เดินหน้าชน : โมเดลจัดการขยะ

ผ่านไปแล้วกับงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 74 เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์

นอกจากจะมีการแสดงต่างๆ การแปรอักษร ขบวนพาเหรดล้อการเมือง และการแข่งขันฟุตบอลเหมือนทุกปี  ที่ผ่านมา

แต่ปีนี้มีความพิเศษกว่าเดิม นั่นคือมีการวางแผนจัดการขยะต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในงานอย่างเป็นระบบ ผ่านแคมเปญ “Waste This Way #รักษ์โลกให้ถูกทาง”

เป็นความร่วมมือระหว่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ “จีซี”

Advertisement

โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการขยะของ “จีซี” ให้คำแนะนำในการออกแบบกิจกรรมใหกับคณะผู้จัดงานทั้ง 2 มหาวิทยาลัยในการจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพ

รวมทั้งสนับสนุนบรรจุภัณฑ์ที่มีฉลาก “GC Compostable” สลายตัวได้ทางชีวภาพ และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากพลาสติกที่ใช้แล้วผ่านกระบวนการอัพไซคลิ่ง เช่น เสื้อ และถุงยังชีพ

ส่วนขบวนพาเหรด ก็มีการจัดเตรียมที่คำนึงถึงการคัดแยกขยะ เพื่อลดขยะที่ต้องส่งไปฝังกลบ และคัดแยกวัสดุที่ยังใช้ได้นำมาหมุนเวียนใช้ใหม่

Advertisement

ส่วนบนสแตนด์ผู้ชมก็ร่วมกันแยกขยะ โดยเทน้ำและเศษอาหารออกจากขยะรีไซเคิลและขยะทั่วไป เพื่อลดการปนเปื้อนและเพิ่มความสะดวกในการขนส่งไปจัดการต่อ ซึ่งบนถังมีคำอธิบายการแยกขยะที่ออกแบบเป็นพิเศษให้เห็นชัดเจน

เป็นการดำเนินงานตามคอนเซ็ปต์ “ลด-เปลี่ยน-แยก”

“ลด”…ลดใช้ทรัพยากร ลดการสร้างขยะ คัดแยกขยะในงาน นำไปคำนวณหาปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้จากงานนี้ โดยเทียบเท่าการปลูกต้นไม้

“เปลี่ยน”…เปลี่ยนไปใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมคือพลาสติกชีวภาพ โดยนิสิตนักศึกษาบนแสตนด์แปรอักษรจะรับประทานอาหารจากกล่องบรรจุอาหารเคลือบพลาสติกชีวภาพ และใช้ถุงใส่อุปกรณ์ที่อัพไซคลิงจากขยะขวดพลาสติก

“แยก”…แยกขยะประเภทต่างๆ 5 ประเภท ได้แก่ ขยะเศษอาหาร, ขยะแห้ง, ขยะรีไซเคิล, ขยะทั่วไป และขยะพลาสติกชีวภาพ เพื่อนำไปบริหารจัดการ รวมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะ

หลังจบงาน วัสดุที่ถูกใช้ในงานนี้จะคัดแยกนำไปดำเนินการต่างๆ

“รียูส”…นำไม้เก่าและสีที่เหลือจากกิจกรรมนิสิตนักศึกษา ไปสร้างหุ่นในขบวนพาเหรด ส่วนไม้โครง/         ไม้กระดาน/ไม้ไผ่ นำไปสร้างบ้านใหม่ให้ผู้ประสบอัคคีภัย โดยมูลนิธิกระจกเงา รับไปดำเนินการ ส่วนเศษอาหาร ส่งไปเป็นอาหารสัตว์ โดยโครงการ Chula Zero Waste ของจุฬาฯ นำไปดำเนินการ

“รีไซเคิล”…กระป๋อง/ขวดแก้ว ส่งขายเข้าระบบรีไซเคิล ดำเนินการโดย Chula Zero Waste ส่วนกระบองลม ส่งคืนผู้ผลิต (บริษัทเจริญทอยแลนด์) นำไปรีไซเคิล ขณะที่กระดาษเพลทแปรอักษร บริจาคเพื่อสนับสนุนการทำหนังสือนิทานสำหรับเด็ก ดำเนินการโดยมูลนิธิกระจกเงา

“อัพไซเคิล”..ผ้า/ไวนิล นำไปผลิตกระเป๋าอัพไซเคิล เพื่อไปบริจาคให้นักเรียนในพื้นที่ห่างไกล โดย อาจารย์ ปุ๊ก-จารุพัชร อาชวะสมิต อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมกับค่ายอาสาจาก 2 มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินการ

ส่วนขวด PET นำไปผลิตรองเท้าอัพไซเคิล เพื่อบริจาคให้นักเรียนพื้นที่ห่างไกล โดย “จีซี” ร่วมกับค่ายอาสาจาก 2 มหาวิทยาลัยเป็นผู้ดำเนินการ

“อาร์ดีเอฟ”…ฟีเจอร์บอร์ด/กระดาษแข็ง/โฟม/วัสดุตกแต่ง/แก้วพลาสติก/ถุงพลาสติก/ซอง Multilayer ส่งไปเผาเป็นพลังงานอาร์ดีเอฟ โดย Chula Zero Waste รับไปดำเนินการ

“ย่อยสลายได้”…แก้ว Bio-Compostable นำไปเป็นกระถางปลูกต้นกล้า ที่ย่อยสลายเป็นปุ๋ยได้ โดย Chula Zero Waste ดำเนินการร่วมกับกรมป่าไม้ ส่วนกล่องข้าว Bio-Compostable ทาง “จีซี” นำไปฝังกลบเพื่อวิจัยการย่อยสลาย

นับเป็นโมเดลที่ผู้จัดกิจกรรมหรืออีเวนต์ต่างๆ ควรเดินตามในการวางแผนและจัดการขยะอย่างเป็นระบบ     จะได้ช่วยกันรักษ์โลกให้ถูกทางมากยิ่งขึ้น

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image