ที่ราชพัสดุ สมบัติผลัดกันชม โดย สมหมาย ภาษี

นานๆ ทีจะมีข่าวใหญ่ที่เกี่ยวกับทหารเข้ามาทำการปฏิรูปการใช้ที่ราชพัสดุของทหารร่วมกับกระทรวงการคลังให้ได้ยินได้ฟัง นั่นก็คือ การเซ็นเอ็มโอยู หรือบันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่าง นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ กับ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการกองทัพบก ในโครงการจัดสวัสดิการในเชิงธุรกิจของกองทัพบกร่วมกับกรมธนารักษ์ เมื่อวันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์นี้ ที่กองบัญชาการกองทัพบก

ที่ว่าเป็นข่าวใหญ่ก็ดูได้จากหัวข่าวของหนังสือพิมพ์ฉบับใหญ่เป็นเกณฑ์ เช่น ไทยรัฐ ได้พาดหัวว่า “ทบ. เก็บกวาดบ้าน อภิรัชต์เซ็นเอ็มโอยูธนารักษ์ ใช้มืออาชีพบริหารสวัสดิการ” เดลินิวส์ ได้พาดหัวว่า “ทบ. โอนสินทรัพย์คืนธนารักษ์ ล้างบางธุรกิจทหาร ยกสนามมวย กอล์ฟ โรงแรม ที่ดินอีกล้านไร่ให้ดูแล”

แม้ว่า ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทยท่านหนึ่งจะกล่าวว่าเป็นแค่ปาหี่ ไม่ต่างจากมวยต้มคนดู แค่พูดเอามันเท่านั้น เรื่องนี้ก็แล้วแต่ใครจะคิดกัน สำหรับผมเองก็อยากจะติดตามดูที่การกระทำหลังจากนี้มากกว่า อย่างน้อยท่าน ผบ.ทบ.คนนี้ เท่าที่เคยฟังท่านพูดในหลายเรื่องก็ไม่เห็นเป็นเรื่องเลื่อนลอย และท่านก็ไม่เป็นคนพูดมาก หรือพูดแล้วไม่จำเหมือนผู้ใหญ่บางคน

ผมคิดว่าท่านเอาจริง เพียงแต่ว่าการนำที่ราชพัสดุของกองทัพบกมากมายมาจัดสวัสดิการ ในเชิงธุรกิจร่วมกับกรมธนารักษ์ในครั้งนี้จะเป็นเสือที่คายเนื้ออันโอชะให้จระเข้ยักษ์ไม่กี่ตัวงาบไปกินง่ายๆ หรือไม่ ขณะนี้ก็ได้มีโครงการใหญ่ใช้ที่ราชพัสดุของกองทัพเรือที่กำลังเร่งดำเนินการใน รัฐบาลนี้อยู่ให้เห็นแล้ว คือ โครงการ “พัฒนาเมืองการบินอู่ตะเภา”

Advertisement

ขอให้มาดูขนาดของที่ราชพัสดุที่ถูกนำมาจัดแบ่งผลประโยชน์ร่วมกันตามเอ็มโอยูโดยกองทัพบกในครั้งนี้ ซึ่งตามข่าวกล่าวว่ามีถึง 1 ล้านไร่ ว่ามากน้อยเพียงใด

ประเทศไทยของเราที่ใครจะมาแบ่งแยกมิได้นั้น มีเนื้อที่ทั้งหมด 320.70 ล้านไร่ ที่ดินราชพัสดุทั่วประเทศมีอยู่ 12.5 ล้านไร่ หรือ 3.9% ของที่ดินทั้งประเทศ ที่ราชพัสดุทั้งหมดนี้อยู่ในความครอบครองของกระทรวงกลาโหม 50% หรือครึ่งหนึ่ง คิดเป็น จํานวน 6.25 ล้านไร่ กองทัพบกครอบครองมากที่สุด 4.7 ล้านไร่ ที่เหลือกองทัพเรือครอบครอง เช่น ที่อู่ตะเภา สัตหีบ ทับละมุ (พังงา) เป็นต้น และอีกส่วนเป็นของกองทัพอากาศ

หากนำที่ราชพัสดุที่กระทรวงกลาโหมซึ่งส่วนใหญ่เป็นกองทัพครอบครองจํานวน 6.25 ล้านไร่ ไปเทียบกับพื้นที่ของประเทศสิงคโปร์ที่มีอยู่ 721.5 ตร.กม. หรือ 451,000 ไร่ น้อยกว่าที่ราชพัสดุที่กระทรวงกลาโหมครอบครอง 14 เท่า หรือเทียบกับพื้นที่จังหวัดภูเก็ต 339,000 ไร่ น้อยกว่าที่ราชพัสดุดังกล่าวถึง 18 เท่า

Advertisement

ปรากฏว่าการที่กองทัพครอบครองที่ราชพัสดุมากมหาศาลนั้น หากถามทหารใหญ่ก็จะได้คำตอบว่าเพราะความจำเป็นที่ต้องมีฐานทัพกระจายกันไปทั่วประเทศเพื่อความมั่นคง นอกจากนี้ยังต้องมีพื้นที่ไว้ซ้อมรบสำหรับทหาร ซึ่งแต่ละที่ก็มีจำนวนเป็นหมื่นเป็นแสนไร่ ทราบว่าที่กาญจนบุรีก็ใหญ่โตไม่น้อย แต่มีชาวบ้านบุกรุกก็มากโขอยู่ แถมยังมีนักแสวงโชคเข้าไปขุดเจาะ นำเอาสินแร่บางอย่างออกไปขายด้วย มากน้อยแค่ไหนคิดว่ากรมธนารักษ์และกองทัพต่างก็ไม่ค่อยจะรู้สักเท่าไหร่

เรื่องที่ดินที่ทหารครอบครอง ประชาชนก็รู้กันแต่ภาพรวมดังกล่าวข้างต้น แต่ในภาพลึก ละเอียดไปหาข้อมูลได้ยากหน่อย แต่ถ้าได้สัมผัสในฐานะที่เคยเป็นนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ข้าราชการพลเรือนหรือภาคเอกชนที่ได้มีโอกาสไปพบเห็นที่ตั้งของหน่วยต่างๆ ทางทหารบ้าง แต่ละแห่งก็รู้สึกว่ามีเนื้อที่ใหญ่โตอลังการ จึงไม่ต้องสงสัยว่าเหตุใดจึงมีสนามกอล์ฟของทหารมากมายหลายแห่งทั่วประเทศ ว่ากันว่าทหารจะมีวันหยุด 1 วัน เป็นวันกีฬา นอกเหนือจากวันหยุดเสาร์และอาทิตย์ ก็จะได้ใช้เป็นสวัสดิการในด้านกีฬา

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ จ.ส.อ.จักรพันธ์ ถมมา ได้ไปนำอาวุธสงครามในหน่วยงานกรมสรรพาวุธ มายิงแก้แค้นที่ถูกนายและพรรคพวกฉ้อฉลอะไรทำนองนั้น และแถมบ้าคลั่งยิงคนไม่รู้อีโหน่อีเหน่ตายไปด้วยรวมทั้งหมดถึง 30 คน เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์นี้ แล้วจู่ๆ ไม่ถึง 10 วัน ก็มีข่าวกองทัพบกเซ็นเอ็มโอยูกับกระทรวงการคลังในเรื่องใช้ที่ราชพัสดุเพื่อการสวัสดิการของทหาร ฟังตามข่าวพอทราบได้ว่า เรื่องนี้ได้มีการเตรียมการโดยทั้งสองฝ่ายมานานพอสมควรแล้ว เข้าใจว่าได้เตรียมการมาใกล้กับการออกพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ.2562 แต่เพิ่งมาเซ็นเอ็มโอยูกันในช่วงนี้

ตามข้อเท็จจริงได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ.2562 ลงในราชกิจจานุเบกษา (เล่ม 136 ตอนที่ 28 ก) เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2562 หรือประมาณ 11 เดือนที่ผ่านมานี้เอง พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2562 นี้ ทั้งนี้ มาตรา 3 ใน พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ได้ยกเลิก พระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ.2518 ที่ได้ใช้มานานถึง 44 ปี ที่มีลักษณะรักษาที่ดินไว้เหนียวแน่น จนนําที่ดินไปทำอะไรไม่ได้

ที่ราชพัสดุที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 6 มีอยู่ 3 ประเภท คือ (1) อสังหาริมทรัพย์อันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินทุกชนิด (2) ที่ดินที่สงวนหรือหวงห้ามไว้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ เช่น ป่าสงวนแห่งชาติที่นักการเมืองชอบบุกรุก เป็นต้น และ (3) ที่ดินที่สงวนหรือหวงห้ามไว้เพื่อประโยชน์ของทางราชการตามกฎหมาย โดยมาตรา 7 ได้กำหนดไว้ว่า มีอสังหาริมทรัพย์ 7 ประเภทที่ไม่เป็นที่ราชพัสดุ เช่น อสังหาริมทรัพย์อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ของพลเรือนใช้ร่วมกัน หรืออสังหาริมทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจ ที่เป็นนิติบุคคลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น

พระราชบัญญัติที่ราชพัสดุนี้ได้กำหนดไว้ชัดเจนให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ราชพัสดุ โดยให้กรมธนารักษ์มีหน้าที่ในการปกครอง ดูแล และบำรุงรักษาที่ราชพัสดุ ส่วนการใช้และการจัดหาประโยชน์ให้เป็นไปตามที่บัญญัติในพระราชบัญญัตินี้ โดยมีคณะกรรมการที่ราชพัสดุ ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการ และอธิบดีกรมธนารักษ์ เป็นกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการที่ราชพัสดุนี้มีหน้าที่และอำนาจหลักในการกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการบริหารจัดการที่ราชพัสดุ ที่สำคัญคือให้มีหน้าที่เสนอแนะรัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการปกครองดูแล บำรุงรักษา ใช้ และจัดหาประโยชน์ที่ราชพัสดุ

ได้มีความพยายามของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่จะนําที่ราชพัสดุมาใช้หาผลประโยชน์ เพราะต่างก็รู้ดีว่าที่ราชพัสดุซึ่งเป็นสมบัติผลัดกันชมนี้มีอยู่มากมายทั้งประเทศ ผืนเล็กผืนน้อยก็มีการนำออกไปจัดการหาผลประโยชน์กันพอควรโดยกรมธนารักษ์ ส่วนใหญ่ทํากันเงียบๆ โดยให้เอกชนเช่าไปตามกฎหมาย และแน่นอนที่ทำได้ก็โดยการช่วยเหลือเกื้อกูลของเจ้าหน้าที่กรมธนารักษ์นั่นเอง

สำหรับที่ดินผืนใหญ่และที่เป็นโครงการใหญ่ก็เคยมีความคิดริเริ่มขึ้นมาบ้างในช่วงต้น ของรัฐบาล คสช. คือช่วงปลายปี 2557- กลางปี 2558 โดยจะขอเล่าให้ฟัง 2 โครงการ

ถ้าท่านผู้อ่านที่สนใจการทำงานของรัฐบาล คสช. พอจะจำได้ ก็คงเคยได้ยินเรื่องโครงการผลิตไฟฟ้าด้วยแสงอาทิตย์ หรือ Solar Farm ที่เกิดขึ้นสมัยปลายยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทย กล่าวคือรัฐบาลสมัยนั้นคิดโครงการนี้ขึ้นมาและได้กำหนดเป็นนโยบายที่ชัดเจนตามแผนผลิต ไฟฟ้าของคณะกรรมการนโยบายพลังงานว่าจะให้เอกชนทำกันอย่างเสรี แต่ตามข่าวที่รู้ๆ กันภายในว่านักลงทุนจะต้องเสียค่าหัวคิวกันคิดเป็นต่อหน่วยเมกะวัตต์ของไฟฟ้าที่จะผลิตให้แก่ผู้ที่ได้โควต้าไป ซึ่งก็ไม่ใช่ใครอื่นก็เป็นพวก ส.ส.ในฟากรัฐบาลสมัยนั้น แต่แล้วก็เกิดมีการปฏิวัติโดย คสช. ในเดือนพฤษภาคม 2557 โครงการนี้ก็ต้องล้มไปโดยปริยาย โดยทิ้งจำนวนเมกะวัตต์ที่ทางการได้อนุมัติไว้อยู่

ภายหลังรัฐบาล คสช.ได้บริหารประเทศสักพักใหญ่ ก็ปรากฏข่าวว่าโครงการนี้จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลขึ้นมาใหม่ แต่จะไม่ให้ใช้โควต้าแบบรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ข่าวยิ่งมีหนาหูขึ้นว่า คสช.จะให้เอกชนผู้สนใจลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าด้วยแสงอาทิตย์ลงทุนได้โดยไม่ต้องไปซื้อที่ดินมาทำ แต่ให้มาเช่าที่ว่างในที่ดินที่กรมกองของทหารมีอยู่ทั่วประเทศได้ ซึ่งกลุ่มนักลงทุนด้านพลังงานก็ดีอกดีใจเพราะมีที่ทางให้ทำอยู่แล้ว จึงพากันเข้าไปคุยกับทางทหารหลายกลุ่ม ทางหน่วยทหารที่ฝันหวานคิดจะใช้ที่ราชพัสดุที่ตนครอบครองอยู่มาหารายได้เข้าสวัสดิการได้โดยไม่ต้องออกแรง แต่ก็ยังไม่ได้ออกข่าวเป็นทางการ แต่นักลงทุนภาคเอกชนนั้นมีอาการดี๊ด๊ากันมาก

แต่แล้วในการประชุมของคณะกรรมการนโยบายพลังงานวันหนึ่งประมาณกลางปี 2558 ท่านรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลด้านเศรษฐกิจ คือ ม.ร.ว.
ปรีดิยาธร เทวกุล ก็ได้ลุกขึ้นพูดในที่ประชุมว่า เพิ่งทราบจากกระทรวงการคลังผู้รับผิดชอบเรื่องที่ราชพัสดุว่า การให้นักลงทุนเอกชนมาเช่าที่ราชพัสดุในหน่วยงานของทหารดำเนินการในโครงการผลิตไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มนั้น สามารถทำได้แต่ว่าหน่วยทหารทุกรายที่จะยอมเซ็นสัญญาให้เอกชนมาใช้ที่ราชพัสดุต้องทำเรื่องมาขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการที่ราชพัสดุเสียก่อน และเมื่อโครงการที่ได้รับความเห็นชอบใดๆ ไปผลิตกระแสไฟฟ้าออกมาขายมีรายได้หลังหักรายจ่ายในการดําเนินการแล้ว จะต้องนำรายได้สุทธิทั้งหมดส่งเป็นรายได้เข้าคลัง เท่านั้นแหละครับโครงการนี้ก็เงียบหายเข้ากลีบเมฆไป และต่อมาไม่กี่เดือนรัฐมนตรีทีมเศรษฐกิจชุดแรก 7-8 คน ก็ถูกส่งให้ไปหางานนอกทำเนียบรัฐบาล

สุดท้ายก็ขออนุญาตเล่าเรื่องความพยายามขอใช้ที่ราชพัสดุมาทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ ด้วยการสร้างเมืองผลิตภัณฑ์ยางพาราเพื่อการส่งออกในช่วงปี 2558 ซึ่งเป็นช่วงต้นของรัฐบาล คสช.นั้น ราคายางก็ตกต่ำมากพอๆ กับขณะนี้แหละ มีนักธุรกิจใหญ่ท่านหนึ่งซึ่งได้ประสบความสําเร็จในการทำนิคมอุตสาหกรรมมานาน ได้เกิดแนวคิดโครงการที่บรรเจิดมาก คือการคิดสร้างเมืองผลิตภัณฑ์ยางพาราขึ้นมาในประเทศไทย โดยจะได้รับความร่วมมือและร่วมลงทุนจากจีนอย่างเต็มที่

เมืองนี้จะต้องใช้เนื้อที่อย่างน้อย 20,000 ไร่ พร้อมสิ่งสาธารณูปโภคเต็มที่ เป้าหมายหลัก คือเพื่อผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบเพื่อการส่งออกและใช้ในประเทศ ที่ต้องการใช้เนื้อที่ดินมากเพราะจะเป็นเมืองให้ทั้งผู้ประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรม และคนงาน อยู่ในเมืองนี้พร้อมมีที่พักและร้านรวงเพื่อความเป็นชุมชนหรือเมืองที่ดีพร้อม ในการนี้ทางโครงการต้องขอความสนับสนุนจากรัฐบาลในเรื่องการจัดหาที่ราชพัสดุให้เช่าระยะยาวในราคาถูก ทั้งนี้ ผู้เสนอโครงการได้ไปสำรวจเบื้องต้นเกี่ยวกับที่ราชพัสดุเมืองกาญจนบุรีที่มีที่ราชพัสดุเป็นแสนไร่มาแล้ว เห็นว่าเหมาะสมดีมาก โครงการนี้ยังอยู่ในขั้นต้นมากๆ เป็นเพียงการเสนอแนวคิดที่ เป็นไปได้ให้รัฐบาลสมัยนั้น แต่แล้วก็ต้องเงียบหายไปเพราะผู้ใหญ่ในรัฐบาลไม่สนใจ

ที่กล่าวมาทั้งหมดในเรื่อง “ที่ราชพัสดุ สมบัติผลัดกันชม” นั้น เห็นว่าที่ราชพัสดุของ ประเทศชาติเราจำนวนถึง 12.5 ล้านไร่นั้น มีขนาดใหญ่กว่าประเทศสิงคโปร์ถึงร่วม 28 เท่า และใหญ่กว่าขนาดของประเทศในยุโรปมากมายหลายประเทศ แล้วจะปล่อยให้เป็นที่ถูกบุกรุกและใช้ ประโยชน์กันแบบไม่คุ้มค่าต่อไปอีกนานเท่าไหร่หรือ และถ้าไม่ปล่อยไว้แบบเดิม จะจัดบางส่วน ออกมาทำประโยชน์ให้ประชาชนคนจน และรวมทั้งให้นักลงทุนที่มีจิตใจไม่เอารัดเอาเปรียบ ประเทศชาติและประชาชน แข่งขันกันนำไปใช้ทำโครงการดีๆ ให้กับประเทศบ้าง จะไม่ดีกว่าหรือ เพราะขณะนี้ก็มีกฎหมายดีๆ ออกมาใช้บ้างแล้ว แม้ไม่ดีพอแต่ก็เปิดทางให้ทำงานพัฒนากันได้ คือ พระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ.2562 ที่กล่าวถึง และพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐ และเอกชน พ.ศ.2562 ที่เพิ่งออกมาเพื่อสนับสนุนให้นักลงทุนรายใหญ่สามารถร่วมลงทุนในที่ดินของรัฐได้ง่ายขึ้น

ถ้าคิดว่าดีก็ควรที่จะต้องตั้งกระทรวงพัฒนาและรักษาที่ราชพัสดุขึ้นมาได้แล้ว ดูซิว่าทั้งนักธุรกิจ ทหาร ข้าราชการ และพรรคการเมืองที่พูดกันอยู่ตลอดเวลาว่ารักชาตินั้น จะจริงใจกันแค่ไหน เรื่องนี้ถ้าจะร่วมมือกันทำจริงทุกฝ่ายก็เกิดขึ้นได้ไม่ยาก แต่ต้องมีผู้นำรัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์จริง มีความซื่อสัตย์จริง มีความกล้าจริง และมีปัญญาพร้อม ไอคิวที่สูงจริง แต่คงหาไม่ได้ง่ายๆ นะครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image