พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ตอน จำพรรษา ณ เสนาสนะป่าบ้านสามผง จ.นครพนม : โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร

ในปี พ.ศ.2496 อาจารย์มั่นฯ และพระภิกษุสามเณรหลายรูปจำพรรษาที่เสนาสนะป่าบ้านสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม ท่านอาจารย์มั่นฯ กับท่านอาจารย์มหาปิ่นฯ จำพรรษากันที่บ้านอากาศ ท่านอาจารย์กู่ ธัมมทินโน จำพรรษาที่บ้านโนนแดง อาจารย์อุ่น ธมฺมธโร จำพรรษาที่บ้านข่า ท่านอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ธุดงค์ออกจากวัดพระงาม อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย แล้วก็ไปเชียงคาน จังหวัดเลย ขึ้นไปที่ภูฟ้า ภูหลวง แล้วก็กลับมาจังหวัดอุดรธานี จำพรรษาอยู่ที่เสนาสนะป่าบ้านดงยาง อำเภอหนองหาน จ.อุดรธานี

หลังจากออกพรรษาแล้วในปีนี้ พระอาจารย์มั่นฯ พระอาจารย์เสาร์ฯ ก็ได้เรียกบรรดาพระอาจารย์ที่เป็นศิษย์ทุกองค์ ให้มาประชุมพร้อมกันที่บ้านโนนแดง ในการประชุมในครั้งนี้ ท่านได้วางระเบียบการปฏิบัติเกี่ยวกับการอยู่ป่า เกี่ยวกับการตั้งสำนักปฏิบัติ เกี่ยวกับแนวทางแนะนำสั่งสอนปฏิบัติจิต เพื่อให้คณะศิษย์นำไปปฏิบัติให้เป็นระเบียบเดียวกัน

เมื่อเสร็จจากการประชุมในครั้งนี้ ทุกองค์ต่างก็แยกย้ายออกไปธุดงค์หาวิเวกตามสถานที่จังหวัดต่างๆ โดยมิได้มีการนัดแนะว่าจะไปพบกัน ณ สถานที่ใด แต่ด้วยเหตุอะไรไม่ทราบ ทุกๆ องค์ก็เผอิญไปพบกันเข้าอีกที่จังหวัดสกลนคร ในขณะนั้นนางนุ่ม ชุวานนท์ ผู้ที่เคยมีความเลื่อมใสในท่านอาจารย์ทั้งสอง (พระอาจารย์มั่นฯ และพระอาจารย์เสาร์ฯ) มานานแล้ว และมารดาของนางนุ่ม ได้ถึงแก่อนิจกรรมลงกำลังจะจัดการฌาปนกิจ ก็พอดีได้ทราบข่าวท่านอาจารย์ทั้งสอง พร้อมด้วยสานุศิษย์เป็นอันมาก กำลังร่วมกันเดินทางมุ่งหน้าเข้าเขต จ.สกลนคร จึงได้เดินทางไปขอนิมนต์ให้มาพักอยู่ที่เสนาสนะป่า (ซึ่งปัจจุบันนี้ได้กลายเป็น วัดป่าสุทธาวาสแล้ว) เมื่อพระอาจารย์พร้อมด้วยสานุศิษย์นั้นพักอยู่ เพื่อเป็นการฉลองศรัทธาไม่เฉพาะแต่นางนุ่มเท่านั้น แต่เพื่อฉลองศรัทธาของชาวเมืองสกลนครทั้งมวล ซึ่งชาวเมืองสกลนครทั้งหลาย ได้เห็นพระปฏิบัติมาอยู่รวมกันมากมายเช่นนี้ ก็ทำให้เกิดศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง ได้พากันไปศึกษาธรรมปฏิบัติจนได้รับการช่ำชอง และเป็นนิสัยปัจจัยมาจนทุกวันนี้

ขณะนั้นพระยาปัจจันตประเทศธานี บิดาของพระพินิจฯ ถึงแก่กรรม เจ้าภาพก็ได้อาราธนาพระอาจารย์ทั้งสองพร้อมด้วยสานุศิษย์ เพื่อบำเพ็ญกุศล ท่านอาจารย์ทั้งสองก็ให้อุปการะเป็นอย่างดี เพื่อเป็นการอนุเคราะห์ จึงได้อนุมัติให้พระไปฉันในบ้านได้ในงานฌาปนกิจศพบิดาของพระพินิจเป็นครั้งแรกตั้งแต่นั้นมา เพราะเบื้องต้นพระคณะกัมมัฏฐานได้รักษาธุดงค์วัตรอย่างเข้มงวดกวดขันจริงๆ ไม่มีการอนุโลมให้รับนิมนต์ไปฉันภัตตาหารในบ้าน

Advertisement

เมื่อเสร็จงานฌาปนกิจทั้งสองศพนั้นแล้ว พระอาจารย์ทั้งสองและสานุศิษย์ต่างก็แยกย้ายกันธุดงค์ไปคนละทิศทางตามอัธยาศัย ส่วนท่านอาจารย์มั่นฯ ธุดงค์ไปทางบ้านเหล่าโพนค้อ ได้แวะไปเยี่ยมอุปัชฌาย์พิมพ์ ซึ่งท่านองค์นี้เป็นนักปฏิบัติมาเก่าแก่ แต่การปฏิบัติของท่านยังไม่ถูกทางจริง ท่านอาจารย์มั่นฯ ได้แนะนำโดยให้เจริญวิปัสสนาจนได้รับผลเป็นที่พอใจ และอุปัชฌาย์พิมพ์ก็ได้ยกย่อง ท่านอาจารย์มั่นฯ ว่า “เป็นผู้มีความชำนาญในการปฏิบัติอย่างยิ่ง”

ต่อจากนั้น ท่านก็ลาพระอุปัชฌาย์พิมพ์ธุดงค์ต่อไป และพักบ้านห้วยทราย 10 วัน โดยจุดมุ่งหมายท่านต้องการจะเดินทางกลับไปที่จังหวัดอุบลราชธานี ก็ได้บรรลุถึงหมู่บ้านหนองขอน ซึ่งชาวบ้านเมื่อได้ฟังธรรมเทศนาของท่านแล้วเกิดความเลื่อมใส จึงได้พร้อมใจกันอาราธนาให้ท่านจำพรรษา เมื่อท่านเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ก็รับอาราธนา ชาวบ้านจึงช่วยกันจัดแจง จัดเสนาสนะถวายจนเป็นที่พอเพียงแก่พระภิกษุที่ติดตามมากับท่าน

ตอนเสนาสนะป่า บ้านหนองขอน อำเภอบุ่ง (อำนาจเจริญ) จ.อุบลราชธานี พ.ศ.2470 : ในพรรษานี้ ท่านได้พักอยู่บ้านหนองขอน ตามที่ชาวบ้านได้อาราธนา พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโย จำพรรษาที่บ้านหัวสะพาน บริเวณใกล้เคียงกัน

Advertisement

“เมื่อเราได้อยู่ศึกษาธรรมะปฏิบัติกับท่าน ได้รับผลเห็นที่พอใจ และก็ได้ออกไปบำเพ็ญสมณะธรรม โดยตนเองในสถานที่ต่างๆ ทราบข่าวว่าท่านอาจารย์มั่นฯ กำลังเดินทางไปจังหวัดอุบลฯ เราจึงได้พยายามธุดงค์ติดตามท่านไป ในระหว่างทางเราไปพบพระลีฯ (อาจารย์ลี ธมฺมธโร) ณ ที่บ้านหนองสองห้อง อำเภอม่วงสามสิบ ท่านก็เป็นพระมหานิกายเหมือนกัน เราได้อธิบายธรรมปฏิบัติที่ได้ศึกษามาจากท่านอาจารย์มั่นฯ แล้วก็พาปฏิบัติ จนเกิดความอัศจรรย์ในการปฏิบัตินั้นแล้ว พระลีฯ มีความสนใจเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ธุดงค์ร่วมกันกับเรา เพื่อจะได้ไปพบท่านอาจารย์มั่นฯ” (เรา ในที่นี้หมายถึง พระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ)

ครั้นออกพรรษาแล้ว ท่านอาจารย์มั่นฯ ก็ได้เดินธุดงค์ไปถึงตัวจังหวัดอุบลราชธานี เรากับพระลี ก็ได้ติดตามไปพบท่านอาจารย์มั่นฯ ที่วัดบูรพา พอดีขณะนั้นท่านเจ้าคุณปัญญาพิศาลเถระ (หนู) ขึ้นมาจากกรุงเทพฯ ได้พักอยู่ที่วัดบูรพาร่วมกับท่านอาจารย์มั่นฯ และท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านก็พิจารณาเห็นว่า เรากับพระลีฯ ควรจะได้บวชเสียใหม่ เมื่อตกลงกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ท่านเจ้าคุณปัญญาพิศาลเถระก็ได้เป็นอุปัชฌาย์ บวชให้เรากับพระลีฯ เป็นพระธรรมยุต

คณะสานุศิษย์เก่าๆ ทั้งหลาย อันมีอาจารย์อุ่น ธมฺมธโร, อาจารย์อ่อน ญาณสิริ, อาจารย์ฟั่น อาจาโร, อาจารย์
เกิ่ง อธิมุตฺตโก พร้อมด้วยศิษย์อาจารย์หลุยฯ อาจารย์กว่า สุมโน, อาจารย์คูณฯ, อาจารย์สีลาฯ, อาจารย์ดีฯ (พรรณานิคม) อาจารย์บุญมาฯ (วัดป่าบ้านโนนทัน อุดรธานี ในปัจจุบัน) อาจารย์ทอง อโสโก อาจารย์บุญส่งฯ (บ้านข่า), อาจารย์หล้าฯ หลวงตาปั่น (อยู่พระบาทคอแก้ง) ทราบข่าวว่าท่านอาจารย์มั่นฯ เดินทางมาพำนักอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี

ทุกองค์เหล่านี้ก็ได้ติดตามมาในเพ็ญเดือน 3 บรรดาศิษย์ทั้งหมดมีท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม เป็นต้น ก็ได้ร่วมประชุมอบรมธรรมปฏิบัติอย่างเคยๆ ปฏิบัติกันมา

ในค่ำคืนวันหนึ่ง ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านได้เข้าที่ทำสมาธิภาวนา ก็ได้ปรารภว่า “จะออกจากหมู่คณะไปแสวงหาสถานที่วิเวก เพื่อจะได้มีโอกาสพิจารณาค้นคว้าในปฏิปทาสัมมาปฏิบัติ ให้ได้รับความเข้าใจชัดเจนและแจ่มแจ้งเข้าไปอีก แล้วจะได้ปฏิปทาอันถูกต้องนั้น ฝากไว้แก่เหล่าสานุศิษย์ในอนาคตต่อไป เพราะพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พระองค์ทรงตรัสไว้ดีแล้วนั้น ย่อมมีนัยอันสุขุมลุ่มลึกมาก ยากที่จะทำความเข้าใจให้ถูกต้องตามพุทธประสงค์ได้ ผู้ปฏิบัติตามรอยพระบาทพระพุทธองค์และปฏิปทาที่พระอริยเจ้าได้ดำเนินมาก่อนแล้วนั้น เมื่อไม่เข้าใจแจ่มแจ้งแล้ว ย่อมจะเขวไปจากปฏิปทาที่ถูกต้องก็เป็นได้ หรืออาจดำเนินไปโดยผิดๆ ถูกๆ”

เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ผู้ปฏิบัติทั้งหลายก็จะเข้าไม่ถึงศีลถึงธรรม หรืออาจถึงกับป่วยการ ไม่เป็นประโยชน์แก่ตนของตน การปฏิบัติพระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนา ก็จะมีแต่ความพอกพูนกิเลส ให้เจริญงอกงามขึ้นในตนของตนเท่านั้น ซึ่งไม่สมกับว่า “พระธรรมวินัย เป็นของชำระกิเลสที่มีอยู่ ให้สิ้นไปจากสันดานแห่งเวไนยสัตว์ทั้งหลาย”

“อนึ่ง การอยู่กับหมู่คณะ จะต้องมีภาระการปกครอง ซึ่งก็เป็นธรรมดาตลอดถึงการแนะนำพร่ำสอนฝึกฝนทรมานต่างๆ ซึ่งทำให้โอกาสและเวลาที่จะค้นคว้าในพระธรรมวินัยไม่เพียงพอ เราจะปลีกตัวออกไปอยู่ในสถานที่วิเวก เมื่อไม่มีภาระแล้ว ก็จะได้มีโอกาสเวลาในการค้นคว้ามากขึ้น ผละประโยชน์ในอนาคตก็จะบังเกิดขึ้นมาให้เป็นที่น่าพึงใจ” ท่านอาจารย์มั่นฯ ปรารภในใจของท่านในตอนหนึ่งระหว่างที่พำนักอยู่ ณ ที่อุบลนั้น

ครั้นท่านปรารภในใจอยู่อย่างนั้นแล้ว ท่านจึงได้เรียกศิษย์ทั้งหลาย มีท่านอาจารย์สิงห์ฯ เป็นต้น มาประชุมกัน ท่านได้แนะนำให้มีความมั่นคง ดำรงอยู่ในข้อวัตรปฏิบัติอย่างที่ได้เคยแนะนำสั่งสอนมาแล้วนั้น จึงได้มอบหมายให้อำนาจแก่ท่านอาจารย์สิงห์ฯ และท่านอาจารย์มหาปิ่นฯ เป็นผู้บริหารปกครองแนะนำพร่ำสอน ตามแนวทางที่ท่านได้แนะนำมาแล้วต่อไป

เมื่อเสร็จจากการประชุมแล้วในการครั้งนั้น ท่านก็กลับไปที่บ้านของท่านอีกได้แนะนำธรรมปฏิบัติซึ่งท่านได้เคยแนะนำมาก่อนแก่มารดาของท่าน จนได้รับทราบความอัศจรรย์อันเป็นภายในอย่างยิ่งมาแล้ว ท่านจึงได้ไปลามารดาของท่าน และได้มอบให้นางหวัน จำปาศีล ผู้น้องสาว เป็นผู้อุปัฏฐากรักษาทุกประการ แม้มารดาท่านก็ได้กล่าวในขณะนั้นว่า “ลูกเอ๋ย อย่าได้ห่วงแม่เลย ลูกไม่มีหนี้สินในแม่แล้ว ลูกได้อุตส่าห์พากเพียรเรียนธรรมวินัย ก็ได้มาสงเคราะห์ให้แม่นี้ได้รู้จักหนทางแห่งข้อปฏิบัติแล้ว แม่ก็จะดำเนินข้อปฏิบัติของตนไป ตามหนทางที่ได้รู้แล้วนั้น จนตราบเท่าชีวิตของแม่ก็ขอให้ลูกจงประพฤติพรหมจรรย์ไปโดยสวัสดีเทอญ” เมื่อได้รับคำจากมารดาของท่านแล้วเช่นนั้น ท่านอาจารย์มั่นฯ ท่านก็ได้ทำสัมมาคารวะ ให้มารดาได้อโหสิกรรมในโทษเพราะความประมาทพลาดพลั้ง และล่วงเกินต่อมารดาตั้งแต่กำเนิดเกิดมาจนถึงปัจจุบัน จากนั้นท่านก็ได้ออกเดินทางต่อไป

ตอนที่ 30 ตอน 12 ปี ในการจำพรรษาเดี่ยวอยู่ภาคเหนือ พ.ศ.2471-2482 : การอยู่กับท่านอาจารย์มั่นฯ ผู้เขียนมีความรู้สึกอย่างหนึ่ง คือ วันและคืนนี้ช่างหมดไปเร็วเหลือเกิน ระยะเวลาที่ผ่านไป 2 ปี ตั้ง 730 วัน ดูเหมือนว่าวันสองวันเท่านั้น นี่เป็นเพราะอะไร? เป็นการตั้งคำถามขึ้นในตัวเอง ก็ได้ความว่าทุกๆ เวลานั้น ได้ใช้มันเป็นประโยชน์ทุกกระเบียดนิ้ว โดยเฉพาะเมื่อผู้เขียนต้องการทราบอะไรต่างๆ อันเป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติทางจิต ท่านจะแก้ไขให้อย่างจะแจ้งทุกอย่าง ทุกครั้งไป จนเป็นที่พอใจ

ผู้เขียนมีความสนในอย่างมาก ที่ท่านได้ไปอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ถึง 12 ปี เป็นเหตุอันใด ท่านจึงใช้เวลาอยู่ที่เชียงใหม่นานมาก ผู้เขียนจึงหาโอกาสถามถึงเหตุต่างๆ แต่แม้ผู้เขียนไม่ได้ถาม ท่านก็ได้เล่าเรื่องต่างๆ ระหว่างอยู่ที่เชียงใหม่ให้ฟังเสมอ นับว่าเป็นความรู้ที่ได้รับหลายประการ ท่านได้พูดถึงสถานที่ บุคคล ตลอดถึงอากาศต่างๆ ก็นับว่าน่าศึกษาอยู่มากทีเดียว ผู้เขียนจึงจะได้นำมาเล่าต่อ เพื่อให้ผู้อ่านที่สนใจในเรื่องของพระอาจารย์มั่นฯ จะทราบความเป็นอยู่ที่น่าศึกษาอย่างยิ่งของท่านที่เชียงใหม่ แต่การเล่านี้ก็จะไม่ใคร่ติดต่อกันนัก เพราะท่านเองก็ไม่พูดติดต่อกัน เพียงแต่ท่านเห็นว่าผู้เขียนสนใจการอยู่เชียงใหม่ของท่าน ท่านก็เล่าให้ฟังเป็นตอนๆ ไป ครั้งละเล็กละน้อย เพื่อความละเอียดและแน่นอน ผู้เขียนก็อาศัยถามพระเถระบางท่าน ที่ท่านได้อยู่ใกล้ชิดที่เชียงใหม่

ความจริงประวัติทุกตอนของพระอาจารย์มั่นฯ นั้นน่าศึกษาทุกตอน แต่ต้องพิจารณาหาความจริงและฟังในอุบายต่างๆ เพราะว่าพระอาจารย์มั่นฯ ท่านพูดอะไรออกมา ก็มักจะแทรกคำเตือนใจแก่พระภิกษุสามเณรแทบทุกครั้ง

(ติดตามตอนพระอาจารย์มั่นฯ เป็นเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่ พ.ศ.2471…ฉบับหน้า)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image