เดินหน้าชน : อีกไม่นาน : โดย เสกสรรค์ กิตติทวีสิน

เริ่มมีข้อสงสัยกันว่า ในปี 2563 นี้ ที่เหลือระยะเวลาอีก 10 เดือนเศษๆ ก็จะผ่านพ้นไปแล้ว จะมีการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หรือไม่ ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองอันร้อนแรง เศรษฐกิจที่โงหัวไม่ขึ้น เครื่องจักรตัวสุดท้ายในเรื่องการท่องเที่ยว เป็นตัวขับเคลื่อนดีที่สุดของรัฐบาลชุดนี้ก็พังพาบไปแล้วหลังเจอวิกฤตโรคโควิด-19 ถล่มอย่างหนัก การลงทุนของภาครัฐกับภาคเอกชนก็ต้องเลื่อนออกไปหรือล่าช้าเกิดขึ้น ดัชนีความเชื่อมั่นของภาคเอกชนก็ฟ้องสภาพที่เห็นทั้งหมดว่า ขาดความเชื่อมั่น

คำตอบของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เมื่อปีที่แล้ว ก็บอกว่าจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นขึ้นในปีหน้าแน่นอน หรือในปี 2563 พอเวลาล่วงเลยเข้ามาในขณะนี้ คำถามก็เวียนกลับมาอีกครั้งว่า แล้วปีนี้จะเลือกตั้งกันเดือนไหนจะก่อนกลางปีหรือไปถึงช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีกันแน่ เพราะมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย

ทำให้เมื่อ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ประเสริฐ บุญเรือง ส.ส.กาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย ตั้งกระทู้ถาม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ในสภาเกริ่นก่อนเลยว่า ประเทศไทยตั้งแต่มีรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 มาจนถึงตอนนี้ก็เกือบ 6 ปีแล้ว ยังไม่มีคำตอบชัดเจนว่าจะพร้อมเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อไหร่ เลือกตั้ง ส.ส.ก็เลือกไปเกือบ 1 ปีที่แล้ว เห็นมีแต่หนังสือของกระทรวงมหาดไทยว่าให้เตรียมความพร้อม

รมว.มหาดไทย ลุกขึ้นตอบคำถามแรกว่า ที่ผ่านมา หลังได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว ยังต้องมีกฎหมายจัดตั้ง อปท.อีก 5 ฉบับ และกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นรวมทั้งหมดเป็น 6 ฉบับ ขณะนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วนการกำหนดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องแจ้งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทราบเพื่อประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น จึงเป็นอำนาจของ ครม. ไม่ใช่กระทรวงมหาดไทย ส่วน กกต.ก็มีหน้าที่ดำเนินการออกระเบียบที่เกี่ยวข้องการเลือกตั้งอีก 10 ฉบับ และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2562 ขณะที่กระทรวงมหาดไทยสำรวจจำนวนประชากรทั้งประเทศจนเสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2562 และกรมการปกครองได้สำรวจหมู่บ้านทั่วประเทศเสร็จสิ้นก่อนสิ้นเดือนมกราคม 2563 ที่ผ่านมา

Advertisement

พล.อ.อนุพงษ์บอกอีกว่า กกต.ก็ยังต้องจัดการแบ่งเขตเลือกตั้ง ก่อนไปหารือกับ ครม.เพื่อตัดสินใจว่าจะเลือกตั้ง อปท.รูปแบบไหนก่อน ส่วน อปท.จะต้องมีค่าใช้จ่ายของตัวเองในการจัดการเลือกตั้ง และก็พบว่า อปท.ที่มีความพร้อมในด้านงบประมาณรวมจำนวน 7,702 แห่ง ส่วนอีก 150 แห่งยังไม่มีความพร้อมจัดการเลือกตั้ง แต่ถ้า ครม.มีมติประกาศให้เลือกตั้ง อปท.จำนวน 150 แห่งดังกล่าวสามารถทำเรื่องผ่านกระทรวงมหาดไทย เพื่อขอใช้งบกลางของรัฐบาล หรือขอใช้เงินทุนสำรองเงินสะสมไปใช้จัดการเลือกตั้งได้

ส่วนคำถามที่ 2 ของ ส.ส.กาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย กระทู้ถามว่า ในฐานะ รมว.มหาดไทยเป็นหนึ่งใน ครม.จะกำหนดโรดแมปการเลือกตั้ง อปท.ได้หรือยัง ทาง รมว.มหาดไทยขึ้นตอบว่า พอจะพูดได้อย่างไม่เป็นทางการจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นภายในปี 2563 แต่จะเลือกตั้ง อปท.ใดก่อนจะต้องไปโยงกับงบประมาณ โดยเลือกตั้งกรุงเทพมหานครกับเมืองพัทยาสามารถจัดเลือกตั้งทับกับ อปท.อื่นได้ แต่การเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล ไม่สามารถเลือกตั้งพร้อมกันได้ ปัญหาคือ ถ้าเลือกตั้งไปแล้ว กกต.ต้องการเว้นแต่ละรูปแบบห่างกัน 2 เดือน จะมีปัญหา ถ้าเลือกตั้ง อปท.รูปแบบสุดท้ายเลยเดือนกันยายน 2563 ออกไป จะมีปัญหาเรื่องงบประมาณอีก ต้องไปดูกฎหมายกันต่อ ว่าถ้าใช้เงินสะสมอีกก็ต้องหารือกันอีก แต่ยืนยันจะต้องมีการเลือกตั้ง อปท.เกิดขึ้นในปี 2563 เพราะจำนวนประชากรและรวมหมู่บ้านเรียบร้อยหมดแล้ว

นับเป็นความคืบหน้าล่าสุด เริ่มเห็นภาพแล้วว่า การเลือกตั้ง อปท.จะเกิดขึ้นในปีนี้ เท่ากับบรรดานักการเมืองท้องถิ่นเริ่มที่จะขยับโอกาสและหาลู่ทางของตัวเองได้ชัดเจนมากขึ้น

Advertisement

การจัดการเลือกตั้งแต่ละครั้ง ช่วยสร้างงานให้กับเหล่าทีมงานที่มาร่วมจัดการเลือกตั้ง นักการเมืองก็ต้องจ้างทีมงานเพื่อหาเสียง คูหาแต่ละแห่งก็ต้องจ้างคน เช่าเต็นท์กันฝนกันแดด เป็นต้น เกิดการหมุนเวียนใช้จ่ายเงินในวงจรมากขึ้น และเมื่อจัดการเลือกตั้งไปแล้ว งบประมาณของ อปท.ก็จะถูกนำมาใช้ตามโครงการต่างๆ อย่างเต็มที่ เมื่อมีเม็ดเงินออกมาจากภาครัฐและ อปท. ทางภาคเอกชนก็พร้อมที่จะหมุนเวียนเม็ดเงินเช่นกัน

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image