท บรรยงค์ สิรสุนทร และพี่ๆ น้องๆ แบบอบอุ่น

ได้พบ พูดคุยระหว่าง “ผู้ร่วมรบทุกฝ่าย” ในสมรภูมิแห่งนี้ และผู้เขียนได้ยิงคำถามไปยังบรรดา “สหาย” ผู้กล้า ทั้งชาย-หญิง ที่เคยรบกับทหาร หลังจากค้างคาใจมาราว 40 ปี…

บ้านเมืองของเรา…คนดีๆ มีอีกมากครับ…

สหาย ชาย-หญิง มีคำตอบ…

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image