นักประชาธิปไตยมืออาชีพผู้ต่อสู้กับระบอบเผด็จการ : โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

ศาสตราจารย์ยีน ชาร์ป กับหนังสือ From Dictatorship to Democracy

ผู้เขียนได้อ่านหนังสือเรื่อง “จากเผด็จการสู่ประชาธิปไตย” ของศาสตราจารย์ยีน ชาร์ป แห่งมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ ที่พิมพ์ขึ้นครั้งแรกเป็นภาษาอังกฤษเมื่อ พ.ศ. 2530 ที่กรุงเทพฯนี่เอง เพื่อเป็นคู่มือการต่อสู้สำหรับบรรดานักประชาธิปไตยในพม่า หนังสือเล่มนี้ถูกแปลเป็นภาษาต่างๆ มากกว่า 30 ภาษา เพราะได้เปิดโปงชี้ให้เห็นจุดอ่อนต่างๆ ของเผด็จการ ทั้งยังเน้นย้ำอยู่เสมอว่าการต่อต้านทางการเมืองแบบไม่ใช้ความรุนแรงนั้นเป็นไปได้ แต่ต้องอยู่ใต้การบริหารและจัดการโดยนักประชาธิปไตยมืออาชีพผู้ต่อสู้กับเผด็จการ

คำว่า “มืออาชีพ” เป็นคำมาจากภาษาอังกฤษว่า “professional” หมายถึงคนประเภทมืออาชีพนั้นทำงานใดก็ตามจะทำโดยต้องรู้ที่มา สาเหตุของการทำ รู้ว่าต้องทำอะไร ใช้วิธีการอย่างไร ถ้าต้องให้คนช่วยทำ จะต้องให้คนไหนทำให้ ต้องรู้กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง รู้หรือคาดคะเนได้ว่า จะเกิดปัญหาอะไร ที่ไหน เพื่อหาทางป้องกันแก้ไข รู้ว่าทำแล้วจะเกิดประโยชน์อะไรบ้าง อนาคตจะเป็นอย่างไรจากการทำงานนั้นๆ คือรู้เป้าหมายของงานที่ทำอย่างชัดแจ้งและที่สำคัญที่สุดคือไม่ทำงานด้วยอารมณ์ ก็คือ “มืออาชีพ” เพราะว่าการต่อสู้กับระบอบเผด็จการเพื่อสร้างระบอบประชาธิปไตยนั้น หากทำด้วยอารมณ์แค้นหรือเกลียดชังแล้วแสดงถึงความหมดหวังต่อการเอาชนะระบอบเผด็จการและสร้างประชาธิปไตยขึ้นมา

หลักการของการต่อสู้ระบอบเผด็จการจากหนังสือเรื่อง “จากเผด็จการสู่ประชาธิปไตย” ชี้ชัดว่าต้องมีแผนยุทธศาสตร์เพื่อต่อสู้กับระบอบเผด็จการซึ่งแผนยุทธศาสตร์นี้ทางสถาปัตย์เรียกว่า “พิมพ์เขียว” นั่นเอง แผนยุทธศาสตร์ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบสำคัญ คือ

หนังสือจากเผด็จการ
สู่ประชาธิปไตย

1) ยุทธศาสตร์ (Strategy) คือกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้เพื่อสร้างระบอบประชาธิปไตยขึ้นมาว่าต้องต่อสู้กับระบอบเผด็จการเมื่อไรและต่อสู้อย่างไรเพื่อที่จะบรรลุถึงวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพ (ประสิทธิภาพคือการปฏิบัติการที่ใช้เวลาน้อยที่สุดให้ได้ผลดีที่สุดในราคาที่ถูกที่สุด คือเสียเลือดเนื้อหรือทรัพยากรให้น้อยที่สุด-efficacy)

Advertisement

2) ยุทธวิธี (Tactic) คือการปฏิบัติการอย่างจำกัดเพื่อบรรลุเป้าหมายเฉพาะในสถานการณ์ที่จำกัดเพื่อที่จะให้ถึงวัตถุประสงค์หลักตามยุทธศาสตร์ คือการสร้างระบอบประชาธิปไตยขึ้นมาเปรียบเสมือนยุทธศาสตร์ใช้ในสงคราม (war) ซึ่งมีสงครามเดียว ส่วนยุทธวิธีใช้ในสมรภูมิ (battles) ซึ่งมีหลายสมรภูมิ

3) วิธีการ (method) สำหรับวิธีการของแผนยุทธศาสตร์ต่อสู้กับเผด็จการนี้นั้น ต้องเป็นแบบสันติวิธีเท่านั้น เช่น การไม่ให้ความร่วมมือ การดื้อแพ่ง การโต้แย้งด้วยเหตุผล ฯลฯ

ความจริงศาสตราจารย์ยีน ชาร์ป เขียนหนังสือเกี่ยวกับการต่อสู้กับระบอบเผด็จการและการสร้างระบอบประชาธิปไตยไว้หลายเล่ม แต่หนังสือเรื่อง “จากเผด็จการสู่ประชาธิปไตย” ของท่านดูเหมาะกับผู้รักระบอบประชาธิปไตยและเบื่อหน่ายต่อระบอบเผด็จการที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าของบ้านเรา เนื่องจากต้นฉบับภาษาอังกฤษนั้นสั้นมีเพียง 93 หน้าเท่านั้น และยิ่งไปกว่านั้นหนังสือ “จากเผด็จการสู่ประชาธิปไตย” เล่มนี้ยังได้รับการแปลเป็นภาษาไทยเรียบร้อยแล้ว และอ่านง่ายโดยแบ่งออกเป็น 10 บทดังนี้

Advertisement

คำนำ

บทที่ 1 เผชิญหน้ากับเผด็จการอย่างเป็นจริง

บทที่ 2 อันตรายของการเจรจา

บทที่ 3 เมื่อใดจึงมีอำนาจ

บทที่ 4 เผด็จการมีจุดอ่อน

บทที่ 5 การใช้อำนาจ

บทที่ 6 ความจำเป็นของการวางแผนยุทธศาสตร์

บทที่ 7 วางแผนยุทธศาสตร์

บทที่ 8 ประยุกต์ใช้การขืนต้านทางการเมือง

บทที่ 9 ทำลายเผด็จการ

บทที่ 10 รากฐานสำหรับประชาธิปไตยที่ยั่งยืน

น่าหาอ่านกันเพื่อเข้ามาเป็นนักประชาธิปไตยมืออาชีพช่วยการต่อสู้กับระบอบเผด็จการ และช่วยกันสร้างระบอบประชาธิปไตยอันสถาพรเพื่อบ้านเมืองของเรา

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image