สถานีคิดเลขที่ 12 : บทเรียนโควิด-19

ไวรัสโควิด-19 ระบาดครั้งนี้ยังไม่เข้าสู่โหมดบรรเทาเบาบางลง กลับเกิดการระบาดหนักขึ้นในดินแดนนอกแผ่นดินจีน ทั้งในเอเชียและยุโรป
ผลกระทบนี้สั่นสะเทือนถึงตลาดหุ้นทั่วโลกตั้งแต่ต้นสัปดาห์ เพราะทุกคนเห็นสถานการณ์ตรงกันว่า ฤทธิ์ของไวรัสจะเล่นงานเศรษฐกิจอย่างถ้วนทั่ว
การระบาดในวงกว้างไม่เฉพาะเกิดกับมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลก ไม่ว่า จีน อันดับ 2 อิตาลี อันดับ 8 เกาหลีใต้ อันดับ 12 หรือญี่ปุ่น อันดับ 3
การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจึงเกิดขึ้นแน่นอน ถ้าร้ายแรงน้อยสุดคือกระทบแค่ช่วงไตรมาสแรกของปี 2563
ระหว่างที่มีแต่ข่าวลบจากโควิด-19 ก็น่าคิดอยู่ว่ามีอะไรจะพอเป็นบวกได้จากสถานการณ์นี้ได้บ้าง

สำนักข่าวระหว่างประเทศต่างรายงานผลการศึกษาของศูนย์วิจัยพลังงานและอากาศสะอาด หรือ CREA ที่ฟินแลนด์ สำรวจการปล่อยก๊าซก่อภาวะเรือนกระจกในจีน พบว่าสองสัปดาห์มานี้ ปริมาณคาร์บอนที่จีนเคยปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศโลก ลดหายไป 100 ล้านเมตริกตัน หรือลดลงไปร้อยละ 6 เมื่อเปรียบเทียบช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ส่วนไนโตรเจนไดออกไซด์ ลดลงร้อยละ 36 หลังช่วงตรุษจีน
การที่จีนเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก ร้อยละ27 นั่นหมายความว่าส่งผลต่อโลกในสัดส่วนสูงด้วยเช่นกัน

เรื่องนี้ไม่ใช่เมกหรือเฟค เพราะเห็นชัดว่าจีนลดชั่วโมงการทำงานในภาคอุตสาหกรรมและพื้นที่ก่อสร้าง ร้านค้าหลายแห่งยังคงปิดต่อเนื่องนั้นจำกัดการใช้ถ่านหิน ผลผลิตจากเหล็กกล้าที่สำคัญๆ ลดลงต่ำสุดในรอบ 5 ปี ส่วนเครื่องบิน พาหนะที่ปล่อยก๊าซก่อภาวะเรือนกระจกปริมาณสูง จีนลดเที่ยวบินภายในประเทศลดลงสูงสุดถึงร้อยละ 70 ภายใน 1 เดือน
หลังหลายเมืองถูกปิด ทำให้การเผาผลาญพลังงานถ่านหินที่สถานีไฟฟ้าของจีนต่ำสุดในรอบ 4 ปี และอัตราการกลั่นน้ำมันที่มณฑลซานตง ฮับด้านพลังงาน ถึงระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2558

นอกจากเรื่องอากาศ จีนยังมีความเคลื่อนไหวสำคัญเรื่องสัตว์ป่าด้วย หลังจากผลวิเคราะห์เชื้อโควิด-19 ยืนยันว่าเป็นเชื้อที่มีต้นตอจากสัตว์ป่า
จากเดิมที่ได้ชื่อว่าเป็นถิ่นเปิบพิสดาร กินตัวโน่นตัวนี่เป็นที่น่าสงสารสำหรับสัตว์ สมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติจีนร่างข้อมติ 8 มาตราว่าด้วยการห้ามการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย และต้องขจัดพฤติกรรมการบริโภคสัตว์ป่าที่เลวร้าย เพื่อปกป้องชีวิตและสุขภาพของประชาชน
รายงานของรัฐบาลจีนเมื่อปี 2560 อุตสาหกรรมค้าสัตว์ป่าและกินสัตว์ป่ามีมูลค่า 5.2 แสนล้านหยวน หรือราว 2.3 ล้านล้านบาท
เอาเป็นว่าถึงจะทำเงินสูงขนาดไหน วิกฤตโควิด-19 น่าจะทำให้จีนเข็ดขยาด

Advertisement

โควิด-19 เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เหมือนจะบอกว่า ธรรมชาติยังทรงอิทธิพลในการสร้างสมดุลและจัดระเบียบโลกอยู่เสมอ
ส่วนการควบคุมของมนุษย์ ข้อคิดจากรัฐมนตรีคลังฝรั่งเศส บรูโน เลอ แมร์ ที่ว่าโควิด-19 คือตัวพลิกผัน หรือ game changer ของโลกาภิวัตน์ หลายๆ ประเทศจะมัวแต่คิดพึ่งเศรษฐกิจจีน พึ่งนักท่องเที่ยวจีน ไม่ได้อีกแล้ว
บทเรียนนี้น่าจะใช้ได้กับไทยด้วย

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image